ณ เวลาปัจจุบัน วิดีโอเกมได้กลายเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย เทคโนโลยีต่างๆ ในอุตสาหกรรมเกมได้ลุดหน้าไปไกลจนเราจินตนาการไม่ออกเลยว่า “ความล้ำ” ของสื่อบันเทิงนี้ มันจะไปสิ้นสุดอยู่ตรงจุดไหน แต่ก่อนที่เราจะจินตนาการไปถึงจุดนั้น วันนี้เราขอพาทุกคนเปิดประวัติวิดีโอเกม ย้อนไปในอดีตดูว่าวิดีโอเกมมีจากตรงไหน และมันมีกระบวนการวิวัฒนาการมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรบ้าง
ประวัติศาสตร์วิดีโอเกม
- ยุคแรกเริ่มของวิดีโอเกม (1952-1962)
- รุ่งอรุณของเครื่องเล่นวิดีโอเกม (1967-1982)
- การล่มสลายของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม (1983)
- Nintendo: แสงสว่างของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม(1985)
- Nintendo vs Sega: สงครามเครื่องเกมคอนโซล (1989)
- PlayStation: ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของโซนี่ (1995)
- PlayStation 2: ยุคสมัยอันยิ่งใหญ่ของเครื่องคอนโซล (2000)
- ยุคโมเดิร์นของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม (2005-ปัจจุบัน)
ยุคแรกเริ่มของวิดีโอเกม (1952-1962)
ก่อนที่วิดีโอเกมจะได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกและสามารถเล่นได้ผ่านสารพัดอุปกรณ์ จุดกำเนิดของมันกลับเริ่มต้นขึ้นในห้องแล็บวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ ย้อนไปในปี 1952 นักวิทยาการณ์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษชื่อเอ. เอส. ดักลาส (A.S. Douglas) ได้เลือกสร้างเกม OXO ขึ้นมาเป็นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดยดักลาสพัฒนาเกมนี้ขึ้นมาบนเครื่องคอมพิวเตอร์เอ็ดแซ็ก (EDSAC) ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งตัวเกมไม่ได้มีการวางจำหน่ายหรือเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้ามาเล่นเนื่องจากตัวเกมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแค่ใช้ในการวิจัย ผู้ที่เข้าไปเล่นเกมนี้ในแล็บของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ จะมีเฉพาะบุคคลเกี่ยวข้องที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ OXO จะเป็นวิดีโอเกมแรกที่มีการบันทึกไว้ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนปฏิเสธที่จะนับผลงานนี้เป็น “วิดีโอเกม” แรกของโลกเนื่องด้วยสาเหตุที่เกม OXO ไม่มีการแสดงผลของอนิเมชั่นวิดีโอเลย
ผลงานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิดีโอเกมแรกของโลกโดยแท้จริงคือ Tennis for Two เกมจำลองกีฬาเทนนิสที่เล่นด้วยแป้นควบคุมอลูมิเนียมสองอัน เกมนี้สร้างบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบแอนะล็อกขนาดใหญ่ในปี 1962 โดยนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อวิลเลียม ฮิกินโบธัม (William Higinbotham) และเผยแพร่สู่สาธารณะชนในงานเยี่ยมชมแล็บประจำปีของห้องปฏิบัติการแห่งชาติบรูคเฮเวน มีผู้คนเข้ามาต่อแถวเล่นเกมนี้ตลอดทั้งสามวันของงาน ในปีต่อมา วิลเลียมได้นำเกมนี้กลับมาให้เล่นอีกครั้งในงาน โดยเขาได้ปรับปรุงแก้ไขระบบเกมต่างๆ ให้ดูดีขึ้นกว่าเดิม แต่ท้ายที่สุด เกมนี้ก็โดนโละทิ้งและถูกลืมเลือนไปในช่วงปลายของยุค 1970s
ต่อมาในปี 1962 สตีฟ รัสเซลล์ (Steve Russell) พร้อมคณะที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้สร้างเกมคอมพิวเตอร์แนวสู้รบยานอวกาศที่มีชื่อว่า Space Wars ถือเป็นวิดีโอเกมแรกที่สามารถติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง
รุ่งอรุณของเครื่องเล่นวิดีโอเกม (1967-1982)
ประกายแสงแรกของเครื่องเกมคอนโซลเกิดขึ้นจากเหล่าพนักงานจากบริษัท Sanders Associates นำทีมโดยราล์ฟ แบร์ (Ralph Bear) ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิดีโอเกม ในปี 1967 ราล์ฟและคณะได้ประดิษฐ์ต้นแบบของเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่ต่อเล่นกับโทรทัศน์ได้ สามารถเล่นกันได้สองคนและเลือกเปลี่ยนเกมเล่นได้ เครื่องเล่นที่ว่านั้นคือ “The Brown Box” ซึ่งมีเกมให้เล่นหลากหลายแนว ไม่ว่าจะเป็นเกมปิงปอง เกมหมากฮอส เกมยิงเป้า และเกมกีฬาประเภทต่างๆ ต่อมาในปี 1972 ราล์ฟได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องเล่นเกมของเขาและเริ่มวางออกจำหน่าย โดยใช้ชื่อใหม่ว่า “Magnavox Odyssey”
ถึงแม้เครื่องเล่นเกมเครื่องนี้จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเกมในยุคแรกเริ่ม แต่หลังจากผ่านไปไม่กี่ปี กระแสรวมทั้งยอดขายของ “Magnavox Odyssey” ก็เริ่มซาลงและถูกลืมเลือนไปเนื่องจากไม่สามารถต่อสู้กับเครื่องเล่นเกมของบริษัทอื่นๆ ที่ปล่อยกันออกมาภายหลังได้ หนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือ Atari มีผลงานระดับประวัติศาสตร์อย่างการสร้างเกมตู้อาร์เคดเป็นเจ้าแรก และหนึ่งในเกมตู้ยุกแรกของ Atari ก็คือ Pong จากปี 1972 ซึ่งเป็นตู้เกมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ทางบริษัทปล่อย Pong เวอร์ชั่นเครื่องเกมคอนโซลออกมาในปี 1975
แต่แล้วก็เกิดเรื่องราวใหญ่โตขึ้นเมื่อ Magnavox Odyssey ได้ทำการฟ้องร้อง Atari ด้วยเหตุผลที่ว่า Pong ได้ลอกเลียนเบียบเกมปิงปองของตน ท้ายที่สุดเนื่องจาก Atari ไม่มีเงินมากพอที่จะเสียค่าปรับจำนวนมหาศาล ก็เลยทำการเจรจากับอีกฝ่ายและเสนอเสียเงินก้อนหนึ่งในการทำสัญญาลิขสิทธิ์กับ Magnavox Odyssey แทน ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ตลอดเวลา 20 ปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา Magnavox Odyssey ได้ฟ้องร้องบริษัทต่างๆ ที่ลอกเลียนแบบเกมของตนจนได้เงินจากการชนะคดีมามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากกว่า 3 เท่าของรายได้จากการขายเครื่องเกม Magnavox Odyssey เสียอีก
หลังจากผ่านเรื่องราวชวนปวดหัวไป หลายปีต่อมา Atari ก็ได้ปล่อยเครื่องเกมคอนโซล Atari 2600 ออกมาในปี 1977 เครื่องเกมคอนโซลที่มีจอยควบคุม สามารถเปลี่ยนตลับเกมและแสดงผลออกมาเป็นวิดีโอหลากสีได้ หลังจากวางขาย Atari 2600 ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและกลายเป็นเครื่องเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของวิดีโอเกมสมัยถัดไป
เหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปลาย 70s ถึงต้น 80s มีดังนี้
- การปล่อยตู้เกมอาร์เคด Space Invaders ในปี 1978
- การถือกำเนิดของ Activition ผู้พัฒนาเกมเจ้าแรกที่เป็นบริษัท third-party
- การมาถึงของเกมญี่ปุ่นในตำนานอย่าง Pac-Man ในประเทศสหรัฐอเมริกา
- การปรากฏตัวครั้งแรกของตัวละคร “มาริโอ้” ในเกม Donkey Kong ของค่าย Nintendo
- การเปิดตัวเกม Flight Simulator ของ Microsoft
การล่มสลายของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม (1983)
ในช่วงปี 1983 อุตสาหกรรมเกมในอเมริกาเหนือเกิดล่มขึ้นมาด้วยสาเหตุหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากการที่บริษัทต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ฉาบโฉยโอกาสจากกระแสฮิตของวิดีโอเกมในตอนนั้น ด้วยการผลิตเครื่องเล่นวิดีโอเกมออกมาในปริมาณมากจนเครื่องเล่นวิดีโอเกมล้นตลาดอย่างหนัก อีกทั้งวิดีโอเกมที่ปล่อยออกมายังเป็นเกมคุณภาพต่ำ หนึ่งในนั้นคือเกมที่สร้างจากหนังไซไฟชื่อดังอย่าง E.T. ที่ผลิตโดย Atari เกมนี้ถูกกล่าวขานว่าเป็น “เกมที่ห่วยที่สุดตลอดกาล” ชี้ให้เราได้เห็นชัดเลยว่าอุตสาหกรรมเกมในตอนนั้นเน้นปริมาณการผลิตเข้าว่า และไม่สนใจใยดีอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์เลยแม้แต่น้อย ใครอยากชมเกมเพลย์ของ E.T. ก็สามารถกดเข้าไปดูคลิปด้านล่างนี้ได้เลย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดเกมตอนนั้นสั่นคลอนก็คือ การผงาดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) ณ ช่วงเวลานั้น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเริ่มจะมีราคาจับต้องได้ และด้วยความที่คอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้หลายอย่าง จะพิมพ์เอกสารก็ได้ จะบันทึกรายรับรายจ่ายก็ได้ และที่สำคัญที่สุด จะเล่นเกมก็ได้ด้วย ยอดขายคอมพิวเตอร์ก็เลยพุ่งสูงขึ้น ในตอนนั้นเอง บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหลายต่างก็ทำ “สงครามราคา” กับเครื่องเล่นวิดีโอเกมด้วยการปรับราคาของคอมพิวเตอร์ลงมาให้มีราคาเท่าๆ กับเครื่องเกม การเดินหมากในลักษณะนี้ทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ในอเมริกาตัดสินใจที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูก แทนที่จะเป็นเครื่องเกม เพราะมันมีราคาใกล้กัน แถมยังสามารถใช้งานได้หลากหลายกว่า สุดท้าย ยอดขายของเครื่องเล่นวิดีโอเกมจึงลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น
หลังจากผ่านไปประมาณหนึ่งถึงสองปี การล่มของอุตสาหกรรมเกมก็นำไปสู่การล้มละลายของบริษัทเกมคอมพิวเตอร์และเกมคอนโซลหลายเจ้า
Nintendo: แสงสว่างของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม(1985)
หลังจากเกิดเหตุการณ์หายนะทุกอย่างไป ผู้คนในตอนนั้นนึกภาพไม่ออกเลยว่า อุตสาหกรรมเกมจะกลับมาลุกขึ้นอีกครั้งยืนได้อย่างไร แต่ท้ายที่สุด ความหวังใหม่ของวงการเกมก็ถือกำเนิดเกิดขึ้นในปี 1985 จากการมาถึงของเครื่อง Nintendo Entertainment System (NES) หรือที่เรียกกันในประเทศญี่ปุ่นว่า Famicom (เจาะลึกเหตุการณ์นี้ได้ที่ เปิดประวัติ Nintendo คอเกมติดเล่า EP.2) เครื่องเกมคอนโซลที่มีการยกระดับกราฟฟิค 8-bit สี เสียง และเกมเพลย์จากเครื่องเกมคอนโซลที่ผ่านมา นินเทนโด้สามารถเรียกความมั่นใจของผู้บริโภคกลับมาอีกครั้งด้วยการผลิตวิดีโอเกมที่การันตีคุณภาพ กำหนดนโยบายให้การพัฒนาเกมมาลงเครื่อง NES ต้องผ่านมาตรฐานนินเทนโด้ก่อนทุกครั้ง นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้พัฒนาแต่ละเจ้า สามารถสร้างเกมมาลงเครื่องได้ 5 เกมต่อปีเท่านั้น เพื่อทำให้มั่นใจว่าเกมที่ปล่อยออกมาจะมีคุณภาพเยี่ยม ไม่ทำให้ผู้บริโภคผิดหวังเหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต นินเทนโด้ปล่อยแฟรนไชส์อมตะนิรันดร์กาลออกมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น Super Mario Bros, The Legend of Zelda และ Metroid
การประสบความสำเร็จของนินเทนโด้ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเกมในอเมริกาเริ่มดูดีขึ้นเรื่อย มีผู้พัฒนาเจ้าใหม่ที่ต่างก็ผลิตเพชรเม็ดงามของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็น Mega Man ของ Capcom, Final Fantasy ของ Square, และ Dragon Quest ของ Enix (Square กับ Enix รวมตัวกันเป็น SquareEnix ในปี 2003) ท้ายที่สุดในปี 1989 ตลาดเกมในอเมริกาก็สามารถทำเงินได้มากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปีเดียวกันนี้เอง นินเทนโด้ก็ได้ปล่อยเครื่องเกมพกพาในตำนานที่มีชื่อว่า Game Boy ออกมา
Nintendo vs Sega: สงครามเครื่องเกมคอนโซล (1989)
ปี 1989 เป็นช่วงเวลาที่นินเทนโด้อยู่บนจุดสูงสุดของตลาดวิดีโอเกม ยิ่งหลังจากปล่อยเครื่อง Game Boy ออกไป ยอดขายและความยิ่งใหญ่ของเครื่องหมายการค้านี้ก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น จนจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมีบริษัทไหนที่สามารถเข้ามาแข่งขันกับนินเทนโด้ได้อย่างสูสี แต่แล้วในปีนั้น ยักษ์ตัวใหม่แห่งอุตสาหกรรมเกมก็ได้ตื่นขึ้น ซึ่งยักษ์ตัวนั้นก็คือ บริษัทวิดีโอเกมสัญชาติญี่ปุ่นนามว่า เซก้า (Sega)
ก่อนหน้านี้ เซก้าพยายามที่จะออกเครื่องเกมคอนโซลมาแข่งกับนินเทนโด้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง Sega SG-100 ในปี 1983 หรือเครื่อง Sega Master System ในปี 1985 แต่ละเครื่องคอนโซลที่ปล่อยออกมาไม่สามารถต่อสู้อะไรกับ เครื่อง NES ของนินเทนโด้ได้เลย จนกระทั้งในปี 1989 ในที่สุดเซก้าก็สามารถเขย่าขวัญนินเทนโด้ได้เป็นครั้งแรกด้วยการปล่อยเครื่องเกมคอนโซล 16-bit ที่มีเทคโนโลย้าล้ำหน้ากว่าเครื่อง NES ออกมา ชื่อว่า “Sega Genesis” การเขียนแผนการตลาดที่ดีของเซก้าทำให้ในที่สุด เซก้าก็สามารถเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของนินเทนโด้ได้ หนึ่งในการตลาดของเซก้าที่ยังเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบันคือ การปล่อยโฆษณาที่มีชื่อว่า “Genesis Does What Nintendon’t” หรือแปลเป็นไทยก็คือ “เจเนสิส ทำในสิ่งที่นินเทนโด้ทำไม่ได้”
นินเทนโด้ไม่นิ่งนอนใจกับการเติบโตอันรวดเร็วของบริษัทคู่แข่ง จึงได้ปล่อยเครื่องเกมคอนโซล 16-bit รุ่นใหม่ออกมาในปี 1991 ชื่อเครื่อง “SNES” (Super Nintendo Entertainment System) นับตั้งแต่วินาทีนั้น สงครามเครื่องเกมคอนโซลก็ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
ในปี 1993 ทั้งสองค่ายได้เกมต่อสู้อย่าง Mortal Kombat มาลงเล่นให้กับเครื่องคอนโซลของตัวเอง แต่ตัวเกมในเวอร์ชั่นเครื่อง Genesis จะมีความพิเศษกว่าตรงที่ไม่มีการเซนเซอร์เลือดและภาพความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ ยอดขายตลับเกมนี้ของเครื่อง Genesis จึงสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Mortal Kombat เป็นเกมแรกที่โชว์เลือดและความโหดอย่างโฉ่งฉ่าง รัฐบาลอเมริกาจึงมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในวิดีโอเกม เซก้าก็เลยตัดสินใจก่อตั้ง Videogame Rating Council ขึ้นมาเพื่อจัดเรตติ้งเกมทั้งหมดที่ลงให้กับเครื่องเกมของเซก้า หลังจากนั้นหนึ่งปีให้หลัง รัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการจัดเรตสื่อซอฟต์แวร์บันเทิง (Entertainment Software Rating Board) และบังคับให้เกมทุกเกมต้องได้รับการจัดเรตก่อนวางจำหน่ายนับแต่นั้นเป็นต้นมา หากผู้ค้าทำการจัดจำหน่ายเกมโดยไม่ผ่านกระบวนการนี้จะถือว่าผิดกฏหมาย
วันเวลาผ่านไป เซก้าไม่เพียงแต่ต้องการที่จะครองตลาดเครื่องคอนโซล แต่ยังมีแผนที่จะครองตลาดเครื่องเกมพกพาด้วย เซก้าจึงออกเครื่อง “Game Gear” มาชนกับ Game Boy ของนินเทนโด้ พร้อมทั้งโฆษณาสรรพคุณว่าเครื่องเกมของตนมีดีกว่าของอีกเจ้าอย่างไร แต่เนื่องจากกระแสเกม Tetris ของนินเทนโด้ทำให้ Game Boy ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายเซก้าก็ไม่สามารถครองตลาดเกมพกพาได้สำเร็จ หลังจากยักษ์ใหญ่ทั้งสองต่อสู้กันมาหลายปี Sega Genesis ก็ประสบความสำเร็จนำหน้าเครื่อง SNES ในอเมริกา แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เซก้าชนะศึกในสงครามนี้ เพราะเซก้าไม่สามารถที่ต่อกรกับเครื่อง SNES ของนินเทนโด้ในเวทีตลาดโลกได้เลย ทำให้สงครามเครื่องเกมคอนโซลครั้งนี้จบลงด้วยชนะของฝั่งนินเทนโด้
ถึงแม้สงครามจะจบลง แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดคู่แข่งหน้าใหม่โผล่ขึ้นมาอีกมากมายในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอีกขั้นจนสามารถรังสรรค์วิดีโอเกมด้วยภาพสามมิติได้ ยุคต่อไปของเครื่องคอนโซลจึงได้เริ่มต้นขึ้น และยักษ์ตัวใหม่ที่จะเป็นผู้นำแห่งยุคก็คือโซนี่
PlayStation: ก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของโซนี่ (1995)
ช่วงปลายยุค 80s บริษัทเกมทั้งหลายเห็นว่าแผ่นซีดี เป็นฮาร์ดแวร์ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นอนาคตใหม่ที่ช่วยยกระดับวงการเกม เพราะในขณะที่ตลับเกมมีต้นทุนสูงและสามารถจุพื้นที่ได้แค่ 2 เมกะไบต์ แผ่นซีดีมีราคาถูกกว่า แถมยังสามารถจุพื้นที่ได้มากกว่า 600 เมกะไบต์เลยทีเดียว ความจุที่เพื่มขึ้นอย่างมหาศาลนี้ช่วยทำให้ผู้พัฒนาสามารถเพิ่มคุณภาพของวิดีโอและใส่อะไรหลายๆ อย่างเข้าไปในเกมได้มากขึ้นหลายเท่าตัว หนึ่งในบริษัทที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือนินเทนโด้ โดยพวกเขาวางแผนว่าจะเปลี่ยนให้เครื่อง SNES จากแบบใช้ตลับให้เป็นแบบใช้ซีดีแทน และบริษัทที่จะมาช่วยนินเทนโด้ในการรังสรรค์เครื่อง SNES โฉมใหม่นี้ก็คือโซนี่
แต่ฟ้าดินก็ไม่เป็นใจเสียเท่าไหร่ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้ว ทั้งสองก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้จนทำให้แผนการทั้งหมดต้องล้มเลิกไป โซนี่จึงตัดสินใจวางแผนสร้างเครื่องเกมคอนโซลของตัวเองที่ใช้ระบบแผ่นซีดี และในวันที่ 9 กันยายน ปี 1995 โซนี่ก็ได้วางขายเครื่อง PlayStation ในทวีปอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ PlayStation จะวางขายไม่กี่เดือน เซก้าได้ชิงปล่อยเครื่องคอนโซลตัวใหม่ที่ใช้ระบบแผ่นซีดีออกมาก่อนหน้า ชื่อว่าเครื่อง Sega Saturn แต่เครื่องคอนโซลนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างหนักจนทำให้เซก้าล้มไม่เป็นท่า ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งสัญญาณว่า เซก้าใกล้จะต้องโบกมือลาธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลแล้ว
ตัดภาพมาทางฝั่งของโซนี่ ถึงแม้ PlayStation จะวางขายทีหลัง แต่ผลตอบรับนั้นแตกต่างกับเซก้าราวฟ้ากับเหว ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อย่างแรกเลยก็คือ PlayStation มีราคาถูกกว่า Sega Saturn ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างที่สอง PlayStation เป็นเครื่องเกมปฏิวัติวงการที่ใช้กราฟฟิคแบบสามมิติ และอย่างสุดท้าย โซนี่วางแผนการตลาดอย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของ PlayStation ให้เป็นแบรนด์ที่พรีเมี่ยมมีระดับ
หลังจากนั้น 1 ปี นินเทนโด้ก็ได้ปล่อยเครื่องเกมใหม่ออกมาชื่อ Nintendo 64 มีฟีเจอร์โดดเด่นคือ สามารถต่อจอยเล่นกันได้สูงสุดถึง 4 คน ยอดขายของ Nintendo 64 ดูดีกว่า Sega Saturn อยู่หลายเท่าตัว สามารถขายไปได้กว่า 33 ล้านเครื่อง ในขณะที่ Sega Saturn นั้นขายได้เพียง 9.5 ล้านเครื่อง แต่ถึงอย่างนั้น ตัวเลข 33 ล้านของนินเทนโด้ก็ไม่สามารถเทียบเคียงยอดขายของเครื่อง PlayStation ที่สามารถขายได้ 102.49 ล้านเครื่องเลยแม้แต่น้อย ถือเป็นก้าวแรกที่ประสบความสำเร็จของโซนี่ เบิกทางให้ PlayStation กลายเป็นแบรนด์เครื่องคอนโซลชั้นแนวหน้าของวงการ
PlayStation 2: ยุคสมัยอันยิ่งใหญ่ของเครื่องคอนโซล (2000)
ในปี 2000 โซนี่เริ่มต้นศตวรรษใหม่ด้วยการวางขาย PlayStation 2 เครื่องเกมคอนโซลรุ่นแรกที่รองรับแผ่นดีวีดี ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ตัวใหม่ล่าสุดในสมัยนั้น ในวันเปิดตัววันแรก PlayStation 2 สามารถทำยอดขายได้มากกว่า 500,000 เครื่อง ผู้พัฒนาทั้งหลายแหล่ต่างก็สนับสนุนการสร้างเกมมาลงเครื่องเกมนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีเกมเอ็กซ์คลูซีฟมากมายเป็นของตน ตัวอย่างเช่น Grand Theft Auto กับ Gran Turismo
ในช่วงเวลานี้ นินเทนโด้ก็ได้ปล่อยเครื่องคอนโซล GameCube ออกมา รวมถึงไมโครซอฟต์เองก็ปล่อยเครื่องคอนโซลของตัวเองออกมาเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ Xbox นั่นเอง ทั้งสองเครื่องต่างก็เป็นคอนโซลที่มีคุณภาพ มีฐานแฟนอย่างเหนียวแน่นเป็นของตัวเอง และมียอดขายทั้งหมดในยุคนั้น 20 กว่าล้านเครื่อง แต่ก็อย่างที่ใครๆ ก็พอจะเดาได้ ยอดขายเท่านั้นไม่สามารถที่จะดึงแบรนด์ PlayStation ให้ลงมาจากบัลลังก์ได้ ยอดขายของ PlayStation 2 มีแต่จะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถทำยอดขายได้ทะลุ 150 ล้านเครื่อง กลายเป็นเครื่องคอนโซลที่ขายดีที่สุดตลอดกาลจวบจนถึงปัจจุบัน
อีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดในยุคของ PlayStation 2 ก็คือ การที่เซก้าเลิกผลิตเครื่องคอนโซลและหันไปเป็นผู้พัฒนาเกมแทน ย้อนไปในปี 1999 เซก้าได้วางขาย Sega Dreamcast เครื่องคอนโซลที่คนทั้งวงการเชื่อว่าจะมาปฏิวัติวงการเกมด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของมัน แต่สุดท้าย ยอดขายของ Dreamcast ก็ไม่เป็นไปตามเป้า และทำยอดขายได้น้อยกว่าเครื่องคอนโซลเจนเก่าของตนอย่าง Sega Saturn เสียอีก ท้ายที่สุด ในวันที่ 1 มีนาคม 2001 เซก้าก็ได้ประกาศเลิกผลิตเครื่อง Dreamcast ทำให้เครื่องคอนโซลรุ่นนี้ กลายเป็นเครื่องคอนโซลเครื่องสุดท้ายของเซก้า
ยุคโมเดิร์นของอุตสาหกรรมวิดีโอเกม (2005-ปัจจุบัน)
ในช่วงปี 2005 ถึง ปี 2006 มีเครื่องคอนโซลแห่งยุคโผล่ขึ้นมา 3 รุ่นด้วยกัน คือ Xbox 360 (ไมโครซอฟต์) PlayStation 3 (โซนี่) และ Nintendo Wii (นินเทนโด้) คอนโซลทั้งสามตัวนี้เป็นตัวแทนของการเริ่มต้นศักราชของวิดีโอเกมภาพ HD ถึงแม้ในยุคสมัยนี้ โซนี่ยังสามารถยืนเป็นแนวหน้าของตลาดเกมได้เหมือนคราก่อน แต่ก็ต้องยอมรับเลยว่า นี่เป็นครั้งแรกเลยที่โซนี่เจอการแข่งขันที่ดุเดือดเผ็ดมันอยู่พอสมควร โดยเฉพาะจากคู่ปรับอย่างไมโครซอฟต์
ท้้ง Xbox 360 และ PlayStation 3 ต่างก็มีสเปคเครื่องที่อยู่ในระดับเดียวกัน แต่สิ่งที่โซนี่เสียเปรียบคู่แข่งก็คือราคาเริ่มต้นของเครื่องที่ค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ ไมโครซอฟต์จึงเปิดตัวได้สวยกว่าเพราะ Xbox 360 มีราคาที่ย่อมเยาและสามารถรองรับระบบออนไลน์ได้ดีเยี่ยม แต่ท้ายที่สุด โซนี่ก็สามารถวิ่งแซงไมโครซอฟต์ได้ปรับราคาเครื่องลงมาและทะยอยออกเกมเอ็กซ์คลูซีฟคุณภาพ AAA ของเครื่อง PlayStation 3 ออกมาเพื่อดึงดูดลูกค้า หนึ่งในนั้นคือเกม The Last of Us ว่าที่เกมที่ดีที่สุดตลอดกาลเกมหนึ่งของโซนี่ หากเปรียบเทียบกันที่ยอดขายทั้งหมด Xbox 360 และ PlayStation 3 มียอดที่ใกล้เคียงกัน โดย Xbox 360 สามารถขายได้ 84 ล้านเครื่อง ส่วน PlayStation 3 สามารถขายได้ทั้งหมด 87.4 ล้านเครื่อง
หลายคนพออ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะเริ่มสงสัยว่า แล้วนินเทนโด้อยู่ไหนล่ะ? หลังจากนินเทนโด้ต้องอยู่อย่างยักษ์หลับมาเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดปู่นินก็สามารถกลับไปยืนในจุดที่ตัวเองเคยอยู่ได้แล้ว ถึงแม้เทคโนโลยีของเครื่อง Wii จะไม่สามารถสู้ Xbox 360 กับ PlayStation 3 ได้ แต่สาเหตุที่ทำให้เจ้าเครื่องนี้ถือไพ่เหนือกว่าคอนโซลเครื่องอื่นก็คือ “มันสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกเพศทุกวัย” นวัตกรรมด้ามจับโมชั่นคอนโทรลทำให้เครื่อง Wii เป็นเสมือนกับกีฬาหรือกิจกรรมยามว่างที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสนุกกับมันได้ ไม่เคยมีคอนโซลเครื่องไหนมาก่อนที่สามารถตีตลาดเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายได้ในระดับนี้ กระทั่งคนที่ไม่เคยเล่นหรือสนใจวิดีโอเกมมาก่อน ก็ยังตัดสินใจที่จะซื้อ Wii มาติดไว้ที่บ้าน ท้ายที่สุด Nintendo Wii จึงกลายเป็นเครื่องคอนโซลที่ขายดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น โดยทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 101.63 ล้านเครื่อง
นับตั้งแต่ตอนนั้น โซนี่ ไมโครซอฟต์ และนินเทนโด้ก็ยังคงยืนหยัดเป็นยักษ์ใหญ่ทั้งสามตัวของอุตสาหกรรมวิดีโอเกมมาจนถึงตอนนี้ แต่ละบริษัทต่างก็พัฒนาและปล่อยเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่ๆ ออกมา ซึ่งในปัจจุบันก็จะเป็น PlayStation 5 (โซนี่) Xbox Series X/S (ไมโครซอฟต์) และ Nintendo Switch (นินเทนโด้) การประสบความสำเร็จอันยาวนานของทั้งสามบริษัทนี้ ทำให้เราจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะมียักษ์ตัวใหม่อีกไหมในอนาคต ที่สามารถไต่เต้าขึ้นมายืนเคียงข้างและโค่นล้มยักษ์เก๋าพวกนี้ได้บ้าง
แหล่งข้อมูล
https://history-computer.com/oxo-game-guide/
https://history-computer.com/tennis-for-two-complete-history/
https://history-computer.com/what-was-the-video-game-crash-of-1983-and-why-did-it-happen/
ผู้เขียน: kiwi (กวีกร กังกเวคิน)