ตลอดระยะเวลา 11 ปีนับตั้งแต่เกม The Last of Us ภาคแรกวางขายบน PS3 เมื่อปี 2013 เพื่อน ๆ เชื่อมั้ยครับว่าเกมซีรีส์นี้มีวางขายมาแค่ 2 ภาคหลัก 2 ภาครีมาสเตอร์ และ 1 ภาครีเมคเท่านั้น ทว่าแม้ตัวเกมจะไม่ได้มีหลายภาคก็จริง แต่กระแสจากผู้เล่นที่มีต่อเกมนี้ก็ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอยู่กระทั่งปัจจุบัน ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้น โดยเฉพาะภาค 2 ที่ทำผู้เล่นทั่วโลกเกิดความเห็นที่แตกไปคนละทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องของภาคดังกล่าว
และล่าสุดนี้เกมภาค 2 ก็กำลังจะวางจำหน่ายภาครีมาสเตอร์ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า The Last of Us Part 2 Remastered ในวันที่ 19 มกราคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาเพียบ ใครที่เคยซื้อเกมเวอร์ชั่นออริจินัลบน PS4 มาก่อนแล้วก็สามารถอัปเกรดเป็นเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ได้ในวันวางจำหน่าย ซึ่งบนสโตร์ไทยคาดว่าจะมีราคาประมาณ 350-400 บาทครับ ในส่วนบทความรีวิวที่เพื่อน ๆ กำลังอ่านอยู่นี้จะพูดถึงเฉพาะสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ โดยจะมีอะไรบ้าง มันคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายอัปเกรด (สำหรับคนที่เคยเล่นบน PS4) หรือไม่ และจะคุ้มกับคนที่ไม่เคยเล่นภาค 2 มาก่อนหรือไม่ มาชมกันได้เลยครับ
อ่านรีวิว The Last of Us Part 2 ตัวออริจินัลบน PS4 ได้ที่ลิงค์ https://www.online-station.net/pc-console-game/316773/
ผู้พัฒนา: Naughty Dog
แพลตฟอร์ม: PS5
วางจำหน่าย: 19 มกราคม 2024
แนวเกม: แอ๊กชั่น/ผจญภัย
**ทีมงาน Online Station ขอขอบคุณบริษัท Sony Interactive Entertainment สาขาประเทศสิงคโปร์ที่เอื้อเฟื้อโค้ดเกม The Last of Us Part 2 Remastered สำหรับการรีวิวมา ณ ที่นี้ด้วยครับ**
No Return
ก่อนอื่นต้องพูดถึงไฮไลท์เด็ดที่เป็นตัวชูโรงของเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ก็คือ โนรีเทิร์น (No Return) ซึ่งเป็นโหมดเอาตัวรอดสไตล์โร้กไลค์ (Roguelike) ครับ โดยโหมดนี้ผู้เล่นจะต้องเลือกลุยตามด่านที่มีเป้าหมายให้ทำแตกต่างกัน เพื่อฟันฝ่าไปให้ถึงด่านสุดท้ายที่มีบอสให้จัดการ และนอกจากภารกิจทั่วไปแล้ว ยังมีชาเลนจ์พิเศษให้ทำสำหรับคนที่ต้องการความท้าทาย รวมถึงต้องการปลดล็อคความลับต่าง ๆ ด้วย แต่อยากแนะนำว่าควรเล่นโหมดเนื้อเรื่องให้จบอย่างน้อยรอบหนึ่งก่อนแล้วค่อยมาลองโหมดนี้ครับ เนื่องจากทุกตัวละครและทุกโลเคชั่นที่ปรากฏในโนรีเทิร์นล้วนดึงมาจากโหมดเนื้อเรื่องทั้งสิ้น
ช่วงแรกนั้นตัวละครที่เราเลือกเล่นได้จะมีเพียงเอลลี่กับแอ็บบี้ ตรงนี้หากเราเล่นเอลลี่เคลียร์ภารกิจไปจนถึงระดับหนึ่งได้ ก็จะสามารถปลดล็อคตัวละครที่อยู่ฝ่ายเดียวกับเอลลี่ได้ เช่นเดียวกับการเล่นแอ็บบี้ที่จะปลดล็อคตัวละครฝั่งนางได้เหมือนกัน ทีนี้ เพื่อให้ผู้เล่นคาดเดาไม่ได้ว่าตนเองจะต้องเจอกับอะไรในด่านที่กำลังจะเข้าไป แต่ละด่านที่มีให้เลือกจึงออกมาแบบสุ่ม เรียกว่าสุ่มทั้งชนิดศัตรูที่จะเจอ สุ่มโลเคชั่น สุ่มจุดเกิดศัตรู หรือแม้แต่สุ่มรูปแบบของโหมดด้วย แน่นอนครับว่าพอโลเคชั่นเปลี่ยน ภูมิประเทศก็ต้องเปลี่ยน แล้วยิ่งมาเจอจุดเกิดกับชนิดศัตรูที่เปลี่ยนไปอีก การรับมือก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ที่สำคัญคือ โหมดนี้จะไม่มีเช็คพอยต์หรือจุดเซฟ ดังนั้นถ้าผู้เล่นพลาดตายเมื่อไหร่ก็ต้องเริ่มเล่นใหม่ตั้งแต่ด่านที่ 1 เลย ไม่มีให้แก้ตัวเฉพาะด่านนะครับ
ขณะเดียวกัน แต่ละด่านที่เข้าไปเล่นจะมีรูปแบบของโหมดอยู่หลายอย่าง ไล่มาตั้งแต่ Assault ที่ผู้เล่นมีหน้าที่กำจัดฝูงศัตรูที่จะมาเป็นระลอก ส่วน Hunted จะเป็นลักษณะของการถูกไล่ล่า ศัตรูจะทยอยเกิดเพิ่มเรื่อย ๆ อย่างไม่สิ้นสุด ผู้เล่นต้องเอาชีวิตรอดให้ได้จนกว่าเวลาจะหมดลง ถัดมาคือ Holdout ที่เกมจะมีตัวละครผู้ช่วยมาให้เรา 1 คน (AI บังคับ) แล้วช่วยกันต้านทานฝูงศัตรูให้ได้ และปิดท้ายด้วย Capture ที่ผู้เล่นต้องบุกไปเปิดเซฟที่มีศัตรูจำนวนมากดักรออยู่
พอมองดูอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่าโหมด Capture นั้นเป็นการพลิกแพลงมาจากโหมด Interrogation ของมัลติเพลเยอร์ในเกมภาคแรก ขณะที่ Hunted และ Assault ก็เป็นการนำโหมด Supply Raid และ Survivors ของมัลติเพลเยอร์ภาคแรกมาประยุกต์ใหม่ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่ไม่เคยสัมผัสมัลติเพลเยอร์ของภาคแรกมาก่อนก็ยังสามารถเข้าใจเมคานิกของโหมดโนรีเทิร์นได้ไม่ยาก อีกทั้งการเล่นในโนรีเทิร์นยังมีระดับความยากให้ปรับด้วย ซึ่งระดับความยากที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อโบนัสคะแนนที่ทวีคูณตามนั่นเอง
ทางด้านตัวละครทุกตัวในโหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวที่มีให้เล่นแต่แรกอยู่แล้ว และตัวที่ปลดล็อคมา ต่างก็มีจุดเด่นของตัวเองทั้งหมด และมีอาวุธกับของติดตัวตอนเริ่มต้นไม่เหมือนกัน บางตัวคราฟต์ไอเทมได้มากชิ้นกว่าคนอื่น บางตัวรักษาอาการบาดเจ็บได้เร็ว แม้แต่บางตัวก็ยังมีทักษะการต่อสู้เฉพาะทาง เช่น เก่งสไนเปอร์ หรือเก่งต่อสู้ระยะประชิด เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้ตัวละครแต่ละตัวเลยต้องมีการศึกษา เรียนรู้ และฝึกฝนสิ่งที่ตัวละครนั้นชำนาญ เนื่องจากการวิธีและรูปแบบการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ของแต่ละตัวละครนั้นย่อมแตกต่างกัน ซึ่งการนำข้อได้เปรียบของตัวละครที่เราเล่นมาปรับใช้ในแต่ละด่านคือหัวใจสำคัญในการเอาตัวรอดของโหมดนี้เลยก็ว่าได้
เมื่อเราเลือกตัวละครที่ต้องการใช้ และผ่านด่านย่อยแต่ละครั้ง เกมจะให้เรามาพักเตรียมตัวก่อนเลือกเล่นด่านย่อยถัดไป ระหว่างพักนี้ผู้เล่นจะได้รับเงินสำหรับซื้อไอเทม ยาสำหรับอัปเกรดทักษะ และชิ้นส่วนสำหรับอัปเกรดอาวุธมาจำนวนหนึ่ง โดยช่วงที่เลือกด่านย่อยถัดไป เกมจะมีบอกคร่าว ๆ ว่าด่านนั้นมีศัตรูประเภทไหน และรูปแบบของด่านเป็นอย่างไร ผู้เล่นสามารถนำข้อมูลส่วนนี้มาคำนวณและประเมินอย่างรอบคอบได้ว่าจะอัปเกรดอาวุธอะไร ด้านไหน หรือซื้อไอเทมใดไปลุยดี ถือว่าอย่างน้อยเกมก็ยังมีความปราณีเราอยู่บ้าง ไม่ใช่จับเราไปโยนลงห้องเชือดแบบที่ไม่มีอะไรช่วยเลย
นอกเหนือไปจากการทำภารกิจหลักและชาเลนจ์ของทุกตัวละครแล้ว เมื่อผู้เล่นผ่านแต่ละฉาก หรือพิชิตบางเงื่อนไขได้ เกมจะปลดล็อค Mod การตั้งค่าอุปสรรคบางอย่างให้ ยกตัวอย่างเช่น Mod ศัตรูทิ้งระเบิดไว้ตอนตาย และจะสร้างความเสียหายกับเราได้หากเข้าใกล้ศพมัน ฯลฯ ซึ่งถ้าเราเปิด Mod เหล่านี้แล้วยังผ่านฉากได้ เกมจะมีรางวัลตอบแทนให้ โดย Mod จะมีไว้ท้าทายสกิลและทักษะของผู้เล่นไปอีกขั้น เหมาะกับคนที่อยากเจออะไรโหดยิ่งกว่าที่เกมประเคนมาให้แต่แรก
ครั้นจะหาข้อเสียของโหมดนี้ ก็คงต้องบอกว่ามันไม่ใช่โหมดเล่นแบบมัลติเพลเยอร์ครับ พอเล่นได้แค่คนเดียวก็เลยทำได้มากสุดเพียงแค่นำสถิติที่เราเล่นมาอัปโหลดไว้ขิงคนอื่นบนตาราง Leaderboards เท่านั้น นี่เลยกลายเป็นว่าหากเล่นจนปลดล็อคครบทุกอย่างในโหมดนี้แล้ว ถ้าไม่มีใจรักความท้าทายด้วยการไล่เปิด Mod ตัดกำลังตัวเองเพื่อพัฒนาฝีมือตัวเองให้เก่งจนเหนือมนุษย์ ก็น่าจะเล่นแล้วว้าเหว่พอดู เว้นเสียแต่ว่าทีมงานจะอัปเดตแพตช์เพิ่มความท้าทายใหม่ ๆ เข้ามา หรือทำโหมดที่เล่นช่วยกันลุยสัก 2-4 คนก็ยังดี อย่างน้อยก็แก้เซ็งที่ Naughty Dog ประกาศยกเลิกเกมภาคมัลติเพลเยอร์แบบสแตนอโลนไปได้ไม่น้อยอยู่
Lost Levels
ฟีเจอร์ถัดมาคือ Lost Levels หรือฉากที่ถูกตัดออกไปก่อนเกมวางจำหน่ายเมื่อปี 2020 ครับ โดยทีมงานได้คัดมา 3 ฉากที่พวกเขาจำเป็นต้องตัดออกไป พร้อมกับบันทึกเสียงบรรยายถึงเหตุผลประกอบ ซึ่งทั้ง 3 ฉากนี้ทีมงานได้ปรับให้ผู้เล่นสามารถเข้าไปเล่นได้ว่ามันเป็นฉากอะไร แต่เพราะฉากเหล่านี้ถูกตัดออกไปเสียก่อนที่จะทำเสร็จสมบูรณ์ จึงมีบางช่วงที่ไม่มีเสียงพากย์ประกอบ ก็ต้องเตือนกันก่อนว่าเพื่อน ๆ ควรเล่นโหมดเนื้อเรื่องให้จบก่อน แล้วค่อยมาฟังคำบรรยายจากทีมงานระหว่างเล่น Lost Levels แล้วจะเข้าใจจุดประสงค์ของผู้พัฒนามากขึ้น
โดยรวมแล้วฟีเจอร์นี้ไม่เพียงจะให้เราได้เห็นสิ่งที่ถูกตัดออกไป พร้อมกับเหตุผลของทีมงานเท่านั้น ในทางกลับกันมันยังช่วยให้เราได้เข้าใจถึงมุมมองของผู้พัฒนาเกมมากขึ้นด้วย คือการตัดสินใจว่าจะใส่อะไร หรือไม่ใส่อะไรเข้ามาในเกม ทุกกระบวนการล้วนต้องมีการหารือ แลกเปลี่ยน มองถึงความสมเหตุสมผลด้านการจัดวางองค์ประกอบ ตลอดจนมองปัจจัยเรื่องความลื่นไหลกับความต่อเนื่องกับเกมเพลย์ ทุกขั้นตอนต้องผ่านความพิถีพิถันและตกผลึกมาอย่างรอบคอบแล้ว นั่นคือสาเหตุว่าทำไมสมัยนี้เกมหนึ่งมักใช้เวลาทำกันนานหลายปี สวนทางกับความต้องการของผู้เล่นที่อยากจะเล่นเกมภาคใหม่ไว ๆ นั่นเอง
Guitar Free Play
โหมดสันทนาการที่แท้ทรูสำหรับคนที่เล่นโหมดเนื้อเรื่องจบมาแล้ว ในโหมดนี้ผู้เล่นจะสามารถฝึกกีตาร์ได้อย่างอิสระด้วยการใช้ทัชแพดควบคู่กับอนาล็อก และสิ่งที่พิเศษใน Free Play ก็คือเราสามารถเปลี่ยนตัวละครที่เล่นเครื่องดนตรีได้ ซึ่งมีคุณกุสตาโว ซานต้าโอลัลล่า (Gustavo Santaolalla) นักแต่งเพลงประกอบให้กับเกม The Last of Us ทั้งสองภาคให้เลือกใช้ด้วย โดยเครื่องดนตรีของคุณกุสตาโวจะเป็นแบนโจที่นิยมเล่นกับเพลงแนวคันทรีหรือโฟล์ก ให้ฟีลที่เข้ากับโลกยุคล่มสลายแบบเพลงประกอบของเกมที่ได้ยินจนคุ้นหูเลยครับ
อย่างไรก็ดี โหมดนี้อาจจะเข้าถึงยากหน่อยกับคนที่เล่นกีตาร์หรือเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายไม่เป็นครับ อย่างตอนโหมดเนื้อเรื่องมันเล่นได้เพราะเกมมีคอร์ดบังคับให้ดีดตามอยู่แล้ว แต่กรณีของ Free Play ถ้าผู้เล่นไม่รู้วิธีการดีด ไม่รู้จักคอร์ด ก็ดีดให้เป็นเพลงยากอยู่ดี
ฟีเจอร์เสริมเมื่อเล่นบน PS5
การแสดงผล
เช่นเคยกับเกมเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์จากฝั่ง PlayStation Studios ที่ผู้เล่นบน PS5 สามารถเลือกปรับโหมดการแสดงผลได้ว่าจะเน้นความคมชัด (Fidelity) ที่ไปได้สุดถึง 4K แบบ Native แต่เฟรมเรตจะโดนจำกัดไว้ที่ 30 FPS หรือจะเน้นประสิทธิภาพ (Performance) ที่กราฟิกแสดงผลในระดับ 1440p จนถึง 4K แบบอัปสเกล แต่ได้เฟรมเรตขั้นต่ำที่ 60 FPS และถ้าเล่นบนทีวีหรือมอนิเตอร์ที่รองรับระบบ VRR (Variable Refresh Rate) ก็จะปลดล็อคเฟรมเรตให้ลื่นกว่า 60 FPS ได้อีก ซึ่งขอแนะนำเหมือนเกมรีมาสเตอร์ที่ผ่าน ๆ มาของ PlayStation Studios ครับว่ายังไงเสีย โหมดเน้นประสิทธิภาพก็มอบอรรถรสและประสบการณ์การเล่นที่ดีกว่า เพราะการหันเล็งไปมาได้ลื่น รวมถึงการเคลื่อนไหวทุกท่วงท่าของตัวละครที่สมูธมันสำคัญและเห็นความต่างชัดเจนกว่าโหมดเน้นความคมชัดครับ
จอย DualSense
ตัวเกมมีการรีดศักยภาพของระบบ Haptic Feedback และ Adaptive Trigger อย่างเต็มที่ โดยกรณีของ Haptic Feedback นั้นจอยจะสั่นตามทิศทางที่เกิดเสียงหรือการสั่นสะเทือนได้แม่นยำ แม้แต่สุนัขดมกลิ่นที่วิ่งเตาะแตะอยู่ห่างไปกว่าสิบเมตรก็ยังทำให้จอยสั่นตามเสียงฝีก้าวตามจังหวะขาเปี๊ยบ ส่วน Adaptive Trigger ก็ช่วยเพิ่มความรู้สึกที่โดดเด่นเวลาน้าวสายธนู หรือเวลาเหนี่ยวไกปืนแต่ละนัดได้ดี การใช้ธนูมีความขืนแรงนิ้วตามการโก่งสายเหมือนเวลาใช้งานในโลกความเป็นจริง เช่นเดียวกับเวลาใช้ปืนที่มีคุณสมบัติยิงต่อเนื่องที่สั่นรัวตามจังหวะปล่อยกระสุน ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาเลยมีผลทำให้กันเพลย์และระบบการต่อสู้ระยะประชิดดูมีมิติ ราวกับได้สวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นจริง ๆ
สรุป
ตัวรีมาสเตอร์นี้จะตอบโจทย์คุณครบทุกอย่างไม่ว่าจะเคยเล่นภาค 2 ตัวออริจินัลมาก่อนหรือไม่ เพราะทั้งการแสดงผล ลูกเล่นควบคู่กับจอย DualSense และโหมดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในตัวรีมาสเตอร์ก็ยังคุ้มกับค่าอัปเกรดเพียงไม่กี่ร้อยบาทอยู่ดีสำหรับคนที่เคยเล่นตัวออริจินัลมาแล้ว จะติดก็เพียงแค่โหมดโนรีเทิร์นที่เล่นได้เพียงคนเดียวครับ
คะแนน 9
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station