เจาะลึกซีรีส์ The Last of Us ตอนที่ 3 พร้อมไขปมและเผยอีสเตอร์เอ้ก

The Last of Us

และแล้วซีรีส์ The Last of Us ของ HBO ก็ดำเนินมาถึงตอนที่ 3 ละครับ ซึ่งก็เช่นเคยสำหรับเนื้อหาในตอนนี้ที่มีการอิงจากเกมมาไม่น้อย ตลอดจนส่วนที่มีการบิดหรือดัดแปลงด้วยเหตุผลการดำเนินเรื่องในรูปแบบซีรีส์ด้วย โดยทางทีมงาน Online Station ก็มีบทเจาะลึกและคัดเลือกคัดภาพมาเปรียบเทียบกันระหว่างซีนในเกมกับซีนในซีรีส์ (เฉพาะช็อตที่สำคัญ) มาฝากกันเหมือนกัน เรามาชมกันเลยดีกว่าครับว่ามีอะไรเด็ด ๆ บ้าง


ซีรีส์ The Last of Us ตอนที่ 3

***บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาเกมและซีรีส์ The Last of Us***

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

  • ช่วงแรกที่โจลกับเอลลี่เจอกับร้านซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กที่ชื่อ คัมเบอร์แลนด์ฟาร์ม ด้านในเอลลี่จะพบตู้เกม Mortal Kombat 2 ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมยอดนิยมของวัยรุ่นอเมริกันยุค 90 และเกมดังกล่าวเคยปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องเสริม Left Behind ของเกม The Last of Us ภาคแรก โดยเป็นฉากที่ไรลีย์แวะมาหาเอลลี่ที่หอพัก ส่วนในเวอร์ชั่นเกม ตู้เกมที่เอลลี่พูดถึงจะเป็นเกม The Turning แทน

  • ฉากที่โจลกับเอลลี่มองซากเครื่องบินที่อยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ นั่นเป็นภาพโปรโมตที่ทาง HBO ปล่อยออกมาเป็นเซ็ตแรก ๆ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2021 หรือก่อนซีรีส์ฉายประมาณปีเศษ ซึ่งเราก็มาทราบกันเสียทีว่าช็อตที่ว่านี้อยู่ในตอนที่ 3 นี่เอง (ลิงค์ https://www.facebook.com/HBO/posts/pfbid038DN7sHjnTyiCVJriPRkMapKLLwq7tfmzjhE3oG3R6te4GEnaWwjpoz8BuzP2wfvWl)

  • ช็อตที่มีผู้ติดเชื้อคนหนึ่งหลงเข้ามาใกล้เมืองของบิล และเดินไปชนลวดที่ขึงไว้จนโดนปืนลูกซองยิงกระเด็นไป ตรงนี้ถ้าเป็นเวอร์ชั่นเกมจะมีฉากที่ใกล้เคียงกันอยู่ โดยตอนที่โจลกับเอลลี่เข้าไปในซอยข้างร้านขายแผ่นเสียงจะพบกับคลิกเกอร์ตัวหนึ่งที่วิ่งมาชนลวดที่ขึงไว้ เลยถูกระเบิดจนร่างแหลกเป็นชิ้นครับ

  • ตอนที่เล่าย้อนอดีตของบิล ที่เจ้าตัวตุนเสบียง สร้างรั้วล้อมรอบเมืองเล็ก ๆ ของตัวเอง จะมีการบรรเลงเพลง White Room ของวง Cream ที่เป็นเพลงยุค 60 ประกอบ โดยช่วงนี้สามารถตีความถึงชีวิตของบิล (ก่อนพบกับแฟรงค์) เป็นเชิงสัญลักษณ์ตามเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “I will wait in this place where the sun never shines” (ฉันจะรออยู่ในที่ที่แสงอาทิตย์ไม่มีวันส่องถึง) รวมถึงหากใครยังจำรหัสลับที่โจลกับเทสใช้สื่อสารกับบิลและแฟรงค์ได้ รหัสเพลงยุค 60 จะมีความหมายว่า “ไม่พบอะไรใหม่” มันเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นภาพประมาณว่าบิลนั้นใช้ชีวิตแบบอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใคร ส่องดูผู้บุกรุกจากมอนิเตอร์ในชั้นใต้ดินของบ้านไปวัน ๆ กระทั่งได้มาเจอแฟรงค์ ชายคนรักที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตของเขาในเวลาต่อมา

  • ภายในบ้านของบิลจะมีอยู่แว้บหนึ่งที่เผยให้เห็นธงสีเหลืองที่มีรูปงูขดตัวเป็นวงหลายชั้น พร้อมคำโปรยด้านล่างว่า “Don’t tread on me” (อย่าเหยียบย่ำฉัน) นั่นคือธงที่มีชื่อว่า แกดสเดน (Gadsden) ซึ่งธงนี้เคยถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการแสดงถึงความไม่เชื่อ ต่อต้าน หรือท้าทายอำนาจรัฐ โดยในซีรีส์ตอนที่ 3 จะมีการปูเรื่องว่าบิลไม่ยอมอพยพตามคนอื่น ๆ ในเมือง และเลือกที่จะกบดานอยู่ในบ้านตนเองมาตลอด 20 ปีนั่นเอง

  • ป้าย Mandatory Evacuation Notice ที่เป็นประกาศอพยพจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งปรากฏอยู่ในช่วงต้นของเนื้อเรื่องบิลจะเป็นป้ายลักษณะเดียวกับอันที่ปรากฏในเกมภาคแรก ช่วงที่โจลกับเอลลี่มาตามหาบิลในเมืองลินคอล์น แต่จะต่างกันตรงวันที่ระบุในป้าย โดยเวอร์ชั่นซีรีส์จะเป็นวันที่ 30 กันยายน 2003 ขณะที่เวอร์ชั่นเกมจะเป็นวันที่ 17 ตุลาคม 2013

  • ฉากที่บิลเล่นเปียโนให้แฟรงค์ฟัง เพลงดังกล่าวมีชื่อว่า Long, Long Time ขับร้องโดยลินดา รอนสตัดต์ (Linda Ronstadt) ศิลปินชาวสหรัฐฯ วางจำหน่ายในช่วงปี 1970 และหากเพื่อน ๆ ลองนึกถึงโค้ดรหัสวิทยุจากตอนที่ 1 ของซีรีส์ที่ตีความเพลงยุค 70 ว่า “พบของใหม่” ตรงนี้เชื่อว่ามันการตีความแบบคร่าว ๆ ถึงชีวิตของบิลว่าเขาได้พบเจอสิ่งใหม่ที่มาเติมเต็มชีวิตที่เดียวดายของตนเองแล้ว และคนนั้นก็คือแฟรงค์ครับ

  • ประเด็นนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือจงใจนะครับ โดยชุดที่แฟรงค์ใส่ตอนเห็นเปียโน ค่อนข้างมีความคล้ายกับเสื้อที่โจลใส่ในเกมช่วงฤดูใบไม้ร่วง ตอนไปหาทอมมี่ที่เขื่อนในรัฐไวโอมิ่ง ลองเทียบสีและลายของเสื้อเชิ้ตด้านนอกดูกันก่อนโลด

  • การได้ปืนพกมาใช้ของเอลลี่นั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ครับ ใครที่เคยเล่นเกมภาคแรกคงจำได้ว่าโจลเป็นคนมอบปืนพกที่เก็บได้จากพวกฮันเตอร์ให้เอลลี่ด้วยตัวเอง แต่ในเวอร์ชั่นซีรีส์ เอลลี่จะเป็นคนพบปืนที่แฟรงค์ซ่อนไว้ในลิ้นชักตู้เอง แล้วรีบซ่อนในเป้ก่อนที่โจลจะมาเห็นเข้า

  • หลังจากโจลกับเอลลี่อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนออกเดินทาง จะเห็นว่าเสื้อผ้าตัวใหม่ของโจลกับเอลลี่ได้เปลี่ยนเป็นชุดแบบเดียวกับที่ทั้งคู่ใส่ในเกมช่วงฤดูร้อนครับ เรียกได้ว่าอิงดีไซน์ชุดจากเกมมาเป๊ะ ๆ เลย

  • ช่วงท้ายของตอนที่ 3 ที่โจลตั้งกฎเหล็กกับเอลลี่ไว้ 3 ข้อ เป็นการอิงมาจากฉากในเกมตอนที่โจลกับเอลลี่หนีเจ้าหน้าที่ FEDRA ออกมาด้านนอกสถานีรถไฟใต้ดินได้สำเร็จ โดยประโยคสนทนาจะคล้ายกันเลย แม้แต่คำรับปากจากเอลลี่ก็เหมือนในเกมด้วย

  • ฉากจบของตอนที่ 3 จะเป็นช็อตที่เห็นโจลกับเอลลี่นั่งรถที่แล่นออกจากเมืองลินคอล์น โดยเป็นมุมมองจากหน้าต่างห้องนอนของบิล ซึ่งหน้าต่างนี้เป็นการอ้างอิงฉากไตเติ้ลของเกมภาคแรก ส่วนมุมกล้องที่ใช้มองออกไปนอกหน้าต่างก็มีความคล้ายกับฉากจบของเกมภาค 2 ที่เราจะเห็นเอลลี่เดินออกจากบ้านไร่ไปด้านนอก ก่อนเกมจะตัดจบและขึ้นเครดิต

  • ทิ้งท้ายกับประเด็นความสัมพันธ์ของบิลกับแฟรงค์ครับ โดยในเวอร์ชั่นเกมจะมีการพูดถึงแฟรงค์น้อยมาก และจะปูเรื่องมาประมาณว่าบิลกับแฟรงค์น่าจะทะเลาะกัน จากนั้นแฟรงค์ก็พยายามหาทางหนีไปจากเมืองโดยไม่มีบิล แต่พลาดท่าถูกผู้ติดเชื้อกัดเข้าเสียก่อน พอคิดว่าตัวเองคงไม่รอดและกำลังจะกลายร่างในไม่ช้า จึงตัดสินใจผูกคอตายในที่สุด และบิลก็ไม่ตายในเวอร์ชั่นเกมเช่นกัน
  • ขณะเดียวกัน ในเวอร์ชั่นซีรีส์จะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องส่วนนี้ พร้อมกับขยายที่มาที่ไปของแฟรงค์มากขึ้น เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบิลกับแฟรงค์ที่เป็นคู่รัก LGBTQ+ ชัดเจนกว่าเดิม จนถึงตอนท้ายที่แฟรงค์ล้มป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ เจ้าตัวจึงขอร้องให้บิลทำการการุณยฆาตตนเอง เพราะไม่อยากทรมานกับอาการป่วยอีกต่อไป ส่วนบิลที่ไม่อาจทำใจได้กับการที่ต้องอยู่อย่างไม่มีคนรัก ก็เลยตัดสินใจเลือกจบชีวิตไปพร้อมกับแฟรงค์ เป็นการดำเนินเส้นเรื่องที่แม้จะจบแบบเศร้า แต่ก็มีความซึ้งกินใจไม่น้อยทีเดียว

หากเพื่อน ๆ มีพบเจอประเด็นอื่น ๆ ที่ทีมงานอาจตกหล่นไป ก็ลองคอมเมนต์กันมาได้นะครับ


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ https://www.online-station.net

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้