เมื่อพูดถึงชื่อ Rockstar Games ผู้คนในวงการเกมย่อมต้องรู้จักกันอย่างแน่นอนในฐานะผู้พัฒนาเกมซีรีส์ดังๆ ที่เป็นแนวโอเพ่นเวิลด์อย่าง Grand Theft Auto หรือ GTA กันอย่างแน่นอน แต่ทว่าในความเป็นจริงเรามักจะได้เห็นความโด่งดังของเกม GTA กันตามข่าวอาชญากรรมหรือข่าวปัญหาสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นก็เพราะเนื้อหาของเกมนี้ค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ต่อสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอยู่บ่อยๆ ด้วยความที่มันมีภาพของการใช้ความรุนแรง การก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนภาพของอบายมุข ยาเสพติด ฯลฯ ทว่าในทางกลับกัน กระแสเหล่านี้ก็เป็นการ “เร้า” ให้ผู้คนเกิดความอยากรู้อยากเห็นและลองซื้อมาเล่นกัน ไปๆ มาๆ ยอดขายของเกมซีรีส์นี้ก็เลยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ยิ่งพอรวมกับคุณภาพของเกมที่ทำมาอย่างละเอียดและพิถีพิถัน ทำให้เกม GTA สามารถสะท้อนความสมจริงของสังคมอเมริกันเราได้สุดๆ นั่นเอง
แม้ว่าเราจะเห็นว่า GTA เป็นกระแสใหญ่โตได้ขนาดนั้น แต่ค่าย Rockstar ก็ยังมีการสร้างปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ดูจะไม่ค่อยจำเจแบบค่ายเกมอื่นๆ และนั่นก็เป็นปัจจัยหลักที่รวมกัน จนทำให้ค่ายเกมนี้มีความโดดเด่นเฉพาะที่ไม่แพ้กระแสของ GTA เลย โดยคราวนี้ทางทีมงาน OS จะมาเจาะลึกถึงแผนการตลาด ตลอดจนแนวทางของ Rockstar กันอย่างละเอียดกันครับว่าค่ายนี้ได้ทำอะไรให้เป็นที่จดจำในวงการเกมไว้บ้าง
—————————————————————-
1. เวอร์ชั่นเครื่องคอนโซลต้องมาก่อน
ตามธรรมชาติของค่ายเกม 3rd Party ทั่วไปในยุคนี้ เวลาจะออกเกมอะไรมาก็มักจะประกาศลงพร้อมกันทุกแพลตฟอร์มหลัก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอนโซลเจนปัจจุบัน (ในขณะนั้น) และ PC แต่สำหรับกรณีของ Rockstar นั้นจะไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านครับ ดังจะเห็นได้ว่าหลายๆ เกมของค่ายนี้ กว่าจะได้พอร์ตลง PC นั้นกินเวลาค่อนข้างนานหลายเดือน (เช่น GTA 3 หรือ GTA 4) บางเกมรอกันเป็นปี (เช่น Bully, Manhunt 2 หรือ GTA 5) หรือบางเกมจนป่านนี้ยังไม่พอร์ตลง PC เลยก็มี (เช่น Red Dead Redemption ภาคแรก)
ประเด็นนี้ ในหลายๆ สื่อของต่างประเทศเคยมีตั้งข้อสังเกตอยู่ว่า Rockstar เคยมีประสบการณ์การพอร์ตเกม GTA 4 ลง PC ได้ย่ำแย่มาก เนื่องด้วยการที่ตัวเกมเวอร์ชั่น PC มีบั๊กเยอะ รวมถึงมีปัญหาด้านกราฟิกที่มากมายเมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นเครื่องคอนโซล ทั้งๆ ที่ศักยภาพและจำนวนบุคลากรของ Rockstar ก็มีอยู่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ทำไมจึงไม่ค่อยใส่ใจในการพอร์ตให้ดีกว่านี้หรือดีเทียบเท่าเครื่องคอนโซลได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัญหาการทำ Mod ของเกม GTA: San Andreas ที่ทาง Rockstar เคยมีคดีความกับคนที่ทำ Mod มินิเกม Hot Coffee ที่เป็น Sex Game มาให้เล่นกัน ซึ่งมินิเกมที่ว่านี้เป็นข้อมูลที่ติดมากับตัวเกมแต่แรกแล้ว แต่ Rockstar ล็อคไว้ไม่ให้เล่น (ตรงนี้ Rockstar ไม่ได้ให้เหตุผลว่าล็อคเพราะอะไร แต่คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องของเรตเกมที่น่าจะโดนจำกัดให้ขายได้น้อยช่องทางกว่าปกติ) ตลอดจนปัญหาการเล่นเกมละเมิดลิขสิทธิ์บน PC ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ต่างจากเครื่องคอนโซลที่ปัญหาการเล่นเกมเถื่อนลดลงไปมากเมื่อพ้นยุค PS2 เป็นต้นมา
ขณะเดียวกัน สื่อบางแห่งก็ยังให้มุมมองที่แตกต่างออกไปว่า เวอร์ชั่นคอนโซลนั้นไม่ค่อยมีความจุกจิกในการพัฒนานัก เพราะทีม Rockstar ไม่ต้องมาพะวงเรื่องสเปค PC ของผู้เล่นแต่ละคน ผิดกับคอนโซลที่มีสเปคมาตายตัวเหมือนกันทุกเครื่อง พอทำเวอร์ชั่น PS4 หรือ Xbox One ออกมา ทุกคนที่มีเครื่องจึงเล่นได้หมด หรือถ้ามองในอีกนัยหนึ่ง เวอร์ชั่นคอนโซลก็ไม่ค่อยมีการลดราคาชนิดบ้าระห่ำเหมือน Steam ทำให้เป็นผลดีกับบรรดาค่ายเกม ที่จะได้ค่าเกมแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย อะไรทำนองนี้
—————————————————————-
2. การตลาดแบบไม่แคร์ใคร
นับตั้งแต่ GTA ดังเป็นพลุแตก ฟันกำไรให้ Rockstar ชนิดที่ว่าชาตินี้ทำแต่ GTA ซีรีส์เดียวก็เลี้ยงดูพนักงานทุกคนได้ยาวๆ หลังจากนั้นมา Rockstar ก็ดำเนินแผนการตลาดที่ “โนสน โนแคร์” จนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่การไม่ไปร่วมเปิดบูธของค่ายตัวเองตามงานเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น E3, Gamescom ฯลฯ แต่กลับใช้วิธีโปรโมทเกมใหม่ๆ ด้วยการแปะคลิป Trailer หรือ Screenshot ลงแชนเนลหรือช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองเท่านั้น อารมณ์ประมาณว่า โปรโมทแค่นี้ เดี๋ยวคนก็มาซื้อเอง เกมของข้า วางจำหน่ายเมื่อไหร่ก็มีคนแห่มาซื้ออยู่แล้ว (ซึ่งยอดขายก็พุ่งทะลุเพดานจริงๆ) หรือถ้าจะมีไปแจมในงานเกมก็จะเป็นในลักษณะโผล่เป็นคลิปโปรโมทคอนเท้นท์ Exclusive สำหรับผู้ที่พรีออเดอร์เกมเวอร์ชั่น PS4 หรือ Xbox One เป็นต้น
นอกจากนี้ Rockstar ยังมีสไตล์การโฆษณาที่โชว์ความคิดสร้างสรรค์ของการดึงเอกลักษณ์ของเกมมาโปรโมทได้ดีมาก ดังจะเห็นได้จาก GTA 4 ที่มีแคมเปญทำภาพประกาศจับตัวละครในเกมแปะไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วหัวเมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกา หรือใช้โลเคชั่นที่เป็นตึก 3 หลังมาใช้โปรโมท 3 ตัวละครหลักของ GTA 5 เป็นต้น ซึ่งการโฆษณาลักษณะนี้ นอกจากไอเดียจะดีแล้วยังสามารถเข้าถึงและเกิดการรับรู้ต่อคนหมู่มากด้วย
—————————————————————-
3. โหมดออนไลน์ที่ดี ย่อมสร้างฐานคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งได้
นอกเหนือไปจากแผนการตลาดที่กลั่นกรองโดยทีมมาร์เก็ตติ้งของ Rockstar แล้ว การสร้างคอมมูนิตี้ของกลุ่มผู้เล่นโหมดมัลติเพลเยอร์ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ทรงประสิทธิภาพชนิดที่ไม่ควรมองข้ามครับ ซึ่ง Grand Theft Auto Online เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดของการวางรากฐานของระบบออนไลน์ไว้ได้ดีมาก ภายในโหมดดังกล่าว ผู้เล่นสามารถเข้ามาพบปะเพื่อทำกิจกรรมในเกมร่วมกัน อาทิ วางแผนปล้น แข่งขันกีฬาสุดหฤโหด หรือแม้แต่จะไปเกรียนทั่วเมือง Los Santos ร่วมกันก็ย่อมได้ กิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด สามารถผลาญเวลาได้เป็นวันๆ แทบไม่รู้เบื่อ หนำซ้ำยังสามารถโพสต์อวดผลงานของเราในเกมลงโลกโซเชียลได้อีกด้วย
เมื่อมีคนเข้ามาเล่นในโหมดออนไลน์กันมาก ย่อมก็ต้องมีผู้เล่นตั้งกลุ่มสมาคมเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับตัวเกมกันเป็นวงกว้าง ซึ่งกลุ่มที่ตั้งกันก็จะมีทั้งแบบสร้าง Clan ในเกม หรือตั้งห้องกลุ่มสนทนาบน Facebook พอผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ตัวเกมก็เหมือนได้รับการประชาสัมพันธ์โดยที่ Rockstar ไม่ต้องเหนื่อยลงทุนในส่วนนี้เลยด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัตรเงินสด (Shark Cash Card) ในเกมที่ขายดีเทน้ำเทท่า ติดอันดับไอเทมขายดีบน PlayStation Store และ Xbox Live อยู่แทบทุกเดือน ย่อมการันตีได้ว่าเม็ดเงินใน Grand Theft Auto Online น่าจะสะพัดเป็นว่าเล่นเลยละครับ