ในฐานะที่เป็นคนเล่นเกมตระกูล Like a Dragon มานาน (ซึ่งปีนี้ตัวซีรีส์เองก็ครบรอบ 20 ปีพอดีด้วย) หากว่ากันตามตรงเลย โกโร่ มาจิมะ (Goro Majima) คือหนึ่งในตัวละครที่ผมมองว่าสามารถสร้างสีสันให้กับเกมมาตลอด โดยนอกจากความบ้าดีเดือดและดูเพี้ยน ๆ แล้ว ยังมีเสน่ห์อีกหลายอย่างที่ผู้เล่นสัมผัสได้ผ่านแนวคิด การใช้ชีวิต และภาพลักษณ์ที่ปรากฏในเกมหลายภาค ซึ่งล่าสุดในเกม Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii นี้เจ้าตัวก็กลับมารับบทนำอีกครั้ง หลังจากที่เคยแชร์บทนำกับคิริวมาก่อนในเกม Yakuza 0 การคัมแบ็ครอบนี้ถือว่าสร้างความประทับใจได้มากน้อยแค่ไหน มาชมรีวิวจากทีมงาน Online Station กันดีกว่าครับ
แนวเกม: แอ๊กชั่น, ผจญภัย
แพลตฟอร์ม: PS5, Xbox Series X|S, PC (ทีมงานรีวิวจากเวอร์ชั่น PS5)
ผู้พัฒนา: Ryu Ga Gotoku Studio
วางจำหน่าย: 21 กุมภาพันธ์ 2025
เนื้อเรื่อง
พล็อตของภาคนี้จะเป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์ช่วง 6 เดือนให้หลังจากเกม Like a Dragon: Infinite Wealth ที่วางขายไปเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ เกมจะเล่าถึงมาจิมะที่ประสบเหตุทางทะเลจนลอยมาเกยตื้นที่เกาะริช (Rich Island) และมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งช่วยเหลือเอาไว้ แต่ปัญหาใหญ่ที่เจ้าตัวพบหลังฟื้นขึ้นมาก็คือ เขาดันความจำเสื่อมแถมจำอะไรในอดีตไม่ได้เลย ต่อมาเจ้าตัวก็ดันไปจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นกัปตันโจรสลัดแบบบังเอิญ พร้อมกับเป้าหมายใหม่คือออกเรือตามล่าหาสมบัติในตำนานที่ซ่อนอยู่ และต้องเผชิญกับปมความขัดแย้งของแต่ละฝักฝ่าย ขณะที่ตัวเองก็ต้องฟื้นความทรงจำที่หายไปของตัวเองกลับคืนมาให้ได้
ด้วยความที่ตัวเกมภาคนี้มีความเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องภาค Infinite Wealth แบบต่อเนื่องกัน มันเลยเป็นเหมือนกึ่งไฟต์บังคับว่าผู้เล่นควรต้องไปเล่นภาคนั้นมาก่อน ไม่งั้นพอมาเจอการเล่าถึงบางตัวละคร หรือความขัดแย้งใด ๆ ที่เคยปรากฏในภาค Infinite Wealth จะมีงงแน่นอน อย่างไรก็ดี เนื่องจากมาจิมะสูญเสียความทรงจำไป ทำให้บุคลิกบวม ๆ ของเขาก็หดหายตามไปด้วย แอร์ไทม์ส่วนใหญ่ของมาจิมะในภาคนี้เลยภาพความสุขุมใกล้เคียงกับตอนที่ได้เห็นใน Yakuza 0 คนที่โปรดปรานมาจิมะในลุคนั้นคงชอบมาจิมะในภาคนี้ได้ไม่ยาก
แม้ทีมงานจะพยายามดึงภาพเก่า ๆ ของมาจิมะกลับมาก็ตาม แต่สิ่งที่รู้สึกว่าภาคนี้ด้อยกว่า Yakuza 0 อย่างเห็นได้ชัดก็คือชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง ตลอดจนการขมวดปมต่าง ๆ และการเฉลยความจริงในตอนท้ายที่สร้างความประทับใจได้ไม่เท่า จะว่าภาคนี้เป็นแค่สปินออฟที่เสริมปมเพิ่มเติมจากภาคหลักอย่าง Infinite Wealth ก็ไม่เชิง เพราะตอนภาค Gaiden: The Man Who Erased His Name ยังมีช่วงให้น่าจดจำเยอะกว่านี้ (อย่างน้อยก็ซีนตอนจบที่สะเทือนอารมณ์แฟนเกมแบบสุด ๆ)
เกมเพลย์
ทางด้านระบบการต่อสู้ปกติ ตัวมาจิมะจะมีรูปแบบการต่อสู้ 2 สไตล์ที่สลับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา โดยแบบแรกคือ Mad Dog ที่เป็นสายสปีด เน้นความพลิ้วและปราดเปรียว ซึ่งเป็นสไตล์พื้นฐานที่มาจิมะใช้ต่อสู้ตอนเป็นยากูซ่า กับอีกสไตล์คือ Sea Dog ที่ใช้ดาบคู่เป็นอาวุธประจำตัว พร้อมอุปกรณ์เสริมอีกนิดหน่อย และที่พิเศษกว่านั้นคือ เมื่อเราทำเควสต์เนื้อเรื่องเสริมของโจรสลัดไปเรื่อย ๆ จะปลดล็อคเครื่องดนตรีต้องคำสาปที่มีพลังของสิงสาราสัตว์แฝงอยู่ และมีคุณสมบัติในการโจมตีแบบหลากหลาย
ฉากหน้าเราอาจจะเห็นว่าเกมให้อิสระในการปรับเปลี่ยนสไตล์การสู้ไปมาระหว่าง Mag Dog กับ Sea Dog ได้ก็จริง แต่พอเล่นไปเล่นมาเราจะพบว่ายิ่งอัปเกรดตัวละครจนเก่งขึ้นเท่าไหร่ Sea Dog ก็จะยิ่งมีพลังโจมตีเวอร์วังจนสามารถคว่ำบอสได้ภายในเวลาไม่กี่อึดใจ เหมือนจะเนียนบีบผู้เล่นที่ใหม่กับซีรีส์นี้หรือคนที่ไม่ประสีประสาเกมแอ๊กชั่นแบบกลาย ๆ ว่าให้หากินด้วยสไตล์ Sea Dog ตั้งแต่ได้เป็นโจรสลัดไปยาว ๆ เลยก็ไม่ผิดนัก และที่สำคัญคือภาคนี้เป็นภาคแรกที่ตัวละครสามารถทำคอมโบกลางอากาศได้ โดยจะมีบางท่าที่เมื่อเรากดแล้วจะงัดศัตรูให้ลอยขึ้น เปิดโอกาสให้เราตามขึ้นไปทำดาเมจกลางอากาศได้ต่อ ซึ่งเหมาะมากกับตัวละครมาจิมะที่เป็นสายเน้นความเร็วอยู่แล้ว
ถัดมา พูดถึงเกมเพลย์ช่วงเป็นโจรสลัดกันบ้าง ภาคนี้มีการออกแบบโครงสร้างของระบบไว้ค่อนข้างทั่วถึง กล่าวคือมีทั้งระบบเกณฑ์ไพร่พลมาเป็นลูกเรือ ระบบการพัฒนาลูกเรือและสร้างขวัญกำลังใจ ระบบอัปเกรดเรือและอาวุธบนเรือเข้ามาเกื้อหนุนระบบการต่อสู้อีกที โดยการอัปเกรดส่วนของเรือจะใช้แต่เงินล้วน ๆ ซึ่งยังดีที่ภาคนี้ให้ผู้เล่นฟาร์มเงินจำนวนมาก ๆ ได้ตั้งแต่ช่วงต้นเกมเลย
เมื่อเข้าสู้ฉากต่อสู้ทางเรือ เรือของเราจะมีอาวุธหลักคือปืนกลที่ยิงออกไปด้านหน้า และปืนใหญ่ที่ยิงทางกราบซ้ายและขวาของเรา การจะยิงปืนใหญ่เราต้องหันกราบเรือไปหาศัตรูแล้วยิงเอา ความแรงจะสูงกว่าปืนกลพอสมควร อีกทั้งยังมีบูสต์คล้ายไนตรัสที่เร่งความเร็วให้กับเรือได้ชั่วขณะ รวมทั้งเปลี่ยนมาเข้า Deck Mode เพื่อให้มาจิมะถือปืนจรวดยิงใส่เรือศัตรู หรือปล่อยระเบิดควันเพื่อพรางตำแหน่งเรือตัวเองก็ได้ และถ้าไฟต์นั้นเป็นการสู้กับเรือระดับบอส เวลาเราโจมตีจนพลังชีวิตมันหมดก็จะถึงคราวที่เราต้องจอดเทียบเพื่อยกพลบุกขึ้นเรือ แล้วจัดการคนบนเรือให้หมดจึงจะชนะ
นอกจากนั้นแล้ว การวางตำแหน่งไพร่พลบนเรือก็เป็นอีกองค์ประกอบที่ตัดสินแพ้ชนะได้ โดยลูกเรือที่เราได้รับจากการผ่านเควสต์ต่าง ๆ หรือชักชวนด้วยตัวเองจะมีค่า Stat และสกิลที่แตกต่างกัน เราจะต้องวางคนประจำตำแหน่งทั้งปืนกลกับปืนใหญ่อย่างเหมาะสม และยังต้องวางตำแหน่งผู้นำทีมที่จะยกพลบุกขึ้นเรือฝั่งตรงข้ามอีกต่างหาก โดยทั้งสองส่วนจะแยกกันชัดเจน ผู้เล่นต้องพิจารณาดูว่าคนไหนเหมาะกับหน้าที่พลปืน คนไหนเหมาะกับหน้าที่ต่อยตีก็ให้อยู่ในทีมบุกขึ้นเรือไป
ช่วงที่แล่นเรือในฉากทั่วไปจะมีการแบ่งพื้นที่แยกย่อยเป็นแมป และแต่ละแมปก็จะระบุชัดเจนว่านั่นคือโซนของสถานที่ใด พร้อมกับเผยจุดให้จอดเรือเพื่อลงไปล่าสมบัติและจัดการกับพวกศัตรู ซึ่งจุดที่จอดเรือลงไปล่าสมบัติจะตายตัว ไม่สามารถจอดจุดไหนก็ได้ตามใจชอบ รวมถึงมีเรือศัตรูป้วนเปี้ยนอยู่บนแมป อารมณ์เหมือนศัตรูที่เราเห็นตามทางเวลาเล่นเกม RPG นั่นเอง อย่างไรก็ตาม จุดที่ขัดใจระหว่างการเดินทางด้วยเรือคือสปีดของเรือที่ช้าเอาเรื่อง แม้จะมีอุโมงค์ลมให้ลอด รวมถึงบูสต์แล้วก็ตาม แต่มันก็มีคูลดาวน์ที่ต้องรอสักพักกว่าจะบูสต์ใหม่ได้ ทำให้การเดินทางช่วงแรกเพื่อจะไปเปิดจุดเซฟโซนตรงประภาคารจึงค่อนข้างน่าเบื่อ กินเวลาหลายนาทีกว่าจะไปถึงจุดลงจอดได้สักที่หนึ่ง
เกมเพลย์ส่วนอื่น ๆ ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์ Like a Dragon ไว้เช่นเคย ตัวเกมอัดแน่นด้วยมินิเกมฮา ๆ และกาว ๆ ไว้เต็มไปหมด รวมทั้งเควสต์ย่อยที่มีทั้งล้อเลียนป๊อปคัลเจอร์ทั่วโลกที่เคยโด่งดังหรือกำลังเป็นกระแสแบบไม่มีพัก โดยสเกลของเกมจะใหญ่กว่าภาค Gaiden: The Man Who Erased His Name ประมาณหนึ่ง เพราะแมปหลักคือโฮโนลูลูที่ใหญ่กว่าโซเทนโบริของภาคนั้น และเพิ่มแมปเกาะริชที่ให้บรรยากาศคล้ายมินิเกมเกาะดองโดโกะ กับแมปแมดแลนติส เกาะสวรรค์สำหรับนักแสวงโชคที่มีบ่อนและสนามประลองทางเรือให้ผู้เล่นได้ฟาร์มเงินนอกเหนือจากการล่าสมบัติ
ส่วนการผจญภัยในเมืองเอง พอเล่นไปสักพัก มาจิมะจะได้รับอุปกรณ์เสริมที่เป็นสลิงสำหรับใช้ดึงไอเทมจากระยะไกลเข้าหาตัว หรือใช้นำพาตัวเองขึ้นไปเก็บสมบัติบนที่สูง เป็นต้น
กราฟิกและการแสดงผล
เชื่อว่าเกมซีรีส์นี้น่าจะใช้ Dragon Engine กับเกมภาคถัดไปในอนาคตได้อีกหลายปีครับ (ใช้แล้ว ใช้อยู่ ใช้ต่อ มาตั้งแต่เกม Yakuza 6 เมื่อปี 2016) โดยตัวกราฟิกภาคนี้ก็ยังไม่ชวนให้รู้สึกตกยุคเลย ไหนจะทำหน้าตาสาว ๆ ในเกมออกมาได้น่ารักดีไม่น้อย โดยเท่าที่เล่นจนจบบนเวอร์ชั่น PS5 ก็ไม่มีปัญหาเฟรมเรตร่วงให้เห็น และเป็นส่วนที่ไม่มีอะไรให้ติเลย
Verdict
สรุปแล้ว Like a Dragon: Pirate Yakuza in Hawaii ทำหน้าที่ได้ดีระดับหนึ่งในแง่ของความเป็นเกมสปินออฟครับ ตัวเกมพยายามตอบโจทย์แฟนเกมซีรีส์นี้ที่โหยหาอยากเล่นเป็นมาจิมะอีกครั้ง รวมถึงเพิ่มการนำเสนออีกมุมของเจ้าตัวที่สลัดความเป็น Mad Dog ออกไปเพราะความจำเสื่อม เพียงแต่อย่าคาดหวังไปไกลว่าเนื้อเรื่องภาคนี้จะมีคุณภาพคับแก้วระดับเดียวกับภาค 0 ส่วนการต่อสู้ทางเรือนั้น ช่วงแรกอาจจะรู้สึกตื่นเต้น ทว่าพอเล่นไปสักพักจุดด้อยจะเริ่มโผล่มาจนเปลี่ยนอารมณ์ให้ชวนหลับได้เลย ถึงกระนั้นเกมก็ยังมีข้อดีมากพอที่จะเล่นแก้ขัดรอภาคต่อไปได้อยู่
คะแนน 7.5/10
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station