เป็นปกติที่แต่ละปี FIFA จะมีศัพท์ทางเทคนิคมาเป็นตัวโฆษณาฟีเจอร์ใหม่ของเกมในปีนั้น ๆ อยู่เสมอ และครั้งนี้ก็เป็นคราวของ Hypermotion ที่ EA ใช้เทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์เพื่อเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของนักเตะทั้ง 22 คนในสนามไปพร้อมๆ กันเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเกมของตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันก็เป็นพัฒนาการที่อาจไม่ส่งผลในด้านของเกมเพลย์มากนัก แต่ก็ช่วยให้บรรยากาศในสนามมีความสมจริงขึ้นมากทีเดียว
บรรดานักเตะล้วนมีการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่แย่หน่อยตรงที่ฟีเจอร์นี้จะมีมาให้เราสัมผัสเฉพาะในตัวเกมเวอร์ชั่น PS5 และ Xbox Series เท่านั้น รวมไปถึง Stadia ด้วยหากคุณอยู่ในประเทศที่มันเปิดให้บริการ ไม่มีบน PS4 และ Xbox One รวมถึงบน PC แม้ว่าเครื่องของคุณจะแรงแค่ไหนก็ตาม
ส่วนบน Switch ในปีนี้ก็จะยังคงเอกลักษณ์เอาไว้ได้เช่นเคย คือตัวเกมจะยังเป็น Legacry Edition ที่ระบบทุกอย่างจะเหมือนกับ FIFA 21 ที่เหมือนกับ FIFA 20 ที่เหมือนกับ FIFA 19 ต่างกันแค่รายชื่อและลวดลายชุดของนักเตะที่มีการอัปเดตรายปีเท่านั้น
นอกจาก Hypermotion ที่จะทำให้บรรยากาศของเกมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะสังเกตเห็นได้หากคุณคุ้นเคยกับเกมในปีก่อนมาเป็นอย่างดีก็คือ FIFA 22 จะมีรูปแบบการเล่นที่ช้าลงกว่าเดิมเล็กน้อย และนั่นก็ทำให้เกมมีความสมดุลและสมจริงยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้เราสามารถปรับแผนการเล่นและใช้งานนักเตะได้หลากหลายกว่าเดิม ไม่ต้องคอยเอาแต่พึ่งคนที่แต้มสถานะสูงเป็นตัวทำเกมหลักเหมือนเคย และแม้ว่าตัวเกมจะมีท่าหลอกหรือการกดใช้ทักษะขั้นสูงเพิ่มเข้ามาพอสมควร แต่มันก็จะเป็นประโยชน์ในการเลี้ยงบอลและหลอกล่อคู่ต่อสู้มากกว่าช่วยในเรื่องของการทำประตู เพราะดูเหมือนว่า AI ของนักเตะในแดนรับจะถูกอัปเกรดให้พึ่งพาได้มากกว่าที่เคย อย่างกองหลังที่มีโอกาสบล็อกลูกยิงและตัดบอลได้มากขึ้น รวมถึงแอนิเมชั่นใหม่ ๆ ของผู้รักษาประตูก็ช่วยให้พวกเขาเซฟลูกในหลากหลายสถานการณ์มากขึ้นด้วย
พร้อมกันนี้เกมยังมีลูกเล่นในการควบคุมใหม่ที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์ในการรุกอย่าง Explosive Sprint ที่ดูเผิน ๆ ก็เหมือนการวิ่งธรรมดา แต่ความจริงคือมันจะเป็นตัวเร่งความเร็วให้การแตะบอลออกจากจุดหนึ่งหรือเลี้ยงเป็นเส้นตรงได้เร็วกว่าที่เคย ส่วนการตั้งรับก็มีการเปลี่ยนตัวบังคับด้วยการกดปุ่ม R3 แล้วดันก้านอนาล็อกไปยังทิศทางของนักเตะคนที่เราต้องการ ซึ่งในบางโอกาศมันก็อาจเป็นทางเลือกที่ช้ากว่าการกดปุ่ม L1 เพื่อเปลี่ยนตัว แต่การจะใช้ปุ่ม R3 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือเราควรเลือกนักเตะไว้ในใจแต่แรกว่าจะเปลี่ยนไปบังคับคนไหน จากนั้นกด R3 แล้วก็ดันก้านอนาล็อกไปยังทิศทางของนักเตะคนนั้น แบบนั้นจะเร็วกว่าการกดปุ่ม L1 ที่บางทีมันก็ไม่ไปตกที่ตัวนักเตะคนที่เราต้องการเสมอไป นอกจากนี้ ด้านการแสดงสถิติระหว่างจบครึ่งแรกและครึ่งหลังก็มีตัวเลขให้เห็นเยอะและละเอียดมากขึ้น แม้มันอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญกับการเล่นแบบปกติ แต่ก็นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์กับผู้เล่นที่ต้องการปรับแผนเชิงลึกอยู่พอสมควร
สำหรับ Career Mode ในที่สุดเราก็จะสามารถสร้างทีมของตัวเองโดยที่กำหนดความเป็นมาและเป็นไปของสโมสรได้อย่างอิสระเสียที ทั้งการตั้งชื่อ กำหนดชื่อเรียกสำหรับผู้บรรยาย ปรับแต่งสีและลวดลายของชุด สภาพสนาม งบประมาณ รวมไปถึงเสียงเชียร์จากแฟน ๆ และรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อย่างความคาดหวังจากบอร์ดบริหารและพัฒนาการของทีมชุดเยาวชน แต่สิ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่านี้ก็คือฉากต่าง ๆ เวลาอยู่นอกสนามแข่ง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาซื้อขายนักเตะระหว่างสโมสรและการแถลงข่าวที่ซ้ำซากทั้งการเคลื่อนไหวและบทพูดแบบไร้เสียงพากย์ แต่เราก็ไม่สามารถข้ามมันไปได้เพราะต้องเลือกบทพูดให้ส่งผลดีกับสโมสรมากที่สุด แม้ว่าระบบต่าง ๆ ในโหมดนี้ดูเดินมาในทางที่ดี แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามันยังมีพื้นที่ให้ปรับปรุงได้อีกมาก ในขณะที่โหมด Ultimate Team ก็ดูจะให้คุณค่ากับเวลาที่เราเสียไปกับการเล่นมากขึ้นด้วยช่องทางในการได้รางวัลมากกว่าเดิม แต่ตัวเลือกในการใช้จ่ายอย่างพวกของตกแต่งก็มีมากขึ้นเช่นกัน อย่างเซ็ตตกแต่งสไตล์อนิเมะที่กำลังเป็นไฮไลต์ในตอนนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่โครงสร้างหลักของโหมดนี้ยังคงเดิมคือยิ่งเติมยิ่งเก่ง ฉะนั้นการสวมบทวาฬแล้วเทเงินให้ EA จึงจะยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับโหมดนี้อยู่เหมือนเดิม ซึ่งถ้าใครจะบอกว่ามันสมจริงดีก็คงได้เพราะเงินก็เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการฟุตบอลเหมือนกัน
ด้วยการตัดเนื้อเรื่องที่ไม่จำเป็นทิ้งและเพิ่มสกิลเหนือมนุษย์เข้าไป ทำให้ Volta Football ที่ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของโลกแห่งความเป็นจริงสามารถฉีกตัวออกมาจากโหมดปกติ และมีความสนุกในแบบของตัวเองได้มากขึ้น แต่ก็น่าเสียดายที่ระบบเอาฮาอย่าง Volta Arcade ซึ่งเป็นศูนย์รวมมินิเกมแนวปาร์ตี้ถูกบีบให้เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะควบคุมพฤติกรรมของผู้เล่นด้วยการจำกัดให้เล่นได้เฉพาะช่วงสุดสัปดาห์เท่านั้น แม้มันจะเป็นรูปแบบการเล่นที่บางคนอาจเห็นว่าน่าสนุกพอที่จะปลีกตัวจากแมตช์ปกติมาเล่น Volta ก็ตาม
FIFA 22 เป็นเกมฟุตบอลที่มีโหมดการเล่นให้เลือกหลากหลายและสามารถเล่นได้ตั้งแต่วันแรกที่เกมออก ไม่ต้องรออัปเดตเพิ่มทีหลังเหมือนเกมที่ยังสร้างไม่เสร็จแล้วปล่อยมาให้เราเล่นกันก่อน คุณอาจจะอยากซื้อมันเล่นแค่เพราะอยากสร้างตัวละครของตัวเองเพื่อเก็บเลเวลมาอัปเพิร์กใน Pro Clubs หรือแค่อยากสวมบทเป็นผู้จัดการทีมใน Career Mode ในขณะที่หลายคนอาจชอบการทุ่มเงินสุ่มกาชานักเตะใน Ultimate Team หรือบางคนอาจแค่อยากจะเล่น Volta Football เพราะคิดถึงความหลุดโลกของ FIFA Street ประเด็นคือตัวเกมอาจมีค่ามากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามความชอบส่วนตัวของคุณ สิ่งที่เราสามารถบอกได้ก็คือ FIFA 22 เป็นเกมที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้านจากปีก่อน แต่ก็มีบางจุดเช่นกันที่สามารถปรับปรุงให้ดีกว่านี้ หรือจะเรียกมันว่าเป็นข้อเสียเลยก็ได้ และด้วยความที่ซีรีส์ยังคงเป็นเกมกีฬาที่ออกวางขายรายปีแบบนี้ เราก็คงหวังให้มันมีพัฒนาการแบบเบิ้ม ๆ ทุกครั้งที่ออกภาคใหม่ไม่ได้ เพราะดูท่ามันจะยังคงเป็นเกมที่แต่ละปีมีอะไรที่ดีขึ้นนิด ๆ หน่อย ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา