รีวิวเกม Clock Tower: Rewind – การกลับมาของเกมสยองที่ไม่คุ้มกับการรอคอย

Clock Tower

ย้อนไปเมื่อปี 1995 ณ เวลานั้นเกม Clock Tower ได้ถือกำเนิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม Super Famicom (SNES) ในฐานะเกมแนวสยองขวัญหน้าใหม่ที่เป็นมุมกล้องมองด้านข้าง พร้อมด้วยรูปแบบเกมเพลย์สไตล์ Point and Click ที่ผู้เล่นต้องเลื่อนเคอร์เซอร์ไปยังวัตถุในฉากเพื่อสำรวจหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย รวมถึงศัตรูหลักในเกมอันเป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์ ซึ่งก็คือมนุษย์กรรไกรนั่นเอง

แต่น่าเสียดายที่หลังจากเกมภาค 3 ที่วางขายเมื่อปี 2002 ดันไม่ประสบความสำเร็จนัก อีกทั้งความนิยมของผู้คนที่มีต่อซีรีส์ก็มีแต่จะลดลงแม้เพิ่งจะมีออกมาเพียงแค่ 4 ภาคเท่านั้น จึงทำให้ซีรีส์ Clock Tower เงียบหายไปจากสารบบวงการเกม กระทั่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ทาง WayForward และ Limited Run Games ก็ได้หยิบเกมภาคแรกกลับมาปรับปรุงใหม่ในชื่อ Clock Tower: Rewind และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามามากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นจะคุ้มค่าสมกับที่แฟน ๆ รอกันมานานถึง 29 ปีหรือไม่ มาชมรีวิวจาก Online Station กันดีกว่าครับ


ผู้พัฒนา: WayForward, Limited Run Games
แนวเกม:
สยองขวัญ, Point and Click
วางจำหน่าย:
29 ตุลาคม 2024
แพลตฟอร์ม:
PS5, PS4, Xbox Series X|S, Xbox One, Switch และ PC


เนื้อหาของเกมภาคแรกจะเล่าถึงเด็กหญิง 4 คนจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งในเมืองรอมสดาเลน ประเทศนอร์เวย์ ได้แก่ เจนนิเฟอร์, แอนน์, ลอร่า และ ล็อตเต้ ที่ได้รับอุปการะจากเศรษฐีนามว่า ไซม่อน แบร์โรวส์ ผู้เป็นเจ้าของคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ถูกขนานนามว่า Clock Tower จากรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นหอนาฬิกาอันโดดเด่นนั่นเอง ทว่าเด็กสาวทั้ง 4 ต่างก็ไม่รู้ว่าภายในคฤหาสน์หลังนี้มีความลับอันดำมืดซ่อนอยู่ และมันจะกลายเป็นฝันร้ายที่ติดตัวเจนนิเฟอร์ ตัวเอกของเกมมานับแต่นั้น

สำหรับในภาค Rewind นี้จะมีให้เลือกตั้งแต่ก่อนเข้าเกมได้ว่าจะเล่นในโหมดออริจินัลหรือโหมด Rewind ซึ่ง Rewind จะมีการเพิ่มฟีเจอร์ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้เล่นมากมาย ตั้งแต่การย้อนเวลาไปประมาณ 15-20 วินาทีก่อนหน้า เพื่อให้เราแก้ไขความผิดพลาดที่เพิ่งทำมา เช่น ย้อนไปช่วงก่อนที่เราจะสำรวจอะไรบางอย่างแล้วตาย หรือย้อนไปก่อนหน้าที่เราจะ Trigger กับอะไรในฉากแล้วศัตรูโผล่มา เป็นต้น ถัดมาคือระบบ Save Game (ที่คล้ายกับ Save State บนอีมูเลเตอร์) ซึ่งเราสามารถเซฟได้ทุกที่ แต่ Save State ในเกมนี้จะเซฟได้เพียงสล็อตเดียว จึงต้องเซฟทับไปเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ในโหมด Rewind ยังมีการเพิ่มรายละเอียดของอนิเมชั่นของตัวละครให้ออกแอ็กชั่นกับการสำรวจมากขึ้น เราจะได้เห็นเจนนิเฟอร์ทำท่าก้มลงไปหยิบไอเทมบางชิ้น หรือเดินเข้าไปใกล้ไอเทมชิ้นนั้น ๆ เพื่อหยิบมา หรือหันไปมองคู่สนทนา สิ่งเหล่านั้นในตัวต้นฉบับจะเห็นเป็นเจนนิเฟอร์ทำท่ายืนเฉย ๆ แล้วได้ไอเทมมาเลยก็มี ใครที่เคยเล่นตัวต้นฉบับมาก่อนและจำรายละเอียดปลีกย่อยพวกนี้ได้ ก็สามารถลองเทียบกันได้ครับ

ขณะเดียวกัน มนุษย์กรรไกรที่เป็นตัวร้ายหลักของเกมภาคนี้ก็มีการเพิ่มลูกเล่นเข้ามาเช่นกัน โดยใน Rewind มีการนำระบบ Random Encounter ของภาค 2 มาใช้ กล่าวคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้เล่นใช้เวลาสำรวจห้องไหนนาน ๆ มนุษย์กรรไกรก็จะโผล่มาจ๊ะเอ๋เราแบบสุ่ม บางครั้งมันจะโผล่พรวดมากลางห้องเลย หรือบางครั้งจะมีเพลงบรรเลงขึ้นก่อนให้ผู้เล่นรับรู้ แล้วสักพักมันก็จะเปิดประตูมายังห้องที่เราอยู่ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อดีที่ช่วยสร้างความเซอร์ไพรส์แก่ผู้เล่นได้ตลอดเวลา ต่างจากในต้นฉบับที่มนุษย์กรรไกรจะโผล่ตามจุดเซ็ตพีซ ที่เราต้องไปสำรวจหรือเข้าใกล้เท่านั้นจึงจะ Trigger ให้มันปรากฏตัวออกมา ทำให้เลี่ยงไม่เจอมันได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Rewind จะเป็นการปรับปรุงตัวเกมเมื่อ 29 ปีก่อนให้ดูดีขึ้นก็ตาม แต่จุดเสียร้ายแรงของเกมก็คือการที่ทีมผู้พัฒนาเลือกที่จะไม่รีเมคเกมนี้ให้ดูสดใหม่ทั้งกราฟิกและเกมเพลย์นี่แหละครับ ดังจะเห็นได้จากระบบ Point and Click ของเกมที่ล้าสมัยมาก ๆ แล้วเมื่อเทียบกับเกมสยองขวัญซีรีส์อื่น ๆ ที่เน้นบีบให้ผู้เล่นหนีตัวรอด หรือตัวเอกไม่มีทักษะการต่อสู้ใด ๆ จะสำรวจอะไร จะใช้อะไรรับมือกับมนุษย์กรรไกรก็ต้องมาคอยเลื่อนเคอร์เซอร์ตลอด ทั้งยุ่งยากและเสียเวลาโดยใช่เหตุ

หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเกมสยองขวัญหลายซีรีส์ที่สามารถยกระดับตัวเองไปไกล มีการปรับปรุงบรรยากาศและนำเสนอความสยองได้อย่างมีชั้นเชิง แน่นอนครับว่าการที่มีกราฟิกที่สวยงามก็จะช่วยเสริมความสมจริงให้กับความน่ากลัวได้ แต่สิ่งที่ Clock Tower: Rewind ทำให้ผู้เล่นเข้าใกล้ความสยองมากที่สุดกลับเป็นซาวด์ประกอบจังหวะ Jump Scare เพราะกราฟิกยังคงใช้ของเดิมที่เป็นยุค 16-Bit ที่ไม่มีโพลีกอนอะไรเลย ซึ่งส่วนตัวมองว่าการให้ผู้เล่นรอนานเกือบ 3 ทศวรรษทั้งที นอกจากผู้พัฒนาควรจะเข้าใจความคาดหวังของแฟน ๆ แล้ว ก็ควรจะพิจารณาถึงการดึงผู้เล่นหน้าใหม่ให้หันมาสนใจซีรีส์นี้เพิ่มขึ้นด้วย มากกว่าการอนุรักษ์ของเดิมมาป้อนแฟน ๆ หน้าเก่าให้พวกเขารำลึกความหลังเฉย ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ฉากการ์ตูนอนิเมชั่นที่เป็นคัตซีนก่อนเข้าหน้าไตเติ้ลเกม ที่ทางค่ายเกมนำมาใช้โปรโมตเกม ก็เป็นเพียงอนิเมชั่นเพียงคลิปเดียวที่เราได้เห็นในเกมครับ ขณะที่พวกการ์ตูนคอมิกที่ไปดูได้ในโหมด Extras ก็มีให้ชมแค่ไม่กี่ตอน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการนำบางฉากในเกมมาเล่าเป็นสไตล์คอมิก ซึ่งหากเล่นจบมาก่อนจะรู้อยู่แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ที่เหลือก็จะเป็นพวกอาร์ตเวิร์กสวย ๆ และบทสัมภาษณ์คุณฮิฟุมิ โคโนะ (Hifumi Kono) ผู้ให้กำเนิดเกมซีรีส์ Clock Tower

ต่อให้ตัดเรื่องราคาของเกมออกไป ผมคิดว่าบรรดาผู้เล่น รวมถึงแฟน ๆ ของเกมซีรีส์นี้สมควรจะได้เห็น ได้สัมผัสอะไรที่มันสมกับการรอคอยมานาน 29 ปีมากกว่านี้ครับ อย่างแรกเลยคือควรต้องทำกราฟิก ปั้นโมเดลตัวละครขึ้นมาใหม่ ให้ดูสวยงามตามสมัยนิยม หรือถ้างบจำกัดจริง ๆ อย่างน้อยก็น่าจะแก้ Sprite ของตัวละครให้มันดูสวยเนียนเหมือนภาพการ์ตูนแบบที่เกม Ace Attorney Investigation Collection เขาทำก็ยังดี กลายเป็นว่ารอมาเฉียด 3 ทศวรรษ แต่สิ่งที่ได้รับกลับไม่คุ้มค่ากับการรอคอยเอาเสียเลย

Score 5.5 / 10


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้