รวมข้อมูลจอยเสริมต่างๆ ที่ควรรู้ ก่อนซื้อไปเล่นกับเกมบน PS4

    ทุกวันนี้เครื่อง PS4 มีจอยเสริมถูกผลิตออกมาหลายยี่ห้อและหลายรุ่นแทบนับไม่ถ้วน ซึ่งวัตถุประสงค์ของจอยแต่ละตัวก็จะแตกต่างกันไป โดยผู้ผลิตมักจะโฟกัสไปที่การพัฒนาจอยให้เหมาะกับเกมแนวต่างๆ ตามความถนัดของผู้ซื้อ และรอบนี้เราจะมา แนะนำข้อมูลจอยเสริม ที่มีวางขายตามร้านในไทย ณ ปัจจุบัน เพื่อให้เพื่อนๆ ได้อ่านประกอบการพิจารณาก่อนเลือกซื้อไปเล่นกับเกมบน PS4 กันครับ


1. NACON Revolution Pro Controller 2


คุณสมบัติ
– แกนอนาล็อกสามารถปรับแต่งได้ และผลักเอียงได้มากถึง 46 องศา
– การจัดวางตำแหน่งอนาล็อกและปุ่ม D-Pad จะเหมือนกับฝั่ง Xbox One ที่เน้นสมรรถนะในการเล่นเกมชู้ตติ้งเป็นหลัก
– สาย USB Type C ที่เสียบเข้ากับจอยมีความยาว 3 เมตร ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องเล่นแบบเสียบสายตลอดเวลาเท่านั้น (ไม่มีระบบบลูทูธ) แต่เมื่อเล่นเสร็จแล้วสามารถถอดสายออกได้เพื่อความสะดวกในการเก็บ
– ปุ่ม D-Pad แบบกดได้ 8 ทิศทาง สามารถนำมาประยุกต์เพื่อเล่นกับเกมแนวไฟท์ติ้งก็ได้
– จอยมีการตัดฟังก์ชั่นลำโพงในตัวออกไป แต่ยังมีช่องขนาด 3.5 มม. ให้เสียบหูฟังอยู่
– มีมอเตอร์สั่น 2 ตัวที่สามารถเซ็ตระดับการสั่นได้ โดยปุ่มเซ็ตจะอยู่ด้านหลังของจอย
– สามารถปรับเพิ่มหรือลดน้ำหนักของตัวจอยได้ โดยในกล่องจะมีแถมตุ้มถ่วงไซส์ต่างๆ มาให้ ซึ่งเราต้องหมุนหมุดตรงขาของจอยเพื่อดึงเอาแกนใส่ตุ้มถ่วงออกมาก่อน แล้วจึงใส่ตุ้มถ่วงให้ได้น้ำหนักตามที่เราพึงพอใจ

– ตัวจอยสามารถปรับเข้ากับ PS4 ได้ 2 โหมด ตามแต่ความถนัดและแนวเกมที่เล่น
    โหมดที่ 1 – Pro Control Mode (เมื่อเซ็ตแล้วจะมีไฟขึ้นรอบอนาล็อกขวาเป็นสีน้ำเงิน) ซึ่งโหมดนี้จะเน้นฟังก์ชั่นที่เหมือนกับจอย DualShock 4 เป็นหลัก และผู้ใช้สามารถปรับแต่งปุ่มฮอตคีย์ได้ 4 ตำแหน่งโดยที่ไม่ต้องไปโหลดแอพใดๆ มาก่อนเลย

    โหมดที่ 2 – Advanced Mode (เมื่อเซ็ตแล้วจะมีไฟขึ้นรอบอนาล็อกขวาเป็นสีแดง) สำหรับโหมดนี้ ผู้ใช้จะสามารถสลับเปลี่ยนปุ่มฮอตคีย์ได้ 4 ชุดคำสั่ง (เช่น ชุดแรกเซ็ตให้ปุ่มยิงเป็นปุ่มสามเหลี่ยม ปุ่มกระโดดเป็นปุ่มกากบาท ส่วนชุดสองก็เซ็ตให้ปุ่มยิงเป็นปุ่ม R1 ปุ่มกระโดดเป็นปุ่มวงกลม เป็นต้น) อีกทั้งยังกดเปลี่ยนชุดคำสั่งสลับไปมาได้รวดเร็วตามแนวเกมที่เล่นด้วย นอกจากนี้ในโหมดที่ 2 ผู้ใช้ยังสามารถไปดาวน์โหลดแอพเพิ่มเติมเพื่อใช้ตั้งค่าปุ่มให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ ปรับองศาของการเอียงอนาล็อก หรือ ปรับน้ำหนักในการกดปุ่ม L2 / R2 ให้ลื่นหรือหนืดกว่าเดิม เน้นอรรถรสในการเล่นแบบเต็มที่

    เพื่อนๆ สามารถดาวน์โหลดแอพเสริมของจอยได้จากลิงค์ https://www.nacongaming.com/product/controllers/eport-controllers/revolution-pro-controller-2-ps4/#specifications (จำเป็นต้องสมัครไอดีในเว็บก่อนนะครับ)
ความเห็นจาก OS
    จอยตัวนี้ค่อนข้างคุ้มสมราคา น้ำหนักในการกดและสัมผัสอยู่ในเกณฑ์ดี และผู้เล่นทั่วไปที่ไม่ใช่เกมเมอร์ระดับมืออาชีพก็ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับลูกเล่นของมันได้ คุณสมบัติเน้นไปที่ความครบเครื่อง จะเล่นเกมแนวไหนก็ไม่มีหวั่น ถ้าจะมองหาจอยดีๆ และคงทนไว้สักตัว NACON Revolution Pro Controller 2 ก็น่าจะตอบโจทย์เพื่อนๆ ได้

แนะนำตัวจอย Nacon Revolution Pro Controller 2
https://www.nacongaming.com/product/controllers/eport-controllers/revolution-pro-controller-2-ps4/#specifications


2. HORI Onyx Wireless Controller

คุณสมบัติ
– เป็นจอยที่ผลิตจากค่าย 3rd Party ตัวแรกๆ ที่สามารถเล่นแบบไร้สายได้
– ถ้าชาร์จไฟมาเต็ม แบตเตอรี่จะอยู่ได้นานประมาณ 6 ชั่วโมง (ใช้เวลาชาร์จจนเต็มประมาณ 2 ชั่วโมง)
– ระยะเชื่อมต่อบลูทูธไม่เกิน 10 เมตร
– มาในรูปทรงและการจัดวางตำแหน่งอนาล็อกกับปุ่ม D-Pad คล้ายกับจอย Xbox One
– ไม่มีแถบไฟด้านบนแบบจอย DualShock 4 ที่คอยบอกสถานะเวลาเล่นพร้อมกันหลายคนว่าเราเล่นเป็น Player ที่เท่าไหร่ (ไฟที่ว่านี้จะเตือนสถานะว่าแบตเตอรี่บนจอยเหลือเท่าไหร่ได้ด้วย)



ความเห็นจาก OS
    จุดเด่นที่สุดของจอย Onyx คือเรื่องราคาครับ เพราะราคามันพอๆ กับจอย DualShock 4 ที่มีขายตามร้านตัวแทนจำหน่าย (PAD) ทั่วไปเลย แต่ก็พ่วงมาด้วยข้อเสียร้ายแรงนั่นก็คือไม่มีช่องเสียบหูฟัง เท่ากับว่าเราจะไม่สามารถใช้ไมโครโฟนที่ติดมากับหูฟังตามไปด้วย หากต้องการจะเล่นเกมโดยพูดออกไมค์ก็จำเป็นต้องหาไมค์ต่างหาก หรือต่อกับ PlayStation Camera เอาแทน จนทำให้รู้สึกว่าถ้าตั้งราคาให้ถูกลงมาจาก DualShock 4 ระดับหนึ่ง จึงจะมีความน่าสนใจมากขึ้น
    นอกจากนี้ การวางองศาและตำแหน่งปุ่ม Trigger (L2 กับ R2) นั้นทำได้ไม่ดีนัก ตลอดจนน้ำหนักและสัมผัสในการกดก็ยังสู้จอย DualShock 4 ไม่ค่อยได้ ถ้าจะหาจอยเสริมเพื่อมอบประสบการณ์ดีๆ ควรยอมเพิ่มเงินอีกหน่อยแล้วไปซื้อจอยที่มีลูกเล่นหลากหลายกว่านี้ดีกว่า

หน้าตาจอย HORI Onyx Wireless Controller


3. RAZER Raiju Tournament Edition


คุณสมบัติ
– สามารถปรับแต่งระดับการกดปุ่ม L2 และ R2 ได้
– สาย USB ที่แถมมามีความยาวประมาณ 2 เมตร
– มีปุ่มปรับโหมดที่เลือกได้ว่าจะเล่นกับ PS4 แบบไร้สาย / PC แบบไร้สาย หรือจะเล่นแบบเสียบสายก็ได้
– ถ้าชาร์จไฟมาเต็ม แบตเตอรี่จะอยู่ได้นานมากถึง 19 ชั่วโมง
– มีแอพลิเคชั่นรองรับ ที่สามารถเข้าไปปรับแต่งปุ่มพิเศษของจอยรุ่นนี้ รวมถึงเซ็ตความแรงในการสั่นของมอเตอร์ภายในจอยทั้ง 2 ข้าง



ความเห็นจาก OS
    สำหรับจอย RAZER ก่อนจะตัดสินใจซื้อควรหยิบมาลองจับๆ ให้ชินมือก่อน เพราะตัวจอยมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และอาจจะต้องระวังในเรื่องคุณภาพการผลิตด้วย เนื่องจากใครตามข่าวสารในแวดวงคอนโซลบ่อยๆ น่าจะพอทราบมาบ้างว่าจอยจากแบรนด์นี้ค่อนข้างจะพังง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ซื้อครับ ส่วนลูกเล่นอื่นๆ ของจอยทำมาได้น่าสนใจ ดูหลากหลาย และครบวงจรดี

รีวิวจอย RAZER Raiju Tournament Edition


4. RAZER Raiju Ultimate Edition

คุณสมบัติ
– สัมผัสของปุ่มสัญลักษณ์ทั้ง 4 (สี่เหลี่ยม, สามเหลี่ยม, กากบาท และ วงกลม) มีการพัฒนาดีขึ้น
– มีปุ่มปรับโหมดที่เลือกได้ว่าจะเล่นกับ PS4 แบบไร้สาย / PC แบบไร้สาย หรือจะเล่นแบบเสียบสายก็ได้
– มีแอพลิเคชั่นรองรับ ที่สามารถเข้าไปปรับแต่งปุ่มพิเศษของจอยรุ่นนี้ รวมถึงเซ็ตความแรงในการสั่นของมอเตอร์ภายในจอยทั้ง 2 ข้าง
– สามารถปรับแต่งระดับการกดปุ่ม L2 และ R2 ได้
– ไฟบนทัชแพดมีความสวยงาม แสดงได้หลากสี
– ตัววัสดุที่ใช้มีความคงทนสูงกว่ารุ่น Tournament Edition
– ปุ่ม D-Pad และ อนาล็อกสามารถถอดเปลี่ยนได้ตามความถนัดมือ



ความเห็นจาก OS
    Ultimate Edition จะมีราคาสูงกว่าจอยเสริมตัวอื่นๆ ตามท้องตลาดค่อนข้างมาก และยังหาซื้อได้ยากด้วย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือลูกเล่นที่มีการพัฒนากว่ารุ่นก่อนๆ อย่างลิบลับ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ปรับแต่งปุ่มได้หลากหลาย ทว่าการเล่นแบบไร้สายจะยังคงมีปัญหา Input Lag อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว จอยตัวนี้ยังไม่ถึงกับเป็นรุ่นที่ “ต้องซื้อ” เนื่องด้วยปัญหาด้านราคานั่นเอง

รีวิวจอย RAZER Raiju Ultimate Edition

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้