รวมฮิตตู้เกม Arcade ขวัญใจคนไทยในยุค 90

ตู้เกมอาเขตถือเป็นเครื่องเกมประเภทหนึ่งที่น่าจะอยู่ในความทรงจำของเพื่อนๆ ชาวเกมเมอร์มาช้านานนะครับ ในช่วงหนึ่งของชีวิตเราต่างก็ได้สัมผัสกัน กว่าจะเคลียร์เกมหรือผ่านได้สักด่าน บางคนอาจต้องหมดเหรียญเป็นกำๆ ซึ่งในยุค 90 เองก็มีเกมตู้ในไทยไม่น้อยที่ได้รับความนิยมสูง จนมีคนไปต่อคิวหรือยืนดูเขาเล่นกันตามห้างเป็นที่ชินตา โดยบทความนี้เราจะพาทุกคนไปรำลึกอดีตถึงตู้เกมอาเขตสุดฮิตของคนไทยในยุค 90 กันครับ


1. Daytona USA

ผู้พัฒนา: Sega
เปิดให้บริการครั้งแรก: เมษายน 1994

ย้อนไปสัก 20 กว่าปีก่อน ใครที่ชอบแวะเวียนไปแถวโซนตู้เกมอาเขตตามศูนย์การค้าน่าจะเคยผ่านตากับเกมแข่งรถที่พ่วงต่อ Cockpit ให้เล่นพร้อมกันได้ 2 – 8 คน โดยมีกราฟิกสวยสะดุดตาจนคนที่เดินผ่านไปมาต้องหยุดยืนดูเหล่าตีนผีประลองความเร็วกัน ซึ่งตู้เกม Daytona USA ที่มีให้บริการในบ้านเรา ณ เวลานั้นมักจะเซ็ตราคาค่าเล่นต่อ 1 ตาอยู่ที่ 20 บาท ซึ่งจัดว่าค่อนข้างแพงพอสมควร

ระบบของ Daytona USA ไม่มีความซับซ้อนอะไรมากนัก ผู้เล่นจะได้เลือกเพียงแค่ว่าจะขับรถเกียร์ธรรมดาหรือออโต้ และมีฉากให้ขับอยู่ 3 สนาม ซึ่งแต่ละสนามก็จะมีความยากง่ายต่างกัน รวมถึงจำนวนรอบที่ต้องวิ่งก็จะลดหลั่นกันไป (สนามง่ายสุดวิ่ง 8 รอบ สนามระดับปานกลางวิ่ง 4 รอบ และสนามยากสุดวิ่งแค่ 2 รอบ)


2. Captain Commando

ผู้พัฒนา: Capcom
เปิดให้บริการครั้งแรก: พฤศจิกายน 1991

เกม Captain Commando เป็นเกมแนว Beat’em Up คล้ายกับเกม Final Fight ที่โด่งดังในยุค 80 แต่จะมีลูกเล่นบางอย่างเพิ่มขึ้นมา เช่น การขี่หุ่น โดยระหว่างที่เราลุยในแต่ละด่านจะมีศัตรูขี่หุ่นมาสู้กับเรา หากเราปราบคนขี่หุ่นสำเร็จ ก็จะสามารถยึดหุ่นมันมาขับได้ ซึ่งหุ่นเหล่านี้ก็จะมีอยู่ 3 แบบ จำแนกตามอาวุธประจำตัวหุ่นนั้นๆ ได้แก่ หุ่นสไตล์ต่อยระยะประชิด, หุ่นยิงปืนพ่นไฟ และหุ่นยิงปืนแช่แข็ง

นอกจากนี้ บรรดาอาวุธปาหรืออาวุธตีระยะประชิดที่หาเก็บได้จากการทำลายลังหรือถังน้ำมัน เมื่อเก็บมาแล้วมันจะไม่หายไปจนกว่าเราโดนโจมตีจนถึงระดับหนึ่งหรือเคลียร์ด่านนั้น ต่างจาก Final Fight ที่อาวุธจะหลุดจากมือเราทันทีหากลุยผ่านแต่ละห้อง แม้ว่าจะยังไม่จบด่านนั้นๆ ก็ตาม

สำหรับเกมนี้เราจะเล่นได้สูงสุดถึง 4 คนพร้อมกัน ทว่าในภายหลังพอเกมนี้ถูกพอร์ตไปลงคอนโซลเครื่องต่างๆ ก็ได้ปรับลดสเปคของเกมลง ทำให้เล่นพร้อมกันได้มากสุดแค่ 2 คน พร้อมกับลดจำนวนของศัตรูที่ปรากฏในฉากด้วย


3. Street Fighter II: The World Warrior

ผู้พัฒนา: Capcom
เปิดให้บริการครั้งแรก: 6 กุมภาพันธ์ 1991

หนึ่งในเกมไฟท์ติ้งยุคบุกเบิกระดับตำนาน ที่ทำให้หลายตัวละครจากเกมนี้เป็นที่จดจำในหมู่เกมเมอร์ทั่วโลก ซึ่ง Street Fighter II ในช่วงเวลานั้นได้รับความนิยมสูงมากจนมีผู้ที่ได้สัมผัสเกมนี้เฉพาะในสหรัฐอเมริกามากถึง 25 ล้านคน แถมพอพอร์ตไปลงคอนโซลก็ยังกวาดสถิติยอดขายถล่มทลาย จนติด 10 อันดับเกมที่ทำยอดขายสูงที่สุดของค่าย Capcom เลยทีเดียว

นอกจากความมันส์ของเกมเพลย์ในเกมนี้ ตัวเกมยังเคยถูกนำไปดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ที่นำแสดงโดย ฌอง-โคลด แวนแดมม์ และออกฉายเมื่อปี 1994 แม้ว่าคุณภาพของหนังจะทำแฟนๆ ยี้กันทั่วโลก แต่เหลือเชื่อที่รายรับของหนังดันกำไรซะงั้น

ช่วงที่เกม Street Fighter II ยังอยู่ในกระแส เกมเมอร์จะมีการล้อเลียนเสียงพูดของตัวละครเวลาออกท่าไม้ตาย เป็นเสียงเพี้ยนอีกแบบแล้วเรียกกันติดปากอยู่พักหนึ่ง เช่น อะบู๊เก็ต (ฮาโดเคน) หรือ อะเน็กบูม (โซนิคบูม) เป็นต้น ถือเป็นสีสันที่ช่วยโปรโมทตัวเกมได้เหมือนกัน


4. The House of the Dead

ผู้พัฒนา: Sega
เปิดให้บริการครั้งแรก: 13 กันยายน 1996

เกมชู้ตติ้งมุมมองบุคคลที่ 1 ซึ่งมีจุดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์หลายอย่าง นั่นก็คือชนิดของศัตรูที่เป็นพวกซอมบี้และอสุรกายต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ รวมถึงเส้นทางการลุยที่ผู้เล่นสามารถเลือกได้ผ่านการกระทำระหว่างเกม เช่น ช่วยเหล่านักวิจัยได้บางคน หรือยิงประตูบางจุดจนพัง ฯลฯ ตลอดจนดีไซน์ของบอสที่ตัวเกมที่อิงตามไพ่ทาโรต์ แถมตัวเกมยังมีบอกใบ้ตำแหน่งจุดอ่อนของพวกมันก่อนสู้ด้วย

ยุคนั้นจะมีทริคในการเล่นเกมชู้ตติ้งสไตล์นี้อยู่อย่างนึงครับ นั่นก็คือผู้เล่นบางคนจะนิยมใช้นิ้วมือข้างนึงปิดกล้องที่อยู่ปลายกระบอกปืนเอาไว้ เนื่องจากการรีโหลดของเกมประเภทนี้ เราจะต้องหันกระบอกปืนออกไปนอกจอภาพแล้วกดไกปืน และการเอานิ้วปิดปลายกระบอกปืนจะเหมือนเป็นการหลอกเครื่องว่าเราเอาปืนหันออกจากจอไปเรียบร้อยแล้ว พอกดไกปืนระหว่างที่เอานิ้วอุดอยู่ก็จะเป็นการรีโหลดได้ แถมเร็วกว่าการหันปืนออกนอกจอด้วย

ปัจจุบันซีรีส์ The House of the Dead ได้ออกภาคหลักมาแล้ว 5 ภาค ภาคย่อย 1 ภาค และภาคสปินออฟอีกเพียบ ซึ่งภาคสปินออฟจะมีทั้งแบบแนวชู้ตติ้ง, แนวพินบอล และแนวมินิเกมทั่วไป อย่างภาคหลักตัวล่าสุดก็คือภาค Scarlet Dawn ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการไปเมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมาเองครับ


5. Virtua Cop

ผู้พัฒนา: Sega
เปิดให้บริการครั้งแรก: กันยายน 1994

Virtua Cop เป็นเกมแนวชู้ตติ้งมุมมองบุคคลที่ 1 ในลักษณะ On-rail เหมือนกับ The House of the Dead กล่าวคือเกมจะคอยพาตัวละครเคลื่อนที่ไปยังจุดต่างๆ ให้เอง โดยที่ผู้เล่นจะมีหน้าที่เพียงแค่เล็งยิงศัตรูเท่านั้น ซึ่งด้วยความที่เกม Virtua Cop ได้ออกมาก่อน และศัตรูในเกมก็เป็นพวกโจรผู้ร้ายทั่วไป สปีดของเกมจึงออกมาต่ำกว่า อีกทั้งยังมีตัวช่วยให้ผู้เล่นได้จับจังหวะของศัตรูได้ง่ายๆ ด้วยการสังเกตกรอบวงกลมรอบตัวศัตรู หากมันหมุนเข้ามาจนกระพริบ ศัตรูถึงจะยิงใส่เรา

สิ่งที่ชวนหัวร้อนสำหรับเกมนี้ก็คือเหล่าตัวประกันครับ เพราะพี่แกชอบโผล่มาบังเป้าเราแบบไม่รู้เวล่ำเวลา บางคนจู่ๆ ก็วิ่งเข้ามาในฉากให้เราเผลอยิงโดนเล่นๆ (ยิงโดนแล้วเราเสียพลังชีวิตฟรีๆ 1 ช่องด้วย)

ระหว่างที่เราลุยก็จะมีปืนพิเศษให้เรายิงเพื่อเก็บมาใช้ตามทาง แต่เอาเข้าจริงๆ พวกปืนแม็กนั่มหรือลูกซองจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างจากปืนพกธรรมดามากนัก เว้นแต่ตอนเอาไปยิงบอสถึงจะรู้สึกว่ามันแรงกว่า เนื่องจากบอสจะมีเกจพลังชีวิตให้ดูนั่นเอง ส่วนจำพวกปืนกลจะเป็นแบบยิงหมดแล้วหมดเลย รีโหลดไม่ได้ และบรรดาปืนพิเศษพวกนี้จะหายไปทันทีที่เราถูกศัตรูยิงครับ


6. Dance Dance Revolution

ผู้พัฒนา: Konami
เปิดให้บริการครั้งแรก: 26 กันยายน 1998

ตู้เกมกำเนิดเกมเมอร์สายเท้าไฟ รูปแบบการเล่นจะพื้นๆ เลย ก็คือมีปุ่มอยู่ใต้เท้าของเราเป็นลักษณะปุ่มทิศทาง 4 ปุ่ม ผู้เล่นต้องมองจอภาพด้านหน้าแล้วใช้เท้าเหยียบปุ่มให้ตรงกับสัญลักษณ์ลูกศรที่ขึ้นมาให้ถูกต้อง และถูกจังหวะ ซึ่งในตู้อาเขตก็จะมีทั้งแบบโหมดทำคะแนน และโหมดแข่งกับผู้เล่นที่มาท้าชิงกับเรา

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทาง Konami เองก็จะมีออกเกมแนวดีเจที่ชื่อว่า Beatmania ด้วยครับ แต่ความนิยมจะสู้เกม Dance Dance Revolution ไม่ค่อยได้ สาเหตุนึงก็เพราะสไตล์การเล่นของเกมนี้จะค่อนข้างดึงดูดและเตะตาต่อผู้พบเห็นได้มากกว่า (แค่เห็นคนรัวเท้าแข่งกันก็ลุ้นตัวโก่งแล้ว)


7. The King of Fighters ’98

ผู้พัฒนา: SNK
เปิดให้บริการครั้งแรก: 23 กรกฎาคม 1998

สาเหตุที่ต้องเลือกภาคปี 98 ของซีรีส์ราชานักสู้นี้ ก็เนื่องจากภาคปีดังกล่าวได้รับการยกย่องจากแฟนๆ ของซีรีส์ว่าเป็น 1 ในภาคที่มีระบบต่างๆ สมดุลที่สุดภาคหนึ่งครับ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นภาคที่ได้รับความนิยมจนถูกนำไปพอร์ตลงเครื่องคอนโซลถึงหลายแพลตฟอร์มด้วยกัน มิหนำซ้ำ The King of Fighters ’98 ยังเคยถูกหยิบมารีเมคในปี 2008 ภายใต้ชื่อภาคว่า Ultimate Match พร้อมกับเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไป เป็นสิ่งการันตีได้ดีถึงชื่อเสียงของภาคนี้

ยุค 90 ถือว่าเป็นการขับเคี่ยวของเกมไฟท์ติ้งจาก 3 ค่ายดัง อย่าง Capcom (Street Fighter), Namco (Tekken) และ SNK (The King of Fighters) ครับ แต่ทาง Tekken จะไปทำยอดได้ดีบนเครื่องคอนโซลซะมากกว่า ในขณะที่ Street Fighter จะได้เปรียบในเรื่องอายุและชื่อเสียงของซีรีส์ที่สั่งสมมานาน แถมตัวละครจาก Street Fighter หลายตัวก็มีภาพลักษณ์เหมือนตัวแทนของค่ายไปแล้ว เช่น ริว หรือ ชุนลี ส่วนทางด้าน The King of Fighters ก็เป็นน้องใหม่ที่ค่อยๆ เก็บเกี่ยวฐานแฟนๆ มาเรื่อยๆ ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนสายเกมในต่างประเทศต่างก็ยกย่องและยอมรับว่าภาค 98 เป็นหนึ่งในภาคที่ดีที่สุดของซีรีส์เลยด้วยซ้ำ

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้