รีวิวเกม Overwatch 2 – อุบัติสงครามใหม่ ที่ต้องรอเวลาในการบ่มเพาะ

Overwatch 2

นับตั้งแต่ที่เกม Overwatch ภาคแรกเปิดตัวในปี 2016 มันก็ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่จนกลายเป็นเกมแข่งขันยอดนิยมภายในเวลาไม่นาน จากจุดเด่นของตัวละครที่มีดีไซน์กึ่งอนิเมะที่ออกแบบมาได้ถูกใจทั้งผู้เล่นตะวันตกและตะวันออก อีกทั้งตัวละครที่มีให้เลือกใช้หลากหลายต่างก็มีวิธีการเล่นเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน แต่เนื่องจากการที่ขาดการอัปเดตต่อเนื่องในช่วงหลัง ๆ จึงทำให้ตัวเกมเสื่อมความนิยมลงไปไม่น้อย

กระทั่งในปี 2022 นี้ เกม Overwatch 2 ก็ได้เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เพื่อกอบกู้ศรัทธาผู้เล่นที่มีต่อซีรีส์และตั้งเป้าที่จะกลับมาเป็นเกม FPS ที่ขึ้นแท่นอีกครั้ง โดยมีการปรับเปลี่ยนกติกาการเล่น และสมดุลต่าง ๆ มากมายเพื่อเข้ากับยุคสมัยของเทรนด์เกม รวมถึงปรับความสามารถของตัวละครบางตัว อีกทั้งภาคนี้มีแผนที่จะเพิ่มโหมดเนื้อเรื่องเข้ามาในอนาคตด้วย ส่วนสิ่งที่เปลี่ยนไปในภาค 2 นี้จะน่าสนใจและสมการรอคอยมากน้อยแค่ไหน ลองชมได้ในบทความรีวิวนี้ครับ

แพลตฟอร์ม: PS5, PS4, Xbox Series X|S, Xbox One, Switch, PC (ทีมงานรีวิวจากเวอร์ชั่น PS5)
ผู้พัฒนา: Blizzard
แนวเกม: ชู้ตติ้งมุมมองบุคคลที่ 1 / ออนไลน์มัลติเพลเยอร์
เปิดบริการ: 4 ตุลาคม 2022


เกมเพลย์และระบบต่าง ๆ

Overwatch 2 ได้เปลี่ยนมาเป็นเกมที่เปิดให้เล่นฟรี (Free-to-Play) รูปแบบการเล่นนั้นจะเน้นการเล่นแข่งกันของผู้เล่นด้วยกันแบ่งเป็น 2 ทีม แม้ว่าจะมีโหมดการแข่งแบบทีมผู้เล่นสู้กับทีม AI ด้วยก็ตาม แต่ภาพรวมของเกมก็ยังคงต้องเล่นในลักษณะออนไลน์มัลติเพลเยอร์ทั้งหมด สำหรับภาค 2 นี้จะเปลี่ยนจากการแบ่งทีม 6v6 แบบดั้งเดิมไปเป็น 5v5 ที่เล็กกว่า และยังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของเกมในการเล่นอย่างชัดเจน ซึ่งการเลือกใช้ตัวละครจะต้องคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะฮีโร่สายแทงค์ (Tank) ที่จะเลือกใช้ได้แค่คนเดียว

Overwatch 2

สิ่งที่ยังคงยึดถึอมาตั้งแต่ภาคแรกก็คือ บรรดาฮีโร่ที่มีมากกว่า 30 คนนั้น แต่ละคนจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันในการเล่น อีกทั้งมีเสน่ห์ดึงดูดจากการบทสนทนาระหว่างบุกโจมตีและใช้ท่าไม้ตาย ซึ่งได้อารมณ์แบบการ์ตูนอนิเมะที่ทำให้ผู้เล่นรู้สึกฮึกเหิมได้ โดยการเล่นเป็นทีมที่แบ่งบทบาทหน้าที่ของตัวละคร คุณสมบัติของการสร้างทีมเวิร์คเพื่อเล่นแบบเข้าขากันก็มีความสำคัญมากจนเป็นตัวตัดสินผลแพ้ชนะได้เลย

Overwatch 2

โรลหรือสายของฮีโร่นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 สาย สายแรกคือ Tank ฮีโร่สายป้องกันที่ทำหน้าที่ล่อเป้าหรือคุ้มครองเพื่อนร่วมทีมเป็นหลัก มี HP ที่สูงกว่าสายอื่น รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างโล่ป้องกันหรือฟื้น HP ตัวเองได้
ถัดมาคือสาย Damage ที่เป็นฮีโร่สายเน้นสร้างความเสียหาย มีพลังโจมตีสูง ทำหน้าที่ปะทะฝ่ายตรงข้ามเป็นหลัก ซึ่งฮีโร่สายนี้แต่ละคนก็จะมีอาวุธโจมตีหลักที่หลากหลาย เช่น ปืนกล สไนเปอร์ ระเบิด ฯลฯ และสุดท้ายคือสาย Support ฮีโร่สายฟื้นฟูและสนับสนุน ทุกคนในสายนี้จะฟื้น HP หรือบัฟให้เพื่อนร่วมทีมได้ เป็นต้น

และถึงแม้ว่าเกมจะจำแนกฮีโร่เป็น 3 สายก็จริง แต่ฮีโร่บางคนก็สามารถทำหน้าที่ของสายอื่นได้ดีไม่แพ้กัน เช่น Orisa ที่เป็นสาย Tank ก็มีปืนมินิกันที่รุนแรง หรือ Brigitte ที่เป็นสาย Support แต่มีโล่และโจมตีระยะประชิดด้วยลูกตุ้มได้ดี

Overwatch 2

อนึ่ง ฮีโร่จำนวน 35 คนที่เปิดตัวในช่วงแรกของ Overwatch 2 นั้นถือได้ว่ามีความสมดุลดี ไม่ได้มีตัวไหนเก่งเวอร์วังอลังการ และก็ไม่ได้มีตัวไหนที่ไร้ประโยชน์จนใช้งานไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความยากง่ายในการเล่นของแต่ละตัวละครก็ยังคงเป็นประเด็น โดยจะมีบางตัวละครที่เล่นได้ง่ายแบบที่คนลองเล่นครั้งแรกก็รู้แล้วว่าควรใช้อย่างไรดี ในขณะที่ก็มีบางตัวที่ผู้เล่นต้องทำความคุ้นเคยสักระยะจนกว่าจะตกผลึกว่าควรใช้ประโยชน์จากความสามารถไหนและใช้อย่างไร

Overwatch 2

หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ตัวละคร Tank ที่ถือว่าใช้งานง่ายได้แก่ Reinhardt นักรบเกราะเหล็ก มีทักษะเปิดโล่ขนาดใหญ่กำบังให้เพื่อนๆ ข้างหลังได้ง่ายและเดินไปด้วยได้ ตลอดจนมีค้อนยักษ์เป็นอาวุธคู่ใจที่ผู้เล่นที่เล็งไม่แม่นนักก็ไม่ต้องกังวล ในทางกลับกัน Doomfist เป็นตัวละครที่เปลี่ยนจากสาย Damage มาเป็นสาย Tank แถมความสามารถในการป้องกันและการเอาตัวรอดของเขาจะไม่เด่นเท่าคนอื่น (เพราะหนักไปทางโจมตีมากกว่า) ก็จะค่อนข้างทำงานเป็นทีมได้ยากกว่าในภาคนี้ที่สามารถมีสาย Tank ในทีมได้แค่คนเดียว

ส่วนตัวละคร Damage ที่เล่นได้ง่ายสำหรับมือใหม่ก็คงต้องแนะนำ Soldier: 76 ตัวละครสไตล์ Basic is the Best ที่เป็นฮีโร่ถือปืนกล ยิงจรวด วิ่งเร็ว และยังสามารถวางจุดฟื้นพลังเล็ก ๆ เน้นความเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง ส่วนตัวที่ใช้ยากสักหน่อยก็น่าจะเป็น Hanzo ที่เป็นนักธนู เพราะระยะยิงของเขาไม่ดีนัก แถมยังต้องชาร์จก่อนยิงเพื่อเพิ่มความรุนแรงด้วย

ส่วนในด้าน Support นั้น ฮีโร่ที่เล่นได้ง่ายสุดคือ Mercy นางฟ้าประจำทีมที่เน้นการฮีลเพื่อนร่วมทีละคนตลอดเวลา นอกจากนั้นยังสามารถชุบชีวิตเพื่อนที่เพิ่งตายได้ด้วย หรือ Lucio ที่ฮีลเป็นบริเวณกว้างรอบตัวตลอดเวลาและยังเคลื่อนที่คล่องตัว แค่วิ่งวนใกล้ ๆ กลุ่มเพื่อนแล้วช่วยยิงโจมตี ส่วนคนที่ใช้ยากก็ได้แก่ Zenyatta แม้ว่าจะมีสกิลลดพลังป้องกันของศัตรูจากระยะไกลด้วย แต่เจ้าตัวดันเดินช้าและไม่ค่อยมีท่าที่ใช้เอาตัวรอดเลย จึงมักตกเป็นเป้าการลอบโจมตีจากผู้เล่นอีกฝั่งได้ง่าย

Overwatch 2

ฮีโร่ทั้งหมดสามารถปลดล็อคได้จากการเล่นฟรี ซึ่งถ้าเป็นผู้เล่นเดิมก็จะใช้งานได้ทันทียกเว้น 3 ฮีโร่ใหม่ ได้แก่ Junker Queen (สาย Tank), Sojourn (สาย Damage) และ Kiriko (สาย Support)

สำหรับตัวละคร Kiriko นั้นการจะปลดล็อคมาใช้ได้ (ในกรณีที่ไม่ใช้เงินจริงซื้อ) จะค่อนข้างยากกว่าคนอื่น ๆ สักหน่อย เพราะผู้เล่นต้องเก็บแต้ม Battle Pass ให้ถึงระดับ 55 ที่อาจต้องเล่นทุกวันนานร่วมเดือนเลยทีเดียว (เว้นแต่หากจ่ายค่า Battle Pass Premium ราว 364 บาท ก็จะปลดล็อคมาใช้ได้ทันที)

Overwatch 2

เมื่อทีมในภาคนี้เหลือกันแค่ห้าคน โรลของทีมในโหมดแรงค์จึงประกอบด้วยสาย Damage สองคน สาย Support สองคน และสาย Tank เพียงคนเดียว (ยกเว้นคนที่เล่นโหมด Free ที่จะเล่นโรลอะไรก็ได้) ด้วยเหตุนี้ จากการเหลือฝ่ายป้องกันให้เล่นเพียงคนเดียวเลยทำให้เลือกได้ยากขึ้น ต่างจากในภาคแรกที่สามารถพลิกแพลงเลือกจัดทีมได้หลากหลายกว่า ทว่าในภาค 2 เราจะทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นจึงทำให้ฮีโร่สาย Tank มีความเก่งกาจมากขึ้น และถูกเพิ่มปริมาณ HP ทำให้ทนทานมากขึ้น และบางคนก็ถูกเสริมอาวุธโจมตีใหม่เข้าไปเพื่อความสมดุล เช่น Winston จะได้รับอาวุธยิงไกลเพิ่ม หรือ Zarya จะเพิ่มการเปิดชิลด์ให้ตัวเองกับเพื่อนอีกหนึ่งคนพร้อมกันได้แล้ว

Overwatch 2

ในด้านของโหมดการแข่งขันส่วนมากยังคงเป็นแบบเดิม อาทิ Control เป็นการแข่งกันยึดพื้นที่ โดยผู้ที่ยึดพื้นที่ส่วนกลางได้เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดก่อนจะเป็นผู้ชนะ และ Escort ที่เป็นการแข่งลำเลียงยาน โดยจะแบ่งเป็นทีมลำเลียงยานและทีมป้องกัน ฝ่ายป้องกันต้องคอยยื้อไม่ให้ฝ่ายลำเลียงนำยานไปถึงเป้าหมายได้จนกว่าเวลาจะหมด

ส่วนโหมดหลักที่เพิ่มเข้ามาก็คือ Push ซึ่งโหมดที่ใช้ฉากแบบใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวในภาคนี้ด้วย การเล่นคือทั้งสองทีมจะต้องแย่งการควบคุมหุ่นยนต์ที่ยืนอยู่ตรงกลางฉาก จากนั้นก็จะมุ่งหน้าไปยังฐานของศัตรู สองทีมสามารถแย่งการควบคุมหุ่นยนต์ได้ตลอดเวลา เมื่อหมดเวลา ทีมไหนที่ทำให้หุ่นไปได้ไกลกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งคล้ายโหมดลำเลียงยาน แต่ต่างกันที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเปลี่ยนสลับเพื่อบังคับหุ่นและป้องกันได้ตลอดเวลา และเป็นโหมดที่ใช้เวลาเล่นนานกว่าโหมดอื่นด้วย

Overwatch 2

นอกจากโหมดที่เกมมีมาให้ก็ยังมีโหมด Custom ที่ผู้เล่นสามารถตั้งกติกาเองได้ตามใจชอบ เช่น แข่งชิงธง, Deatchmatch หรือ Bounty Hunter ซึ่งเวลาไปแจมห้องต่าง ๆ ก็จะมีกติกาที่ผู้เล่นอื่นตั้งไว้ให้ทำตามด้วย โดยอันที่ได้รับความนิยมก็จะมีคนเข้าไปเล่นเยอะ พร้อมทั้งมีโชว์ว่ากำลัง Hot เพื่อดึงดูดให้เราเข้าไปแจม จากเท่าที่เข้าไปเล่นหลายอันก็สนุกไม่แพ้ของโหมดเกมจริง เช่นให้ผู้เล่นคนหนึ่งสุ่มฮีโร่มาเป็นบอสของฉาก แล้วอีก 11 คนที่เหลือจะสุ่มเป็นฮีโร่คนเดียวกัน ด้วยวัตถุประสงค์คือต้องกำจัดบอสให้ได้ในเวลาที่กำหนด และระหว่างเล่นทั้งบอสกับทีมล่าจะสุ่มเปลี่ยนเป็นฮีโร่คนอื่นแบบอัตโนมัติในเวลาที่กำหนดด้วย

ระบบที่เพิ่มมาอีกอย่างคือ Ping ที่เป็นการกดส่งสัญญาณอย่างรวดเร็วด้วยการกดปุ่ม D-Pad กับอนาล็อกเพื่อเลือกแจ้งข้อมูลให้เพื่อนในทีมทราบ เช่น ขอความช่วยเหลือ แจ้งเพื่อน ๆ ว่าพบศัตรู หรือเรียกรวมพลเป็นต้น ระบบนี้ช่วยให้การเล่นเป็นทีมง่ายขึ้นมาก เพราะหลายครั้งที่เราเล่นกับคนบางชาติเราก็ไม่อาจคุยกันได้ด้วยภาษาสากล

Overwatch 2

กราฟิก การแสดงผล และองค์ประกอบอื่น ๆ

องค์ประกอบหลายอย่างของเกมเกือบทั้งหมดยังคงรูปแบบเดิม ฉากเดิม ตัวละครเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในส่วนของกราฟิกจะมีความสวยงามคมชัดขึ้นกว่าภาคเดิมอย่างชัดเจน เท็กซ์เจอร์ของฉากและตัวละครมีความละเอียดขึ้น จุดที่กระสุนกระทบกำแพงหรือวัตถุมีรายละเอียดความเสียหายปรากฏที่ละเอียดขึ้น โดยหากปรับเป็นโหมดเน้นเฟรมเรตบน PS5 สามารถรันได้สูงสุดถึง 120 FPS ด้วย (แต่ต้องมีทีวีหรือมอนิเตอร์ที่รองรับเฟรมเรตดังกล่าว) และเท่าที่เล่นมาก็ไม่พบว่ามีช่วงที่เฟรมเรตดรอป และการออนไลน์ราบรื่นดี

นอกจากนี้เสียงประกอบของเกมภาคนี้ก็ปรับปรุงมาดีขึ้นอย่างชัดเจน ใช้เสียงยิงแบบใหม่ทั้งหมด ทำให้ฟังแล้วรู้สึกเหมือนอาวุธสงครามจริง ๆ มากขึ้น หรือแม้แต่เสียงกระสุนกระทบกับวัตถุเองก็เช่นกัน ก็ถือว่ายังคงไม่ได้มีความสดใหม่ที่อลังการอะไรขนาดนั้นสำหรับภาค 2 นี้ ยังคงรูปแบบการเล่นเกมยิงของบรรดาฮีโร่ ซึ่งเกมภาคแรกนั้นก็เคยได้รับความนิยมอย่างมากอยู่แล้ว

Overwatch 2

ปัญหาที่หลายคนน่าจะสงสัยกันอยู่ก็คือ เกม Overwatch 2 ควรถูกนับเป็นภาคต่อจริงหรือไม่ เพราะบางคนอาจมองว่าแม้ภาพในเกมจะสวยขึ้น มีการปรับสมดุลตัวละครพร้อมเปลี่ยนขนาดของทีมรบเป็น 5vs5 ก็ดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่โตอะไรนัก มิหนำซ้ำตัวเกม Overwatch ภาคแรกก็สนุกอยู่แล้ว อีกทั้งมีการรียูสฉากเดิมเพื่อให้ผู้เล่นหน้าเก่าไม่ต้องปรับตัวนานก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นเลยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาดูจะไม่เพียงพอที่จะให้เรียกว่าเป็นภาคใหม่ (อย่างน้อยก็ ณ เวลานี้)

อย่างไรก็ดี เกมภาค 2 เพิ่งจะอยู่ในระยะตั้งไข่ครับ โดยจะเห็นได้จากโร้ดแมปของทีมงานที่ประกาศว่าจะมีอะไรใหม่ ๆ มาเพิ่มให้ทุกซีซั่น เริ่มจาก 6 ธันวาคม 2022 นี้ที่จะเริ่มซีซั่น 2 โดยเพิ่มฮีโร่ใหม่ที่เป็นสาย Tank และเพิ่มฉากใหม่ จากนั้นในซีซั่น 3 ก็จะมีฮีโร่และฉากใหม่ รวมทั้งเพิ่มโหมดการเล่นขึ้นอีก ส่วนโหมดเนื้อเรื่องนั้นจะเริ่มเปิดตัวในปีหน้า ซึ่งก็น่าจะเพิ่มจำนวนผู้สนใจในตัวซีรีส์นี้ได้เช่นกัน ดังนั้นการจะตัดสินว่าเกมนี้เป็นเพียงแค่ของย้อมแมวหรือไม่ และเส้นทางความสำเร็จของเกมนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ยังคงต้องรอดูกันต่อไปยาว ๆ เลย

Overwatch 2

จุดเด่น

  • เกมใช้ระบบการเล่นจากภาคแรกที่ดีอยู่แล้วมาปรับให้ทันสมัยขึ้น
  • กราฟิค เพลง และซาวด์ประกอบดีขึ้นในระดับหนึ่ง
  • สมดุลตัวละครอยู่ในเกณฑ์โอเค ถ้าใช้เวลาศึกษาสักระยะจนเล่นเป็น จะไม่มีตัวที่แย่จนน่าเกลียด
  • เล่นฟรีจริง คนที่เล่นบน PS5 หรือ PS4 ไม่จำเป็นต้องสมัคร PlayStation Plus ในการเล่นด้วย

จุดด้อย

  • ยังไม่มีโหมดเนื้อเรื่องให้เล่นในตอนนี้ ซึ่งต้องรอให้ถึงปีหน้าเสียก่อน
  • ตัวเกมยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากภาคแรกน้อยไปหน่อย หากใครที่เคยแตะภาคแรกมาก่อน และเว้นช่วงไปนานมาก ๆ พอกลับมาแตะภาคนี้เลย อาจจะแทบไม่รู้สึกว่านี่คือภาค 2 ด้วยซ้ำ

คะแนน 8


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ https://www.online-station.net

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้