Vagrant Story ย้อนรอย 25 ปีกับเกม Action-RPG ระดับตำนานบน PS1

Vagrant

หากนึกย้อนไปถึงช่วงยุค 1990s-2010s ทาง Squaresoft (หรือ Square Enix ณ ปัจจุบัน) เคยทำเกมแนว RPG และ Acton-RPG ป้อนลงแพลตฟอร์ม PS1 เอาไว้มากมายครับ ซึ่ง Vagrant Story เองก็เป็นหนึ่งในเกมเหล่านั้นที่เคยสร้างปรากฏการณ์อันน่าจดจำแก่วงการเกมช่วงเวลาดังกล่าวเอาไว้พอสมควรด้วย และเนื่องด้วยวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้เป็นวันครบรอบ 25 ปีของการวางจำหน่ายเกมนี้พอดี ทีมงาน Online Station เลยขอถือโอกาสพาเพื่อน ๆ ย้อนรอยไปรู้จักกับเกมนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาว่าทำไมเกมนี้ถึงได้ครองใจเกมเมอร์ยุคนั้นกันครับ

  • เกมนี้เป็นผลงานการกำกับโดยคุณยาสึมิ มัตสึโนะ (Yasumi Matsuno) ซึ่งเคยมีผลงานกำกับเกมดังอย่าง Tactics Ogre และ Final Fantasy Tactics มาก่อน อีกทั้งเป็นผู้เขียนบทเกม Final Fantasy 12 ด้วยเช่นกัน ทั้ง 3 เกมที่กล่าวมาล้วนได้รับความนิยมสูงจากผู้เล่น ทั้งเรื่องของการนำเสนอเนื้อเรื่อง ตลอดจนดีไซน์และเอกลักษณ์ของโลกในเกม และคุณมัตสึโนะเองก็เป็นผู้ที่เนรมิตจักรวาลที่ชื่อ อิวาลิซ (Ivalice) เข้ามาใช้กับ Final Fantasy Tactics เป็นเกมแรก ขณะที่ Vagrant Story ก็เป็นอีกเกมที่มีเซ็ตติ้งอยู่ในจักรวาลอิวาลิซด้วยเช่นกัน
  • เนื้อหาของเกมนี้เกิดขึ้นที่อาณาจักรวาเลนเดีย (Valendia) และเมืองล่มสลายที่ชื่อลีอามอนด์ (Lea Monde) โดยตัวเอกของเกมคือ แอชลีย์ ไรอ็อต (Ashley Riot) เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้เป็นที่รู้จักในชื่อเรียกว่า ริสค์เบรคเกอร์ ซึ่งเจ้าตัวต้องเดินทางมายังลีอามอนด์เพื่อสืบหาเบาะแสที่เชื่อมโยงระหว่างผู้นำลัทธิรายหนึ่งกับสมาชิกสภาอาวุโสของวาเลนเดียที่ชื่อ ดุ๊ค บาร์ดอร์บา ทว่าพอสืบไปไม่ทันไร แอชลีย์ดันโดนยัดข้อหาว่าเป็นผู้ลงมือสังหารดุ๊คแบบงง ๆ จากนั้นเกมจะเริ่มเผยเรื่องราวในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมนี้ไปเรื่อย ๆ

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ Vagrant Story

  • ใครที่เคยเล่นเกม Final Fantasy Tactics มา คงจะพอทราบโทนของเนื้อเรื่องที่มีการหักเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบกันไปมาระหว่างฝ่ายพระเอกและวายร้าย ซึ่งฝั่งของเกม Vagrant Story ก็มีกลิ่นอายในลักษณะใกล้เคียงกันเลย แม้ว่าบทสนทนาของตัวละครในเกมจะไม่มีเสียงพากย์ แต่ทีมงานได้เลือกใช้กลวิธีเล่าเรื่องผ่านคัตซีนและอ่านบทสนทนาผ่านบอลลูนคำพูดคล้ายกับเวลาอ่านหนังสือการ์ตูน แล้วทำออกมาได้ดีและดูน่าติดตามไม่น้อย เพียงแต่ศัพท์แสงที่บรรดาตัวละครพูดคุยกันจะมาแนวบทละครเวทียุคกลาง ที่มีการเล่นสำบัดสำนวนและการใช้รูปประโยคที่ดูโบราณสักหน่อย ใครจะเล่นเกมนี้แบบเข้าถึงฟีลต่าง ๆ ได้เต็มที่อาจต้องมีทักษะการแปลวรรณกรรมสักหน่อยครับ
  • ทางด้านเกมเพลย์ของ Vagrant Story จะมีระบบเฉพาะที่เรียกว่า Risk ที่เป็นเกจอยู่ด้านล่างแถบพลังชีวิตและ MP ซึ่งค่า Risk จะมีผลกับสมาธิของตัวละครแอชลีย์โดยตรง ถ้าเราให้แอชลีย์โจมตีศัตรูต่อเนื่องนาน ๆ ค่า Risk ก็จะค่อย ๆ สะสมเพิ่มขึ้น ทำให้พลังป้องกันและความแม่นยำถดถอยลง และยิ่งเราโจมตีแบบเป็นคอมโบหรือใช้สกิลป้องกัน ค่า Risk ก็จะมีอัตราเพิ่มขึ้นไวเป็นทวีคูณ ซึ่งผลดีเพียงสิ่งเดียวที่ผู้เล่นได้รับจากการมีค่า Risk เยอะคืออัตราการโจมตีติดคริติคัลจะสูงขึ้นเท่านั้น
  • นอกจากนี้ตัวเกมยังมีระบบคราฟต์อาวุธและชุดป้องกันในห้องที่เรียกว่า “เวิร์คช็อป” โดยผู้เล่นต้องนำวัตถุดิบตามที่กำหนดมาสร้างของพวกนี้ขึ้น ซึ่งของที่สร้างจะแข็งแกร่งและทรงประสิทธิภาพแค่ไหนก็ผันแปรตามวัตถุดิบที่เราใช้สร้าง รวมถึงชนิดและธาตุของศัตรูที่เราไปตีมัน ผู้เล่นสามารถนำคุณสมบัติบางอย่างของอาวุธหรือชุดป้องกันมาผสมกันเพื่อให้ได้คุณสมบัติใหม่ ๆ และใช้จุดเด่นตรงนี้ในการพลิกแพลงเพื่อสร้างของเจ๋ง ๆ ได้เช่นกัน
  • รูปแบบการผจญภัยทั่วไปในเกมจะเป็นสไตล์กึ่งแอ๊กชั่น ตัวละครแอชลีย์สามารถวิ่ง กระโดดขึ้นแพลตฟอร์มในฉาก และผลักวัตถุไปยังจุดต่าง ๆ ได้ โดยบางห้องนอกจากจะมีศัตรูแล้วก็ยังมีปริศนาให้ผู้เล่นได้ขบคิดแก้ปัญหาด้วย ส่วนเวลาถึงตอนที่ต้องต่อสู้ เกมจะมีระบบคอมโบที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นกดโจมตีศัตรูต่อเนื่อง โดยต้องกดโจมตีให้ถูกจังหวะคล้ายกับเกมแนวจับจังหวะดนตรี และมีเวทมนตร์ให้ใช้ แต่เวทมนตร์นั้นจะไม่สามารถต่อเป็นคอมโบได้เหมือนการโจมตีปกติครับ
  • Vagrant Story เป็นเกมเดียวบนเครื่อง PS1 ที่คว้า 40 คะแนนเต็มจากรีวิวโดยสำนักข่าว Famitsu ของญี่ปุ่น โดยรีวิวของ Famitsu ในช่วงทศวรรษ 90-2000 ค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องการให้คะแนนที่โหด หักเป็นหัก และไม่ค่อยปราณีนักหากพบเจอจุดที่ผู้รีวิวมองว่าเป็นจุดบกพร่องของเกม ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติของ Famitsu จะมีผู้รีวิวทั้งสิ้น 4 คน แบ่งกันให้คะแนนคนละ 10 คะแนน รวมเป็น 40 คะแนนนั่นเอง

ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้