Apollo Justice ครบรอบ 18 ปี เกมทนายผู้สืบทอดต่อจากฟีนิกซ์ ไรท์

AJ

วันที่ 12 เมษายน 2007 หรือวันนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเกม Apollo Justice: Ace Attorney บนเครื่อง Nintendo DS ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเกมภาคนี้นับเป็นภาคหลักภาคที่ 4 ของไทม์ไลน์เกมซีรีส์ Ace Attorney อีกทั้งเป็นภาคเริ่มต้นของไตรภาคตัวละคร อพอลโล จัสติซ (Apollo Justice) ทนายมือใหม่ผู้เป็นลูกศิษย์ของ ฟีนิกซ์ ไรท์ (Phoenix Wright) ตัวเอกจากไตรภาค 1-3 ซึ่งตัวเกมภาค 4-6 เพิ่งจะถูกนำมารีมาสเตอร์และมัดรวมขายในชื่อ Apollo Justice: Ace Attorney Trilogy ไปเมื่อต้นปี 2024 นี้เอง

(ล่าง) ปกเกมเวอร์ชั่นญี่ปุ่นและอเมริกา

ระบบของเกมภาคนี้ยังมีความคล้ายกับ 3 ภาคแรกอยู่ กล่าวคือตัวเกมจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ช่วงสืบสวน โดยหลังจากที่เรารับทำคดีตามเนื้อเรื่องมาแล้ว ก็จะเป็นการเดินทางไปตามสถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อพูดคุยกับพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี รวมถึงค้นหาหลักฐานจากที่เกิดเหตุแล้วนำมาวิเคราะห์หาเบาะแสเพิ่มเติม กระทั่งได้พยานหลักฐานครบแล้วก็จะเข้าสู่ช่วงต่อสู้ในชั้นศาล ที่ต้องเผชิญหน้ากับอัยการ โดยอัยการจะเบิกตัวพยานมาให้การ และเราต้องคอยซักค้านพยานหากพบว่าเขากำลังพูดโกหก หรือปกปิดความจริงอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งขณะที่พยานกำลังให้การ เราสามารถเลือกว่าจะถามจี้ในประโยคล่าสุดของพยาน หรือจะงัดหลักฐานมาแย้งกับสิ่งที่พยานพูดเพื่อให้พยานจนมุมและพูดความจริงออกมาเองก็ได้

หนึ่งในสีสันของเกมซีรีส์นี้คือการที่ตัวเอกของเกมมีทักษะหรือความสามารถพิเศษบางอย่างในการเค้นความจริงจากพยานหรือคนร้ายครับ อย่างในไตรภาค 1-3 ตัวของฟีนิกซ์จะมีทักษะเฉพาะตัวคือการ “ลักไก่” ที่เป็นสกิลการพูดบลัฟคู่สนทนา เสมือนว่าตนเองมั่นใจว่ามีหลักฐานเด็ดในมือ หรือรู้ว่าความจริงคืออะไร แนว ๆ ใช้จิตวิทยาหลอกล่อ รวมถึงไอเทมเครื่องราง Magatama ที่จะคอยบอกว่าคู่สนทนาของเรามีกำแพงปิดกั้นความจริงอยู่กี่ชั้น และเราต้องหาหลักฐานมาทลายกำแพงนั้นลงให้ได้ เพื่อให้ยอมเผยความจริงออกมา

อย่างกรณีของอพอลโลจะมีกำไลข้อมือที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เด็ก โดยกำไลนี้มีพลังพิเศษในการจับพิรุธจากอากัปกิริยาของคู่สนทนา เรียกว่าระบบ Perceive System ที่เมื่อเปิดใช้แล้ว ช่วงเวลาให้การของพยานจะช้าลง ทำให้เรามีเวลาจับพิรุธตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายพยานได้ ระบบนี้อิงจากแนวคิดที่ว่าคนที่กำลังโกหกหรืออยู่ในสถานการณ์ถูกกดดันจะแสดงพฤติกรรมผิดปกติบางอย่าง เหมือนเวลาเล่นไพ่โป๊กเกอร์ที่ผู้เล่นเก่ง ๆ บางคนจะดูภาษากายของคู่แข่งออกว่ามีไพ่ในมือดีหรือไม่ หรือว่ากำลังคิดลักไก่อยู่หรือเปล่านั่นเอง

ไทม์ไลน์เนื้อเรื่องของภาคนี้จะเป็นช่วง 7 ปีให้หลังจากจบภาค 3 (ชื่อภาค Trials and Tribulations) โดยกล่าวถึงฟีนิกซ์ ไรท์ ตัวเอกจากภาค 1-3 ที่โดนเพิกถอนใบอนุญาตว่าความมานานถึง 7 ปีแล้ว และต้องหันมาหาเลี้ยงชีพเป็นนักเล่นไพ่โป๊กเกอร์ในบาร์แห่งหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่ง ฟีนิกซ์ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม และคนที่รับหน้าที่เป็นทนายให้กับฟีนิกซ์ก็คือ อพอลโล จัสติซ ทนายหนุ่มไฟแรงที่เพิ่งจะได้ลงสนามจริงเป็นคดีแรก ต่อมาอพอลโลก็ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นลูกศิษย์ของฟีนิกซ์ นอกจากจะต้องเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในฐานะทนายแล้ว อพอลโลยังต้องค้นหาความจริงของเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีก่อนที่ทำให้ฟีนิกซ์ต้องพ้นสภาพการเป็นทนายด้วย โดยมีทรูซี่ ไรท์ (Trucy Wright) ลูกเลี้ยงของฟีนิกซ์ที่คอยเป็นผู้ช่วยให้กับอพอลโลทั้งในและนอกศาล

ปกติแล้ว ซีรีส์ Ace Attorney เป็นเกมที่มียอดขายไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเกมซีรีส์อื่น ๆ ของ Capcom แต่ยังสามารถออกภาคต่อและภาคสปินออฟมาได้เรื่อย ๆ เพราะต้นทุนและระยะเวลาการทำเกมนี้ต่ำกว่าซีรีส์อื่นในค่ายอยู่มากครับ ด้วยความที่แนวเกมเป็นสไตล์ไลท์โนเวลที่เน้นการเล่าเรื่องผ่านท่าทางตัวละครและไดอาล็อกสนทนาเป็นหลัก ดังนั้นทีมงานจึงไม่ต้องโฟกัสกับรายละเอียดของฉากมากนัก ความยาวของเกมหลัก ๆ จะไปกองที่กระบวนการไขคดีและไดอาล็อกสนทนาเพียว ๆ เลย

เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเกม

  • ตอนเริ่มต้นคดีที่ 3 ของเกมนี้ (Turnabout Serenade) จะมีการพูดถึงประเทศสมมติที่ชื่อว่า บอร์กิเนีย (Borginia) และประเทศดังกล่าวเคยถูกพูดถึงครั้งแรกในเกม Dino Crisis ซึ่งเป็นเกมที่พัฒนาโดย Capcom เหมือนกัน เพียงแต่สถานที่ที่พวกเรจิน่า (นางเอกของเกม Dino Crisis) ไปทำภารกิจนั้นอยู่บนเกาะไอบิส (Ibis) ที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศบอร์กิเนีย เรียกได้ว่าประเทศสมมตินี้ถูก Capcom นำมายำกับเนื้อเรื่องของเกมต่าง ๆ ของตัวเองจนคุ้มเลยทีเดียว
  • ชื่อของบรรดาตัวละครในเกม ส่วนใหญ่มาจากการเล่นคำภาษาอังกฤษ และมีกิมมิคแฝงเกือบทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น
    • Phoenix Wright – คำว่า Phoenix สื่อถึงนกในตำนานปกรณัมที่มีจุดเด่นคือความเป็นอมตะ ทุกครั้งที่มันสิ้นอายุขัย ตัวมันจะลุกไหม้ และฟื้นคืนชีพกลับมาใหม่จากกองขี้เถ้าของมันเอง ส่วนคำว่า Wright เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า Right ที่หมายถึงความถูกต้อง พอนำ 2 คำมาประสมกันจึงเป็นการสื่อว่า “ความถูกต้องนั้นไม่มีวันตาย” นั่นเอง
    • Apollo Justice – คำว่า Apollo คือการอ้างอิงถึงเทพอพอลโลในตำนานปกรณัมกรีกโบราณ โดยอพอลโลเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์และแสงสว่าง ขณะที่ Justice ก็แปลตรงตัวได้ว่า ความยุติธรรม ดังนั้นเมื่อนำ 2 คำมาผสมกันจึงเป็นการสื่อว่า “ความยุติธรรมนั้นเจิดจรัสเสมอ”
    • Trucy Wright – คำว่า Trucy เป็นการเล่นคำพ้องเสียงกับคำว่า True-See หมายถึงการมองเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ ซึ่งคำนี้เป็นการพรรณนาถึงระบบ Perceive System ที่เป็นความสามารถพิเศษของอพอลโลในภาคนี้ด้วยครับ
    • Klavier Gavin – คำว่า Klavier เป็นภาษาเยอรมันที่แปลว่า เปียโน สอดคล้องกับคาแรกเตอร์ของเจ้าตัวที่นอกจากจะเป็นอัยการแล้ว ยังมีจ๊อบเสริมเป็นนักดนตรีด้วย
  • เดิมทีทีมผู้พัฒนาจาก Capcom ตั้งใจจะวางบทให้ทรูซี่ (Trucy Wright) มีอาชีพเป็นนินจาฝึกหัด ทว่าในภายหลังมีการเปลี่ยนให้นางเป็นนักมายากลแทน เพราะมีความเป็นสากลมากกว่า และไม่มีกำแพงเรื่องวัฒนธรรมหากนำไปแปลงเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเพื่อจำหน่ายในตลาดตะวันตก ด้วยเหตุนี้เลยมีการแก้เนื้อเรื่องภูมิหลังของทรูซี่ให้มีความเกี่ยวข้องกับศาสตร์มายากลเพื่อให้มีความสอดคล้องกัน

ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้