สารานุ-Game ตอน Metal Gear Solid ผู้ยกระดับวงการเกม

ก่อนที่วิดีโอเกมจะถูกยอมรับว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง หรือเป็นสื่อบันเทิงที่สามารถทำเงินได้มากพอ ๆ กับวงการภาพยนตร์ และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำสำหรับบางเกมทั้งในแง่ของทุนสร้างและรายได้ หลายคนมักจะมองเกมเหมือนเป็นแค่ของเล่นฆ่าเวลาที่ไม่น่าจะมีพัฒนาการอะไรมากไปกว่านั้น หรือในมุมมองของผู้สูงอายุบางท่าน เครื่องเกม คืออุปกรณ์ที่จะทำให้ทีวีเสีย แต่ความคิดเหล่านั้นก็เริ่มเปลี่ยนไปในยุคที่ห้าของเกมคอนโซล อันเป็นช่วงชีวิตของเครื่อง PlayStation, Nintendo 64, และ Sega Saturn ที่หลาย ๆ เกมเริ่มมีรูปแบบการนำเสนอที่จริงจังมากขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด

และหนึ่งในเกมที่ฉีกขนบเดิม ๆ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าได้ดีที่สุดเกมหนึ่งของยุคนั้นก็คือ Metal Gear Solid ภาคแรก ที่ถูกยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกของเกมแนวลอบในปัจจุบัน และวันนี้เราจะมาพูดกันถึงความสำคัญและอิทธิพลของเกม ๆ นี้กัน

Metal Gear Solid


บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมี Metal Gear Solid บนเครื่อง PlayStation รุ่นแรก ซีรีส์นี้ก็เคยมีเกมภาคก่อนหน้ามาแล้วถึงสามภาคทั้งบนเครื่อง MSX และ Famicom ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเกมที่มีกราฟิกแบบ 8 บิตเหมือนกันหมด ดังนั้น Metal Gear Solid ที่ไม่มีเลขภาค และเป็นภาคที่มีทั้งกราฟิกและรูปแบบการนำเสนอที่ต่างจากภาคก่อน ๆ จึงเปรียบเสมือนกับเป็นภาคซอฟต์รีบูตกลาย ๆ สำหรับเกมเมอร์หลาย ๆ คน

ซึ่งคุณ Hideo Kojima และทีมงาน Konami Computer Entertainment Japan ในเวลานั้น ก็ได้พาเกมไปแสดงต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกที่งาน Toky Game Show เมื่อปี 1996 ในฐานะเกมลอบเร้นที่มาพร้อมกับกราฟิกสามมิติเต็มรูปแบบสำหรับเครื่อง PlayStation รุ่นแรก

Metal Gear Solid

อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกในสมัยก่อนมันหมุนช้ากว่าในทุกวันนี้ ดังนั้น แม้ Metal Gear Solid จะเปิดตัวที่ประเทศญี่ปุ่นไปตั้งแต่ช่วงกลางปี 1996 แต่มันก็ยังไม่สามารถสร้างเสียงฮือฮาไปทั่ววงการเกมได้จนกระทั่งไปโชว์ตัวอีกครั้งในตลาดสากลที่งาน E3 ในปี 1997 ซึ่งที่นั่น ตัวอย่างของเกมเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์กว่าในตอนแสดงที่ Tokyo Game Show ได้ถูกฉายผ่านหน้าจอยักษ์ที่โดดเด่นที่สุดในงาน

และในทุก ๆ ชั่วโมงที่เทรลเลอร์ความยาวกว่า 5 นาทีตัวดังกล่าววนกลับมาฉายซ้ำเมื่อไหร่ มันก็จะทำให้ผู้ที่เข้าชมงานจำนวนไม่น้อย ต้องหยุดมองกันตั้งแต่ต้นจนจบเสมอ ด้วยความที่ตัวเกมมีภาพลักษณ์ที่ทั้งสมจริงและน่าตื่นตาด้วยรูปแบบฟราฟิกและเกมเพลย์ที่แปลกใหม่ ซึ่งไม่เคยมีเกมไหนเคยทำได้ในระดับนั้นมาก่อน

พอเห็นว่าเกมเป็นที่น่าสนใจสำหรับชาวตะวันตก Konami ก็เริ่มโปรโมต Metal Gear Solid ในตลาดสากลมากขึ้น และหนึ่งในช่องทางการโฆษณาที่น่าจะส่งผลดีกับตัวเกมในตอนนั้นมากที่สุดก็คือเข้าร่วมแคมเปญระหว่าง Sony และ Pizza Hut ในอเมริกา ที่ใครสั่งพิซซ่าในเวลานั้น ก็จะได้แผ่นรวมเดโมเกมที่ยังไม่ออกสำหรับเครื่อง PlayStation ไปทดลองเล่นกันฟรี ๆ ซึ่งช่องทางนี้

Metal Gear Solid

ทำให้มีคนที่ได้ทดลองเล่น Metal Gear Solid กันก่อนที่เวอร์ชั่นสมบูรณ์จำวางจำหน่ายถึง 12 ล้านคน ซึ่งในเดโม นอกจากที่หลายคนจะได้เรียนรู้วิธีการเล่นเกมลอบเร้นในฉากสามมิติซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาของเกมเมอร์ในเวลานั้นแล้ว ฉากคัตซีนของเกมก็ทำให้ทุกคนเห็นว่า สื่อบันเทิงที่เคยดูเหมือนเป็นแค่ของเล่นสำหรับเด็กกลับสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่จริงจังและน่าติดตามได้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์เข้ามาอีกขั้นแล้ว

Full Motion Video หรือฉาก CG Movie ของเกมฟอร์มยักษ์อย่าง Final Fantasy VII หรือ Resident Evil 2 อาจทำให้เกมเมอร์ตื่นตากับงานภาพบนเครื่องเกมที่เรียกได้ว่าสวยงามเป็นอย่างมากในเวลานั้น แต่มันก็อาจทำให้บางคนต้องเสียอรรถรสกันไปบ้างเมื่อตัดมาสู่กราฟิกจริง ๆ ระหว่างเล่นของเกมที่ความละเอียดของฉากและโมเดลตัวละครมันเทียบกับใน Movie เมื่อกี๊ไม่ได้เลย แต่กับ Metal Gear Solid แม้ว่ามันจะไม่ใช่เกมแรกที่ใช้กราฟิกจริงระหว่างเล่นมาเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราวในคัตซีน แต่ชั้นเชิงในการกำกับฉากเหล่านั้น

Metal Gear Solid

มันทำให้เกมนี้โดดเด่นกว่าเกมอื่น ๆ ในแบบที่ไม่เคยมีเกมไหนถ่ายทอดคัตซีนในเกมให้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์ได้เท่านี้มาก่อน มันจึงสามารถมอบอรรถรสระหว่างการเล่นเกมและดำเนินเรื่องที่ต่อเนื่องได้เป็นอย่างดี และเป็นต้นแบบให้หลาย ๆ เกมกลังจากนั้นได้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมี CG Movie คุณภาพสูงก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าติดตามได้เหมือนกันถ้าคุณมีชั้นเชิงในการนำเสนอมากพอ

Metal Gear Solid

แม้ว่า Metal Gear Solid จะมีความ Sci-Fi ที่ความเป็นไปได้และเทคโลโลยีหลาย ๆ อย่างจะดูล้ำยุคกว่าในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ทำให้ตัวเกมยังดูสมจริงอยู่ได้นอกจากกราฟิกก็คือ บทที่แสดงออกถึงมุมมองของมนุษย์ที่แตกต่างกันด้วยอุปนิสัยและประสบการณ์ ตลอดจนเสียงพากย์ที่ถึงอารมณ์ซึ่งพากย์กันทั้งเกม มีเสียงกันทุกประโยค แม้แต่ฉากสนทนาทางวิทยุที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากภาพหน้าตัวละครที่แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ให้เห็นก็ทำให้ผู้เล่นหยุดฟังได้เพราะความน่าติดตามของเรื่องราวและความอินกับบทของนักพากย์ภายในเกม

Metal Gear Solid

โดยเฉพาะเสียงของ Solid Snake ตัวเอกที่เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นให้เสียงโดยคุณ Akio Otsuka และคุณ David Haytor สำหรับเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ที่เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า เขาได้รับบท Solid Snake จากการออดิชั่นด้วยเสียงปกติของตัวเอง แต่พอได้อ่านเรื่องราวและบททั้งหมดของตัวละครนี้แล้ว เขาจึงเลือกที่จะใส่น้ำเสียงของชายผู้เบื่อหน่ายในสงครามเข้าไปด้วย และนั่นก็เป็นที่ถูกใจของทั้งทีมสร้างและผู้เล่นในเวลาต่อมา (ติดตามรายละเอีดเพิ่มเติมได้จากคลิปด้านบนได้เลยครับ)

อ้างอิงข้อมูลจาก
Online Station

รูปภาพหน้าปกจาก
https://www.hobbyconsolas.com

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้