รู้จักกับ Final Fantasy IX สุดยอดเกม RPG ของซีรีส์แห่งยุค PS1

    หากจะถามคำถามว่า Final Fantasy ภาคไหนที่เหล่าเกมเมอร์ยกให้เป็นที่สุดในดวงใจ คำตอบก็อาจจะผันแปรไปตามยุคสมัยที่เกมเมอร์คนนั้นเติบโตมานะครับ แต่เชื่อได้เลยว่า Final Fantasy IX หรือ FF9 น่าจะเป็นหนึ่งในภาคที่แฟนๆ ชื่นชอบมากที่สุดแน่นอน ด้วยความที่มันเป็นภาคหลักแบบซิงเกิลเพลเยอร์ภาคท้ายๆ ที่นำเสนอในธีมของยุคกลาง มีอัศวิน มีจอมเวท และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวพันกับธีมดังกล่าวเต็มไปหมด ทำให้สามารถเค้นเอาเสน่ห์ของโลกแฟนตาซีสไตล์นั้นมาได้สุดแทบทุกด้าน ซึ่งก็ไม่น่าเชื่ออีกว่า ณ ตอนนี้เวลาก็ล่วงเลยมาถึง 19 ปีแล้วนับตั้งแต่เกมนี้ออกวางจำหน่ายครั้งแรกบน PS1 ว่าแล้วเรามาย้อนรำลึกไปกับรายละเอียดเกี่ยวกับเกมนี้กันเลยดีกว่าครับ

การพัฒนาและความเป็นมา
    – กระบวนการพัฒนาเกม FF9 ได้เน้นทำในออฟฟิศที่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากมีการทำข้อตกลงบางอย่างกับบุคลากรที่นั่นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งคุณฮิโรโนบุ ซาคากุจิ ผู้เป็นบิดาของซีรีส์ Final Fantasy ได้ตั้งใจแต่แรกว่าจะให้ภาคนี้เป็นดั่งภาพสะท้อนไปยังภาคเก่าๆ ของซีรีส์ และหลังจากที่เกมนี้ถูกวางจำหน่ายออกไป คุณซาคากุจิก็กล่าวว่า FF9 เป็นภาคที่เข้าใกล้ภาพในอุดมคติของนิยามเกม Final Fantasy ที่ควรจะเป็นมากที่สุดแล้ว

    – ในช่วงวันวางจำหน่าย FF9 ที่ญี่ปุ่น ทางค่าย Squaresoft ที่ตอนนั้นยังไม่ควบรวมบริษัทกับ Enix ได้ตัดสินใจเปลี่ยนวันวางจำหน่ายของ FF9 กะทันหัน เพื่อเลี่ยงที่จะวางจำหน่ายชนกับ Dragon Quest VII ที่ขายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งตรงนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าซีรีส์ Dragon Quest นั้นเป็นเหมือนเกมระดับวาระแห่งชาติของเกมเมอร์ชาวญี่ปุ่นเขาครับ ถึงขนาดที่ว่าทางการของที่นู่นต้องขอร้องค่าย Enix ว่าอย่าวางจำหน่ายเกม Dragon Quest ตรงกับวันธรรมดา มิเช่นนั้นเขาเกรงว่าคนญี่ปุ่นจะแห่กันหยุดงานเพื่อมาซื้อเกมนี้จนสะเทือนถึงระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเลยทีเดียว

    – เพลงร้องประจำของภาคนี้มีชื่อว่า Melodies of Life ขับร้องโดยคุณชิราโทริ เอมิโกะ และมีการประพันธ์เนื้อร้องของเพลงนี้ทั้งแบบเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ซึ่งทำนองของเพลงนี้เป็นทำนองเดียวกับเพลง Crossing Those Hills ที่เป็นเพลงบรรเลงตอนอยู่บนฉากแผนที่นั่นเองครับ

    – FF9 เวอร์ชั่นญี่ปุ่นนั้นวางจำหน่ายมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2000 และสามารถทำยอดขายได้ถึง 2.65 ล้านชุดภายในปีนั้น และขึ้นทำเนียบเป็นเกมที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 2 ของปี 2000 ทันที (เกมที่ได้อันดับ 1 ในปีนั้นคือ Dragon Quest VII ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง PS1 เช่นกัน) แม้ว่าจะเป็นเกมที่มียอดขายดีในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อนับยอดขายรวมแล้ว กลับยังสู้ FF7 และ FF8 ไม่ได้ และในที่สุดยอดขายรวมของภาค 9 ก็ไปนิ่งสนิทอยู่ที่ราวๆ 5.3 ล้านชุดทั่วโลก (นับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2003)

    – ถึงแม้ยอดขายอาจจะสู้ภาคยอดนิยมอย่างภาค 7 ไม่ได้ แต่เชื่อมั้ยครับว่า FF9 กลับเป็นภาคที่ได้คะแนนเฉลี่ยจากทุกสำนักข่าวเกมทั่วโลกสูงถึง 93% และเป็นอันดับที่ 2 รองจาก FF6 ที่เคยลงให้กับเครื่อง Super Famicom เมื่อปี 1994 เพียงภาคเดียวเท่านั้น โดยหลายๆ สำนักให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าจุดเด่นของภาคนี้คือ “เนื้อเรื่อง” ที่มีความลุ่มลึก น่าติดตาม อีกทั้งตัวละครทุกตัวต่างมีที่มาที่ไปอันน่าสนใจ มีการพัฒนาความสัมพันธ์และความคิดตามเนื้อเรื่องที่ดำเนินไป พร้อมทั้งแฝงแง่คิดผ่านบทพูดของตัวละครได้อย่างแยบคาย ถือว่าเป็นจุดแข็งที่โดดเด่นของภาคนี้เลยทีเดียว

    – คุจา (Kuja) ตัวร้ายหลักของภาคนี้ ถูกโหวตจากแฟนๆ ให้เป็นยอดวายร้ายตลอดกาลอันดับที่ 6 ของซีรีส์ Final Fantasy โดยอันดับที่ 1-3 ได้แก่ เซฟิรอธ (FF7), เคฟก้า (FF6) และ ซีมัวร์ (FF10) ตามลำดับ

เกมเพลย์
    การผจญภัยในภาค 9 นี้ มีการนำ “ม็อก” (Mog) มอนสเตอร์สีขาวมีปีกสุดน่ารักเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเจ้าม็อกนี้จะโผล่มาเป็นจุดเซฟที่ผู้เล่นสามารถกดเรียกใช้ได้ทุกครั้งเวลาที่อยู่บนฉากแผนที่ หรือแม้กระทั่งโผล่มาเป็นตัวละครอธิบายวิธีการเล่นทั่วไป (เพียงกดปุ่ม Select ในหน้าเมนูเวลาเราเลื่อนเคอร์เซอร์ไปที่หัวข้อต่างๆ รวมถึงระบบ Mognet ที่ให้ผู้เล่นทำหน้าที่บุรุษไปรษณีย์คอยส่งเมล์ให้ม็อกตัวอื่นๆ ที่อยู่สถานที่อื่นๆ ทั่วโลก พร้อมทั้งนำระบบ Active Time Event ที่เป็นระบบการดูเหตุการณ์ของตัวละครอื่นที่ไม่ได้อยู่ในปาร์ตี้เดียวกันขณะนั้นแบบ Real-time

    ในส่วนของการพัฒนาความสามารถตัวละครสำหรับภาค 9 จะเน้นไปที่คอนเซ็ปต์ความเรียบง่าย กล่าวคือ อาวุธชุดป้องกันแต่ละชิ้นจะมีสกิลให้เรียนรู้แตกต่างกันไป ซึ่งผู้เล่นก็ต้องสวมใส่อาวุธชุดป้องกันเหล่านั้นแล้วปราบศัตรูเพื่อเก็บค่า AP มาเติมเกจจนเต็ม จึงจะสามารถนำสกิลมาใช้ได้อย่างถาวร

    ทั้งนี้ สกิลในเกมก็จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ Active Skill ที่เป็นสกิลจำพวกเวทมนตร์หรือท่าไม้ตายต่างๆ ที่ต้องกดใช้ในการต่อสู้ ในขณะที่อีกประเภทคือ Passive Skill ที่เป็นสกิลประเภทเพิ่มความสามารถด้านต่างๆ ของตัวละคร เช่น เพิ่ม HP Max 10%, ป้องกันการติดอาการ Blind (ตาบอด) หรือ Auto-Haste (อยู่ในสถานะ Haste ตลอดเวลา) เป็นต้น

ความลับต่างๆ ในเกม
    – (เวอร์ชั่น PS1) หลังจากที่เราจบเกม และขึ้นเครดิตจนเห็นคำว่า The End แล้ว ถ้าผู้เล่นกดปุ่ม R2, L1, R2, R2, บน, กากบาท, ขวา, วงกลม, ล่าง, สามเหลี่ยม, L2, R1, R2, L1, สี่เหลี่ยม, สี่เหลี่ยม และ Start ก็จะสามารถเล่นมินิเกมไพ่แบล็คแจ็คได้

    – ที่โรงประมูลของเมืองเทรโน จะมีคีย์ไอเทมอยู่ 2 ชิ้นที่มีชื่อว่า Doga’s Artifact กับ Une’s Mirror ซึ่งเราสามารถประมูลของ 2 ชิ้นนี้มาได้หลังจากที่โลก Terra ถูกทำลายลง พอประมูลมาได้แล้วให้ดำเนินเนื้อเรื่องต่อไปจนเปลี่ยนแผ่น 4 ให้กลับไปหมู่บ้าน Black Mage แล้วสำรวจเครื่องเล่นแผ่นเสียงในโรงแรมของหมู่บ้าน เพลงประกอบจะเปลี่ยนไปเป็นเพลงของเกม Final Fantasy III (FF3) และเพลงจะบรรเลงไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะออกจากหมู่บ้าน Black Mage ครับ

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้