Splatoon 3 ภาคต่อของซีรีส์เกมหน้าใหม่จาก Nintendo ที่ถือกำเนิดในรอบ 10 ปีหลัง โดยวางจำหน่ายครั้งแรกบนเครื่อง Wii U เมื่อปี 2015 ซึ่งนอกเหนือไปจากความเป็นเกมยิงมุมมองบุคคลที่ 3 เน้นการแบ่งทีมแข่งกันที่เป็นแนวที่แพร่หลายอยู่แล้ว ทางด้านเกม Splatoon กลับเลือกนำเสนอรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เน้นความรุนแรงจากลูกกระสุน และหันมาเปลี่ยนสู้ด้วยปืนฉีดน้ำหมึกแทน แน่นอนครับว่าความที่ลักษณะของอาวุธแนวปืนฉีดน้ำในเกมมีวิถีโค้งย้อยลง เลยทำให้มีลูกเล่นของประเภทปืนให้พลิกแพลงได้มากมาย รวมถึงวิธีการเล่นที่ไม่ได้ตัดสินด้วยจำนวนการฆ่า หากแต่จะวัดจากสีน้ำหมึกบนสนามแข่งว่าทีมไหนลงสีเพื่อยึดพื้นที่ได้มากกว่ากัน ทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลให้ตัวเกมได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้เล่นทุกเพศทุกวัย อีกทั้งกลายเป็นหนึ่งในซีรีส์เรือธงของนินเทนโดไปเรียบร้อย
และบทความที่เพื่อน ๆ กำลังอ่านอยู่นี้ก็คือรีวิวเกม Splatoon 3 ที่จะมาช่วยเพื่อนตัดสินใจกันครับว่าเกมจะดีสมกับที่รอคอยมานานจากภาค 2 ถึง 5 ปีหรือไม่ มาชมรายละเอียดกันเลยดีกว่า
เนื้อเรื่องในภาคนี้ได้มีการย้ายสถานที่จาก Octo Canyon ในภาคก่อนที่ค่อนข้างจะเป็นหุบเขาแห้งแล้งมายังเขตทะเลน้ำแข็งอันหนาวเหน็บที่เรียกว่า Alterna ซึ่งเคยเป็นสถานที่หลบภัยสุดท้ายซึ่งมนุษย์เคยสร้างขึ้นในช่วงภัยพิบัติก่อนที่จะมนุษยชาตจะสูญสิ้นไป นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่เหล่ามนุษย์ปลาหมึกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ส่วนเหตุการณ์ในภาคนี้จะเล่าถึงการเกิดปุยมลพิษ (Fuzzy Ooze) ขึ้นปกคลุมไปทั่วโลก โดยเป็นขนปุกปุยสีน้ำตาลที่ขยับได้ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อเหล่ามนุษย์หมึกไปสัมผัสมันก็จะเกิดขนปกคลุมขึ้นทั่วตัวและสูญเสียสติสัมปชัญญะไป ดังนั้นเพื่อค้นหาวิธีแก้ไขเหตุภัยพิบัติครั้งใหม่นี้ ตัวละครหลักที่มีโค้ดเนมว่า Agent 3 และเหล่าสหายจึงได้มุ่งหน้าไปยัง Alterna พร้อมเป้าหมายที่จะทวงคืนความสงบสุขกลับมา
ในช่วงการสร้างตัวละครนั้นเราสามารถเลือกเพศและเผ่าได้ว่าจะให้เป็น Inkling (เผ่าหมึกกล้วย) หรือ Octoling (เผ่าหมึกยักษ์) ซึ่งไม่ว่าผู้เล่นจะเลือกแบบไหนเนื้อเรื่องและความสามารถในการเล่นก็จะไม่แตกต่างกัน และตัวละครหลักของเราในโหมดเนื้อเรื่องจะถูกเรียกด้วยโค้ดเนมว่า Agent 3
อนึ่ง ช่วงที่เป็น Tutorial อาจจะชวนรู้สึกอืด ๆ ไปบ้าง โดยผู้เล่นจะได้พบกับปุยมลพิษ (Fuzzy Ooze) ที่เป็นสิ่งกีดขวางตามเส้นทางของเรา ซึ่งถ้าเราเผลอไปแตะถูกตัวมันก็จะเกมโอเวอร์ในทันที มีเพียงเจ้าปลา Smallfry ที่เป็นคู่หูของเราเท่านั้นที่จะกินมันได้ แต่การใช้งานให้มันกินปุยมลพิษในแต่ละจุดนั้นจะต้องแลกด้วยไข่ปลาแซลมอนในจำนวนที่เพียงพอ และจำนวนที่ต้องใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละจุดตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันเม็ด ไข่ปลาแซลมอนจะได้มาจำนวนเล็กน้อยจากการค่อย ๆ เก็บสะสมจากตามพื้นที่เดินทาง ทว่าจะได้จำนวนมากนับพันเม็ดในการเล่นผ่านแต่ละฉาก
ทีนี้ หลังจากผ่านฉากแรกและได้ประมือกับศัตรูเก่าของเรา (ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานนัก) เราก็จะได้เข้าสู่ช่วงเริ่มภาคใหม่กันอย่างเต็มตัว โดยการต่อสู้จะอยู่ในเขต Alterna อันเย็นยะเยือก ที่จะมี 6 เกาะที่ต้องให้เราเปิดทางเดินเชื่อมต่อและก็จะมีบอสประจำเกาะให้สู้ด้วย
การกำจัดปุยมลพิษไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำลายสิ่งกีดขวางทางไปยังบอสหรือจุดหมายของแต่ละเกาะเท่านั้น แต่ยังมีจุดนอกเส้นทางหลักที่ไม่จำเป็นต้องกำจัดก็สามารถเคลียร์เกมได้ ทว่าหากกำจัดมันก็จะเป็นเป็นการเปิดทางลัดเพื่อเพิ่มความสะดวก หรือเปิดพื้นที่ที่ซ่อนไอเทมสำคัญหรือของสะสม แต่อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้าว่าการเลือกที่จะกำจัดพวกมันจะต้องแลกด้วยไข่ปลาแซลมอนที่สะสมมา ด้วยเหตุนี้ผู้เล่นจึงจำเป็นต้องเลือกว่าจะกำจัดอย่างไร ซึ่งถ้าอยากรีบผ่านด่านอย่างรวดเร็วก็สามารถเลือกกำจัดในจุดที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ขณะเดียวกัน ถ้าอยากเก็บของที่ซ่อนอยู่ให้ครบก็จะต้องเสียเวลาเล่นฉากเดิมซ้ำ ๆ เพื่อสะสมไข่ปลาแซลมอนไว้ใช้ในการกำจัดปุยมลพิษทั้งหมด และแน่นอนว่ามีอยู่หลายจุดที่ถึงกำจัดไปก็จะพบแต่พื้นที่โล่งโดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนมาเช่นกัน แม้ว่าผู้เล่นจะต้องทำภารกิจให้ผ่านจำนวนหนึ่งเพื่อหาไข่ปลาแซลมอนมาใช้ในการกำจัดปุยมลพิษ แต่การที่ผู้เล่นจะเลือกเล่นภารกิจไหนก่อนนั้นก็สามารถทำได้อย่างอิสระเนื่องจากไม่มีภารกิจใดที่บังคับให้ต้องทำ ภารกิจที่ยากมากอาจได้ค่าตอบแทนที่สูงแต่ก็อาจเสียเวลาในการคอนทินิวมากเช่นกัน ดังนั้นการข้ามภารกิจที่ยากไปบ้างจึงเป็นทางเลือกที่ทำได้ (และควรทำด้วย)
ทางด้านโหมดเนื้อเรื่องจะมีการปลดล็อคอัปเกรดความสามารถของ Agent 3 อยู่ ซึ่งก็คือส่วนของ Hero Gear โดยการอัปเกรดจะต้องใช้ทั้งปลาซาร์ดีน (Sardinium) และแต้ม Hero Point โดยแต้มนั้นจะหาได้ง่ายกว่าจากการเล่นผ่านภารกิจ ส่วนปลาซาร์ดีนจะต้องควานหาจากการที่มันซ่อนอยู่ตามพื้นใน Alterna ที่ส่วนมากก็ต้องกำจัดปุยมลพิษเปิดทางไปค้นหา สิ่งที่ได้จากการอัปเกรดนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน แต่ละอย่างจะทำให้ Agent 3 มีความสามารถเพิ่มขึ้นและเลือกใช้ระเบิดประเภทใหม่ ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม อาวุธปืนฉีดหมึกที่ใช้ได้นั้นจะไม่เกี่ยวกับหัวข้อนี้ เพราะว่าแต่ละด่านนั้นจะกำหนดอาวุธที่ให้เลือกใช้แบบจำกัดอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีให้เลือก 1 ใน 3 อย่างหรือไม่มีให้เลือกเลย ปกติแล้วเราจะได้ใช้ปืนแบบพื้นฐานบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในด่านที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ถึงกระนั้นการอัปเกรด Hero Gear ก็มีในส่วนของแทงค์เก็บหมึกที่จะช่วยให้เรายิงได้รัวขึ้นและจุหมึกได้มากขึ้น
โหมดซิงเกิลเพลเยอร์หรือโหมดเนื้อเรื่องของเกม Splatoon ในภาคก่อน ๆ อาจไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไหร่นัก นั่นก็เพราะว่าตัวเกมมักจะเน้นไปที่การสอนเพื่อให้ผู้เล่นเข้าใจระบบเกม เหมือนเป็นการฝึกก่อนเข้าเล่นในส่วนของ Turf Wars หรือโหมดมัลติเพลเยอร์มากกว่า แต่ในภาค 3 นี้มีการปรับแก้ให้ส่วนของการสอนเล่นจบลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ นั่นเลยทำให้ส่วนของเนื้อเรื่องถูกใส่ไปเพิ่มให้ดูมีอะไรมากกว่าภาคก่อน ๆ รวมถึงฉากก็มีเยอะขึ้นพอควร ในภาพรวมแล้วมันเป็นโหมดที่ค่อนข้างน่าพอใจตั้งแต่เริ่มจนถึงจบเกม คุ้มค่าสมราคาในระดับหนึ่งเลยแม้ว่าจะยังไม่ได้เริ่มเล่นโหมดออนไลน์ก็ตาม
สำหรับโหมดการแข่งขันซึ่งเป็นหัวใจหลักของเกมนั้น Splatville จะทำหน้าที่เป็นเมืองที่ใช้เป็นพื้นที่แข่งขัน Turf Wars โดยจะมีร้านขายอาวุธและชุดแต่งกายที่มีสกิลเสริมติดมากับชุดด้วย ซึ่งเครื่องแต่งกายนั้นจะใช้เงินที่หามาได้ง่ายในการซื้อ ส่วนอาวุธจะปลดล็อคให้ซื้อได้ตามเลเวลของผู้เล่นและต้องใช้ตั๋วในการซื้อ อาวุธปืนนั้นจะเป็นเซ็ตที่มีระเบิดและท่าพิเศษพ่วงมาด้วย ผู้เล่นจึงต้องเลือกให้ดี เพราะถึงแม้ปืนจะถูกสเปคเรา แต่ระเบิดกับท่าพิเศษที่พ่วงมาด้วยอาจจะไม่โดนใจ ข้อดีคือเราสามารถลองปืนก่อนซื้อได้แม้ว่าตัวเราจะยังมีเลเวลไม่ถึงก็ตาม ส่วนอาวุธใหม่ 2 ชนิดของภาคนี้คือธนูที่ยิงกระจายได้ 3 นัดและกดชาร์จเพื่อยิงเป็นกระสุนระเบิดได้ และที่ปัดน้ำฝนที่ใช้สะบัดคลื่นหมึกอย่างรวดเร็วและสามารถกดชาร์จเพื่อพุ่งไปฟันเสยอย่างรุนแรง
หากใครเคยเล่นภาคก่อน ๆ มาล่ะก็ Turf Wars ยังคงมีกติกาการเล่นโดยรวมเหมือนเดิมครับ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเล่น ต้องอธิบายว่าโหมดแข่งขันของ Splatoon นั้นจะแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ทีม ทีมละ 4 คน ต่อสู้กันโดยใช้ปืนพ่นหมึกรูปแบบต่าง ๆ เพื่อย้อมสีพื้นผิวในฉากรวมทั้งผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม ใช้การแปลงร่างเป็นปลาหมึกเพื่อเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็วหรือเพื่อไปยังจุดที่ร่างมนุษย์ไปไม่ถึงและฉีดน้ำหมึกเพื่อสร้างอาณาเขตสีของทีมเราให้มากกว่าทีมคู่ต่อสู้ก่อนที่จะหมดเวลา ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็นโหมดพื้นฐานที่จะต้องเล่นทุกคนในช่วงที่ยังอยู่ในช่วงเลเวลเริ่มต้น และเมื่อผู้เล่นเริ่มมีเลเวลมากขึ้นก็จะได้ปลดล็อคสิทธิ์ในการเล่นโหมดแข่งขันแบบ Anarchy หรือ Ranked Match ที่มีกติกาการแข่งในรูปอื่น ๆ เพิ่มด้วยดังนี้
- Splat Zones โหมดแย่งชิงโซนที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดเล็กตรงกลางฉาก ทีมที่ยึดครองโซนได้รวมเป็นเวลา 100 วินาทีก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ โดยทีมที่ย้อมสีในโซนได้เป็นส่วนใหญ่จะกลายเป็นผู้ครอบครองโซนและตัวเลข 100 ของทีมนั้นจะเริ่มนับถอยหลัง ผู้เล่นอีกฝ่ายจะมีหน้าที่คอยขัดขวางด้วยการย้อมสีทับพื้นที่โซนและเปลี่ยนเป็นฝ่ายที่ได้นับถอยหลังแทนให้ได้
- Tower Control โหมดนี้คือการต่อสู้เพื่อแย่งชิงหอคอยเคลื่อนที่ขนาดเล็ก โดยเมื่อผู้เล่นขึ้นไปบนยอดหอคอย มันจะเริ่มเคลื่อนตัวไปยังฝั่งศัตรู แต่ถ้าผู้เล่นศัตรูแย่งขึ้นไปยืนบนหอคอยได้ มันก็จะเคลื่อนที่ถอยกลับไป ผู้เล่นบนหอคอยจึงตกเป็นเป้าหมายและต้องได้รับการคุ้มกันจากเพื่อนร่วมทีม เมื่อหมดเวลาและหอคอยยังไปไม่สุดทางทีมที่ผลักได้ไกลที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
- Rainmaker เป็นโหมดที่ให้แต่ละทีมแข่งกันนำอาวุธ Rainmaker ไปวางยังเป้าหมาย แต่ถ้าเกิดหมดเวลาก่อน ฝั่งที่ขน Rainmaker ไปได้ไกลกว่าจะเป็นผู้ชนะ ผู้เล่นที่ทำหน้าที่แบก Rainmaker จะไม่สามารถใช้อาวุธประจำตัว ระเบิด หรือท่าพิเศษได้ แต่ว่าจะสามารถยิงกระสุนปืนใหญ่จาก Rainmaker ได้ จึงไม่ได้เป็นภาระกับเพื่อนร่วมทีมซะทีเดียว
- Clam Blitz เกมแข่งหาหอย ในฉากจะมีหอยกระจัดกระจายอยู่ ซึ่งถ้าผู้เล่นคนใดเดินเข้าไปใกล้ก็จะเป็นการเก็บขึ้นมา และหอยจะลอยตามผู้เล่นคนนั้นไป ผู้เล่นที่มีหอยอยู่ต้องเอาไปปาเข้าตระกร้าที่อยู่ในโซนของอีกฝ่าย ทว่าก่อนหน้านั้นจะต้องทำลายบาเรียของตระกร้าเสียก่อนโดยใช้หอย Power Clam ซึ่งจะได้รับมาเมื่อเก็บหอยเป็นจำนวน 8 อันขึ้นไป
นอกจากโหมดแข่งขันกันแล้ว ตัวเกมยังมีโหมดช่วยเหลือกันที่มีชื่อว่าโหมด Salmon Run โดยผู้เล่นจะต้องมีเลเวล 4 ขึ้นไปก่อน จากนั้นเลือกเข้าไปยังเมนู Grizzco และจะได้เล่นกับเพื่อนหรือผู้เล่นคนอื่นแบบสุ่มรวมเป็นทีม 4 คนช่วยกันสู้กับศัตรูที่เป็นเผ่าแซลม่อนซึ่งต้องกำจัดพวกมันเพื่อสะสมไข่ การต่อสู้จะแบ่งเป็น 1-3 เวฟ และจากนั้นก็จะได้พบกับบอสที่แข็งแกร่ง รางวัลของการเล่นก็จะได้รับไอเทมพิเศษรวมถึงพวกของตกแต่งด้วย
โดยรวมแล้วเกมนี้ถือว่าดี ลำพังแค่โหมดซิงเกิลเพลเยอร์ก็ยังคุ้มค่ามากพอที่จะซื้อเกมภาคนี้มาเล่นคนเดียว ในขณะที่โหมดการเล่นแข่งขันกับคนอื่นนั้นแทบไม่มีที่ติ มีโหมดการเล่นให้เลือกมากมาย และถึงแม้จะเป็นผู้เล่นที่ไม่มีทักษะการสู้เลยก็ยังสามารถทำประโยชน์ให้ทีมได้ ขอเพียงแค่รู้หน้าที่ที่ควรทำ เช่นสาดสีพื้นที่ที่ถูกลืมหรือป้ายสีกรุยทางให้เพื่อน ซึ่งโครงสร้างของเกมมีการออกแบบมาอย่างดีและมีความสมดุลสูง หากมีใจรักในเกมแนวชู้ตติ้งและรักการแข่งที่ไม่จำเจ Splatoon 3 ก็เป็นตัวเลือกที่น่าจัดอย่างยิ่งครับ
แพลตฟอร์ม: Nintendo Switch
ผู้พัฒนา: Nintendo EPD
แนวเกม: ชู้ตติ้ง
วางจำหน่าย: 9 กันยายน 2022
จุดเด่น
- โหมดซิงเกิลเพลเยอร์เป็นอะไรที่คุ้มค่า ยิ่งโหมดมัลติเพลเยอร์ก็ยังคงความมันส์อยู่เช่นเคย
- ตัวเกมมีการเพิ่มอาวุธและระบบใหม่ ๆ ทำให้มีลูกเล่นมากขึ้น
- เพลงประกอบไพเราะจับใจ เสริมบรรยากาศในเกมได้ดีมาก
จุดด้อย
- ภาพรวมของโหมดมัลติเพลเยอร์ยังไม่ค่อยมีความต่างจากภาค 2 มากนัก
- ระบบการควบคุมแบบโมชั่นคอนโทรลแอบควบคุมยากอยู่ (แต่ผู้เล่นเลือกปิดได้)
คะแนน 8
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ภายในเว็บไซต์ Online Station ได้ที่ https://www.online-station.net