เชื่อว่าวันก่อนเพื่อน ๆ คงได้ยลโฉมกันไปแล้วนะครับกับเครื่อง Nintendo Switch โมเดลใหม่ที่มีการใช้จอแสดงผลแบบ OLED ที่ใหญ่ขึ้น และเพิ่มความจุของหน่วยความจำ รวมถึงปรับเปลี่ยน Dock ให้เป็นแบบใหม่ ทว่าสเปคต่าง ๆ ยังคงเท่าเดิม ซึ่งถ้าจะเรียกกันแบบง่าย ๆ ก็คือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ Minor Change นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้หาใช่เรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใดครับ เนื่องจากในอดีตจนถึงปัจจบัน ทางฝั่งปู่นินเคยมีการออกเครื่องรุ่นรีโมเดลที่มีเพิ่มนั่นนี่นู่นแบบ Minor Change มาก่อนถึงหลายรุ่น และทำต่อเนื่องมาหลายเจเนอเรชั่นด้วยกัน ซึ่งบทความนี้จะพาเพื่อน ๆ ไปย้อนอดีตกันสักหน่อยครับว่าปู่นินเขาเคยรีโมเดลเครื่องแฮนด์เฮลด์มากี่รุ่นกันบ้าง มาชมกันโลด
แฮนด์เฮลด์ เจเนอเรชั่นที่ 4 (Game Boy)
- Game Boy เวอร์ชั่นแรกสุดวางขายเมื่อปี 1989 ด้วยขนาดกะทัดรัด ใช้ถ่านขนาด AA จำนวน 4 ก้อน พื้นหลังจอเป็นสีเขียวมะกอก แสดงผลเป็นภาพขาวดำ
- Game Boy Pocket วางจำหน่ายตามมาในปี 1996 กับขนาดที่บางและเบาลง ใช้ถ่านขนาด AAA จำนวน 2 ก้อน ซึ่งการใช้ถ่านที่เล็กลงและจำนวนก้อนน้อยลง ระยะเวลาของการเล่นเลยน้อยลงตามไปด้วย
- Game Boy Light วางจำหน่ายในปี 1998 และขายแค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมาคือไฟแบ็คไลท์ที่สามารถนำไปเล่นในที่มืดได้เลยโดยไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริม รวมถึงกลับมาใช้ถ่าน AA จำนวน 2 ก้อน ระยะเวลาของการเล่นจะผันแปรตามโหมดที่ใช้งาน ถ้าเปิดไฟแบ็คไลท์เล่นตลอดเวลา อายุของแบตเตอรี่ก็จะสั้นลง
แฮนด์เฮลด์ เจเนอเรชั่นที่ 5 (Game Boy Color)
- วางจำหน่ายในปี 1998 พร้อมด้วยฟีเจอร์สำคัญคือจอแสดงผล 32,768 สี มีความสว่างในตัวโดยไม่ต้องพึ่งแบ็คไลท์ ตัวเครื่องมีน้ำหนักเพียง 138 กรัม เท่านั้น เรียกว่าเบากว่า iPhone 12 ที่มีน้ำหนัก 162 กรัมด้วยซ้ำไป ทว่าในเจเนอเรชั่นนี้ทางปู่นินไม่ได้ออกเครื่องรุ่นรีโมเดลที่เพิ่ม Minor Change แต่อย่างใดครับ
แฮนด์เฮลด์ เจเนอเรชั่นที่ 6 (Game Boy Advance)
- Game Boy Advance วางขายเมื่อปี 2001 โดยใช้จอสีที่มีความละเอียด 38,400 พิกเซล พ่วงฟีเจอร์ Backward Compatibility ที่สามารถนำตลับ Game Boy และ Game Boy Color มาเสียบเล่นได้ ซึ่ง Game Boy Advance โมเดลแรกถือเป็นแฮนด์เฮลด์รุ่นสุดท้ายของปู่นินที่ใช้ถ่านอัลคาไลน์เป็นพลังงานของเครื่องด้วย (ขนาด AA 2 ก้อน)
- Game Boy Advance SP วางขายในปี 2003 มีการเปลี่ยนรูปทรงเป็นสไตล์ฝาพับ รวมทั้งเพิ่มฟรอนท์ไลท์และแบ็คไลท์เข้ามาเช่นกัน ขณะที่แบตเตอรี่ก็หันมาใช้แบบลิเธียม ความจุ 700 mAh ตามสมัยนิยม
- Game Boy Micro วางขายช่วงปี 2005 ด้วยขนาดเล็กจิ๋วตามชื่อ จอแสดงผลมีขนาด 2 นิ้ว และปรับปรุงไฟแบ็คไลท์ให้ปรับได้ 5 ระดับ แต่ตัดเอาฟีเจอร์ Backward Compatibility ออกไป รวมถึงแบตเตอรี่ก็จุได้น้อยกว่ารุ่น SP ด้วย
แฮนด์เฮลด์ เจเนอเรชั่นที่ 7 (Nintendo DS)
- ปู่นินเปิดเจเนอเรชั่นที่ 7 ด้วยเครื่อง DS ที่ย่อมาจาก Dual Screen นั่นก็คือตัวเครื่องมี 2 จอแสดงผล บน-ล่าง โดยจอล่างจะเป็นทัชสกรีน ซึ่งโมเดลแรกสุดเริ่มวางขายในปี 2004 และสามารถต่อออนไลน์ผ่าน Wi-Fi ได้ มีไฟแบ็คไลท์ กับความละเอียดของจอที่ 262,144 พิกเซล นอกจากนี้ยังสามารถนำตลับ Game Boy Advance มาเล่นได้ด้วย
- 2 ปีให้หลัง เครื่อง DS Lite ก็ออกตามมา ด้วยรูปลักษณ์ที่บางลง เบาลง แต่เพิ่มความจุแบตเตอรี่จาก 850 เป็น 1,000 mAh รวมถึงจอแสดงผลที่ตัดระบบแบ็คไลท์ออกไป แล้วใช้เป็นโหมดปรับความสว่าง 4 ระดับแทน
- ในปี 2008 ก็เป็นคราวของ DSi บ้าง ซึ่งรุ่นนี้มีการเพิ่มกล้องหน้า ความละเอียด 3 แสนพิกเซล และช่องใส่ SD Card เพื่อจุเกมแบบดิจิทัลดาวน์โหลดจาก DSi Shop ที่เพิ่มเข้ามาในส่วนของเน็ตเวิร์ค ยิ่งไปกว่านั้น จอยังสามารถปรับความสว่างได้ 5 ระดับ มากกว่า DS Lite ไปอีกขั้น ทว่าในโมเดล DSi กลับมีการตัดฟังก์ชั่น Backward Compatibility ออกไป ทำให้ไม่สามารถนำตลับ Game Boy Advance มาเล่นได้อีกต่อไป แถมมาเริ่มล็อคโซนเครื่องเอาตอน DSi ด้วยนี่แหละ
- ห่างกันเพียงปีเดียว ปู่นินก็ออก DSi XL มาขยี้กระเป๋าแฟน ๆ อีก โดย XL คือการขยายขนาดหน้าจอจาก 3.25 เป็น 4.2 นิ้ว ตลอดจนเพิ่มความจุแบตเตอรี่จากรุ่น DSi ปกติที่มี 840 เป็น 1,050 mAh
แฮนด์เฮลด์ เจเนอเรชั่นที่ 8 (Nintendo 3DS)
- ยุคของ 3DS มีการเพิ่มประสิทธิภาพของจอแสดงผลไปแบบก้าวกระโดดครับ โดยจอจะแสดงสีได้มากถึง 16.77 ล้านสี และเพิ่มฟังก์ชั่นการปรับภาพเป็นสามมิติได้ ซึ่งโมเดลแรกได้วางขายในปี 2011
- ปี 2012 เครื่อง 3DS XL ก็ออกตามมาทันที นอกจากตัวเครื่องจะบางและเบาลงตามสูตรเดิม พร้อมกับจอที่ใหญ่ขึ้นแล้ว ก็มีการเพิ่มการ์ดหน่วยความจำสำรองจาก 2 เป็น 4 GB ทำให้จุเกมได้มากขึ้น และเพิ่มความจุแบตเตอรี่ให้อึดขึ้นด้วยเช่นกัน
- ถัดมาอีก 2 ปี หรือในปี 2014 ปู่นินมีการพลิกเกมครั้งใหญ่ ด้วยการออกเครื่อง New 3DS ที่ปรับแบบ Major Change อย่างชัดเจน คือเพิ่มทั้ง CPU จาก 268 เป็น 804 Mhz และ RAM จาก 128 เป็น 256 MB ตลอดจนเปลี่ยนจากเดิมใช้การ์ด SD มาเป็น Micro SD แทน และก็มีจำหน่ายบางเกมที่รันได้เฉพาะบน New 3DS เท่านั้นด้วย
- แน่นอนครับว่ามี New 3DS แล้ว จะไม่มี New 3DS XL ได้อย่างไร โดยจอของรุ่น XL ได้ขยายจาก 3.88 เป็น 4.88 นิ้ว และเพิ่มความจุแบตเตอรี่เหมือนเดิม วางขายในเวลาเดียวกับรุ่นจอไซส์ปกติเลย
- 2DS คือโมเดลที่ทำมาตอบโจทย์ผู้เล่นที่ไม่ได้แคร์กับฟีเจอร์กราฟิก 3 มิติครับ ซึ่งในโมเดลแรกของ 2DS นั้นจะมีรูปลักษณ์ที่แหวกแนวหน่อย คือไม่ได้เป็นแบบฝาพับ ทำให้มีคนเล่นจำนวนไม่น้อยบ่นกันว่าเก็บดูแลรักษาลำบากกว่า และจากการที่ 2DS โมเดลแรกวางจำหน่ายก่อนที่ New 3DS จะออก จึงทำให้ CPU และ RAM มีสเปคเท่ากับ 3DS โมเดลแรกไปโดยปริยาย
- New 2DS XL คือโมเดลสุดท้ายของเจเนอเรชั่นที่ 8 ที่แทบจะเหมือนกับ New 3DS XL ทุกประการ จะต่างกันแค่ตัดฟังก์ชั่นปรับภาพ 3 มิติออกไปเท่านั้น และตัวกล้องด้านหน้าไม่มีระบบไฟอินฟราเรดที่ใช้สแกนใบหน้าผู้เล่นครับ
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ในเว็บไซต์ Online Station ได้ที่ https://www.online-station.net/