รู้จักกับ Winning Eleven 4 อดีตเกมฟุตบอลแห่งมวลมนุษยชาติ

นานมาแล้วในช่วงปลายทศวรรษ 90 ที่ยุคของเกมฟุตบอลในไทยยังคงผูกขาดความนิยมอยู่แต่ซีรีส์ Winning Eleven เพราะทางฝั่งซีรีส์ FIFA นั้นยังมีคุณภาพห่างชั้นจาก Winning Eleven อยู่หลายขุม (ก่อนจะโดน FIFA เบียดชนะเอาได้ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา) และเกม Winning Eleven 4 ที่ทีมงานขอนำมาเล่าในรอบนี้ก็เป็นอีกภาคที่เคยเป็นหนึ่งในช่วงพีคของซีรีส์ Winning Eleven นั่นเอง ว่าแล้วเรามาย้อนรำลึกถึงรายละเอียดต่างๆ ของเกมนี้กันดีกว่าครับ

(ล่าง) ปกเกมเวอร์ชั่นญี่ปุ่น

(ล่าง) ปกเกมเวอร์ชั่นอเมริกา


การพัฒนาและความเป็นมา

– Winning Eleven 4 เริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 1999 โดยลงให้กับเครื่อง PS1 เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น และเคยมีการทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษภายใต้ชื่อ ISS Pro Evolution แล้ววางจำหน่ายในวันที่ 6 มิถุนายนของปีถัดมา

– ปกเกมของเวอร์ชั่นญี่ปุ่นมีการนำเอานักเตะจริงๆ มาขึ้นปกเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คือ ฮิโรชิ นานามิ อดีตกองกลางทีมชาติญี่ปุ่นที่ค้าแข้งอยู่กับสโมสรเวเนเซียของอิตาลีในขณะนั้น แต่คาดว่าคงติดปัญหาบางประการจึงทำให้เจ้าตัวไม่สามารถมาถ่ายปกด้วยตัวเองได้ ทาง Konami จึงใช้วิธีทำโมเดลตัวละครแบบโพลีก้อนจำลองรูปลักษณ์ของฮิโรชิ นานามิขึ้นมาแทน

– ยุค PS1 ในไทย Winning Eleven ภาคที่ได้รับความนิยมสูงสุดมีอยู่ 2 ภาคด้วยกัน ได้แก่ ภาค 3 (Final Ver.) และภาค 4 นี่แหละครับ ถ้าใครมีโอกาสแวะเวียนไปตามร้านเช่าเล่น ก็จะเห็นเด็กผมเกรียนยันวัยรุ่นคะนองนาพากันเปิดเกมนี้เล่นกันตรึม


เกมเพลย์

– ภาคนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใส่โหมด Master League เข้ามา โดยโหมดนี้ผู้เล่นจะสามารถเลือกเล่นสโมสรในดวงใจมาแข่งขันด้วยระบบลีก และมีบอลถ้วยแทรกในระหว่างฤดูกาล ซึ่งจะมีสโมสรให้เลือกทั้งหมด 16 ทีมด้วยกัน แต่ด้วยความที่ทาง Konami ไม่ได้รับลิขสิทธิ์รายชื่อนักเตะเหมือนกับซีรีส์ FIFA ทำให้ชื่อนักเตะในเกมจะออกมาแปร่งๆ เพี้ยนๆ ไป (ผู้เล่นสามารถเข้าไป Edit แก้ไขชื่อนักเตะเองได้ที่โหมด Option) ทั้งนี้ โหมด Master League จะมีเรื่องของการซื้อขายนักเตะเหมือนโลกความเป็นจริง เป้าหมายของผู้เล่นคือต้องไล่เก็บชัยชนะแต่ละแมตช์เพื่อนำคะแนนไปซื้อนักเตะดีๆ มาสู่ทีมตัวเอง สำหรับการคิดคะแนนจะวัดจากผลการแข่งขันเป็นหลัก หากชนะก็จะได้ 8 คะแนน ถ้าเสมอก็ได้ 4 คะแนน และยิ่งเรายิงประตูคู่แข่งได้มาก จำนวนผลต่างประตูก็จะถูกนำมาบวกเป็นคะแนนโบนัสได้อีกด้วย

– จากข้อข้างต้นที่กล่าวไป ด้วยความที่เกม Winning Eleven 4 ติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ชื่อนักฟุตบอล ดังนั้นเสียงพากย์ของผู้บรรยายในเกมจึงจำต้องเลี่ยงในการอ่านชื่อทีมและนักเตะพอสมควร อย่างเช่นทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะเปลี่ยนไปเรียกว่า “แมน เรด” หรือกรณีของทีมเชลซี ก็จะเปลี่ยนมาเรียกว่า “เวสต์ ลอนดอน บลู” แทน เป็นต้น ตลอดจนชื่อสนามแข่งขัน เช่น สแตมฟอร์ด บริดจ์ ของเชลซี ก็จะใช้คำว่า “บลู บริดจ์” หรือโอลด์ แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็จะใช้คำว่า “แทรด บริค สเตเดี้ยม” แทน

– ค่าพลังของนักเตะที่ส่งผลอย่างมากกับเกมเพลย์ในภาคนี้คือ Speed ครับ โดยค่าพลังจะเป็นตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 9 ยิ่งถ้านักเตะคนไหนมีค่า Speed เต็ม 9 ก็จะวิ่งไวปานจรวด สปรินท์ฉีกกองหลังจนยุ่ยเหมือนทิชชู่เปียกเลยทีเดียว ซึ่งนักเตะใน Winning Eleven 4 ที่มีค่า Speed 9 ก็ได้แก่ โรนัลโด้ (บราซิล), โรแบร์โต้ คาร์ลอส (บราซิล), โรเบิร์ต ยาร์นี่ (โครเอเชีย), แดเนียล อโมคาชี่ (ไนจีเรีย), อังเดร เชฟเชนโก้ (ยูเครน) ฯลฯ ซึ่งยุคนั้นเคยมีคำกล่าวว่าใครเล่นบราซิลแล้วเอาโรนัลโด้ยืนหน้าเป้าคู่กับโรเบอร์โต้ คาร์ลอส ถือว่าคนๆ นั้นคบไม่ได้!

 


ความลับต่างๆ ในเกม

– วินนิ่งภาคนี้มีบั๊กอยู่อย่างนึงครับ หากเราเล่นในแมตช์ปกติที่แข่งกับ AI แล้วเราดันทำฟาวล์จนเสียลูกจุดโทษขึ้นมา ให้เราสังเกตว่า AI คนที่รับหน้าที่ยิงจุดโทษนั้นยืนในตำแหน่งที่จะยิงด้วยเท้าข้างไหน ถ้าเป็นตำแหน่งที่จะยิงเท้าขวา AI จะเลือกยิงไปที่มุมบนขวาเสมอ ในทางกลับกัน ถ้า AI ยืนตำแหน่งที่กะจะยิงด้วยเท้าซ้าย มันก็จะยิงไปทางมุมบนซ้ายตลอด เราสามารถใช้ทริคนี้ในการดักเซฟลูกจุดโทษได้ตลอดเลย (ทว่าทริคนี้จะใช้ไม่ได้กับการดวลจุดโทษในช่วงหลังต่อเวลาพิเศษ และในโหมด Penalty Shootout ที่ยิงเฉพาะลูกโทษกันนะครับ)

– ถ้าผู้เล่นสามารถคว้าแชมป์จนได้โทรฟี่ทุกใบที่มีในเกมแล้ว ก็จะปลดล็อคถ้วยพิเศษมาเล่นเพิ่มอีกใบได้

– ถ้าผู้เล่นสามารถเคลียร์โหมด Konami Cup ในระดับความยากใดก็ได้ ก็จะปลดล็อคสนามแข่งพิเศษมาใช้แข่งได้ด้วยเช่นกัน

– ถ้าผู้เล่นสามารถคว้าแชมป์ทุกลีก และทุกทัวร์นาเมนต์ที่มีในเกมด้วยระดับความยาก Hard ได้ ก็จะปลดล็อคทีมพิเศษมาใช้เล่นได้

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้