ที่มา : นิตยสาร play magazine ฉบับที่ 66 ประจำเดือนธันวาคม 2557
เฟรมเรต เป็นอะไรที่หลายๆ คนอาจจะข้องใจ เพราะว่าทุกวันนี้การที่เกมมีค่าเฟรมเรตสูง มักจะถูกการันตีว่าเป็นเกมที่ดีเยี่ยม ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าเฟรมเรตคืออะไรด้วยซ้ำไป วันนี้ผมก็เลยนำบทความเกี่ยวกับเฟรมเรตจากนิตยสาร play ฉบับที่ 66 ของเดือนธันวาม 2557
อะไรคือ FPS?
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับคำว่า Frame Rate กันก่อน คำๆ นี้หากแปลแบบตรงตัวก็จะได้ความหมายว่า “อัตราความถี่ของเฟรมภาพ” นั่นเอง ซึ่งเฟรมภาพในที่นี้ก็หมายถึงภาพนิ่งๆ ภาพหนึ่งค่ะ ไอ้เจ้าเฟรมภาพนี่เองที่พอเรานำหลายๆ ภาพมาเรียงต่อกัน มันก็จะกลายมาเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างที่เราเห็นกันในการ์ตูนแอนิเมชั่น ภาพยนตร์ และเกมในทุกวันนี้นี่เอง
ในเมื่อการเคลื่อนไหวต่างๆ นั้นเกิดมาจากภาพนิ่งหลายๆ ภาพต่อกัน ดังนั้นจึงเกิดคำว่า Frame per Second ขึ้นมา (หรือที่เรียกกันแบบย่อว่า FPS) โดยคำว่า per Second ในที่นี้จะถูกใช้เป็นตัววัดจำนวนเฟรมในภาพเคลื่อนไหวภาพหนึ่ง ภายในระยะเวลา 1 วินาที เช่นคำว่า 30 FPS ก็จะหมายความว่า ภายในหนึ่งวินาทีของภาพเคลื่อนไหวภาพนั้น มีจำนวนภาพนิ่งประกอบอยู่ 30 ภาพด้วยกัน ส่วน 60 FPS ก็หมายถึง ภายในหนึ่งวินาทีของภาพเคลื่อนไหวภาพนั้น มีจำนวนภาพนิ่งประกอบอยู่ถึง 60 ภาพเลยค่ะ
อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงเริ่มจับความสัมพันธ์ของคำว่าเฟรมเรตกับภาพเคลื่อนไหวกันได้บ้างแล้ว ยิ่งจำนวนเฟรมภาพภายในหนึ่งวินาทีมากเท่าไหร่ ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวก็จะดูลื่นไหลไม่สะดุดตามากขึ้นเท่านั้น เพราะความละเอียดของการเคลื่อนไหวก็จะมากขึ้นตามจำนวนภาพไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากจำนวนเฟรมภาพภายในหนึ่งวินาทีมีน้อยเท่าไหร่ ภาพเคลื่อนไหวที่ว่าก็อาจจะดูข้ามไปข้ามมา กระตุกถี่ๆ หรือที่ชาวเกมเมอร์เรียกว่า Lag กันรัวๆ นั่นเอง
โดยปกติแล้วถ้าเป็นหนังในโรงภาพยนตร์ที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ ค่า FPS ที่นิยมใช้กันมากที่สุดจะอยู่ที่ 24 FPS (หรือ 25 FPS สำหรับระบบ PAL) ส่วนเกมที่เราเล่นกันอยู่ทุกวันนี้ก็มักจะถูกจำกัดไว้ที่ 30-60 FPS ถ้ามากกว่านั้น เราอาจจะพบเจอกับปัญหาภาพฉีกได้ เว้นแต่ว่าจอมอนิเตอร์ของคุณจะเป็นจอที่แพงหูฉี่ และเจ๋งพอจะรองรับค่า FPS ที่มากกว่านี้ได้เท่านั้น แต่ว่า… แบบนี้ไม่ได้หมายความว่า 60 FPS ย่อมต้องดีกว่า 30 FPS อยู่แล้วหรอกเหรอ?
แล้วเขาเถียงกันทำไม?
ต้องขอยกตัวอย่างจากเกม The Evil Within ที่ดันจำกัดเฟรมเรตอยู่ที่แค่ 30 FPS ทั้งๆ ที่ด้วยระยะเวลาการพัฒนาและประสิทธิภาพของเครื่องคอนโซลและ PC ในยุคนี้ ค่า 60 FPS นั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมเลย งานนี้จึงมีเหล่าเกมเมอร์จำนวนมากออกมาตั้งป้อมวีนทีมพัฒนากันยกใหญ่ แถมสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนักกว่าเดิม เมื่อเจ้าพ่อเกมซีรีส์ท่องประวัติศาสตร์ Assassin’s Creed อย่าง Ubisoft ก็ดันติดโรค 30 ยังแจ๋วไปกับเขาด้วยซะงั้น ยังไม่ทันที่ข่าวเกม The Evil Within ถูกจำกัดเฟรมเรตจะซาดี ทาง Ubisoft ก็ออกมาคอนเฟิร์มต่อด้วยตัวเองเลยว่า เกมภาคีนักฆ่า Assassin’s Creed Unity จะถูกรันบนความละเอียด 900p และถูกจำกัดเฟรมเรตไว้แค่ 30 FPS เท่านั้น!!
Assassin’s Creed Unity อีกหนึ่งเกมที่มีคดีติดตัวจาก Ubisoft
แน่นอนว่าหลังจากข่าวนี้ออกมา Ubisoft ก็โดนถล่มเละจากเหล่าผู้เล่นไปอีกราย… แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นค่ายยักษ์ใหญ่แล้ว มีหรือที่พี่แกจะยอมนั่งโดนด่าอยู่เฉยๆ ไม่นานหลังจากนั้น ก็ได้มีเหล่านักพัฒนามากหน้าหลายตาออกมาแสดงความเห็นโต้ตอบถึงเรื่องค่า FPS ที่ว่าทันที
สงครามจึงบังเกิดด้วยประการฉะนี้…
30 FPS หรือ 60 FPS อันไหนดีกว่ากันหนอ?
คำตอบของคำถามที่ว่านี้… จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนค่ะ แต่แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างต้องมีทั้งเหตุผลและข้อดีของตัวเองมานำเสนอ รวมไปถึงจู่โจมฝ่ายตรงข้ามกันอยู่แล้ว เราไปดูคำว่าความของแต่ละฝั่งกันเลยดีกว่า
เริ่มกันที่ 60 FPS ซึ่งเป็นค่าที่เกมเมอร์หลายคนชื่นชอบกันเป็นพิเศษก่อน ค่าเฟรมเรต 60 FPS ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นค่าที่นิยมที่สุดในหมู่ผู้เล่นเกมยุคใหม่เลยก็ว่าได้ เพราะหากเครื่องเล่นของคุณสามารถเอื้อมแตะถึงค่านี้ได้เมื่อไหร่ คุณก็จะเล่นเกมได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด แถมภาพเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น ตัวละคร หรือวัตถุต่างๆ ก็ยังดูลื่นไหลสมกับความเป็นจริงอีกด้วย ยิ่งถ้าหากจอภาพของคุณเป็นระดับ Full HD 1080p ขนาดหลายสิบนิ้วแล้วละก็ ไม่ต้องบรรยายถึงสรรพคุณกันเลย… งานนี้มีฟินและมันส์เว่อร์แน่นอน
นอกจากประสบการณ์ความลื่นไหลที่ฟินเกินใครแล้ว ว่ากันว่าค่า 60 FPS นี้ยังเหมาะกับเกมแนวที่ต้องชิงความได้เปรียบในเรื่องของความเร็วและจังหวะเป็นที่สุดด้วย โดยเฉพาะเกมแนว FPS จำพวก Call of Duty หรือ Battlefield ที่ต้องอาศัยความไวยิ่งกว่าใคร ค่า 60 FPS นี้จะช่วยให้เราสามารถตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ภายในเกมได้มากกว่าค่า 30 FPS และทำให้เราสามารถหันปืนไปยิงคู่ต่อสู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเอง
สำหรับใครที่กังวลว่า หากเล่นเกมที่ค่า 60 FPS แล้วจะทำให้เกิดอาการมึนหัว วิงเวียนศีรษะอย่างที่เคยมีเกมเมอร์บางคนออกมาบ่นกันนั้น ตรงนี้ผู้เขียนได้ไปสอบถามจักษุแพทย์ชื่อดังมาแล้วค่ะ ซึ่งก็คือ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านให้คำตอบมาว่า ไม่ว่าจะค่า 30 FPS หรือ 60 FPS ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อดวงตาโดยตรง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น แสงจากจอมอนิเตอร์หรือการใช้งานมากกว่า ดังนั้นใครกลัวว่าถ้าเล่นเกมที่ค่า 60 FPS แล้วจะปวดหัวหรือสายตาเสียละก็… ขอให้สบายใจได้เลย
แต่ทว่า… ในข้อดีก็ยังมีข้อเสียอยู่ เพราะการจะได้ค่า 60 FPS มานั้น ย่อมหมายถึงเครื่องเล่นเกมของคุณจะต้องแกร่งพอที่จะรันเกมในระดับนั้นได้ด้วยนะคะ โดยเฉพาะเกมใหม่ๆ ที่มีระดับความละเอียดของภาพสูงยิบชนิดเห็นผมตัวละครเป็นเส้นๆ การจะรันเกมให้คงที่ที่ค่า 60 FPS ถือว่าเป็นงานหนักเลยทีเดียวล่ะ สำหรับสาย PC บางคนอาจถึงขั้นต้องเสียเงินอัพการ์ดจอหรือ CPU กันจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวเลยก็ว่าได้
The Last of Us Remastered หนึ่งในเกมบน PS4 ซึ่งสามารถรันได้ที่ 60 FPS
มาถึงฝั่ง 30 FPS กันบ้าง แม้ว่าค่านี้อาจจะดูไม่ลื่นไหลเท่ากับค่า 60 FPS ก็ตาม แต่ค่านี้ก็ถือเป็นค่ามาตรฐานสำหรับเกมทั่วไปค่ะ เราไม่จำเป็นต้องใช้คอมพ์รุ่นใหม่หรือการ์ดจอขั้นเทพในการเล่นเกมที่ 30 FPS แต่อย่างใด ขอแค่สเป็กขั้นต่ำผ่าน หรือมีเครื่องเกมราคาประหยัดเท่านั้น คุณก็สามารถเล่นเกมได้แบบไม่มีติดขัดแล้ว
แถมค่า 60 FPS ที่ว่ายังถูกเหล่านักพัฒนาเกมหลายคนจู่โจมจนเละไม่มีชิ้นดีด้วย โดยพวกเขาอ้างว่าค่าเฟรมเรต 60 FPS นั้นมันช่างดู “แปลกประหลาด” สิ้นดี โดยเฉพาะค่าย Ubisoft ที่ชอบอ้างเหตุผลในข้อนี้ที่ถึงกับส่งคุณ Alexandre Amancio หัวเรือใหญ่ของเกม Assassin’s Creed Unity กล่าวเสริมมาอีกว่า “เป้าหมายของเราคือ 30 FPS ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว มันให้ความรู้สึกเหมือนคุณกำลังดูหนังเรื่องหนึ่งอยู่มากกว่า 60 FPS อีกนะ ซึ่งค่า 60 FPS อาจจะเหมาะกับเกมยิงกันก็จริง แต่ไม่เหมาะกับเกมแนวผจญภัยเท่าไหร่หรอกครับ เชื่อเถอะว่า 30 FPS น่ะดีกว่าเยอะ เพราะมันทำให้เราสามารถหันไปทำงานด้านอื่นให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย ดีกว่ามัวมานั่งห่วงตัวเลขพวกนี้ครับ”
ฟังเผินๆ อาจเหมือนเป็นการแถข้างๆ คูๆ แบบฉบับ Ubisoft ตามเคย แต่เมื่อเราลองมองในมุมของเหล่าผู้พัฒนาเกม จะเห็นได้ว่าเหตุผลเหล่านี้ก็ฟังขึ้นส่วนหนึ่ง เพราะการที่จะสร้างเกมที่มีความละเอียดสวยงามสูงระดับเน็กซ์เจน แถมยังต้องสร้างให้สามารถรันบนค่า 60 FPS ได้นั้น ถือว่าเป็นงานช้างสำหรับเหล่าผู้พัฒนาเกม ลองคิดดูว่า หากภายใน 1 วินาที เราต้องใช้ภาพนิ่งทั้งหมด 60 ภาพ ระยะเวลาที่ต้องวาดภาพเหล่านั้นทั้งหมดจะยาวนานขนาดไหน…
เหตุผลในข้อนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากคุณ Aaryn Flynn หนึ่งในทีมพัฒนาเกม Dragon Age: Inquisition อีกด้วย โดยคุณ Flynn ให้เหตุผลว่า “สำหรับผมแล้ว การสร้างเกมที่สามารถรันบนค่า 60 FPS นี่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก เพราะเราต้องใช้เวลาในการเรนเดอร์ทุกสิ่งภายในเกม และบางทีเราอาจจำเป็นต้องถอดบางอย่างออกไป เช่นพวกเท็กซ์เจอร์หรือฉากหลังต่างๆ เพื่อให้สามารถออกเกมได้ทันวันวางจำหน่าย หากคุณอยากให้พวกเราสร้างเกมที่ดูสวยงามเช้งวับละก็ บางที 30 FPS อาจเป็นคำตอบที่ดีกว่าก็ได้”
ดูเผินๆ หลายคนอาจจะคิดว่า 60 FPS ย่อมต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่อย่าลืมนะคะว่ายิ่งอยากได้ของดีมากเท่าไหร่ เราก็ต้องแลกกับบางสิ่งที่แพงพอกัน แบบนี้แล้วเราจะศรัทธาฝั่งไหน จะ 30 หรือ 60 กันแน่?… คุณต้องเป็นผู้ตัดสินด้วยตัวเองแล้วล่ะค่ะ แล้วอย่าลืมไปแสดงความคิดเห็นในแฟนเพจ playmag กันนะคะ