สื่อต่างประเทศแนะนำวิธีดูตลับเกมแท้และเถื่อนของเครื่องต่าง ๆ จาก Nintendo

ปัญหาเกมละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนแก่วงการเกมมานานแล้วครับ โดยเฉพาะ Nintendo หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องเกมและซอฟต์แวร์เกมที่ประสบปัญหานี้มาตลอด อีกทั้งด้วยเทคนิคการปลอมแปลงของมิจฉาชีพก็พัฒนาไปตามกาลเวลา ทำให้การตรวจสอบว่าตลับเกมไหนเป็นของแท้ อันไหนเป็นของเถื่อนก็ยากขึ้นทุกที

ล่าสุดทาง Nintendo Life ที่เป็นสื่อเกมสายปู่นินของต่างประเทศก็ได้ทำคอนเทนต์บทความและคลิปสอนและแนะนำการดูตลับแท้และเถื่อนของเครื่องเกมฝั่งปู่นิน (โดยเน้นที่ตลับโซน US เป็นหลัก) มาให้เกมเมอร์อย่างเรา ๆ ได้ชมเป็นวิทยาทานครับ

หมายเหตุ – เราขออนุญาตเรียกบรรจุภัณฑ์ของซอฟต์แวร์เกมปู่นินแบบรวม ๆ ว่า “ตลับ” เพื่อให้สะดวกในการเรียบเรียงคำนะครับ

(ล่าง) คลิปแบบเต็ม ๆ


Nintendo DS

  • ตลับแท้ของ DS ให้สังเกตที่ตัวพยัญชนะอังกฤษ 10 หลักตรงขอบด้านล่างก่อนครับ โดย 3 ตัวแรกควรขึ้นต้นด้วย NTR ที่ย่อมาจากคำว่า Nitro ซึ่งเป็นโค้ดเนมดั้งเดิมของ NDS นั่นเอง ส่วนอักษร 4 ตัวถัดมาคือรหัสของผลิตภัณฑ์ และปิดท้ายด้วยอักษร 3 ตัวหลังที่อ้างอิงถึงประเทศที่เกมนั้นถูกนำไปวางจำหน่าย (USA คือสหรัฐอเมริกา)
  • ทั้งนี้ โค้ดที่ปรากฏบนตลับควรจะต้องตรงกันกับที่ระบุไว้บนกล่องเกมด้วย ถือเป็นจุดสังเกตแรก
  • ทว่ากับบางเกมก็มีการเติมเลข 1 ไปด้านหลังโซนประเทศด้วย ดังเช่นรูปด้านล่าง นั่นเป็นการปรับปรุงแก้ไขจากปู่นินเองครับ ไม่ใช่เป็นตลับเถื่อนแต่อย่างใด
  • จุดสังเกตที่ 2 คือการเทียบโค้ดด้านหน้ากับด้านหลังตลับครับ โดยตลับแท้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะระบุรหัสผลิตภัณฑ์ไว้ตรงกันเสมอ เช่นรูปด้านล่าง รหัสคือ A3VE ก็ต้องเหมือนกันทั้งหน้าและหลัง
  • อย่างไรก็ตาม วิธีการดูแบบข้างบนก็ยังใช้ไม่ได้ผลเสมอไป เพราะมิจฉาชีพบางคนอาจรอบคอบขึ้นมาหน่อย ทำให้โค้ดออกมาเหมือนกันทั้งหน้า-หลัง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีวิธีตรวจสอบอีกแบบคือดูความคมชัดของสติ๊กเกอร์ที่แปะด้านหน้าตลับครับ ดังรูปด้านล่างจะเห็นได้ว่าตลับเถื่อนจะมีความเบลอกว่าตลับแท้อย่างเห็นได้ชัดเลย
  • นอกจากนี้ โลโก้ปู่นินและเครื่องหมายสิทธิบัตรควรจะเห็นเด่นชัด ไม่เบลอ ตลอดจนโลโก้เรตติ้ง ESRB ก็ควรเป็นฟ้อนต์เดียวกับที่ทางหน่วยงานควบคุมสื่อบันเทิงของทวีปอเมริกาเหนือใช้กันด้วย (มีรูปตัวอย่างด้านล่าง) ลองเทียบโลโก้ดังกล่าวกับตลับแท้ได้ครับ จะเห็นว่าเป็นฟ้อนต์เดียวกัน
  • ขณะเดียวกัน บางเกมอย่าง Pokemon HeartGold, SoulSilver, Black, Black 2, White และ White 2 ก็จะมีการใช้วัสดุในการผลิตตลับที่พิเศษหน่อย คือมีความโปร่งแสง ซึ่งถ้าเอาตลับแท้ของเกมเหล่านี้ไปส่องกับแสงไฟก็จะเห็นถึงผิวด้านในของตลับเป็นสีออกม่วง ๆ ได้ ซึ่งตลับเถื่อนส่วนมากจะทำมาแบบทึบ แสงส่องผ่านไม่ได้เลย

Game Boy Advance

  • เรามาเริ่มดูที่ตลับแท้กันก่อนครับ สำหรับตลับแท้นั้นองค์ประกอบทุกอย่างที่อยู่บนสติ๊กเกอร์จะครบถ้วนสมบูรณ์ โลโก้เกม โลโก้เรตติ้ง โลโก้ปู่นิน โลโก้สิทธิบัตร และรหัสผลิตภัณฑ์ต้องมีระบุครบ รวมถึงความคมชัดของภาพบนสติ๊กเกอร์ต้องเป๊ะ ไม่มีเบลอ ไม่มีตกขอบให้เห็น
  • ทีนี้มาดูตลับเถื่อนกันบ้าง อย่างตลับเกม Power Rangers: Wild Force นี้จะไม่มีโลโก้ปู่นิน และไม่มีเลขผลิตภัณฑ์ระบุไว้ ดังนั้นเป็นของปลอมแน่นอน
  • ถัดมานี่ยิ่งแล้วใหญ่เลยครับ จะเห็นว่ามาแต่โลโก้เกม แต่อย่างอื่นไม่มีเลย ปลอมชัวร์ ไม่มั่วนิ่ม
  • ส่วนตลับนี้ มิจฉาชีพเขาจะแอดวานซ์ขึ้นมาหน่อย มีรายละเอียดครบก็จริง แต่สังเกตโลโก้สิทธิบัตรสีส้ม ๆ ทางซ้ายมือครับ ตรงนี้ถ้าเป็นเกมที่วางจำหน่ายในฝั่งสหรัฐอเมริกา ด้านบนจะเขียนเป็นคำว่า Official แต่ถ้าเป็นฝั่งยุโรป (PAL) จะเขียนเป็นคำว่า Original แทน
  • แต่ในเมื่อโลโก้สิทธิบัตรในรูปพยายามจะบอกว่าเกมนี้จำหน่ายในยุโรป ดังนั้นเลขผลิตภัณฑ์ทางมุมขวาล่างจึงควรต้องระบุว่า EUR (ย่อมาจาก Europe) ไม่ใช่ NEU6 ครับ ดังนั้นตลับนี้จึงปลอมนั่นเอง
  • ต่อมาเป็นตลับ Pokemon FireRed ครับ ตรงนี้เทียบกันเผิน ๆ อาจไม่ค่อยเห็นความต่าง แต่ตลับแท้จะใช้เทคโนโลยีในการพิมพ์เลขที่คล้ายลายน้ำบนธนบัตร ที่ต้องส่องกับแสงไฟจึงจะปรากฏครับ (ดูในวงสีเหลืองบนรูปด้านล่าง) ซึ่งตลับเถื่อนจะทำแบบนั้นไม่ได้
  • หากจะเน้นตรวจสอบให้ชัวร์สุด คือใช้ไขควงหัว 3 แฉกในการขันดูบอร์ดด้านในตลับเลยครับ โดยตลับแท้จะมีพิมพ์โลโก้ปู่นิน เลขผลิตภัณฑ์ลงในบอร์ดไว้ด้วย และถ้าพลิกดูด้านหลังบอร์ด ตลับแท้จะไม่มีการพิมพ์เลขใด ๆ รวมถึงสติ๊กเกอร์แปลกปลอมโดยเด็ดขาด
  • มาดูที่งานกล่องกันครับ ตลับแท้จะบรรจุในกล่องที่พิมพ์อย่างดีด้วยเครื่องพิมพ์คุณภาพ สีไม่เพี้ยน ไม่มีเบลอ
  • ด้านหลังของกล่องเกม FF4 Advance นี่ยิ่งดูง่ายเลยครับ เพราะด้านหลังของกล่องตลับเถื่อนดันเอารูป Screenshot ของ FF4 เวอร์ชั่นเครื่อง Super Famicom มาใช้ ซึ่งเก่ากว่า เรียกได้ว่าหลอกลวงผู้บริโภคกันตั้งแต่บนกล่องแล้ว
  • งานสติ๊กเกอร์หน้าตลับของแท้ ถ้าใครติดตามซีรีส์ Final Fantasy บ่อย ๆ จะรู้ว่าเกมตระกูลนี้จะไม่ค่อยเน้นลวดลายหวือหวาบนหน้าตลับหรือหน้าแผ่นเกมมากนักครับ ส่วนใหญ่มาแต่โลโก้เกมเรียบ ๆ ดูมีคลาส สะอาดตา และรายละเอียดครบถ้วนอยู่แล้ว ดังเช่นตลับทางขวามือ

Game Boy

  • ทางด้าน Game Boy นี้จะดูไม่ค่อยยากนักครับ ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นจะมีตลับเถื่อนหลุดมากันเยอะ จุดสังเกตแรกเลยคือคำว่า Nintendo GAME BOY tm ที่อยู่ด้านบนของตลับ ซึ่งตลับเถื่อนหลายเกมจะพิมพ์กันห้วน ๆ ว่า GAME BOY มาเลย (ในวงสีแดงบนรูปด้านล่าง) รวมถึงคุณภาพงานพิมพ์บนสติ๊กเกอร์หน้าตลับก็ไม่เหมือนกันด้วย

SNES (หรือ Super Famicom ที่คนไทยนิยมเรียก)

  • เริ่มที่ตลับแท้ก่อนนะครับ จะเห็นว่างานพิมพ์หน้าสติ๊กเกอร์จะคมชัดมาก รายละเอียดทุกอย่างบอกครบหมด และเมื่อพลิกดูด้านหลังก็มีฉลากติดเพิ่มเติม รวมถึงโลโก้ปู่นินที่พิมพ์บนผิวตลับ เห็นเป็นร่องเลย
  • ฝั่งของตลับเถื่อน งานพิมพ์จะมีความเบลอ และรหัสผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องควรเป็น SNS-CA-USA ไม่ใช่ SNS-ARM รวมถึงด้านหลังก็โล่งเกิน และไม่มีโลโก้ Nintendo มาด้วย

หวังว่าข้อมูลส่วนนี้จะพอเป็นประโยชน์แก่เพื่อน ๆ เพื่อใช้ตรวจสอบตลับเกมจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของ Nintendo กันได้นะครับ

เครดิต: Nintendo Life

เครดิตรูปภาพประกอบ: ArsTechnica / Wired


ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ในเว็บไซต์ Online Station ได้ที่ https://www.online-station.net/

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้