รีวิวเกม God of War Ragnarok – บทส่งท้ายของพ่อลูกตะลุยตำนานนอร์ส

God of War Ragnarok

ในที่สุดการเดินทางของสองพ่อลูกในเกม God of War ภาคตำนานนอร์สที่วางจำหน่ายภาคแรกเมื่อปี 2018 ก็มาถึงบทสรุปในภาค Ragnarok นี้แล้วครับ โดยเว้นช่วงวางจำหน่ายห่างกันนานกว่า 4 ปี ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเกมที่ผู้คนต่างคาดหวังว่าจะมาเป็นผู้ท้าชิงรางวัล Game of the Year จากงานประกาศรางวัล The Game Awards 2022 ร่วมกับ Elden Ring ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทั้งนี้ทั้งนั้น เกมจะดีสมกับการรอคอยและสมกับการลุ้นรางวัลช่วงปลายปีนี้หรือไม่ พวกเราทีมงาน Online Station ขอนำเสนอรีวิวเกม God of War Ragnarok นี้ให้เพื่อน ๆ ได้ตัดสินใจกันง่ายขึ้นครับ

แพลตฟอร์ม: PS5, PS4
ผู้พัฒนา: Santa Monica Studio
แนวเกม: แอ๊กชั่น/ผจญภัย/Hack & Slash
วางจำหน่าย: 9 พฤศจิกายน 2022

ขอขอบคุณทางบริษัท Sony Interactive Entertainment สาขาประเทศสิงคโปร์ที่เอื้อเฟื้อโค้ดเกม God of War Ragnarok สำหรับรีวิวมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

เนื้อเรื่อง

เรื่องราวของภาคนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา หลังจากที่เครโทสกับอเทรอัสสำเร็จภารกิจในการโปรยเถ้าอัฐิตามคำสั่งเสียของลอเฟย์ นับแต่นั้นทั้งสองพ่อลูกก็ปลีกวิเวกมาอาศัยอยู่ในบ้านที่อยู่รอบนอกของดินแดนมิดการ์ด ทางด้านอเทรอัสที่เริ่มโตเป็นหนุ่มแล้วก็มีความอยากรู้อยากเห็นและความมั่นใจในตนเองมากขึ้นตามวัย จนพอถึงจุดหนึ่งเขาก็รู้สึกไม่พอใจที่ต้องใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ จากภยันตรายที่มาจากทั้งฝั่งทวยเทพบนแอสการ์ดซึ่งนำโดยโอดินและธอร์ รวมถึงเฟรย่าผู้สูญเสียบัลเดอร์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนด้วยน้ำมือของเครโทสก็พยายามจะมาล้างแค้นทุกเมื่อที่มีโอกาส กลับกลายเป็นว่าพ่อลูกคู่นี้ก็ยังไม่อาจหาความสงบได้อยู่ดี

อเทรอัสคือตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดในด้านของพัฒนาการตัวละคร ตลอดทั้งเกมเด็กหนุ่มคนนี้จะแสดงให้เราเห็นว่าเขามีความผูกพันกับเหล่าสิงสาราสัตว์ที่ได้พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นหมาป่าเฟนเรียหรือเหล่าแม่ลูกหมี อีกทั้งความต้องการและแรงปรารถนาของเขามีความแตกต่างจากเครโทสผู้เป็นพ่ออย่างชัดเจน ผนวกกับความรู้อยากเห็นทั้งเรื่องของแม่และโลกกว้าง ล้วนเป็นแรงกระตุ้นให้เขาอยากออกเดินทาง ด้วยความเชื่อมั่นและตั้งใจว่าจะเป็นวีรบุรุษผู้ที่หยุดยั้งมหาสงครามแร็กน่าร็อคได้ ขณะเดียวกัน ผู้ที่ภาคก่อนมาคงทราบดีว่าเคสโทสที่ผ่านร้อนหนาวในชีวิตมานับไม่ถ้วนได้เปลี่ยนมาเป็นคนที่สุขุมรอบคอบมากขึ้น เลือกหลีกเลี่ยงการฆ่าฟันที่ไม่จำเป็นและพยายามจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของคนอื่นเว้นแต่จะทำไปเพื่อปกป้องลูกชาย ทว่าเนื่องจากมุมมองและความเห็นที่แตกต่างกัน จึงทำให้ทั้งคู่เกิดอารมณ์โต้เถียงกันเป็นระยะ และดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป

เกมเพลย์และระบบต่าง ๆ

นับตั้งแต่ภาคตำนานนอร์สเมื่อปี 2018 เป็นต้นมา แกนหลักของเนื้อหาเกม God of War ก็ไม่ใช่เกมแนวไล่ฆ่าทวยเทพเอามันส์อีกต่อไป หากแต่เป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ของเครโทสกับอเทรอัสที่เติบโต เรียนรู้ และศึกษาตัวตนของกันและกัน โดยภาค Ragnarok นี้ก็ยังคงใช้วิธีการเล่าเรื่องได้ลุ่มลึก พ่วงกับสอดแทรกเรื่องราวในอดีตของเครโทส ตลอดจนการรับส่งมุกผ่านบทสนทนาที่มีกับตัวละครเสริมได้อย่างมีจังหวะจะโคน ทำให้เกมแทบไม่มีช่วงที่ชวนรู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันอืดหรือน่าเบื่อเลย

เควสต์ในภาคนี้จะมีให้ทำทั้งเควสต์หลักที่เมื่อทำสำเร็จจะสามารถดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทางของเกม ขณะที่เควสต์เสริมรายทางจะเป็นเควสต์ที่ไม่บังคับว่าต้องทำ แต่ถ้าหากทำก็จะได้รางวัลดี ๆ ตอบแทน เช่นค่า XP ในระดับสูง รวมถึงชิ้นส่วนเกราะหรือวัตถุดิบไว้ใช้อัประดับ และมีของแถมก็คือเราจะได้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ของตัวละครในตำนานนอร์สเพิ่มเติมอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเกมยังมี Artifact หรือบรรดาของสะสมที่ซ่อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ ให้เราตามไปเก็บอีกเพียบ ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ล้วนช่วยบอกเล่าเรื่องราวเพิ่มเติมต่าง ๆ อีกเช่นกัน

ในด้านการเพิ่มทักษะตัวละครนั้นจะมีการใช้ค่า XP ที่ได้จากการปราบศัตรู เก็บของสะสม หรือทำเควสต์มาใช้อัปสกิลหรืออัปเกรดเครื่องรางสวมใส่ แต่จะไม่มีการนำมาอัปเลเวลกันโดยตรงเหมือนเกม RPG ทั่วไป หากแต่การอัปเกรดอาวุธและชุดป้องกันจนมีระดับสูง ๆ จะทำให้เลเวลของตัวเครโทสเพิ่มตามได้ ส่วนกรณีของการใช้ XP มาอัปสกิล เราก็ต้องมีเลเวลอาวุธที่สูงพอด้วยถึงจะเรียนได้ นอกจากนั้นแล้ว อเทรอัสและสหายร่วมทางคนอื่น ๆ ของเราก็จะมี XP ไว้เรียนทักษะสนับสนุนของตนเองเช่นกัน

ประเด็นของการอัปเกรดอาวุธและชุดเกราะนั้น ผู้เล่นจำเป็นจะต้องหาวัตถุดิบสำคัญมาให้ได้ก่อน ซึ่งส่วนของอาวุธนั้นถ้ามีไอเทมพร้อมที่จะอัปเกรดได้ก็ควรทำทันที เพราะนั่นจะช่วยปลดล็อคการเรียนสกิลใหม่ ๆ ที่ช่วยให้เราต่อสู้ได้ง่ายขึ้น จากที่ทีมงานลองเล่นมานั้น ลำพังแค่ไล่กำจัดบอสตามเนื้อเรื่องไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถอัประดับอาวุธหลักจนถึงขั้นที่เรียนทักษะได้หมดอยู่แล้ว แต่อาวุธจะมีให้เลือกเปลี่ยนชิ้นส่วนด้ามจับ ส่วนเกราะก็จะมีให้เลือกใส่สามชิ้นคือ เกราะส่วนอก ข้อมือ และเอว และยังมีโล่ให้อัปเกรดด้วย การอัปเกรดชิ้นส่วนเหล่านี้จะแฝงคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยในการต่อสู้พ่วงมาด้วย ซึ่งปกติแล้ววัตถุดิบในการสร้างหรืออัปเกรดหลายชิ้นก็มักจะหาได้จากหีบหรือบอสทั้งตามเส้นทางหลักหรือระหว่างทางที่ไปทำเควสต์ย่อยนั่นเอง

God of War Ragnarok

การไล่ตามเก็บความลับต่าง ๆ ของเกมภาคนี้จะมีความสะดวกสบายมากขึ้น เราจะได้ไอเทมที่เป็นเข็มทิศมาใช้ในช่วงแรกที่ได้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งมีประโชยชน์มากในการเดินทาง เราสามารถเลือกเป้าหมายเพิ่มเข้าไปในเข็มทิศได้ เช่น พวกเป้าหมายของเควสต์เสริมต่างๆ แล้วแถบด้านบนของจอก็จะแสดงทิศทางของเป้าหมายนั้น ๆ รวมถึงระยะห่างให้เสร็จสรรพเลย เรียกว่าไม่มีหลงแน่นอน

God of War Ragnarok

อาวุธหลักของเครโทสนั้นยังคงเป็นขวานเลเวียธานและดาบโซ่เหมือนภาคที่แล้ว แต่ในช่วงครึ่งหลังจะได้อาวุธใหม่ที่มีวิธีการใช้งานแตกต่างออกไปมาเพิ่มด้วย โดยรวมแล้วอาวุธแต่ละชนิดจะมีเอกลักษณ์และเหมาะกับการใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สำหรับขวานนั้นจะเป็นอาวุธธาตุน้ำแข็ง ใช้โจมตีเป้าหมายเดี่ยวได้ดี ขณะที่ดาบโซ่จะเป็นอาวุธธาตุไฟ จุดเด่นคือท่าโจมตีที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว อาวุธระยะประชิดในเกมนี้ทั้งหมดจะสามารถสลับเปลี่ยนรูปแบบการโจมตีระยะใกล้หรือไกลได้ตลอดเวลา จุดที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ ในภาคนี้ ท่าสังหารที่ใช้ตอนศัตรูใกล้ตายจะมีหลายรูปแบบผันแปรตามอาวุธที่เครโทสใช้อยู่ด้วย นั่นก็คือจะมี 3 แบบถ้าได้อาวุธหลักครบแล้ว ต่างจากภาคก่อนที่ไม่ว่าเราจะใช้อาวุธอะไรก็จะมีท่าพิฆาตแบบเดียว และจำแนกตามชนิดศัตรูที่เราสู้เท่านั้น

God of War Ragnarok

สำหรับการแก้ปริศนาในเกมนี้ถือว่ามีผู้เล่นได้ขบคิดอยู่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นหีบนอร์เนียที่ต้องตามหาอักษรรูน 3 จุดที่ต้องอาศัยการสังเกตบริเวณฉากโดยรอบล้วน ๆ อนึ่ง ปริศนาในหลายจุดอาจจะดูยากหน่อยเพราะบางครั้งผู้เล่นอาจจะมองภาพรวมไม่ออกว่าควรจะต้องทำอะไร หรือทำแล้วจะมีอะไรจะเกิดขึ้น แต่โดยหลักสำคัญแล้วคือ ใช้การปาขวานกับจุดที่มีน้ำเพื่อแช่แข็ง หรือใช้ดาบโซ่กับจุดที่สามารถจุดไฟได้ แม้แต่บางครั้งอาจต้องใช้ธนูของอเทรอัสช่วยในการยิงทำลายสิ่งของด้วย นอกจากนี้คำใบ้ของอเทรอัสหรือเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ๆ ก็สำคัญ พวกเขาจะคอยบอกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันถูกสเต็ปการไขปริศนาแล้วหรือยัง หรือถ้าจุดไหนที่เรายังไม่มีของหรืออาวุธสำหรับใช้ไขปริศนา ตัวละครเหล่านี้ก็จะบอกให้เราค่อยกลับมาอีกครั้งเมื่อมีของดังกล่าวแล้ว เป็นต้น

God of War Ragnarok

ภาคนี้ระบบ Quick Time Event หรือ QTE ที่เป็นช่วงกดปุ่มบนหน้าจอให้ทันเวลาจะมีอยู่ไม่มากนัก คือจะมีอยู่เฉพาะในบางช่วงที่มันควรจะมี ไม่พร่ำเพรื่อจนน่ารำคาญ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กดยากเลย ถึงต่อให้ผู้เล่นมีเผลอกดพลาดไปบ้าง แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นก็ไม่ต้องแลกมาซึ่งความตาย ซึ่งตรงนี้ทีมงานมองว่ามันอยู่ในระดับที่ช่วยสร้างสีสันและความเพลิดเพลินให้การดำเนินเรื่องได้เป็นอย่างดีครับ

God of War Ragnarok

ในบางช่วงอเทรอัสจะออกเดินทางแยกจากพ่อของเขา โดย ณ ตอนนั้นเราก็จะต้องเล่นอเทรอัสเป็นตัวละครหลักแทนเครโทส ซึ่งพอได้มาบังคับเป็นเด็กหนุ่มแล้ว เจ้าตัวจะมีทักษะบางอย่างเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากทักษะที่ใช้ตอนเป็นตัวละครสนับสนุนด้วย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นยังสามารถติดตั้งความสามารถพิเศษ และพลังรูน ที่เป็นท่าโจมตีพิเศษแบบมีคูลดาวน์หลังใช้ได้ ส่วนวิธีการเล่นก็จะคล้ายกับการเล่นเป็นเครโทส คือจะเลือกสลับรูปแบบการโจมตีประชิดและโจมตีไกลได้ตามสถานการณ์ ทว่าภาพรวมแล้วอเทรอัสจะมีความหลากหลายกับโจมตีระยะไกลด้วยธนูมากกว่า

God of War Ragnarok

ฉากการต่อสู้กับศัตรูระดับบอสของภาคนี้ทำออกมาได้น่าประทับใจ แม้แต่บอสระดับทั่ว ๆ ไปของเกมก็ยังดีไซน์บรรยากาศและสถานการณ์การต่อสู้ให้รู้สึกตื่นเต้นได้ และเนื่องด้วยท่าโจมตีของบอสจะมีความต่อเนื่องและอันตรายกว่าศัตรูทั่วไป ผู้เล่นจึงต้องหมั่นฝึกการใช้โล่ปัดป้องโดยการกดปุ่มป้องกันให้ถูกจังหวะ ซึ่งจะช่วย Parry การโจมตีบางท่าของบอส และยังเปิดช่องให้เราได้ใช้โอกาสโจมตีสวนกลับด้วย ทั้งนี้ การต่อสู้กับบอสที่เป็นสัตว์อสุรกายในตำนานหรือพวกทวยเทพจะอลังการกว่าบอสทั่วไป การสู้บอสหลายตัวในเกม ผู้เล่นต้องใช้สภาพแวดล้อมรอบตัวให้เป็นประโยชน์เพื่อไม่ให้เสียเปรียบจนเกินไป และอีกข้อดีที่ดูแล้วไม่เบื่อเลยก็คือบทสนทนาคุยโม้โอ้อวดกันของเทพแต่ละองค์ที่มีให้เราเห็นเรื่อย ๆ ระหว่างการต่อสู้

God of War Ragnarok

ผู้ที่เล่นเกมนี้บนเครื่อง PS5 บนทีวีหรือมอนิเตอร์รุ่นธรรมดา ตัวเกมจะมีให้เลือกปรับโหมดการแสดงผลอยู่ 2 โหมดด้วยกัน โดยโหมดแรกคือ Favor Resolution ที่จะแสดงผลที่ความละเอียดระดับ 4K และล็อคเฟรมเรตไว้ที่ 30 FPS และอีกโหมดคือ Favor Performance ที่จะได้เฟรมเรตคงที่ระดับ 60 FPS กับความละเอียดระหว่าง 1440p – 4K ได้ และถ้าใครเล่นกับทีวีหรือมอนิเตอร์ที่รองรับ HDMI 2.1 ก็จะมีให้เลือกเพิ่มอีกสองโหมดคือ Favor Resolution (High Frame Rate Enabled) ที่จะได้ภาพละเอียดระหว่าง 1800p – 4K และเฟรมเรตเพิ่มขึ้นมาที่ 40 FPS และอีกโหมดคือ Favor Performance (High Frame Rate Enabled) ที่ได้เฟรมเรตแบบอันล็อค 60 FPS กับความละเอียด 1440p

God of War Ragnarok

ความสวยงามของงานอาร์ตในภาคนี้ดูดีกว่าภาคก่อน และจะไปเห็นชัดขึ้นเมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อย ๆ โดยในภาค Ragnarok เราจะได้เดินทางไปในสถานที่ใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งล้วนเป็นโลเคชั่นสวยงามแตกต่างจากดินแดนใดที่เคยผจญภัยมาก่อนหน้านี้ แต่ละเมืองที่เราได้ไปเยือน ก็จะได้พบกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนที่แตกต่างออกไปอีก ทุกเมืองให้ความรู้สึกของความมีชีวิตชีวา ถึงต่อให้ NPC ที่เราพบและพูดคุยได้ในเกมจะมีจำกัดก็ตาม หรือแม้จะเป็นจุดที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ เกมก็ยังแสดงให้เห็นถึงอิริยาบถและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนที่สัมผัสได้ถึงความเอาใจใส่ของทีมผู้พัฒนา รายละเอียดของสภาพแวดล้อมที่ดีไซน์ออกมาให้ความรู้สึกพิถีพิถัน กระทั่งในส่วนของสถาปัตยกรรมและทิวทัศน์รายทางก็ยังมีรายละเอียดชวนมอง ทั้งซากอารยธรรมและธรรมชาติ เราก็อดใจไม่ได้ที่จะแวะชมสภาพแวดล้อมไปทั่ว แม้ว่ามันจะไม่ได้มีเควสต์อะไรทำแถวนั้นเลยก็ตาม

God of War Ragnarok

ในด้านของดนตรีและซาวด์ประกอบเองก็ไร้ที่ติ ยามที่เราออกผจญภัย เสียงของลำธารในตอนที่พายเรือ หรือเสียงของสายลม แมลงและสัตว์ป่า มันช่างสมจริงราวกับเรากำลังอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เช่นเดียวกับดนตรีประกอบในการต่อสู้ ตลอดจนเสียงเอฟเฟ็กต์ของเครโทสในตอนที่ท่าโจมตี หรือเสียงตอนที่อาวุธทะลวงเข้าไปในร่างของศัตรู ช่างดูทรงพลังและทำให้ฮึกเหิมแบบฟีล God of War ที่เป็นมาทุกภาค ให้ความรู้สึกตลอดการเล่นว่าจะมีเทพมาขวางอีกสักกี่ร้อยกี่พันก็ไม่หวั่นเกรงแล้ว

เกมนี้จะสามารถปรับซับไตเติ้ลและเมนูเป็นภาษาไทยได้นะครับ แต่ตอนที่ทีมงานรีวิวเกมนี้ ทาง Sony แจ้งว่าซับไทยยังมีบั๊กอยู่ จึงให้เล่นและรีวิวด้วยการเปิดซับไตเติ้ลอังกฤษไปก่อน ซึ่งจะมีแพตช์แก้ไขให้โหลดกันหลังวางจำหน่าย ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด สุดท้ายเมื่อเกมถึงมือเพื่อน ๆ ก็จะได้เล่นซับไทยกันแน่นอนครับ

God of War Ragnarok เปรียบเสมือนเกมเวอร์ชั่นอัปเกรดที่สมบูรณ์แล้วเมื่อเทียบกับภาคก่อน ซึ่งปรับนั่นเสริมนี่เข้าไปไม่น้อย ทำให้การเล่นไม่ซ้ำซากจำเจ การต่อสู้กับบอสก็อลังการกว่าเดิม ทั้งได้เจอบอสที่หลากหลายและการปรากฏตัวของบอสแต่ละตัวก็สุดแสนจะ Epic อีกทั้งเนื้อเรื่องก็ยังมีมิติมากขึ้นเพราะนอกจากจะมุ่งเป้าไปยังความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกที่ต้องหาจุดกึ่งกลางระหว่างกันแล้ว ตัวละครอื่น ๆ ทั้งมิตรสหายและศัตรูต่างก็แสดงบทบาทของตัวเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ มีการเกลี่ยบทกันดีจนไม่รู้สึกว่ามีตัวไหนจมหายเลย ใจจริงเสียดายมากที่ตำนานนอร์สน่าจะจบสมบูรณ์แล้วในภาคนี้ แต่ลึก ๆ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตผู้เล่นจะได้มีโอกาสได้ไปตะลุยในตำนานเทพแห่งอื่นอีก


จุดเด่น

  • เนื้อเรื่องมีการวางโครงมาดี ทั้งตัวละครหลักและรองล้วนมีแอร์ไทม์เพียงพอ ทำให้ไม่มีตัวละครไหนที่ดูจืดจางหรือโดนกลบมิด ตลอดจนการใช้วิธีเล่าเรื่อง การวางจุดหักมุมก็ทำได้มีชั้นเชิง
  • ระบบสวมใส่อาวุธชุดป้องกัน ตลอดจนระบบสู้มีการเสริมเพิ่มเข้าไปมากมาย ทั้งต่อยอดสิ่งที่ดีอยู่แล้วและปรับแก้ในส่วนที่ยังขาด
  • ฟีลของการต่อสู้ไม่ว่าจะลูกกระจ๊อกหรือบอสไฟต์ทำออกมาสนุก เพลงประกอบตื่นเต้นเร้าใจ และเอ็นเตอร์เทนผู้เล่นได้หลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่คนที่ไม่ช่ำชองในเกมแอ๊กชั่น ไปจนถึงคนที่แสวงหาความท้าทายระดับยั่วหัวร้อน
  • งานกราฟิก ความสวยงามของทิวทัศน์ รายละเอียดของสิ่งปลูกสร้าง หรือแม้แต่ลวดลายบนวัตถุยิบย่อยดูมีความพิถีพิถันมาก ตามถ่ายรูปผ่าน Photo Mode ทั้งวันก็ไม่รู้เบื่อ (Photo Mode จะออกเป็นแพตช์ตามมาหลังวางจำหน่าย)
  • คุณภาพการแสดงผ่านโมชั่นแคปเจอร์ การสื่ออารมณ์ของตัวละครเข้าขั้นเยี่ยม ช่วยให้รู้สึกอินและเข้าใจอารมณ์และความคิดตัวละคร ณ เหตุการณ์ตรงหน้าได้ง่าย
  • ความลับในเกมมีให้เก็บเยอะสิ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมถึงเควสต์ย่อยล้วนมีเรื่องราวความเป็นมาของมันให้ผู้เล่นได้รับรู้ข้อมูลของตำนานนอร์สมากขึ้นและใช้คำอธิบายไม่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายด้วย

จุดด้อย

  • ซับไทยและเมนูไทยยังมีบั๊กให้เห็นช่วงกลางเกม บางครั้งเกิดปัญหาโชว์ซับค้างบนหน้าจอไม่ยอมหายไป (แพตช์แก้บั๊กเรื่องซับไทยจะมีให้โหลดหลังวางจำหน่าย)

คะแนน 10


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ https://www.online-station.net

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้