เวลามีเกมใหม่ที่ฮิตติดกระแสระดับโลก สิ่งที่มักจะตามมาให้เห็นกันอย่างรวดเร็วก็คือวงการ Speed Run ที่สามารถทำเกมที่ปกติเล่นกันหลายชั่วโมงให้จบได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
แต่ใครที่ยังใหม่ในวงการนี้อาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมหลายคนที่ทำถึงใช้บัคหรือช่องโหว่ต่างๆ ภายในเกมได้ด้วย มาวันนี้เราจะไขข้อข้องใจตรงนี้ให้ได้ทราบกัน
เป้าหมายของการทำ Speedrun นั้นคือการจบเกมให้ได้ไวที่สุดซึ่งมีได้หลากหลายวิธีการขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในหมวดหมู่ไหน ซึ่งจะแบ่งใหญ่ๆ ได้ดังนี้
TAS – Tool-assisted Speedrun
หนึ่งในหัวข้อ Speedrun ที่มักจะมีจังหวะเวอร์ๆ ให้ดูกันมากที่สุดกับ TAS ซึ่งไม่ต้องแปลกใจไป เพราะในหมวดนี้ “ไม่ใช่มนุษย์ที่เล่นเองแบบ Real Time” แต่มันคือหมวดที่ให้ผู้เล่นมาใส่ Input เพื่อให้เกมเล่นแบบอัตโนมัติ โดยหัวข้อนี้เพื่อเป็นการค้นหารูปแบบการจบเกมที่ไวที่สุด โดยมากจะใช้กับเกมเก่าที่สามารถเล่นบน Emulator ได้
RTA – Real time Attack
RTA คือการทำ Speedrun แบบ Real Time ซึ่งหมายความว่านี่เป็นการเล่นเองโดยคนเล่นแบบสดๆ ซึ่งส่วนมากเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันก็มักจะมีการไลฟ์สดให้ดูกันด้วย เป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีฝีมือผู้เล่นเข้ามาเกี่ยวข้องและมักจะมีการแข็งขันกันสูง
ตัวอย่าง Speedrun ระหว่าง TAS (ฝั่งซ้าย) และ RTA (ฝั่งขวา)
จากที่กล่าวมาข้างบนจะเป็นหัวข้อในส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ก็จะมีหมวดหมู่อื่น ที่สามารถนำมาใส่ในหัวข้อข้างบนเพื่อเพิ่มหมวดหมู่ได้ด้วยเช่นกัน ดังนี้
Any%
หมวด Speedrun ที่มักจะมีเวลาไวที่สุด เพราะในหัวข้อนี้จะเป็นการจบเกม “โดยไม่สนวิธีการ” จะเป็น Bug หรือ Glitch ที่มีอยู่ภายในเกม สามารถถูกนำมาใช้ได้โดยไม่ผิดกฎทั้งสิ้น ขอแค่ขึ้นฉากจบเกมไม่จำเป็นต้องตีบอสทุกตัวหรือทำเงื่อนไขของเกมทุกอย่างก็ได้
100%
หมวด Speedrun ที่เน้นทำเงื่อนไขของเกมให้ครบ ตรงจุดนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบเกมที่แตกต่างกันด้วย อย่างเช่น Elden Ring จะมีหมวด “All Remembrances” ซึ่งเป็นการจัดการเฉพาะบอสที่ให้ Remembrance เท่านั้น หรือเล่นเพื่อเก็บ Achievement ให้ครบไวที่สุด เป็นต้น แต่ในหมวดนี้ก็ยังมีการใช้ Bug หรือ Glitch ช่วยได้อยู่
Glitchless
การเล่นแบบไม่ใช่ Bug หรือ Glitch เพื่อช่วยในการเล่น โดยมากมักจะมาพร้อมกับเงื่อนไขอื่นๆ อย่างเช่นใน Resident Evil Village ก็จะมี Glitchless Knife Only ใช้มีดอย่างเดียวเป็นต้น
ตัวอย่างเกม Sekiro ที่มี Speedrun หลายหัวข้อ เช่นฉากจบแบบ Shura, ฉากจบแบบ Immortal Severance, จบแบบสู้บอสหมด และอื่นๆ ซึ่งในแต่ละหัวข้อก็จะมีย่อยเป็นแบบ Any%, การไม่ใช่ Glitch บางชนิด หรือเป็น Glitchless ไปเลยนี่เอง
นี่ก็เป็นบางส่วนเกี่ยวกับประเด็นของเรื่องการทำ Speedrun ซึ่งหากเจาะลึกจริงๆ ก็จะมีรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ Bug หรือ Glitch ที่อยู่ภายในเกมก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะมีหมวดหมู่แยกเฉพาะในส่วนนี้มาอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ผิดจริง ๆ ก็คือการใช้โปรแกรมที่นอกเหนือจากที่กำหนดเช่นโปรแกรมโกงต่างๆ รวมไปถึงการแอบโกงในรูปแบบอื่นๆ เช่นเนียนว่าเล่นแบบ Real Time แต่จริงๆ เป็นคลิปที่มีการอัดไว้ก่อน เป็นต้น
Source : Speedrun – Wikipedia, speedrun.com