Super Bomberman 3 ครบรอบ 30 ปี เกมทำลายมิตรภาพด้วยลูกระเบิด

SB3

วันที่ 28 เมษายน 1995 หรือวันนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเกม Super Bomberman 3 บนเครื่อง Super Famicom ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกมนี้นับเป็นภาคที่ 3 ที่ลงให้กับแพลตฟอร์มดังกล่าว หลังจากใช้ชื่อ Super นำหน้าเพื่อลงให้กับ Super Famicom โดยเฉพาะ และเป็นหนึ่งในเกมแนวทำลายมิตรภาพที่คนไทยคุ้นเคยกันดี มีภาคต่อออกมาหลายภาค แม้ว่าปัจจุบัน Hudson Soft ที่เป็นค่ายผู้ให้กำเนิดซีรีส์นี้จะถูก Konami เทคโอเวอร์และควบรวมมานานถึง 13 ปีแล้วก็ตาม แต่ทาง Konami ก็ยังไม่ทิ้งซีรีส์และปล่อยภาคใหม่มาให้แฟน ๆ หายคิดถึงอยู่บ้าง

(ล่าง) ปกเกม Super Bomberman 3 บนเครื่อง Super Famicom

ทางด้านเกมเพลย์ของ Super Bomberman 3 มีการหวนคืนรูปแบบการเล่นดั้งเดิมมาปรับและประยุกต์เข้ากับฟีเจอร์ที่เคยเพิ่มเข้ามาในเกม Bomberman ’94 (ที่ลง PC Engine กับ Mega Drive) กับ Super Bomberman 2 ที่เป็นภาคก่อนหน้า โดยเริ่มจากการเพิ่มตัวละครใหม่ ๆ เข้ามา ทั้งตัวฝ่ายธรรมะและอธรรม ซึ่งแต่ละตัวจะเปรียบเสมือนตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ บนโลก (ยกตัวอย่างเช่น Pretty Bomber ที่เป็นหนึ่งในวายร้ายที่เป็นผู้หญิงก็จะเป็นตัวแทนจากฝรั่งเศส เป็นต้น)

ส่วนของเนื้อเรื่องภาค 3 จะเล่าถึงกลุ่มเหล่าร้าย 5 ตัวจากภาค 2 ที่มีชื่อว่า Five Dastardly Bombers ได้คืนชีพขึ้นมาด้วยฝีมือของวายร้ายตัวใหม่ที่ชื่อว่า บาลูการ์ (Balugar) พร้อมกับเป้าหมายเดิม ๆ คือมุ่งยึดครองโลกและกาแล็กซี และทำให้ทุกคนต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวตลอดกาล ร้อนถึงไวท์บอมเบอร์ (White Bomber) และแบล็กบอมเบอร์ (Black Bomber) สองตัวเอกของเกมที่ต้องออกไปปราบมารสังคมกลุ่มนี้เพื่อคืนความสุขแก่โลกอีกครั้ง

ตัวเกมภาคนี้จะเล่นในโหมดเนื้อเรื่องได้ 2 คนพร้อมกัน ขณะที่โหมด Battle จะเล่นพร้อมกันได้สูงสุดถึง 5 คน และนี่ถือเป็นภาคแรกของซีรีส์ที่เล่นพร้อมกันได้มากขนาดนี้ ซึ่งแต่เดิมในภาค 1-2 จะเล่นพร้อมกันได้สูงสุดแค่ 4 คนเท่านั้น สำหรับการเล่น 5 คนจะต้องต่อจอยทั้ง 5 เข้ากับอุปกรณ์เสริมที่มีชื่อว่า Super Multitap โดย ณ เวลานั้นทาง Hudson Soft เองก็เคยผลิตเจ้าอุปกรณ์เสริมนี้มารองรับกับเกมตัวเองอยู่หลายเกมด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ Super Bomberman ที่ลงเครื่อง Super Famicom รวมทั้งหมด 5 ภาคนี่แหละครับ

ภาคนี้ถูกวางจำหน่ายแค่เพียงประเทศญี่ปุ่นและภูมิภาคยุโรปเท่านั้น เนื่องจากช่วงที่เกมภาค 3 วางขาย ทางสำนักงาน Hudson Soft USA ที่สหรัฐอเมริกามีอันต้องปิดตัวลงไปเสียก่อน และนั่นจึงมีผลทำให้ยอดขายในโซนทวีปอเมริกาเหนือหายวับไปด้วย โดยยอดขายของภาค 3 มีการนับเฉพาะแค่ในญี่ปุ่นครับ ซึ่งทำได้กว่า 610,000 ชุดเลยทีเดียว แต่คะแนนรีวิวจาก Famitsu ที่เป็นสื่อเกมชื่อดังของญี่ปุ่นดันให้คะแนนน้อยกว่าสื่อตะวันตกลิบลับ คือให้แค่ 28 (จากเต็ม 40 คะแนน) สวนทางกับสื่อตะวันตกที่ให้คะแนนเกมภาคนี้เฉลี่ยที่ประมาณ 8-9 (จากเต็ม 10) ซะอย่างนั้น


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้