วันที่ 5 เมษายน 1996 หรือวันนี้เมื่อ 29 ปีที่แล้ว เป็นวันวางจำหน่ายของเกม Rudora no Hihou หรือที่แฟนเกมแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ก็คือ Treasure of the Rudras (สมบัติแห่งเทพรุทธระ) บนเครื่อง Super Famicom ที่ประเทศญี่ปุ่นครับ อนึ่ง เกมนี้มีคนไทยจำนวนไม่มากที่มีโอกาสได้เล่น สาเหตุแรกก็เพราะว่าเกมนี้ทาง Squaresoft (หรือ Square Enix ในปัจจุบัน) ไม่ได้ทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแบบออฟฟิเชียลไว้ เพราะเมคานิคของเกมมีความซับซ้อนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคใหญ่ในการแปลงภาษาเพื่อให้เข้ากับระบบ ก่อนที่จะมีแฟนเกมจำนวนหนึ่งไปทำแฟนซับภาษาอังกฤษสำหรับเล่นผ่านอีมูเลเตอร์ในภายหลัง
ขณะที่อีกสาเหตุคือ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเครื่อง PS1 เริ่มมาตีตลาดได้ประมาณ 1 ปีเศษแล้ว นอกจากจะสามารถรันกราฟิกแบบ 3D ที่สวยสะดุดตาเกมเมอร์ ตัวเครื่องก็ยังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะทยอยบอกลาเครื่องเจนเก่าอย่าง Super Famicom เพื่อไปสู่เจนใหม่กว่าอย่าง PS1 นั่นเอง
(ล่าง) ปกเกม Treasure of the Rudras ของเครื่อง Super Famicom
พล็อตของเกมนี้จะเรียกว่ามาแปลกและแหวกกว่าเกม RPG ในยุคนั้นก็ไม่ผิดนัก โดยมีการนำธีมและองค์ประกอบของหลาย ๆ ศาสนาในประเทศอินเดียมาประยุกต์ใช้ในเกมนี้เยอะมาก และนำตำนาน “กาลจักรา” หรือกงล้อแห่งเวลามาเป็นแกนหลักของคอนเซปต์เนื้อเรื่อง ซึ่งเล่าว่าทุก ๆ 4,000 ปี โลกมนุษย์จะถูกทำลายสิ้นและสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยน้ำมือของรุทธระ (Rudra) เทพจากฤคเวทที่ร่วมมือกับพระศิวะ (Shiva)
ไทม์ไลน์ของเกมจะจับเอาช่วงเวลา 15 วันสุดท้ายก่อนที่โลกและมนุษยชาติจะโดนล้างบางอีกรอบตามกำหนด ผู้เล่นจะได้เล่นเป็น 3 ตัวละครที่ถูกลิขิตชะตาไว้ ได้แก่ ซิออน (Sion), เซอร์เลนต์ (Surlent), ริซ่า (Riza) พอเล่นเนื้อเรื่องแต่ละคนจนครบทั้งหมด ก็จะปลดล็อคเนื้อเรื่องของ ดูน (Dune) ที่เป็นตัวละครสุดท้ายได้ ภารกิจของเหล่าตัวเอกเกมนี้ก็คือหาทางป้องกันไม่ให้เกิดวงจรนี้จากเทพรุทธระ และค้นหาความจริงว่าเหตุใดทำไมบรรดาเทพต้องตัดสินใจสร้างวงจรนี้ขึ้นมาให้ได้
พูดถึงเกมเพลย์กันบ้าง โดยระบบสำคัญของเกมนี้คือระบบเวทมนตร์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นสร้างเวทมนตร์ขึ้นมาเองด้วยการป้อนตัวอักษรคาตาคานะ (Katakana) จำนวน 6 ตัวเพื่อให้เกิดเป็นเวทมนตร์ได้หลากหลาย อย่างเกม RPG ส่วนใหญ่มักจะมีเวทมนตร์ที่ทีมงานเซ็ตขึ้นมาตายตัวอยู่แล้ว รอแค่ให้ตัวละครไปเก็บเลเวลหรือทำเงื่อนไขเพื่อปลดล็อคทีละเวทไปเรื่อย ๆ แต่ใน Treasure of the Rudras จะให้อิสระแก่ผู้เล่นเต็มพิกัดในการสร้างสรรค์เวทมนตร์ ซึ่งการผสมตัวอักษรจะทำให้เกิดเวทมนตร์ธาตุต่าง ๆ ได้ถึง 8 ธาตุ ได้แก่ ไฟ น้ำ ลม สายฟ้า ศักดิ์สิทธิ์ ความมืด ดิน และ ไร้ธาตุ
ทั้งนี้ ธาตุไฟจะเป็นขั้วตรงข้ามกับธาตุน้ำ ที่สามารถโจมตีเพื่อทำดาเมจใส่ศัตรูอีกธาตุได้แรงขึ้นกว่าปกติ ส่วนธาตุลมจะตรงข้ามกับสายฟ้า และธาตุศักดิ์สิทธิ์จะขัดกับธาตุความมืด ขณะที่ธาตุดินกับไร้ธาตุจะเป็นเพียง 2 ธาตุที่ไม่มีจุดอ่อน และโจมตีใส่ศัตรูธาตุอื่นได้ทุกธาตุ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่การสร้างเวทมนตร์ต้องใช้ตัวอักษรมาผสมกัน ดังนั้นเลยมีทริคในการสร้างเวทที่จะกำหนดให้เป็นบางธาตุได้แบบ 100% เช่น หากมีคำว่า Tou (トウ) ปนอยู่ใน 6 ตัวอักษร เวทที่ได้จะเป็นธาตุสายฟ้าเสมอ หรือถ้ามีคำว่า Aqu (アク) อยู่ใน 6 ตัวอักษร เวทที่ได้จะเป็นธาตุน้ำเสมอ เป็นต้น
จากที่เกริ่นไปในย่อหน้าที่แล้ว นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ Square Enix ตัดสินใจไม่ทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้กับเกมนี้ครับ เพราะว่าเมคานิคของการใส่ 6 ตัวอักษรคาตาคานะเพื่อสร้างเวทมนตร์นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในภาษาญี่ปุ่นเป็นหลัก หากจะมีการทำเป็นภาษาอังกฤษก็จะใช้เวลานานเกินไป รวมถึงเป็นช่วงปลายเจน Super Famicom ที่ผู้คนเริ่มหันไปสนใจเครื่อง PS1 กันแล้ว และกว่าจะมีแฟนเกมจากต่างประเทศที่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นมาทำแฟนซับสำหรับเล่นบนอีมูเลเตอร์ได้สำเร็จ เวลาก็ล่วงเลยหลังจากเกมวางขายไปหลายปีเลยทีเดียว
เกม Treasure of the Rudras เป็น 1 ใน 4 เกมสุดท้ายของทาง Square Enix ที่ลงให้กับเครื่อง Super Famicom ก่อนที่พวกเขาจะโยกไปบุกตลาดเครื่อง PS1 อย่างเต็มตัว โดย 4 เกมที่ว่านี้ก็คือ
- Bahamut Lagoon – วางขาย 9 กุมภาพันธ์ 1996
- Super Mario RPG – วางขาย 9 มีนาคม 1996
- Treasure of the Rudras – วางขาย 5 เมษายน 1996
- Treasure Hunter G – 24 พฤษภาคม 1996
ทั้ง 4 เกมข้างต้น มีเพียง Super Mario RPG แค่เกมเดียวที่ทาง Square Enix ทำเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเพื่อตีตลาดตะวันตกด้วย (เวอร์ชั่นอังกฤษวางขาย 13 พฤษภาคม 1996)
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station