หลังจากที่ Server Slam หรือ Open Beta ครั้งสุดท้ายของ Diablo 4 จบลงไปได้ไม่นาน ทีมงาน Online Station ของเราก็ได้เข้าไปเล่นโหมดเนื้อเรื่องของเกมแบบเต็ม ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการรีวิวบนเซิร์ฟเวอร์เฉพาะกิจของทาง Blizzard และด้วยเวลาที่มีจำกัด บทความรีวิวนี้จึงจะเป็นการวิจารณ์เฉพาะโหมด Campaign ที่จะครอบคลุมในด้านของเนื้อเรื่อง กราฟิก เกมเพลย์ และเสียงประกอบเท่านั้น เพราะเราเห็นว่า มันยังเร็วไปที่จะตัดสินเกม Live Service ในช่วงที่ยังไม่เปิดให้บริการ และยังไม่สามารถเข้าถึงระบบจ่ายเงินต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าการเล่นโหมดเนื้อเรื่องของ Diablo 4 คือสิ่งที่คุณสนใจ บทความรีวิวนี้ก็อาจจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจให้กับคุณ
รีวิวเกม Diablo 4
เนื้อเรื่อง
50 ปีให้หลังจากเหตุการณ์ในภาค Reaper of Souls ของ Diablo 3 สิ้นสุดลง Lilith อสูรผู้สร้างโลก Sanctuary และให้กำเนิดมนุษยชาติได้กลับมาเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ผู้คนมากมายถูกเธอล่อลวงมาเป็นเครื่องมือ ผู้เล่นในฐานะคนพเนจรที่เกือบถูก Lilith ครอบงำผ่านการดื่มเลือดของเธอ จึงได้ใช้สายสัมพันธ์ดังกล่าวในการตามล่าตัว Lilith เพื่อหยุดยั้งเธอให้ได้ก่อนที่โลก Sanctuary จะวิบัติไปมากกว่านี้
ในแง่ของการดำเนินเรื่อง สิ่งที่ Diablo 4 ทำได้ดีขึ้นมากก็คือการนำเสนอเรื่องราวผ่านคัตซีนภายในเกม หลายเหตุการณ์สำคัญจะถูกหยิบมาถ่ายทอดด้วยมุมกล้องและการจัดแสงที่มีความหมายในหลาย ๆ ช็อตที่เป็นมากกว่าแค่การตัดภาพไปมา เมื่อรวมกับเนื้อเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากอสูรและเทวดาที่มีต่อมนุษย์ธรรมดามากกว่าแค่การกู้โลก เรื่องราวของ Diablo 4 จึงสามารถถ่ายทอดเหตุการณ์อสูรรุกรานโลกแบบเดิม ๆ ในมุมมองที่แตกต่างออกไปได้พอสมควร
แต่อาจด้วยความที่ Blizzard ตั้งใจให้ภาคนี้มันหม่นหมองกว่าตอนภาค 3 มันจึงทำให้เนื้อเรื่องของ Diablo 4 ถูกฉาบไปด้วยอารมณ์หดหู่ตลอดทั้งเกมตั้งแต่ต้นจนเดรดิตขึ้น ซึ่งมันจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เล่นแต่ละคน แต่ยังดีที่ระหว่างทางเราได้เห็นหลาย ๆ ตัวละครถูกถ่ายทอดออกมาด้วยบทพูดที่สมจริง คือไม่ใช่ว่าใครก็จะมีการแสดงออกตามนิสัยตายตัวเสมอไป บรรดาตัวละครต่าง ๆ ที่ผลัดกันมาร่วมเดินทางกับเราต่างมีการแสดงออกที่มากกว่าแค่ด้านเดียว อย่างเช่น Lorath ที่ดูเป็นคนไม่ค่อยแคร์โลกก็มีบางเวลาที่แสดงถึงมุมที่อ่อนโยนโดยไม่ขัดกับบุคคลิกไปอย่างสิ้นเชิงบ้างเหมือนกัน มันจึงทำให้การเผชิญกับเรื่องราวที่หดหู่ ไม่ได้น่าเบื่อเพราะตัวละครไม่น่าสนใจหรือไม่น่าเอาใจช่วยเลย
กราฟิก
นอกจากเนื้อเรื่องที่ดาร์กตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว สิ่งที่มืดมนไม่แพ้กันก็คือภาพรวมในการออกแบบฉากและสภาพแวดล้อมภายในเกม โดยเฉพาะในหลาย ๆ ดันเจี้ยนที่ไม่ได้น่ากลัวด้วยความมืดเพียงอย่างเดียว หากแต่องค์ประกอบต่าง ๆ ในฉากยังมีส่วนเอื้อในการสร้างบรรยากาศไปพร้อม ๆ กัน แม้แต่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างสว่างก็ยังมีองค์ประกอบของความหดหู่ให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาชาวเมืองที่ดูไม่มีชีวิตชีวาเพราะความเป็นอยู่มันยากลำบาก หรือศพและสิ่งของที่ถูกทิ้งร้างตามทางบนเนินเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ บ่อยครั้งที่แม้เราจะเดินผ่านสิ่งเหล่านี้ไปด้วยความเร็ว แต่ด้วยการจัดแสงและคุมโทนในการออกแบบให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ดี ทำให้ฉากเบื้องหลังมีส่วนช่วยในการบอกเล่าเรืิ่องราวไปได้ในตัว
จริงอยู่ที่ Diablo 4 เป็นภาคที่เราสามารถปรับแต่งรูปลักษณ์ของตัวละครได้เยอะที่สุดเมื่อเทียบกับภาคที่ผ่าน ๆ มา แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความอิสระในการสร้างยังถูกจำกัดค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ เกมในปัจจุบัน มันเป็นแค่การเลือกตัวละครพรีเซ็ตที่มีให้แล้วปรับแต่งแค่ทรงผม หนวดเครา รอยสัก และเครื่องประดับเท่านั้น เราจะไม่สามารถปรับโครงหน้าหรือรูปร่างของตัวละครได้เลย ดังนั้นเมื่อเมื่อผู้เล่นมารวมตัวกันในบริเวณที่เป็น Shared World สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้ตัวละครของเราก็จะมาจากอุปกรณ์ที่สวมใส่เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพอของรางวัลจาก Battle Pass หรือร้านค้าเครื่องแต่งกายที่ซื้อได้ด้วยเงินจริงเปิดเมื่อไหร่ มันก็คงจะเอื้อให้ผู้เล่นได้แสดงออกกันมากกว่านี้ สิ่งที่น่าจับตามองในส่วนนี้ก็คือ Blizzard จะสามารถออกแบบเครื่องแต่งกายให้น่าดึงดูดไปพร้อม ๆ กับคุมโทนไม่ให้โดดไปจากสภาพแวดล้อมในเกมหลักได้รึเปล่า
เกมเพลย์
ออกไปล่าฝูงมอนสเตอร์ เก็บค่าประสบการณ์ หาของดี ๆ มาใส่เพื่อพัฒนาความสามารถของตัวละคร วัฏจักรนี้ยังคงเป็นแก่นของเกมเพลย์ใน Diablo 4 เช่นเดียวกับภาคก่อน ๆ แต่ถ้าจะให้สรุปถึงจุดเด่นที่ทำให้เกมเพลย์เดิม ๆ ของภาคนี้มันแตกต่างจากภาคอื่นก็คงเป็นการที่ภารกิจหรือกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วง Endgame ล้วนมีส่วนเกีี่ยวโยงกับเนื้อเรื่อง มากกว่าแค่ข้ออ้างให้เราออกไปทำอะไรรูปแบบเดิม ๆ ไปจนจบเกม อย่างเควสต์เสริมกว่า 200 เควสต์ในภาคนี้ก็จะมีเนื้อเรื่องที่ส่วนใหญ่ที่เป็นความเดือดร้อนของมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบจากการมายังโลกของ Inarius และ Lilith จึงอยู่ที่แก่นของภารกิจมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการล่ามอนสเตอร์ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เราเข้าถึงความเป็นไปในโลกของเกมมากขึ้นไปในเวลาเดียวกัน
นอกจากดันเจี้ยนและอีเวนต์ตามฉากที่ยังคงเดิมมาจากภาคก่อน ๆ แล้ว การเพิ่มเข้ามาของรูปปั้น Lilith ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคทั้งห้าของเกมก็ทำหน้าที่เหมือนเป็น Collectible อย่างหนึ่ง ที่เมื่อหาพบ เราก็จะได้บัฟถาวรมาติดให้กับทุกตัวละครในแอคเคาต์ เอื้อให้การสำรวจฉากมีความหมายมากขึ้นกว่าเดิม และดียิ่งขึ้นด้วยระบบมาร์กจุดบนแผนที่แล้วตัวเกมจะแสดงเส้นทางให้อัตโนมัติบนมินิแมป บ่อยครั้งมีประโยชน์ แต่บางครั้งนำเราไปผิดทางบ้างก็มี แต่ก็นะ ฟีเจอร์พาหลงแบบนี้ Google Maps หรือ Apple Maps ก็มีเหมือนกัน แต่ก็ยังดีที่ในช่วงกลางเกมเราจะได้ม้ามาขี่ตามเนื้อเรื่อง ซึ่งเราจะกดเรียกมันออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ยกเว้นในดันเจี้ยน มันจึงช่วยร่นเวลาในการเดินทางไปทำเควสต์ได้เป็นอย่างดี และที่ดีขึ้นไปอีกก็คือ เราจะสามารถกดใช้สกิลจากบนหลังม้าลงม้าเพื่อพุ่งชนศัตรูให้กระเด็น หรือกระโดดลงมาโจมตีแบบ Superhero Landing ได้ในทันที ช่วยให้การเดินทางบนหลังม้าและการต่อสู้ไม่ถูกขัดจังหวะจนเกินไป ยกเว้นคุณจะปล่อยให้ศัตรูมันล้อมจนแถบความกลัวของม้าเต็มแล้วเตลิดออกไปเอง
บอสตามเนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการโจมตีที่หลากหลายกว่ามอนเตอร์ทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด จริงอยู่ที่ภาพลักษณ์มันอาจดูอลังการ แต่ในแง่ของการเล่นแล้ว มันกลับไม่มีลูกเล่นอะไรให้ตื่นตามากนัก ยกเว้นบอสบางตัวในช่วงต้นเกมที่จะโดดเด่นกว่าบอสตัวอื่น ๆ ด้วยความที่มันจะพาเราย้ายตำแหน่งในการสู้ ทำบ้านเมืองวินาศสันตะโรไปเรื่อย ๆ ไม่ยึดอยู่กับลานกว้างแค่จุดเดียวตามสูตร แต่น่าเสียดายที่การสู้บอสรูปแบบนี้มีให้เห็นแค่ครั้งเดียวเท่านั้นตลอดทั้งเกม
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่เปลี่ยนไปและส่งผลต่อการเล่นในภาคนี้ที่สุดก็น่าจะเป็นการที่มอนสเตอร์ตามฉากจะมีเลเวลที่เพิ่มขึ้นตามตัวละครของเรา แม้ข้อดีของมันคือการขจัดปัญหามอนสเตอร์เลือดไหลเป็นน้ำจากความห่างชั้นของเลเวลจนเกิดโซนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเล่นในภาคก่อน แต่สิ่งที่ต้องแลกไปก็คือเราอาจไม่ค่อยสัมผัสได้ถึงพัฒนาการด้านความแข็งแกร่งของตัวละครสักเท่าไหร่ จนกว่าจะลองปรับเซ็ตสกิลหรือหาของระดับ Legendary มาเพิ่มความสามารถตามที่ต้องการให้ได้เสียก่อน แต่จุดนี้ก็จะสอดคล้องไปถึงระบบ World Tier ที่หากจะให้อธิบายง่าย ๆ มันก็คือระดับความยากง่ายในการเล่นที่เราจะเลือกปรับได้ โดยเบื้องต้นผู้เล่นจะเลือกได้ตั้งแต่เริ่มเกมว่าจะเล่น Tier 1 ที่ศัตรูจะอ่อนแอกว่าปกติ หรือ Tier 2 ที่ศัตรูแข็งแกร่งพอ ๆ กับเรา ในขณะที่ Tier 3 และ Tier 4 ที่ศัตรูจะมีเลเวลสูงกว่า และมีโอกาสดรอปไอเทมระดับที่สูงขึ้นไปอีกขั้น จะปลดล็อกผ่านการเคลียร์ Capstone Dungeon ที่ถูกกำหนดเลเวลของศัตรูเอาไว้แล้ว ราวกับตัวเกมบอกกลาย ๆ ว่า ถ้าอยากจะเล่น Tier ที่สูงกว่าสอง Tier แรก ก็ต้องแกร่งจนผ่านดันเจี้ยนนี้ไปให้ได้ก่อน
เสียง
หนึ่งในสิ่งที่ซีรีส์ Diablo ทำได้ดีเสมอมาก็คือดนตรีประกอบจากวงออร์เคสตรา แม้ Cinematic แบบพรีเรนเดอร์จะมีน้อยลงกว่าภาคก่อน ๆ เนื่องจากมี In-game Cutscene เข้ามาแทนที่ แต่ดนตรีในฉากเหล่านั้นก็สื่ออารมณ์ให้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของเทวดาและความน่าเกรงขามของอสูรได้ดีเหมือนเคย ในขณะที่ดนตรีพื้นหลังของเมืองหลักในแต่ละภูมิภาคก็สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้น ๆ แต่ที่ดีที่สุดก็คือ แม้ทุกพื้นที่จะมีเสียงจากเครื่องดนตรีที่ต่างกัน แต่มันก็คุมโทนของเพลงให้หม่นหมองตามภาพลักษณ์ของกราฟิกได้เป็นอย่างดี
นอกจากบทที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของหลาย ๆ ตัวละครแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้การแสดงของตัวละครเหล่านั้นน่าเชื่อถือและน่าเอาใจช่วยก็คือเสียงพากย์ของบรรดาตัวละครหลักที่สื่ออารมณ์ได้ดี ถ้าจะมีองค์ประกอบไหนที่เราหาจุดติติงไม่ได้ ก็คงจะเป็นเสียงประกอบของเกมนี่แหละ
สรุป
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าเรื่องราวของอสูรรุกรานโลกมนุษย์ของ Diablo 4 นั้นถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่ต่างไปจากที่เคย มันไม่ใช่แค่การออกเดินทางเพื่อกู้โลกเพราะเราเป็นพระเอก แต่ตัวเกมสื่อให้เห็นได้ชัดเจนและจับต้องได้กว่าที่เคยว่าทั้งเทวดาและอสูรนั้นทำให้มนุษยชาติต้องเดือดร้อนมากแค่ไหน หลายสิ่งเกมทำออกมาได้ยอดเยี่ยมสมกับการเป็นเกมฟอร์มยักษ์ ในขณะที่บางจุดบกพร่องก็ไม่ได้ทำให้เกมหมดสนุกลงไปสักเท่าไหร่ แน่นอนว่าเกมในเวอร์ชั่นที่เราได้เล่นนี้ยังมีบั๊กอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่เคยทำให้เกมค้างหรือข้อมูลหาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบั๊กด้านการแสดงผลผิดพลาด แต่ Blizzard ก็ยืนยันกับเรามาว่า พวกเขาจะแก้บั๊กเหล่านี้ให้ทันในวันที่เกมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ โหมด Campaign ของ Diablo 4 จึงได้คะแนนจากพวกเรา Online Station ไปที่ 9 คะแนน
ติดตามข่าวสารวงการเกมได้ที่เว็บไซต์ online-station.net