Civilization VII นั้นถือเป็นเกมวางแผนฟอร์มใหญ่เปิดหัวต้นปีที่ได้รับการคาดหวังจากเกมเมอร์และแฟนๆ ไว้สูงครับ ด้วยตัวมันเองเป็น IP มีชื่อที่หายไปนมนาน กลับมาคราวนี้ก็มาพร้อมการเปลี่ยนแปลงในคอร์เกมเพลย์หลายๆ จุด แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือเกมภาคนี้ให้ความรู้สึกที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม เข้าใจง่ายขึ้น แต่ยังคงต้องใช้ชั่วโมงบินเพื่อความแตกฉานแบบ “easy to learn, hard to master” ตัวเกมยังมาพร้อมความรู้สึกประจำซีรีส์อย่าง “อีกตาเดียวฟ้าสาง” การตั้งเป้าว่าจะเลิกในตาหน้านั้นไม่เคยมีอยู่จริง และคุณยังต้องเผชิญกับมันอย่างแช่มชื่นในปี 2025 นี้
นั่นเพราะว่า Civilization VII ยังคงเป็นเกมอีกภาคของซีรีส์ที่ทำให้ผู้เล่นสนุกติดพันไปในหลายๆ ชั่วโมงได้อย่างไม่ยาก พร้อมระบบใหม่ๆ ที่จะมาท้าทายจิตวิญญาณแห่งการวางแผนคุณมากขึ้น แม้ว่าที่สุดแล้วมันอาจจะยังขาดบางอย่างหรือบางคอนเทนต์ที่จะพาเกมไปสู่เขตแดนของความเป็น “ยอดเกมวางแผน” ก็ตาม
***บทความรีวิวเฉพาะในส่วนของ Single Player เท่านั้น เนื่องด้วยผู้รีวิวได้โค้ดมาทดสอบก่อนเกมวางจำหน่ายจริง
กราฟิกและเพอร์ฟอร์มานซ์
ภาพของเกมมีความงดงามและมีชีวิตชีวาด้วยเทคโนโลยีล่าสุด ทำให้การแสดงผลของเกมไม่มีความน่ากังขาใดๆ คลื่นน้ำที่ซัดเข้าชายฝั่ง ตัวเมืองที่ดูยิ่งใหญ่ โมเดลของอาคารและยูนิตคมกริบทั้งยังถูกออกแบบมาได้ดี แต่ละอารยธรรมมีสิ่งปลูกสร้างอันเป็นเอกลักษณ์มากมาย แต่อันที่จริงกราฟิกของเกมจะได้แสดงศักยภาพที่สุดก็ตอนฉากสงครามที่เราจะได้เห็นเอฟเฟกต์การระเบิดหรือฝุ่นควันเพิ่มเข้ามาทำให้มันเป็นเกมที่ดูน่าประทับใจมากขึ้น ถึงแม้ในปี 2025 นี้เราอาจจะไม่ได้ตื่นเต้นกับความสวยงามของกราฟิกมากเท่ายุคก่อนแล้ว ทว่าการที่เกมสามารถแสดงผลได้โดยที่ไม่รู้สึกถึงด้านลบก็ถือว่าสอบผ่านอย่างถมถืด อาจจะมีบ้างที่เรารู้สึกว่าเมืองมันดูนิ่งๆ ไปหน่อย ไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเท่าแผนที่รอบๆ แต่เพราะนี่เป็นเกมสร้างอารยธรรมไม่ใช่เกมสร้างเมือง ดังนั้นส่วนตัวแล้วคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่าติดใจอะไรขนาดนั้น
นอกจากนี้บั๊กทางกราฟิกไม่ค่อยเจอ ไอ้ที่พอผ่านตาบ้างก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร คิดว่าวันที่เกมขายอาจจะแพตช์กันไปบ้างแล้ว ในภาพรวมตัวเกมก็รันได้ค่อนข้างลื่นไหล อาจจะมีหนืดๆ ตอนช่วงท้ายเกมที่เมืองใหญ่โตกันแล้ว แต่ก็สามารถเล่นได้โดยที่อรรถรสไม่เสียมากนัก
เสียง
ผมชอบเพลงประกอบภาคนี้เป็นพิเศษเพราะมันรีเลทกับชีวิตชาวไทยเราไม่น้อย หลายๆ คนอาจเคยได้ยิน Soundtrack ค้างคาวกินกล้วยที่อาเรนจ์ใหม่ตอนคลิปเปิดตัวอารยธรรม Siam กันไปแล้ว ยิ่งใหญ่อลังการและทำดีมาก อีกเพลงที่ชอบคือเพลงธีมของอารยธรรม Maurya India ที่คล้ายจะนำบทสวดจากหลายๆ ความเชื่อมาอาเรนต์ใหม่ให้รวมกันในเพลงเดียว โดยท่อนกลางๆ จะมีนะโมฯ 3 จบให้เราได้ยินกันด้วย เจ๋งสุดๆ ไปเลย ทั้งนี้เพราะแต่ละอารยธรรมจะมีเพลงธีมเป็นของตัวเอง ทำให้เพลงในเกมมีเยอะมาก บริหารอาณาจักรไปก็ฟังเพลินๆ ไปครับ
ส่วนเสียงประกอบด้านอื่นๆ ก็ทำได้โอเคเลย พวกตัวละครผู้นำชาติจะได้รับเสียงพากย์ในบางซีนด้วย แต่ละคนก็จะพูดเป็นภาษาของตัวเอง อาจจะไม่ได้ถึงขั้นฟูลว็อยส์ แต่ก็เพิ่มอรรถรสได้พอสมควร ในส่วนนี้ไม่มีอะไรให้ติมากนักครับ
เกมเพลย์
ถึงหัวข้อที่อาจจะคุยกันยาวหน่อยแล้ว เพราะ Civilization VII เป็นเกมที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องทั้งในด้านที่ดีและด้านที่ไม่ใช่ ก่อนอื่นก็คงต้องพูดถึงจุดขายอย่างแนวคิดเลเยอร์ทางประวัติศาสตร์เสียก่อน โดยอย่างที่เห็นกับการโปรโมตของภาคนี้ครับว่าตัวผู้นำชาติจะถูกแยกออกจากตัวอารยธรรมอย่างชัดเจน เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ในการเล่นมากขึ้น นำบัฟของผู้นำมาผสานกับบัฟทางอารยธรรมก่อกำเนิดเป็นส่วนผสมแบบใหม่ ซึ่งก็โอเคเลย เพราะผู้เล่นจะรู้สึกอิสระในการกำหนดไดเรคชั่นเกมเพลย์รอบนั้นๆ มากขึ้น อาจไม่ถึงขั้นเปลี่ยนอารยธรรมกันแบบฟรีสไตล์ตอนเปลี่ยนยุค เพราะมีเงื่อนไขของแต่ละอารยธรรมมาครอบอยู่บ้าง แต่การมีเงื่อนไขเข้ามาบ้างก็ทำให้รู้สึกว่าเกมมีความลึกและต้องซิกแซกเอาสักหน่อยไม่ใช่ตรงๆ อย่างเดียว อย่างไรก็ตามในส่วนนี้บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวผู้นำและอารยธรรมต่างๆ จะขาดความยูนิคไปพอสมควร คล้ายเราไม่ได้เล่นถึงแก่นของอารยธรรมนั้นๆ เพราะแป๊บๆ ก็ต้องเปลี่ยนอารยธรรมกันแล้ว อย่างสยามก็คือได้เล่นปุ๊บเกมก็ใกล้จบปั๊บ ยังไม่ทันได้ซึมซับความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมที่สร้างมาหลายชั่วโมงเลย
การที่เกมแบ่งเป็น 3 ยุคก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวเองเหมือนกัน ขึ้นกับว่าจะชอบกันรึเปล่า อย่างสิ่งที่ผมชอบคือการแบ่ง 3 ยุคชัดเจนและมีสรุปรวมคะแนนในแต่ละครั้งก่อนการเปลี่ยนยุค มันทำให้การเล่นแต่ละยุคไม่สูญเปล่าเพราะเหมือนต้องแข่งขันอยู่ตลอดแม้แต่ยุคแรกเอง ชิลล์นานไม่ได้ต้องรีบสำเร็จภารกิจเพื่อทำคะแนนไปแลกแต้มเบเนฟิตตอนท้าย ส่วนตัวแล้วชอบ “ยุคสำรวจ” เป็นพิเศษเพราะมันได้ฟีลแข่งขันกันหาทรัพยากรและตั้งรกรากจริงๆ ใครออกสำรวจโลกช้าก็จะเสียเปรียบไปเลย ส่วนยุคสุดท้ายนี่แข่งกันไปเอนด์เกมแล้ว นอกจากนี้หลายครั้งที่เริ่มยุคใหม่สิ่งปลูกสร้างยุคเก่าบางอย่างก็จะหมดประโยชน์ไปด้วยทำให้ผู้เล่นต้องตั้งหลักกันใหม่ ความรุ่งเรืองในยุคก่อนหน้าไม่ได้การันตีว่ายุคถัดมาจะกลายเป็นมหาอำนาจในทันที หากบริหารจัดการได้ไม่ดีก็มีแววล่มจมได้เหมือนกัน
ข้อเสียของการที่เกมเพลย์มาสไตล์นี้คือคุณแทบไม่มีเวลาละเลียดเล่นเลย ผมเดาเอาว่าทีมงานอยากทำให้เกมมันกระชับขึ้นใน 1 เพลย์ เลยคล้ายกับจะเร่งผู้เล่นอยู่ตลอดเพราะในทุกๆ ครั้งที่กดจบเทิร์นเวลาของยุคนั้นๆ ก็จะเดินไปเรื่อยๆ ครับ ขณะที่การมี 3 ยุคก็ให้ความรู้สึกถึงการวิวัฒฯ ที่น้อยไปสักหน่อย คือพอมีจรวดก็ใกล้จะจบเกมแล้ว แอบคิดว่าหากมีอีกสักยุคก็คงจะหนำใจมากกว่านี้
การทำสงครามในภาคนี้เน้นการจัดการยิบย่อยมากขึ้นจากการเข้ามาของยูนิตประเภทผู้นำทัพ คือรบกันตามปกติก็ยังทำได้ครับ เลือกพื้นที่ได้เปรียบเข้าโจมตีปีกอะไรก็ว่าไป แต่การมียูนิตผู้นำทัพสุดแพงนี้อยู่ใกล้ๆ นั้นย่อมดีกว่าเสมอ เพราะยูนิตนี้เก็บเลเวลและอัพสกิลมาบัฟยูนิตอื่นๆ ได้ และตัวเขายังมีความสามารถพิเศษเช่นการสั่งยิงไปในจุดเดียวพร้อมกันซึ่งจะบวกโบนัสต่างๆ ให้อีก คือมีกับไม่มีพี่แกในสมรภูมิเห็นผลมากๆ แต่อาจจะต้องจัดการดีๆ เพราะพี่แกนอกจากแพงแล้วยังตัวบางแถมโจมตีด้วยตัวเองไม่ได้ครับ อีกทั้งยูนิตที่จะได้รับโบนัสก็ต้องอยู่ติดกับแกในรัศมี 1 ช่อง Grid เท่านั้น ก็อาจจะต้องนั่งไล่คลิกกันหลายทีหน่อยเวลาสงคราม แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่าการรบภาคนี้ละเอียดขึ้นพอสมควรเลย
ผิดกับการฑูตลิบลับ ที่ออปชั่นกลายเป็นไม่เยอะเท่าไหร่ ไม่ว่าจะกับอาณาจักรฝ่ายอื่นหรือ City-State ล้วนมีออปชั่นจำกัดมากๆ แม้จะอัปสกิลหรือวิจัยปลดล็อคออปชั่นอื่นๆ จนหมดแล้วเราก็ยังพบว่าไม่สามารถเล่นสายการฑูตให้ซับซ้อนได้เท่าที่ควร เพราะออปชั่นการฑูตส่วนใหญ่จะเป็นการค้า, แซงชั่นบางเรื่อง, ขโมยเทคโนโลยีหรือวินาศกรรม แต่ดันไม่มีการฑูตสไตล์ยุแยงหรือทำให้มันลึกกว่านั้น ติดสินบนก็ยังไม่ได้ จะยกเมืองให้ก็ต้องเข้าเมนูสงบศึกสงครามเท่านั้นตอนสงบสุขทำไม่ได้ คือมันพื้นๆ ไปมาก ไม่ลึกไม่มีลูกเล่นเจ๋งๆ เลย แถมหลายๆ ครั้ง AI ก็ฉีกสัญญาพันธมิตรได้ง่ายๆ โดยที่ไม่มี Penalty ใดๆ มาลงโทษ ทั้งๆ ที่กว่าจะเป็นได้คือประคบประหงมเลือดตาแทบกระเด็น ซึ่งกับเกมที่เน้นการสร้างอารยธรรม ผมคิดว่าระบบการฑูตควรทำได้ดีกว่านี้ครับ
ขณะที่การสร้างเมืองก็ก้ำกึ่งระหว่างการขาดอิสระและท้าทายผู้เล่น คือเมืองภาคนี้จะขยายได้ด้านละ 3 Grid เท่านั้นไม่อาจขยายเพิ่มเติมได้อีก (มีเพียงอารยธรรม America ที่สามารถส่งคนไปเคลมทรัพยากรนอกอาณาเขตได้) ทำให้ผู้เล่นต้องเล็งดีๆ ว่าจะตั้งรกรากในจุดใดมีทรัพยากรแบบไหนอยู่บ้างและมันอยู่ในอาณาเขตไหม บางครั้งอาจจะรู้สึกว่าท้าทายและกดดันดี แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกขาดความโฟลวแบบธรรมชาติที่เมืองจะโตได้เองแบบภาคก่อนๆ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าการแบ่งประเภทเมืองแอบไม่ค่อยมีประโยชน์นัก พวก Town เกิดใหม่ต้องใช้ทองในการขยายเมือง แต่ทองในเกมก็ไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น หลายๆ ครั้งไม่พ้นต้องอัปเกรดไปเป็น City อยู่ดีเพื่อให้ใช้ Production แทนทองในการพัฒนาเมือง และเราก็ไม่ได้รู้สึกชัดเจนอยู่ดีว่าจะมีเมืองประเภท Town ไปทำไม เพราะผมก็จบเกม 2-3 รอบโดยแทบไม่เหลือ Town เลย
สรุป
Civilization VII เป็นเกมที่พยายามจะฉีกจากความเดิมๆ ของตัวเองด้วยระบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจแต่มันก็คล้ายจะเป็นดาบสองคมที่มีทั้งจุดที่น่าชื่นชมและน่าเสียดายไปพร้อมๆ กัน แม้แต่ระบบที่ใจหนึ่งเราชื่นชอบในความเปลี่ยนแปลงแต่ที่สุดก็ยังอดเสียดายที่มันกลายเป็นแบบนั้นไปไม่ได้ สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้เล่นเป็นคนๆ ไปว่าจะชอบหรือเปิดรับกับมันมากน้อยขนาดไหน
กระนั้นถึงมันจะขาดอะไรๆ ไปอยู่บ้าง Civilization VII ยังคงเป็นเกมที่สามารถพูดได้ว่าเล่นสนุกอย่างเต็มปาก มันเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม แต่ก็มีรายละเอียดมากมายให้เรียนรู้ การแข่งขันของอารยธรรมในแต่ละยุคสมัยก็ยังจะรีดเร้นให้คุณต้องพยายามคิดในทุกๆ มูฟว่าจะเดินหมากเช่นไร แต่ถึงจะเดินผิดพลาดไปบ้างคุณก็จะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เพราะตาใหม่ยังมีเสมอ “ขอเพียงอีกตาเดียว” ก็จะถึงจุดพลิกเกม และจะสามารถปิดเกมไปนอนได้อย่างสบายใจ
เพียงแต่ก็เช่นเคย เพราะคุณเองจะรู้อยู่แก่ใจ ว่า “อีกตาเดียว” นั้นมันไม่เคยจะมีอยู่จริง
VERDICT
8/10
Civilization VII มีกำหนดวางขายวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้บน Steam, Epic Game Store, PS5, PS4, Xbox Series X|S, Xbox One และ Nintendo Switch ผู้เล่นที่ลิงค์เกมกับ 2K Account สามารถรับตัวละครนโปเลียนไปใช้เพิ่มเติมได้ ร่วมถึงใช้ฟีเจอร์ Cross-Play แชร์ Progression ในการเล่นแต่ละแพลตฟอร์มได้ด้วย (แต่เกมต้องซื้อแยก) ส่วนผู้ที่ซื้อตัวเกมแบบ Deluxe Edition หรือ Founders Edition จะเข้าเล่นเกมได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ครับ สะดวกเวอร์ชั่นไหนก็จัดกันได้ตามสะดวกโลด!
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station