ไขข้อข้องใจ กว่าจะสร้างเสร็จสักเกม ทีม Developer ต้องใช้งบไปกับอะไรกันบ้าง

ทุกวันนี้วงการเกมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้ว) ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้มหาศาล รวมถึงสร้างงานแก่เหล่า Developer หรือนักพัฒนาเกมทั้งหลายด้วย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคไม่แพ้วงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเลยทีเดียว

และหนึ่งในคำถามที่ผู้คนทั่วไปสงสัยมาตลอดต่อวงการเกมก็คือ ในยุคนี้กว่าจะสร้างเกมจนเสร็จและวางขายสักเกมนึง เขาใช้งบเท่าไหร่กันแน่ และใช้งบไปกับอะไรบ้าง เราจะมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกันพอสังเขปครับ

ปกติแล้วการพัฒนาเกมสักเกมจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่

  1. ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างและพัฒนาเกม ซึ่งในจำนวนนี้สามารถแยกย่อยลงไปอีกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น
  • เงินเดือนของผู้พัฒนาเกม ปัจจุบันเรตเงินเดือนเฉลี่ยอาชีพสายพัฒนาเกมในสหรัฐอเมริกานั้น (ย้ำว่าเป็นค่าเฉลี่ยนะครับ) ถ้าให้พูดรวม ๆ ทั้งตำแหน่งโปรแกรมเมอร์, คอมพิวเตอร์กราฟิก, เอนจิเนียร์ หรืออาร์ติสท์ จะอยู่ที่ราว ๆ ตั้งแต่ 6,500 – 11,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 196,000 – 331,000 บาทต่อคนต่อเดือน ยิ่งถ้าเป็นเกมที่มีสเกลหรือโปรดักชั่นขนาดใหญ่ จำนวนบุคลากรที่ต้องใช้ก็ต้องมากตาม หากเป็นเกมระดับ AAA ก็มักจะมีทีมงานตรงนี้เป็นหลักร้อยคน และระยะเวลาในการสร้างแต่ละเกมก็จะผันแปรตามความยากในการพัฒนาด้วยเช่นกัน บางเกมใช้เวลาทำ 2-3 ปีก็จะหมดไปกับเงินเดือนนักพัฒนาเกมน้อยหน่อย ส่วนเกมไหนที่ใช้เวลาทำนาน 5-6 ปี งบก็จะยิ่งบานปลาย
  • ค่าจ้างนักแสดง / นักพากย์ การสร้างเกมในยุคหลัง ๆ ถ้าจะให้ตัวละครในเกมดูมีความสมจริง หรือให้ผู้เล่นอินกับตัวละครได้ง่ายขึ้นก็ต้องมีการใส่เสียงพากย์เข้าไป และถ้าเกมไหนต้องการความสมจริงยิ่งขึ้นไปอีกก็จะมีการใช้เทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์เข้ามา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยการจ้างนักพากย์และนักแสดงมืออาชีพมาให้เสียง หรือบันทึกท่าทางการเคลื่อนไหวทั้งใบหน้าและร่างกาย ยิ่งมีตัวละครเยอะ ค่าจ้างนักแสดงมาสวมบทบาทก็ยิ่งมาก และถ้าค่ายเกมไม่ได้ใหญ่ขนาดที่มีสตูดิโอทำโมชั่นแคปเจอร์เป็นของตัวเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการเช่าสตูดิโอรวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ อีก
  • ค่าทำดนตรีและซาวด์ประกอบ เพลงเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างสุนทรีย์ในเกมได้ บางเกมมีการจ้างนักแต่งเพลงมืออาชีพมาทำเพลงให้ บางเกมลงทุนจ้างวงออเคสตร้ามาทำบางเพลง และเกมไหนที่มีเพลงประกอบไพเราะกินใจยังสามารถต่อยอดด้วยการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เป็นพวกแผ่นซาวด์แทร็ค หรือบางซีรีส์อย่าง Final Fantasy ก็มีการจัดคอนเสิร์ตเล่นเพลงประกอบในเกมเพื่อขยายฐานความนิยมสู่แฟน ๆ ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้เกมชู้ตติ้งชื่อดังอย่าง Call of Duty: Modern Warfare 2 ก็เคยจ้าง Hans Zimmer นักประพันธ์ระดับฮอลลีวู้ดมาทำเพลงธีมหลักของเกมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพให้กับตัวเกมเช่นกัน
  • ค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ สมมติถ้าเกมไหนมีการนำพล็อตเรื่องจากนิยายหรือภาพยนตร์มาดัดแปลงเป็นเกม แล้วค่ายเกมนั้นไม่ได้สังกัดบริษัทที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ ก็ต้องมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิ์นั้นมาทำเป็นเกมอีกที หรือถ้าเป็นพวกเกมฟุตบอลชื่อดังอย่าง PES กับ FIFA ก็จะมีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ชื่อนักเตะเหมือนกัน (ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมต่าง ๆ ที่เหล่านักพัฒนาเกมใช้ทำงานด้วยนะครับ เพราะถ้าใช้โปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์นี่เรื่องใหญ่แน่นอน)

2. ค่าใช้จ่ายในด้านการโปรโมทและการตลาด แบ่งออกเป็น

  • ค่าโฆษณา ในจำนวนนี้จะแล้วแต่แผนการโปรโมทของค่ายเกม บางค่ายจะลงโฆษณาเฉพาะสื่อดิจิตอลและโซเชียลมีเดียเป็นหลัก บางค่ายที่ใหญ่หน่อยก็อาจเพิ่มช่องทางการสื่อสารด้วยการลงโฆษณาทางทีวี หรือลงตามนิตยสารเกมเพิ่มไปด้วย
  • ค่าโปรโมทผ่านอีเวนต์ ตรงนี้ประเทศที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกมชั้นนำที่ทำเกมลงเครื่องคอนโซลและพีซีอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือยุโรปในหลาย ๆ ประเทศ มักจะมีการจัดอีเวนต์เพื่อโปรโมทแก่ผู้ร่วมงาน และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองเล่นเกมตามซุ้มต่าง ๆ ด้วย ซึ่งการที่ค่ายเกมไปร่วมออกบูธก็ย่อมต้องมีค่าเช่าสถานที่ ค่าออกแบบบูธ ค่าวัสดุในการทำบูธ ค่าอุปกรณ์ภายในบูธ ค่าแรงพนักงานไปยืนคุมบูธ ไหนจะค่าโปรโมทบูธอีก โดยระยะหลังบางค่ายเกมพยายามลดต้นทุนในส่วนนี้ด้วยการจัดอีเวนต์ทางออนไลน์แทน ยกตัวอย่างเช่น Sony ที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมงาน E3 ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีจัดรายการ State of Play ทาง YouTube เพื่อโปรโมทเกมของตัวเอง ซึ่งต้นทุนก็จะเหลือแค่เพียงงบตัดต่อเทรลเลอร์ และค่าใช้จ่ายอื่นยิบย่อยเท่านั้น โดยการโปรโมทแบบออนไลน์มีข้อดีสำคัญอย่างนึงคือสามารถวัดผลได้สะดวกและชัดเจนว่าคอนเทนต์ของตนเข้าถึงผู้คนได้มากน้อยแค่ไหน (ดูจากยอดวิว) และผลตอบรับเป็นอย่างไร (ประเมินจากยอดไลค์และคอมเมนต์)

3. ค่าใช้จ่ายในด้านการจัดจำหน่าย ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่ทำเกมลงครับ โดยแบ่งออกเป็น

  • ค่าปั๊มแผ่น เคสนี้คือกรณีของเกมที่ลงเครื่องคอนโซล ซึ่งหลายเกมจะมีจำหน่ายทั้งแบบแผ่นและดิจิตอลดาวน์โหลด ทุกวันนี้ผู้เล่นที่นิยมการเล่นเกมจากแผ่นยังมีอยู่มากมาย เพราะมีจุดเด่นตรงที่เวลาเล่นเบื่อแล้วสามารถเอาไปขายมือสอง นำเงินมาซื้อเกมใหม่ที่เป็นแผ่นมือหนึ่ง หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ได้ โดยค่ายไหนที่พัฒนาเกมอย่างเดียว และต้องไปจ้างค่ายอื่นในการจัดจำหน่ายแผ่นให้ ก็จะมีการโดนหัก % ของยอดขายแผ่นตามแต่จะตกลงกันด้วย
  • ค่าผลิตตู้อาเขต หากเป็นเกมแนวเฉพาะทาง เช่น ไฟท์ติ้ง แข่งรถ หรือเกมดนตรี บางเกมนอกจากทำลงเครื่องคอนโซลหรือพีซีแล้ว อาจจะมีการลงตู้อาเขตหยอดเหรียญเพิ่มด้วยอีกแพลตฟอร์ม ซึ่งถ้าเป็นเกมแนวไฟท์ติ้ง ตู้อาเขตก็จะมีลูกเล่นไม่ซับซ้อนนัก เพราะใช้ฟังก์ชั่นหลัก ๆ แค่จอยโยกกับปุ่มกดเป็นหลัก แต่ถ้าพวกเกมแข่งรถหรือเกมเต้น ตู้เกมก็จะพิเศษหน่อย เช่นเกมแข่งรถก็จะเป็นทรงค็อกพิทให้ผู้เล่นเข้าไปนั่ง มีจอยพวงมาลัย ทำคันเร่ง เบรค เกียร์ ฯลฯ เสมือนขับรถจริง ๆ เป็นต้น
  • ค่าวางจำหน่ายในสโตร์ออนไลน์ ตรงนี้แต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งค่ายเกมที่เป็น 3rd Party จะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้ด้วย เพราะต้องอาศัยช่องทางดิจิตอลในการจัดจำหน่าย แต่จะถูกกว่าค่าปั๊มแผ่นอยู่มาก ยิ่งถ้าเป็นพวกค่ายเกมอินดี้ที่มีเงินทุนไม่หนาจะเลือกใช้วิธีการจำหน่ายแบบนี้กัน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: Indeed / PayScale / VGSales

เครดิตรูปภาพประกอบจาก: Dev Community / South China Morning Post / Video Game Preserve Collective


ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ในเว็บไซต์ Online Station ได้ที่ https://www.online-station.net/

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้