เมื่อไม่นานมานี้ทาง depa หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่งจะเปิดตัวโครงการที่ทำเอาวงการตื่นตัวกันไปพอสมควรเลยครับกับ ‘depa Esports’ โครงการที่มุ่งเน้นการผลักดันอีสปอร์ตแบบทั้งองคาพยพ เพื่อสร้างบุคลากรด้านอีสปอร์ตที่มีคุณภาพและแก้ไขความเข้าใจของสังคมไปในตัว
โอกาสนี้ทาง Online Station ของเราก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “พี่นัท” ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของทาง depa ครับ ซึ่งท่านก็ให้ข้อมูลเราได้แบบจุใจเลยทีเดียว บางเรื่องก็น่าสนใจเพราะหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้มาก่อน และแสดงให้เห็นว่าทาง depa นั้น มุ่งเน้นกับพันธกิจนี้ขนาดไหนครับ
Q: ก่อนอื่นอยากให้แนะนำตัวครับ
A: พี่นัทนะครับหรือ ผ.อ. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ เป็นผ.อ. ของ depa ครับ พวกเราขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของดิจิทัลนั่นเอง และถือเป็นหนึ่งในพาร์ทสำคัญของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลครับ
Q: เราได้ยินชื่อของ depa มานาน แต่ความเป็นจริงคือหลายๆ คนยังไม่แน่ใจในบทบาทของ depa นักครับ
A: จริงๆ ในกฎหมายเนี่ยเราทําหลายอย่างนะในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หนึ่งก็คือเราเขียนแผนการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนะครับ หลายๆ หน่วยงานก็เอาของเราไปทํางานตามนั้นทรูก็ทํางานอยู่ด้วยคล้ายๆ กับเรา อันนี้เป็นต้น ก็อาจเป็นเรื่องเหมือนๆ กันแต่ว่าเรามุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกันมากกว่า อย่างที่บอกคือการทํางานมันต้องขับเคลื่อนโดยหลายภาคส่วน
ข้อที่สองเนี่ยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งคําว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลมันประกอบไปด้วย 5 เซ็กเตอร์ หนึ่งก็คือ ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ประกอบด้วย เกม, แอนิเมชัน, คาแรคเตอร์ แล้วก็มีอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital as a Service) ซึ่งรวมไปถึงดิจิทัลสตาร์ทอัพ และผู้ให้บริการดิจิทัล (Digital Provider) อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) ที่เป็นซอฟต์แวร์เดิมที่เป็นซอฟต์แวร์แพ็กเกจอันนี้ก็ต้องส่งเสริมให้เขารอดด้วยเพราะมันกําลังเปลี่ยนเทรนด์เป็นคลาวด์
อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) อาทิ Telecom, Network, 5G อันนี้ก็จะเกี่ยวกับกับโอเปอเรเตอร์ซึ่งเมืองไทยก็เหลืออยู่แค่ 2 เจ้า แล้วก็สุดท้ายเป็น อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) ทั้งหมดเนี่ยมันเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล
แล้วก็ข้อที่สามของกฎหมายเนี่ยทําให้เราส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวในภาคเศรษฐกิจเกษตรผลิตแล้วก็บริการรวมทั้งภาคประชาชน
ข้อสุดท้ายสำหรับบทบาทหน้าที่ depa คือเสนอแนะกฎหมายกฎระเบียบข้อบังคับที่มันมีข้อจํากัดของการขับเคลื่อน คือการทํางานบางอย่างเนี่ยเอกชนทําไม่ได้แต่รัฐทําได้ มันต้องทํางานร่วมกันนะ บางคนจะเข้าใจว่าเอ๊ะ! เหมือนแย่งกันทําหรือทำงานไม่สอดคล้องกันรึเปล่า? พี่ว่าไม่ใช่หรอก เป้าหมายเดียวกันมันต้องมีการทํางานด้วยกันอยู่แล้ว คนนี้บทบาทหน้าที่อย่างนี้บ้าง คนโน้นทำอย่างอื่น
พวกเราพยายามทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมันเติบโต โปรโมต แล้วก็เกิดการลงทุน จากนั้นเมื่อเกิดการพัฒนาบทบาทหน้าที่เหล่านี้ เราก็พัฒนาในทางที่ทำได้ เช่นเป็นนักลงทุนบ้างเป็นโปรโมเตอร์บ้าง เป็นคนที่จะปิดแก๊ปกฎหมายที่รัฐทําและเอกชนไม่รัดรูปหรือเอกชนอยากทําแต่รัฐไม่ทํา สิ่งเหล่านั้นมันคือสิ่งที่ depa กำลังร่วมทํางานด้วยครับ
Q: อธิบายโครงการนี้ในภาพกว้างครับ
A: ในภาพรวมจริงๆ คําว่าอีสปอร์ตมันเป็นปัญหา 8 ปีที่เราโดนคําถามของสังคม, คําถามของนักการเมือง, คําถามของผู้บริหารประเทศ และคําถามจากเด็กๆ ว่าจริงๆ แล้วอีสปอร์ตมันจะไปยังไง? คือมันถูกบรรจุกีฬานี้ก็ไปอยู่ในกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬานะครับ แต่ว่าบรรจุไปปุ๊บมันก็เป็นพาร์ทหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ระบบนิเวศ (Ecosystem) ของมันไม่ได้มีแค่กีฬา, มันมีทั้งออร์กาไนเซอร์, มันมีทั้งการเตรียมการ แล้วมันก็มีเกมที่ถูกใช้มาเป็นอุปกรณ์ในกีฬา ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขัน
เราเลยคิดว่างั้นต้องแก้ไขปัญหาแรกก่อน ก็คือทํายังไงดีให้ระบบของการสร้างอาชีพมันได้รับการยอมรับของสังคม สังคมหมายความว่าผู้ปกครองยอมรับ เด็กก็เข้าใจ ครูเข้าใจ ก็เลยลงไปทําตัว depa ESPORTS IN SCHOOL เพื่อให้เกิดการทํางานใน 30 โรงเรียน
ส่วนกิจกรรมที่สองคือพี่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมต้องเริ่มจากการมีความรู้ที่ถูกต้อง คําว่าอีสปอร์ตอะคาเดมีมันเลยเกิดขึ้น นี่เราก็คุยกับสมาคมอีสปอร์ต คุยกับสโมสรกับพวกอารีนาต่างๆ ว่าถ้าจะทําอีสปอร์ตอะคาเดมี่เด็กควรเรียนรู้อะไรและครั้งนี้ก็เลยเปิดเป็น Online Learning Platform (http://depaesports.com) เพื่อให้เด็กเข้าไปเรียนในตัว depa ESPORTS ACADEMY สิ่งเหล่านี้มันคือการเปลี่ยนบริบทความคิดตรรกะแล้วก็มายน์เซ็ตของสังคมว่าการจะเป็นนักกีฬามันไม่ใช่เส้นทางของเด็กติดเกมนะ แต่มันมีเส้นทางที่เดินไปให้ถูกต้อง
เรื่องที่ 3 คือ การส่งเสริมการขับเคลื่อนระบบนิเวศอุตสาหกรรมอีสปอร์ตผ่านกิจกรรม depa ESPORTS ACCELERATOR PROGRAM พัฒนาผู้เล่นสู่นักกีฬาอาชีพ เติมเต็มทักษะผู้จัดการทีมและโค้ช พร้อมปั้นทีมอีสปอร์ตศักยภาพสูง และเปิดพื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้คร่ำหวอดในวงการอีสปอร์ตเพื่อเป็นโอกาสต่อยอดสู่ระดับมืออาชีพ และสุดท้ายคือ การหาอินฟลูเอนเซอร์ที่พอจะเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ ซึ่งก็อาจเป็นนักกีฬาที่มีทักษะอาชีพและประสบความสำเร็จพอจะบอกสังคมได้ว่า ถ้าจะมาทางนี้มันก็ไม่ตายนะ รอดได้ พลิกฐานะได้ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นแค่นักกีฬาอย่างเดียว มันมีเรื่องของสปอนเซอร์มีโฆษณามีอะไรหลายอย่าง หรือบางคนอาจจะไปเป็นนักพากย์ หรือจะไปเป็นคนจัดงาน เป็นต้น สิ่งที่เราอยากสื่อสารออกไปคือสังคมควรรับรู้ว่าอย่าไปมองมันในด้านลบเพียงอย่างเดียว สุดท้ายเราจึงจัดตัวทัวร์นาเมนต์แซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาเพื่อจริงๆ แล้วเป้าหมายเมืองไทยถ้ามีเครื่องมือดีๆ มีกลไกที่สําคัญเนี่ยก็สามารถจะไปนำทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตใหญ่ๆ เข้ามาจัดในประเทศได้ ประเทศไทยก็จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการแข่งขันอีสปอร์ตทัวร์นาเมนต์ซึ่งจะต้องให้เอกชนเป็นคนขับเคลื่อน แต่ขณะเดียวกันหลังบ้านก็เป็นเราที่คอยสร้างความเข้าใจกับสังคมซึ่งมันก็คือกิจกรรมสุดท้ายที่เราเรียกว่า depa ESPORTS TOURNAMENT ครับ
Q: อะไรที่เป็นสารตั้งต้นให้ depa เกิดอยากริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมาครับ
A: Deep Pain Point มันคือปัญหาที่หยั่งรากลึกของประเทศ ซึ่งเราอยากจะท้าทายในการแก้ไขมัน ที่ผ่านมาไม่มีใครที่สนใจหรือกล้าพอที่จะจัดการกับมันเพราะมองไม่เห็นโอกาสที่รออยู่ และพี่ก็เชื่อว่าการทำงานตรงนั้นมันค่อนข้างใช้เวลา ใช้ความคิดและความทุ่มเท สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความร่วมมือและประสานความขัดแย้งเข้ากันให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำตรงนี้ก่อนเราก็ไปต่อไม่ได้ วนลูปอยู่ที่เดิม
ส่วนอีสปอร์ตก็จะมีแต่คนบอกว่ามันดีนะมันดี อีกฝั่งก็บอกสิ่งนี้ทําให้เด็กติดเกม เพราะคนไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ของคำว่าเกม แล้วก็สังคมยังไม่ยอมรับอาชีพนี้เหมือนในอดีตที่เรายังไม่ยอมรับคนเล่นลิเกหรือคนเต้นกินรํากิน แต่เวลาต่อมาผู้คนเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นเซเลบริตี้ทํางานเป็นเศรษฐีเงินล้าน เนี่ยเหมือนกัน นักกีฬาอีสปอร์ตที่เขาทําได้ อาจจะเป็นหลักล้านเหรียญดอลล่าด้วยซ้ำไป คนไทยก็มีให้เห็นแล้ว ทําไมเราไม่ทําให้อาชีพนี้ให้มันเป็นอาชีพที่สังคมยอมรับล่ะ เพราะปัญหาก็คือ 1. เขาไม่เข้าใจระบบการศึกษาเรา 2. ไม่เข้าใจจิตใจหรือวัฒนธรรมของสังคมในยุคใหม่ 3. ไม่เข้าใจถึงการสร้างเส้นทางอาชีพที่มีคุณค่า 4. ไม่ให้โอกาสลูกหรือไม่ให้โอกาสเด็กแล้วก็ไปโทษว่าไอ้โอกาสที่ได้รับไป 5 ชั่วโมงต่อวันมันทําให้คุณไม่มีอนาคต ทั้งๆ ที่ 5 ชั่วโมงต่อวันของการเล่นเกมเนี่ยมันอาจจะมีอนาคตก็ได้ ทั้งหมดทั้งมวลก็เลยกลายมาเป็นโครงการนี้ครับ
Q: เราได้ยินคำว่าอีสปอร์ตมาช้านานแล้ว โครงการนี้มันช้าไปหรือว่าเริ่มดาวน์แล้วหรือเปล่าครับ
A: พี่กลับมองว่ามันไม่ได้ช้าไปแต่มันเป็นการขยับตัวที่ปลอดภัยและระมัดระวัง เพราะมันจะต้องไปรบกวนบทบาทหน้าที่ของคนอื่นที่เขาอยากจะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ อย่างเช่นพอเราบอกจะทําอีสปอร์ตขึ้นมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็จะบอกว่ามันหน้าที่ของเขา หรือถ้าเราจะจัดงานเกมขึ้นมาส่งเสริมบางอย่างทาง สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย เขาก็จะบอกว่ามันเป็นหน้าที่เขา ถึงบอกว่าเราต้องเข้าใจ Ecosystem ทั้งหมดก่อนจะลงมือทำอะไรลงไป
ที่เราต้องการก็คือการจะดึงเอาการลงทุนและการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ เข้ามา เพื่อให้ภาคประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการแข่งขันที่เป็นมืออาชีพ เด็กๆ ได้ทดลอง ได้ Knowhow และเรียนรู้จากการแข่งขันระดับสูง การท่องเที่ยวก็เกิดเพราะคนหลั่งไหลเข้ามา ทั้งนักกีฬาและผู้ชมการแข่งขัน แม่ค้าก็ขายของได้ เหมือนกับที่เราจัดแข่งกีฬาใหญ่ๆ ประเภทหนึ่ง พี่ก็เลยคิดว่ามันไม่ช้าไปหรอก มันอยู่แค่ว่า การทำให้ตัวเองมีความสามารถและมีบทบาทในอุตสาหกรรมการทํารายได้แบบนี้หรือเราจะไล่ตามกับสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง
เพราะถ้าเมืองไทยไล่ตามไม่ทันมันก็จะเสียโอกาสเท่านั้นเอง ทําไมห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ จึงเกิดขึ้นในยุคอีคอมเมิร์ซล่ะ มันอยู่ที่ว่าคุณปรับตัวยังไงกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนั้นมากกว่า กับโครงการนี้จะเห็นว่าเน้นสร้างคน เน้นสร้างความเข้าใจ ทีนี้เมื่อเราสร้างออกมาดูมีจํานวนเยอะมากนะแต่ว่ามันมีที่ให้พวกเขาอยู่
เราต้องเข้าใจว่า เด็กเนี่ยเล่นเกมอยู่ประมาณ 14.6 ล้านคน เป็นเด็กเยาวชน ไม่รวมผู้ใหญ่ที่เล่นเกม แต่ถ้ารวมทั้งหมดแล้วก็เกือบ 30 ล้านคนที่เล่นเป็นประจํา ที่ผ่านมาประเทศเราไม่ค่อยเอื้อพื้นที่ให้พวกเขามากนัก แม้จะเป็นแบบนั้นเขาก็ยังมีพื้นที่ของตัวเอง แต่เราอยากเปลี่ยนใหม่ เราต้องการทำให้มั่นใจว่า เรามีพื้นที่ให้พวกเขาบนเส้นทางที่มีการไกด์ให้ประมาณหนึ่งว่า อะไรที่สามารถทำเงินได้ เราแค่อยากช่วยชี้นำว่า มันมีเส้นทางแบบนี้
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะกลายไปเป็นแชมเปี้ยน เป็นเทพแห่งวงการ แต่อย่างน้อยๆ เราอยากให้คุณพัฒนาสกิลตัวเองอย่างถูกต้อง และเดินไปบนเส้นทางอาชีพที่ถูกทาง 14.6 ล้านคนต้องเห็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ และขณะเดียวกัน ฝั่งเราก็ต้องร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม ในการกำกับดูแลมันอย่างเหมาะสมและไม่เสียดุลการค้าที่มากเกินไปในโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึงเหมือนที่เราเสียไปแล้วกับอีคอมเมิร์ซ
ถ้าทุกคนเข้าใจสิ่งนี้ได้เราก็ไม่ต้องมานั่งตอบคำถามเดิมๆ จากภาคสังคมหรือนักการเมือง ถ้าเราจัดอีเวนต์ ประชาชนต้องได้ประโยชน์ เมื่อเกิดประโยชน์ อุตสาหกรรมจะเติบโต ประเทศชาติเจริญ มีที่ยืนให้คนเล่นเกมมากขึ้น ถึงคุณเล่นเกมไม่เก่ง แข่งขันไม่ไหว ก็ยังมีอาชีพอื่นรองรับอย่างเพียงพอ อาจจะเป็นนักพากย์, นักข่าว, อินฟลูเอนเซอร์, นักเล่าเรื่อง ฯลฯ ถ้าคนของเราเข้าใจกันมากขึ้น ก็จะเห็นโอกาสมากขึ้น
Q: พูดถึงโครงการมันเป็นโครงการที่เน้นเรื่องอีสปอร์ต แต่ว่าที่จริงแล้วคนเล่นเกมก็ไม่ได้มีแค่คนที่อยากแข่งขันหรือคนที่อยากเป็นนักกีฬา พวกเขาสามารถคาดหวังโครงการอื่นๆ จาก depa หรือว่าวันหนึ่งประเทศเราจะสามารถสร้างเกมที่ทุนสูงมากๆ ออกมาเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศได้ไหม
A: เกมในวันนี้เนี่ยมันแข่งขันกันสูงเนอะ แล้วเมืองไทยมักจะขาดคนที่เป็นนักพัฒนา ขาดการสร้างสตอรี่ที่ต่อเนื่อง คนเล่นแล้วไม่เบื่อ ต้องเข้าใจว่า เราเป็นนักสร้างสรรค์ได้ดี เราเป็นนักผลิตได้ดี แต่เราขาดการสร้าง
สตอรี่ที่น่าค้นหา มันเลยทําให้อุตสาหกรรมเกมเราโตได้น้อย แล้วเราขายเกมบนแพลตฟอร์มโมบายเสียส่วนใหญ่ที่มันมาเช่นเดียวกันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือแชริ่งอีโคโนมี ซึ่งกฎหมายเรารองรับไม่ทัน จึงเกิดการเสียดุลย์ไป อีกข้อคือการผลักดันเกมในประเทศไทยให้ขยายตัวจนโตพอแล้วไปโกอินเตอร์ยังไม่ได้ถูกทํางานอย่างจริงจังเป็นโรดแมป
เหล่านี้มันจะทําให้ผู้ประกอบการเกมต้องออกไปขวนขวายการทํางานด้วยตัวเองในตลาดต่างประเทศ คําว่าไปเฟ้นหาตลาดต่างประเทศเนี่ยก็ทําให้เขาต้องไปลําบากคือ 1. เรื่องของภาษา 2. เรื่องของสังคม เพราะเกมมันจะต้องถูกปรับไปกับบริบทความต้องการของตลาดนั้นๆ หรือแม้แต่การขายก็ต้องใช้ภาษานั้นๆ ในการขาย เดี๋ยวนี้เอไอพอช่วยได้ แต่ว่ามันก็มีค่าใช้จ่าย 3. การ Matching กับ Publisher ซึ่งมีพลังในการต่อรองสูง ทั้งยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เมืองไทยยังไม่เคยมี Business Matching แบบจริงจัง แม้แต่ใน Thailand Game Show ที่จัดกันมายันครั้งล่าสุด
อีเวนต์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งการที่เกมไทยจะเป็นแบบนั้นได้ รัฐต้องทําโรดแมปอย่างจริงจังแต่ไม่ใช่ว่าทําแล้วทิ้งๆ ขว้างๆ ให้เอกชนแต่ฝ่ายเดียว นี่คือพูดในมิติของรัฐ ส่วนในมิติของเอกชนที่เป็นน้องๆ นักพัฒนาเกม เท่าที่คุยปัญหาคือ หลายๆ รายอยากได้การสนับสนุนที่เกินความสามารถตัวเอง เราต้องไม่เอาเปรียบอุตสาหกรรมอื่น ไม่งั้นเดี๋ยวฝนตกไม่ทั่วฟ้า เกมนี้ทําไมถึงได้แล้วเกมนั้นทำไมถึงไม่ได้ เออแล้วทําไมน้องคนนี้ถึงได้ไปแล้วน้องอีกคนถึงไม่ได้ไป เพราะฉะนั้นมันต้องขึ้นอยู่กับ Performance คือต้องคนละครึ่งทาง เอา Performance มาโชว์ Matching ได้ ตลาดได้ เราค่อยให้ได้ตามที่ขอนะครับ
เราต้องฝึกผู้ประกอบการของเราให้ยืนด้วยลำแข้งได้ในระดับหนึ่ง และหากรัฐสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านโรดแมปที่ชัดเจนได้ ฝั่งนักพัฒนาก็สามารถเติบโตได้มากขึ้น อุตสาหกรรมก็จะโตขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะงั้นมันต้องครึ่งทาง เราต้องช่วยกัน
Q: แล้วในมุมมองที่มีต่ออีสปอร์ตไทย มันสามารถเป็นในเชิงของ soft power ได้ไหมครับ
A: มาแล้วคําถามยอดฮิต ถ้าถามว่าเกมเป็น Soft Power ได้มั้ย? คือเกมเนี่ยสามารถนำส่งในส่วนของ Soft Power ในสายตาชาวโลกได้ อย่าง Home Sweet Home ที่เคยโด่งดังมาก่อนหน้า คือเราส่งวัฒนธรรมไทยไปอยู่ในสายตาชาวโลกได้ แต่ว่าชาวโลกจะชอบหรือเปล่าอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราทำอย่างถูกต้องมันก็คงเกิดผล แต่ถ้าเราจะยัดเยียดว่าคุณต้องรักวัฒนธรรมของเรามันก็อาจจะไม่ส่งผลใดๆ
แต่อีสปอร์ตมันเป็นกีฬา พอมันเป็นกีฬาปุ๊บการจะบอกว่าอีสปอร์ตจะนำส่ง Soft Power มั้ย ก็ต้องบอกว่ามันทำไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เป็นกีฬาอย่างมวยไทย มันจะเป็น Soft Power อะไรล่ะ? แต่ถ้าเป็นเกม มันก็ใช่เพราะมันมีสตอรี่มีเรื่องราวให้เล่า
Q: ฝากหรือเชิญชวนอะไรทิ้งท้ายหน่อยครับ
A: อยากเชิญแบบนี้ว่า ถ้าโลกมันเปิดแล้วเราต้องปรับวิถีของระบบสังคม ต้องปรับวิถีของการทํางานในเชิงการศึกษา รวมถึงปรับวิถีของการพัฒนาอุตสาหกรรมเสียใหม่ เราก็อาจจะต้องมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไปแล้วและมันเปิดรับแล้ว โอกาสเหล่านั้นเนี่ยมันจะกลายเป็นสิ่งที่ทําให้ลูกหลานเรามีเส้นทางเดินที่มีคุณภาพดีกว่า
โครงการนี้เป็นการสร้างเส้นทางเดิมที่มีคุณภาพในโรงเรียน ดีกว่าให้ลูกเราไปหลบๆ ซ่อนๆ ภายใต้โครงการนี้จะทําให้ลูกเราใช้เวลาเสี้ยวหนึ่งอย่างน้อยๆ 1 ชั่วโมงต่อวัน ในการเรียนรู้บนอีสปอร์ตในขณะนี้ แล้วเราค่อยมาตัดสินทีหลังว่าที่เรียนไปนั้นมันดีหรือไม่ดี
โครงการนี้สร้างอาชีพใหม่ให้น้องๆ ได้ ในอนาคต 50 อีสปอร์ตแมนหรือเกิร์ลก็แล้วแต่ จะเป็นคนที่มาบอกว่าเขาทํายังไงให้ตัวเองมีเส้นทางชีวิตที่ดี ลองฟังเสียงของเขาสักหน่อย ก่อนจะตัดสินว่า เราทําให้เด็กติดเกมและไม่มีอนาคต เราเชื่อว่า เมืองไทยมีโอกาส เราสามารถจัดทัวร์นาเมนต์หลายๆ อย่างได้
เราเก่งนะจัดประกวดนางงามแล้วนางงามอีก เราจัดมวยที่มันกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ทั่วโลกมองเห็นได้อย่างชัดเจน แล้วทําไมเราไม่ให้เอกชนจัดแบบนั้นกับสิ่งที่เรียกว่าอีสปอร์ตแล้วให้โอกาสเขาไปสร้างและดึงผู้เล่นใหญ่ๆ เข้ามา แล้วเมืองไทยมันจะเกิด Entertainment Sector และมันไม่ได้มาแค่อุตสาหกรรม
พี่อยากจะฝากว่าให้มองภาพกว้างๆ ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งองคาพยพ เราจะมีคนเข้ามาแข่งขันและคนเหล่านั้นเนี่ยมักกลับมาใหม่ทุกๆ ปี เราจะมีรายได้ประจํา พอเรามีรายได้ประจำก็จะไม่ใช่ทําแค่อีสปอร์ตอย่างเดียวแล้ว หลายๆ คนอาจจะกลายเป็นผู้ที่สร้างอนาคต เป็นนายจ้างมี Passive Income ในช่วงเวลาที่นักแข่งเขาจะเข้ามาเล่น มาใช้จ่าย แล้วก็มาขับเคลื่อน
และขณะเดียวกัน อาชีพที่คนเราไม่เคยยอมรับมันจะถูกยอมรับมากขึ้น แล้วเราก็จะสร้างให้เด็กรุ่นใหม่เขามีเส้นทางเดินในสิ่งที่ดี ผมว่า โลกเปิด เราปรับ เราต้องเปลี่ยน ลองให้โอกาสทั้งผู้ปกครอง ทั้งน้องๆ ใช้เส้นทางโอกาสนี้เป็นการพิจารณาความถูกต้องในการดําเนินชีวิตหรือการพัฒนาสกิล ถ้าไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใช่ก็ปล่อยให้ต่อยแบบถูกวิธีการก็น่าจะดีที่สุด
ก็จบลงไปแล้วครับสำหรับบทสัมภาษพิเศษชุดนี้ที่จัดเต็มอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa และทีมงานมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับที่ให้เกียรติสัมภาษณ์กับทางเราขนาดนี้
ส่วนใครที่สนใจในโครงการ depa Esports สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้เลยที่ Facebook Page: depa Thailand และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการได้ที่ http://depaesports.com ครับ
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station