รีวิว Shadow of the Tomb Raider – บทสรุปแห่งปฐมบทที่ไม่เต็มอิ่มนัก

**ทีมงาน OS ขอขอบคุณทางบริษัท Bandai Namco Entertainment ที่มอบโค้ดเกมสำหรับการรีวิวมา ณ ที่นี้ด้วยครับ**


Shadow of the Tomb Raider

ผู้พัฒนา: Eidos Montreal และ Crystal Dynamics
แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One และ PC (ทีมงานเล่นบนเครื่อง PS4 Pro ในการรีวิวครั้งนี้)

นับตั้งแต่ปี 2013 จนถึงตอนนี้ก็ดำเนินมา 5 ปีแล้วที่สาวนักล่าสมบัติอย่าง ลาร่า ครอฟต์ ได้บุกเบิกแนวทางใหม่ๆ ด้วยการรีบูตตัวเองจากฮีโร่หญิงอกเหลี่ยมที่เก่งรอบด้าน มาเป็นสาวน้อยที่ต้องฝ่าฟันเรื่องเลวร้ายสารพัด ที่ล้วนหล่อหลอมให้เธอแข็งแกร่งขึ้นตามกาลเวลา ซึ่ง Shadow of the Tomb Raider ก็คือบทส่งท้ายแห่งเรื่องราวปฐมบทของลาร่า ที่ชวนให้เราอยากรู้ตอนจบของมันว่าจะลงเอยอย่างไร และมันจะดีงามสมกับการรูดม่านก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับบทถัดไปได้ดีแค่ไหนกันแน่

พูดถึงเกมเพลย์กันก่อน ภาคนี้มีการปรับปรุงให้ระบบสัญชาติญาณ (Survival Instinct) ดีขึ้นกว่าเดิม ผู้เล่นสามารถลงลึก แยกแยะได้ว่าศัตรูตัวไหนที่เหมาะกับการเข้าไปลอบสังหาร หรือตัวไหนที่เสี่ยงเกินไป โดยเรายังอัพเกรดให้ระบบนี้สามารถค้นหาชาเลนจ์ที่ซ่อนอยู่ตามฉากได้ด้วยการอัพเกรดสกิลเช่นกัน และสกิลที่มีให้อัพนั้นก็จะถูกจำแนกอีกเป็น 3 สาย ที่ผู้เล่นเลือกได้ว่าจะอัพสายไหน ตามความถนัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสายต่อสู้ สายสำรวจ และสายลอบเร้น ซึ่งไปๆ มาๆ ตัวเกมเหมือนจะพยายามให้เกมมีมิติของการลอบเร้นมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากลูกเล่นใหม่ๆ ที่ให้ลาร่านำโคลนมาทาตามตัวเพื่อพรางสายตาจากพวกศัตรู และแม้แต่แอบเนียนๆ ตามผนังให้ดูกลมกลืนเหมือนสัตว์เลื้อยคลานพรางตัว รวมถึงการใช้ลูกธนูชนิดพิเศษที่เอาไว้ใช้ก่อกวนศัตรูด้วย

แต่เอาเข้าจริง บทบู๊ดันมาตกม้าตายตรงการต่อสู้ด้วยอาวุธปืนนี่แหละครับ เพราะเกมนี้จะไม่มีการบอกให้เรารู้เลยว่าเราถูกยิงจากทิศไหน ต่างจากเกมชู้ตติ้งอื่นๆ ตามท้องตลาดที่จะมีระบบนี้รองรับให้เสร็จสรรพ เพื่อที่เราจะได้หันกลับไปยิงคืนศัตรูได้ถูกตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ในเกือบทุกการต่อสู้ที่เริ่มเปิดฉากยิงใส่กัน ก็มักจะมีศัตรูบางตัวถืออาวุธระยะประชิดเข้ามาไล่ตีเรา พร้อมกับที่มีศัตรูตัวอื่นๆ คอยหลบเข้ากำบังและขยันปาระเบิดใส่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งตัวที่เข้าตีประชิดนี่นึกจะโผล่ก็โผล่หรือวาร์ปมาใกล้เราได้ทันทีที่เราทิ้งระยะห่าง แถมพวกที่คอยปาระเบิดมา เราก็โต้กลับได้แค่การยิงสวนกลับไป ไม่สามารถทำอะไรกับระเบิดที่มันขว้างมาได้นอกจากกลิ้งหลบเท่านั้น (ใน Uncharted 3 มีระบบปาระเบิดที่ศัตรูปามาย้อนกลับไปได้ และค่อนข้างเวิร์คมากเวลาโดนศัตรูนับสิบรุมนวด) ทำให้บ่อยครั้งเราอาจจะรู้สึกหงุดหงิดที่ทำอะไรไม่ได้มากนัก

ที่ผ่านมาใน 2 ภาคแรก เมื่อผู้เล่นดำเนินเนื้อเรื่องจนไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะได้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการผ่านด่านบางจุดมาเองโดยอัตโนมัติ แต่ในภาคนี้ได้มีการเพิ่มพ่อค้าเข้ามา ให้ผู้เล่นนำเงินที่ได้จากการสังหารศัตรูที่เป็นคน หรือนำสินแร่ที่หาได้ตามฉาก เช่น ทอง หยก ไปขายกับพ่อค้าอีกที ซึ่งพ่อค้านี้ถือเป็นจุดผ่อนคลายหลักให้ผู้เล่นได้พักกันเพลินๆ หลังจากการสู้ต่อเนื่องตามเนื้อเรื่องดีๆ นี่เอง และที่สำคัญคืออุปกรณ์บางชิ้นที่ใช้ในการเข้าถึงบางพื้นที่ที่ลาร่าไม่สามารถเข้าได้ในตอนแรกก็มีขายจากพ่อค้าด้วย โดยพ่อค้าก็จะมีทั้งแบบประจำอยู่กับที่ (มีหน้าร้าน) และแบบที่พเนจรไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง บ้างก็พบได้ที่นอกเมือง บ้างก็พบตามดันเจี้ยน แต่สังเกตได้ง่ายด้วยเสียงกลองที่ดังเป็นจังหวะที่บอกให้รู้ว่ามีแม่ค้าที่ว่านี้อยู่ใกล้ๆ

เกมแนวล่าสมบัติ ไม่ว่าจะ Uncharted หรือ Tomb Raider ก็ตาม หนึ่งในสิ่งที่ท้าทายคืองานภาพและบรรยากาศ ซึ่ง Shadow of the Tomb Raider ยังถือว่าทำออกมาได้ตามมาตรฐานของตัวเอง บรรยากาศตามป่าเขา แมกไม้นานาพันธุ์ ทำออกมาแล้วดูมีชีวิตชีวาดี อีกทั้งซากโบราณสถาน เมืองลับแล หรือแม้แต่สุสานก็ดีไซน์ออกมาได้สวยงาม โดยเฉพาะสุสานที่เป็นแหล่งไขปริศนาหลักของ Tomb Raider เวอร์ชั่นรีบูต มาภาคนี้ถือว่าเป็นการยกระดับการไขปริศนาให้ “เหนือ” ไปอีกขั้น ด้วยการที่เราต้องลงแรงสมองขบคิดหาวิธีผ่านกันหลายตลบ บางจุดต้องมองวิธีแก้ปัญหาแบบทีละขั้น บางจุดต้องมองวิธีแก้ปัญหาแบบภาพรวม มิหนำซ้ำปริศนาเหล่านี้ยังมีเยอะจนอดคิดไม่ได้ว่าทีมพัฒนายัดเข้ามาเพื่อเอาใจแฟนๆ ที่อยากไขปริศนา หรือทำมาเพื่อประชดกันแน่ ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกปริศนาไม่ได้มีวิธีแก้ที่ยากจนเกินไป แต่รับรองได้ว่าคิดหรือลองผิดลองถูกกันจนเหนื่อยแน่นอน

ทางด้านเนื้อเรื่องของภาคนี้ จะเป็นเหตุการณ์หลังจากภาค Rise of the Tomb Raider เพียงประมาณ 2 เดือน เมื่อลาร่ากับโจนาห์ได้พยายามหาทางหยุดยั้งกลุ่มองค์กรวายร้ายที่มีชื่อว่า Trinity โดยเดินทางแกะรอยจากเม็กซิโกมาจนถึงป่าในเปรู กระทั่งลาร่าได้ค้นพบว่าวิหารภายในป่าดังกล่าวเป็นที่เก็บซ่อนของมีดแห่ง Ix Chel ซึ่งเป็นวัตถุโบราณของชนเผ่ามายัน จึงต้องหาทางไม่ให้พวก Trinity เข้าถึงพลังอำนาจของมีดนี้ได้ พร้อมกับลาร่าเองก็ต้องการจะสืบหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตที่พ่อของเธอเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาอีกด้วย ด้วยความที่เกมมีตัวละครที่พูดกันถึง 3 ภาษาหลักๆ คือ อังกฤษ สเปน และมายันโบราณ ตัวเกมจึงให้ผู้เล่นสามารถเซ็ตได้ว่าจะให้ตัวละครทุกตัวพูดตามภาษาของตัวละคร แล้วให้ซับไตเติ้ลแสดงเป็นอังกฤษ หรือจะให้ตัวละครที่พูดสเปนกับมายันโบราณแหลงภาษาของตัวเองแบบไม่มีซับไตเติ้ลช่วย ให้ผู้เล่นรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนต่างถิ่นจริงๆ ก็ได้เช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่เล่นบน PS4 Pro ยังสามารถเลือกเซ็ตได้ด้วยว่าจะให้เกมรันแบบเน้นที่ความละเอียด ภาพคมกริบ หรือจะไปเน้นที่เฟรมเรตก็ได้ ซึ่งตัวเลือกอย่างหลังจะเหมาะมากกับผู้เล่นที่ไม่มีทีวี 4K อยู่ที่บ้าน และสำหรับเกมแนวนี้ การเล่นด้วยเฟรมเรตลื่นๆ นิ่งๆ ยังเป็นสิ่งจำเป็นและไม่ชวนให้เราหงุดหงิดอยู่ดี แต่ระหว่างเล่น ถ้าเป็นช่วงที่บู๊กันชุลมุนมากๆ เฟรมเรตจะมีหน่วงหน่อยๆ และคิดว่าถ้าเล่นบน PS4 รุ่นธรรมดาหรือสลิม เฟรมเรตอาจจะหน่วงบ่อยกว่านี้

หากใครได้เล่นเกมนี้มาตั้งแต่ภาคแรกเมื่อปี 2013 เราคงทราบว่าลาร่าได้ตามหาขุมทรัพย์และคอยงัดพวกเหล่าร้ายที่ต้องการสมบัติชิ้นเดียวกันกับนาง พร้อมกับที่เกมพยายามจะปูให้เราเห็นความแตกต่างว่าวายร้ายมีจุดประสงค์ที่จะนำสมบัติไปในทางที่ไม่ดี ในขณะที่สร้างภาพฮีโร่ให้กับลาร่าไปด้วยว่าเป็นนักโบราณคดี (ที่ดันบู๊เก่งเหลือหลาย) แต่ระหว่างที่เราเล่นภาคนี้ ผู้เล่นจะได้เห็นประเด็นที่เล่นแง่กับศีลธรรมในตัวลาร่าอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะตามคัทซีนและบทสนทนาต่างๆ กับชาวเมือง เนื่องจากความพยายามที่จะตามหาขุมทรัพย์ของลาร่ามันก็มักจะตามมาด้วยคำถามที่ว่านางทำไปเพื่อปกป้องโลกจากพวก Trinity หรือทำไปเพื่อสนองความต้องการของตัวเองกันแน่ (ช่วงกลางเกมจะมีบทสนทนาของคนในเมืองที่พูดกับลาร่าว่า รู้สึกแย่ที่รู้ว่าลาร่าไม่ใช่นักท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวมักจะนำเม็ดเงินเข้ามา ทว่านักโบราณคดีคิดแต่จะกอบโกย)

อย่างไรก็ตาม Shadow of the Tomb Raider ยังคงเป็นเกมผจญภัยที่ผสมผสานความสมจริงและแฟนตาซีไว้ได้กลมกล่อมระดับนึง มีองค์ประกอบของการสำรวจฉาก ไขปริศนาหาทางผ่าน ค้นหาความลี้ลับของขุมทรัพย์ และเสพเนื้อเรื่องได้พอเพลินๆ เพียงแต่ด้วยความที่ทีมพัฒนาอาจจะเริ่มหมดมุก หรือภาคนี้อาจจะเข้าสู่ช่วงจุดอิ่มตัวแล้ว จึงทำให้ไดนามิกของเกมดูขาดตกบกพร่องไป หรือดูแล้วไม่พัฒนาขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเราอาจจะต้องรอหรือให้เวลากับซีรีส์นี้ได้มีเวลาพักเพื่อเรียกความสดกลับคืนมาบ้าง


จุดเด่น

– บรรยากาศของฉาก สภาพแวดล้อมตามแมกไม้และป่าเขาทำออกมาได้สวย น่าค้นหา แม้แต่ในเมืองยังมีอะไรให้สำรวจและทำนู่นทำนี่เยอะมาก
– เหมาะกับคนที่รักการไขปริศนาในเกมแนวนี้มาก เพราะแต่ละสุสานหรือซากโบราณสถานแต่ละแห่งล้วนต้องใช้หัวขบคิดกันแทบล้า

จุดด้อย

– การเคลื่อนไหวของลาร่าไม่มีการปรับปรุงจากภาคแรก (ปี 2013) มากนัก บ่อยครั้งการเคลื่อนไหวที่เร็วแต่ดูลอยๆ ของนางมันไม่ค่อยสัมพันธ์กับมุมกล้องที่ค่อนข้างจะอืดในหลายช่วง ทำเอาเวียนหัวอยู่บ่อยครั้ง
– การต่อสู้ในหลายๆ จุดที่เป็นการสู้ด้วยอาวุธปืนและระเบิดยังทำได้ไม่ค่อยดี และ AI ของศัตรูก็เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ บทจะพุ่งเข้ามาตีก็โผล่มาดื้อๆ พออยู่ห่างหน่อยก็สแปมระเบิดใส่เรารัวๆ
– บั๊กยังมีให้อยู่ประปราย มีทั้งบั๊กที่เก็บไอเทมบางชิ้นไม่ได้ บั๊กที่โทรฟี่ไม่เด้งเวลาทำเงื่อนไขผ่าน ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้มีการแก้บั๊กไปบ้างบางส่วนแล้ว แต่ก็ยังพบเห็นว่ามีบั๊กเหลืออยู่บ้าง

สรุป

ยังถือว่าคุ้มค่าอยู่ครับกับการอุดหนุนบทสุดท้ายของจุดเริ่มต้นการผจญภัยของลาร่า ลำพังแค่เสพบรรยากาศของทิวทัศน์และโบราณสถานก็เพลินได้ยาวๆ แล้ว ไหนจะปริศนาที่มีให้ไขกันจนเบื่อไปข้าง ถ้าจะมีจุดที่อึดอัดจริงๆ ก็คงจะเป็นฉากแอ็กชั่นและแรงจูงใจของลาร่าในการลุยภาคนี้ เพราะหลายๆ อย่างที่ลาร่าคิดและทำลงไปนั้นยังไม่ค่อยเมคเซ้นส์นัก ทั้งๆ ที่นางเองก็มีบทเรียนจาก 2 ภาคแรกมาแล้วด้วยซ้ำ ถ้ายังเชื่อมั่นในสาวน้อยคนนี้อยู่ ก็ไม่เสียหายอะไรหากจะร่วมเป็นสักขีพยานกับความเป็นไปในภาคนี้

คะแนน 7

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้