รีวิว Immortals: Fenix Rising งานใหม่จาก Ubisoft ที่สนุก แต่ผิดเวลาไปหน่อย

Immortals: Fenix Rising หรือในชื่อเดิมคือ Gods and Monsters นั้นเป็นเกมที่ทาง Ubisoft ประกาศสร้างมาสักพักใหญ่ๆ แล้วครับ นำทีมพัฒนาโดย Ubisoft Quebec หรือก็คือเจ้าเดียวกับ Assassin’s Creed Odyssey นั่นเอง เรียกว่าเสร็จงานตำนานกรีกจากที่หนึ่งก็มาสานต่อจากอีกที่หนึ่งเลย ซึ่งด้วยมีผลงานการันตีระดับนี้ก็ทำให้ Immortals: Fenix Rising นั้นถูกคาดหวังพอสมควร

ปัญหาคือเจ้า Covid-19 มหันตภัยที่ทำให้คนทั้งโลกอยากกาปี 2020 ออกจากปฏิทินไปเสีย

เรารับรู้กันมาตลอดทั้งปีว่าไวรัสนี้มีผลกระทบต่อการโลกนี้และมนุษย์ในหลายๆ แง่มุม ที่เห็นได้ชัดก็คือภาคธุรกิจที่การ Launch โปรดักส์ของหลายตัวหลายบริษัท ที่ต้องโดนโรคเลื่อนกันเป็นแถบ และกลายเป็นว่าหลายๆ โปรดักส์หลายๆ คอนเทนต์ต้องมากระจุกกันอยู่ปลายปีด้วยหลากลายสาเหตุย่อย

อย่าง Ubisoft เองก็กลายเป็นว่ามีเกมฟอร์มยักษ์ระดับหวังยอดของตัวเองถึง 3 เกมต้องมาออกกระจุกกันภายในเวลาที่นับจริงๆ ก็เพียงเดือนเศษๆ เท่านั้น

ซึ่งทำให้ไม่เพียงแต่มันจะกลายเป็นต้องตัดยอดกันเอง หรือเกมเมอร์ที่ทุนทรัพย์ไม่เยอะต้องเลือกเอาว่าจะเล่นเกมใด ไปจนถึงบางรสชาติที่คับคล้ายกันของทั้ง 3 เกมที่ส่งผลให้ Immortals: Fenix Rising กลายเป็นเกมที่โชคร้ายสุด เพราะดันวางจำหน่ายในเกมสุดท้าย ทั้งๆ ที่ในแง่ของ Performance เกมแล้วกินขาดอีก 2 เกมเลยเพราะบั๊กน้อยจัดๆ

จุดร่วมของความคลับคล้ายของเกมจาก Ubisoft ทั้ง 3 เกมคือการที่มันเป็น Open World ที่มีความเป็น Ubisoft ในตัวสูง โดยเฉพาะกับเกมคั่นกลางอย่าง Valhalla ที่จัดเต็มให้ท่องโลกกันยาวๆ แล้วพอมาเล่นเกมนี้ต่อมันก็เลยหลีกเลี่ยงความรู้สึกเอียนๆ นิดๆ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ก็พยายามรีเฟรชตัวเองแล้วก็ตาม

ก็คงต้องยอมรับว่าผมเล่นเกมนี้โดยที่มี Assassin’s Creed Valhalla เปรียบเทียบอยู่ในหัวตลอดเพราะช่วงเวลาที่ใช้เล่นนั้นมันไล่เลี่ยกันจริงๆ ทั้งอย่างนั้นในความเหน็ดหน่ายมันก็ยังมีประโยชน์ในเชิงการเขียน เพราะผมสามารถพูดได้ชัดว่าแบบไหนชอบแบบไหนไม่โอเค

แต่พูดชัดก็ไม่ได้หมายความว่าแบบไหนมันแย่กว่ากัน แค่พูดว่าส่วนตัวแล้วชอบแบบไหนมากกว่า เช่นกรณีนี้ในแง่ความเป็น Open World ผมชอบฝั่ง Valhalla มากกว่าพอสมควรด้วยเหตุผลคือแม้จะกว้างแต่ก็เดินทางได้ง่าย เพราะข้อจำกัดมันน้อยกว่า มันเลยดูโฟลวไหลลื่นกว่า

ในขณะที่ Immortals: Fenix Rising มีภูมิประเทศแบบ Mythology ตามธีมของมัน พื้นที่สูงตํ่าเยอะแยะไปหมด แถมยังมีแถบสตามิน่าเข้ามาเสริมข้อจำกัดในการปีนป่ายหรือว่ายนํ้า ยังไม่นับการวางมอนสเตอร์ไว้ในจุดที่ถี่มากๆ รวมไปถึงระบบการไล่ล่าของ “เงา” วีรบุรุษชั่ว ที่ไม่ว่าจะสู้กลับหรือรีบหนี ก็เสียเวลาในการทำตามเป้าหมายทั้งนั้น ยิ่งช่วงเลเวลแรกๆ คือลำเค็ญจัดจนรู้สึกท้อในการเดินทางเลย

ถึงอย่างนั้น Open World ในแบบของ Immortals ก็มีข้อดีและเสน่ห์ในแบบของมัน เช่นจุดเปิดแผนที่ไม่มาก ทำให้ไม่ต้องปีนบ่อย (แต่ต้องแทรคจุดเอา ซึ่ง… ไปๆ มาๆ กินเวลาใช่ย่อยพอกัน) หรือจุด Fast travel ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญคือออกแบบโลกได้ดีภูมิทัศน์สวยงาม มองเพลินเจริญตา อันเป็นจุดแข็งของเกมจาก Ubisoft ในแทบทุกๆ เกมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ในส่วนของกราฟิกแม้จะดูการ์ตูนๆ หน่อยๆ แต่ถ้าจ้องดูดีๆ จะพบว่าดีเทลไม่ธรรมดา มีความละเอียดละออ แสงเงาและเอฟเฟ็กก็ไม่ขี้เหร่ จัดว่าสวยเลยแหล่ะ แม้อาจไม่ถึงขั้นเกม Next-Gen แต่เป็นอาหารตาได้อย่างไม่ติดขิดตะขวง

ระบบต่อสู้เป็นอีกจุดที่น่าสนใจของเกมนี้ แรกๆ อาจจะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ผู้เล่นยังจัดคอมโบสู้ได้ไม่เยอะ แต่เมื่อทั้งสกิลและสตามิน่าถึงพร้อมเมื่อไหร่บอกเลยว่าเกมนี้ต่อคอมโบแอคชั่นสนุกมากๆ

แม้สกิลอาจไม่เยอะแต่ก็ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี สามารถต่อคอมโบกันไปมาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการต่อเนื่องของคอมโบจะทำให้เราตีศัตรูแรงขึ้นอีกด้วย มันอาจไม่ได้เดือดขนาดเกมแอคชั่นแท้ๆ จัดๆ แต่ก็ยังถือว่าทำได้ดีมากๆ แล้ว

พูดถึงว่าแม้ Immortals: Fenix Rising จะเป็นเกมแนว แอคชั่น-อาร์พีจี มันก็ยังมี Category ผจญภัย ห้อยติดมาด้วย ทำให้สิ่งหนึ่งที่มีมากและยังโดดเด่นสุดๆ ในเกมนี้ก็คือ Puzzle ครับ คือ Puzzle ในเกมนี้เยอะจัดๆ ผมให้เยอะกว่าความเป็นแอคชั่นด้วยเอ้า! มากมายจนเรารู้สึกได้ว่าเกมตั้งใจออกแบบในส่วนนี้มากๆ จริงๆ มันสนุกนะ หลายๆ ปริศนาพอผ่านแล้วก็รู้สึกภูมิใจว่าเราก็มีสมองใช้ได้เหมือนกันนี่หว่า

แต่ก็นั่นแหละครับอะไรเยอะไปมันก็ไม่ดีทั้งนั้น แถมรางวัลหลังผ่านด่าน Puzzle ซึ่งทวีความยากขึ้นเรื่อยๆ ก็แทบจะเป็นอย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้หลังๆ แรงจูงใจชักถดถอย กลายเป็นรู้สึกท้อในการเล่นขึ้นมาอีกระลอก เหมือนเราทำอะไรเยอะขึ้นมากขึ้น แต่ค่าตอบแทนยังเท่าเดิมไปเรื่อยๆ จนจบเกมนั่นแหละ

ในการเล่น Immortals: Fenix Rising มีหลายช่วงที่บังเกิดความท้อ เอียน และเหนื่อยหน่ายผสมปนเปกันไป แต่สิ่งที่ทำให้ผมยังคงเปิดเล่นมันอยู่นอกจากเหตุผลในเรื่องของงานแล้วก็คือเนื้อเรื่องกับธีมอารมณ์ขันบ้าๆ บอๆ ของมันนี่แหละ คือเนื้อเรื่องรวมๆ อาจจะเพลนๆ คุณรับบทมนุษย์ผู้เป็นความหวังสุดท้ายของเหล่าเทพเพื่อต่อกรกับมหาอสูร Typhon ซึ่งดูเป็นอะไรที่ธรรมดามากๆ

แต่ความเจ๋งคือการลงดีเทลต่างๆ ในตำนานการผจญภัยของเราซึ่งเต็มไปได้ความอิหยังวะและการ Break the forth wall มากมาย เช่นเหตุผลในการเลือกเราเป็นความหวังก็ไม่ใช่เพราะเราเป็นลูกท่านหลานเธออะไร แค่เหตุผลเกรียนๆ ของเทพเท่านั้น ซึ่งจะเป็นบวมขนาดไหนก็อยากให้ซื้อมาลองพิสูจน์เอง

และแม้เราจะเลือกเพศตัวละครพร้อมปรับแต่งรูปลักษณ์ได้อีกเล็กน้อย แต่ดูเหมือน Canon จริงๆ ของตัวละคร Fenix จะเป็นผู้หญิง เพราะบทเนื้อเรื่องในหลายๆ จุดแม้ผมจะเลือกเล่นตัวผู้ชาย แต่ก็ยังโดนกล่าวเรียกว่า She อยู่ดี ถือเป็นข้อผิดพลาดส่วนหนึ่งซึ่งเห็นค่อนข้างชัดเพราะเรียกผิดอยู่หลายคราวทีเดียว

แม้กระนั้นก็อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้นบทความว่านี่เป็นงานจาก Ubisoft ที่บั๊กน้อยที่สุดเมื่อเทียบทั้ง 3 เกมที่ออกมาในช่วงนี้ครับ เจออยู่บ้าง แต่ก็ไม่เยอะมาก และไม่มีร้ายแรงอะไร

ในภาพรวมแม้จะบ่นกระปอดกระแปดไปสักหน่อยแต่ก็ยังรู้สึกว่า Immortals: Fenix Rising เป็นเกมที่สนุก หลายๆ องค์ประกอบทำให้เรารับรู้ได้ว่ามันเป็นเกมที่ดี และถูกสร้างมาอย่างตั้งใจ ที่สำคัญคือนำเสนอให้กับผู้เล่นได้เล่นในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์ที่สุดแบบว่าบั๊กแทบไม่มี ทั้งอารมณ์ขันบ้าบอของมันก็ยังพอจะยึดโยงให้คุณอยู่กับมันไปได้เรื่อยๆ แม้เนื้อเรื่องรวมๆ อาจจะไม่ดึงดูดนักก็ตาม

แต่ก็อย่างที่บอกคือผมว่ามันวางจำหน่ายผิดเวลาไปหน่อย เช่นผมที่เล่นมาทั้ง Watch Dogs Legion (50 ช.ม.) หรือ Assassin’s Creed Valhalla (120 ช.ม.) แล้วมี Immortals: Fenix Rising มาต่อภายในเวลาเดือนเดียวจะเริ่มเอียนก็ไม่แปลก

Immortals: Fenix Rising

แถมหลังจากวางจำหน่ายได้อาทิตย์เดียว เกมอย่าง Cyberpunk 2077 ก็มาจ่อคิวรออีก ทำให้เกมนี้อาจโดนอันเดอร์เรตและถูกมองข้ามไปสักหน่อย ไทม์มิ่งไม่ดีเลยจริงๆ แต่หากคุณได้ซื้อ หรือลองจัดมาเล่นแล้วล่ะก็รับรองว่าไม่เสียดายเงินแน่นอน เป็นอีกเกมที่เล่นเพลินๆ ได้ยาวๆ ครับ

VERDICT 7.5/10

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้