กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงประเด็นร้อนทั้ง 4 ประเด็น พร้อมกระแสชื่นชมอย่างล้นหลามถึงความประณีตของงานสร้างสรรค์ในซีรีส์ดราม่าล้ำยุค อนาฅต (Tomorrow and i) ที่ทีมผู้สร้างได้ทุ่มเทเวลากว่า 3 ปีตั้งแต่การพัฒนาบทไปจนถึงการทำโพสต์โปรดักชั่นส์ ที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานฝีมือคนไทยล้วนที่รวบรวมทีมงานมากฝีมือทั่วประเทศมารังสรรค์ฉากสุดอลังการให้กับซีรีส์เรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้น CG หลายฉากที่เห็นในเรื่อง ล้วนเป็นผลงานสร้างสรรค์จากทีม VFX ที่เคยร่วมงานกับภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูดมาแล้ว! ซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานทั้ง 4 ตอนจะท้าทายมากแค่ไหน สามารถติดตามได้ ที่นี่ พร้อมกันนั้น เราจะพาคุณมาเจาะเบื้องลึกที่มาที่ไปของประเด็นหลัก พร้อมแกะรอยความเข้มข้นที่ซ่อนอยู่ในแต่ละตอน เริ่มกันด้วย
นิราศแกะดำ ภาพสะท้อนเพศสภาพในโลกอนาฅต?
เมืองไทยในวันข้างหน้าจะมีมุมมองต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศต่างไปจากเดิมหรือไม่? นี่คือประเด็นละเอียดอ่อนที่ซ่อนอยู่ในตอน นิราศแกะดำ (Black Sheep) เรื่องราวโรแมนติกดราม่าของการปะทะกันระหว่างเทคโนโลยีการโคลนนิ่งและแนวคิดเรื่องวัฏสงสาร ที่มีแกนหลักคือการนำเสนอเรื่องราวการถูกกดทับของ “เพศทางเลือก” ในสังคมไทย ผ่านการทำการบ้านแบบเจาะลึกถึงความรู้สึกจริงๆ ของหลายคนซึ่งเป็นที่มาของเสียงสัมภาษณ์ในตอน End credit ที่ทำเอาหลายคนสะเทือนใจจนเสียน้ำตา พร้อมๆ กันกับการปรากฏตัวของ จี๋-สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร (รับบท หมอนนท์) ที่ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับประเด็นความหลากหลายทางเพศกับการทิ้งปริศนาบางอย่างไว้ให้ขบคิด เช่น เหตุผลที่หมอนนท์ไว้ผมยาวในตอนท้าย ซึ่ง ดร.ธารา สุวิญญัติชัยพร ดอกเตอร์คนไทยผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ จาก California State University ในฐานะที่ปรึกษาด้านบทของซีรีส์เรื่องนี้ ได้ไขความกระจ่างถึงการกระทำนี้ไว้ว่า ในโลกอนาคต คำว่า LGBTQ อาจเลือนหายไป แทนที่ด้วย “Gender Fluid” หรือเพศที่ไหลลื่น หมายถึงการไม่มีเพศตายตัวชายหรือหญิง แต่เป็นการเปิดกว้างให้แต่ละบุคคลสามารถเลือกเพศสภาพของตนเองได้อย่างอิสระ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยไม่ต้องยึดติดกับกรอบเดิมๆ อีกต่อไป สิ่งเหล่านี้ชวนให้คิดว่า ในวันที่เพศสภาพมีความหลากหลายมากขึ้น LQBTQ+ จะยังถูกมองว่าเป็น ‘แกะดำ’ ในสังคมไทยอีกหรือไม่
จุดเริ่มต้นจากโสเภณีเด็กสู่ เทคโนโยนี
จากการได้เห็นภาพสะเทือนใจของเด็กหญิงอายุราว 10 ปี ในชุดบิกินี่กับชายต่างชาติ ณ สถานที่แห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นความเจ็บปวดในใจของผู้กำกับ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ที่ผลักดันให้เกิดตอน เทคโนโยนี (Paradistopia) เรื่องราวที่หยิบเอา Sex robot มาเล่าถึงการมีอยู่ของอาชีพโสเภณีที่ไม่เคยถูกยอมรับว่ามีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะการมีอยู่ของโสเภณีเด็กที่มีอยู่จริงแต่ไม่เคยมีใครกล้าพูดถึง โดยเทคโนโยนี ถูกเล่าผ่านตัวละครสีสันจัดจ้านอย่าง เจสสิก้า (รับบทโดย วี-วิโอเลต วอเทียร์) เด็กสาวผู้เติบโตใน Gamalore City ที่มีแม่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศ จากปมที่คลุกคลีกับอาชีพนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก เธอจึงผลักดันให้เกิด Sex robot ที่ถูกออกแบบและฝึกสอนโดยเหล่าโสเภณี ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับอาชีพนี้ และไม่อยากให้มีใครต้องเผชิญกับเหตุการณ์เช่นที่เธอเคยต้องประสบมา นอกจากนี้ ทีมผู้สร้างยังได้จงใจออกแบบบรรยากาศตลอดจนคอสตูมของเรื่องให้ออกมาในแนว Future Retro ด้วยความต้องการเสียดสีแบบแสบสันต์ว่าแม้จะอยู่ในโลกอนาคต ประเด็นเรื่อง sex worker ก็อาจไม่สามารถก้าวข้ามกรอบศีลธรรมอันดีงามของประเทศไปได้นั่นเอง
ศาสดาต้า กับบทบาท “ศาสดาใหม่” ของเอม ถาวรศิริ?
จากสเตตัสของเด็กยุคใหม่ว่าวันนี้เรายังจำเป็นต้องนับถือศาสนาอยู่ไหม สู่จุดเริ่มต้นของ ศาสดาต้า (Buddha data) ที่ชูประเด็นคำถามสำคัญว่า ในอีก 5 ปี พระสงฆ์จะยังจำเป็นต่อการเป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยของพุทธศาสนาอยู่ไหม ซึ่งในตอนนี้ได้ เอม ถาวรศิริ มารับบทนีโอ ที่เปรียบเหมือนเป็นศาสดาคนใหม่ ผู้คิดค้น ULTRA อุปกรณ์สุดล้ำที่เข้ามาท้าทายการมีอยู่ของพระสงฆ์โดยตรง โดยเอมได้พูดถึงการเตรียมตัวไว้ว่า เขาทำการบ้านค่อนข้างเยอะเพื่อให้เข้าถึงบทบาทนีโอ ทั้งการไปศึกษาพระไตรปิฏกอย่างจริงจังทั้งเล่ม นอกจากนี้เขายังได้หยิบเอาคาแรกเตอร์ของนักการเมืองชื่อดัง มาผสมผสานกับการตีความลักษณะของพระพุทธเจ้าเพื่อดีไซน์ตัวละครนีโออกมาอย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน และสำหรับท่าทางในการเปิดระบบอุปกรณ์อย่าง “สวัสดี ULTRA” ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่เอมได้ลองทำการบ้านมานำเสนอกับผู้กำกับเพื่อทำให้ตัวละครนีโออกมาสมบูรณ์แบบมากที่สุดอีกด้วย
เด็กหญิงปลาหมึก…ความตลก ที่ไม่ตลก?
เชื่อว่าหลายคนอาจจะหลุดขำออกมาเมื่อได้ดู เด็กหญิงปลาหมึก (Octopus Girl) โลกจินตนาการถึงเมืองไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า ในวันที่ฝนตกไม่หยุด ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านสายตาของเด็กชั้นประถม 2 คน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนีโอคลองเตย ที่ครั้งนี้ทีมผู้สร้างได้ทุ่มทุนสร้างเนรมิตชุมชนนี้ขึ้นมาใหม่ชนิดที่เรียกว่าใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่โรงเรียน ทางเดินในชุมชน ร้านขายของชำ ข้าวของในบ้านของคนในชุมชน ตลอดจนบรรยากาศน้ำท่วมขัง และฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง โดยในตอนนี้ ทีม VFX ได้เนรมิตโกดังเก็บของขนาดใหญ่ให้กลายเป็นชุมชนนีโอคลองเตยที่มีชีวิตชีวาจนเกือบจะอาศัยอยู่ได้จริง โดย เด็กหญิงปลาหมึก ถูกจงใจนำเสนอในโทนดาร์กคอมเมดี้ สะท้อนถึงการมองข้ามปัญหาโลกร้อน ที่ไม่เคยถูกมองเห็นอย่างจริงจัง เพื่อตั้งคำถามกับผู้ชมว่า “ในอีก 30 ปีข้างหน้า เราจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้จริงหรือ? หรือเราควรเริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้?” ซึ่งหลังดูจบแล้ว เราจะยังขำขันกับเรื่องภาวะโลกร้อนกันอยู่หรือไม่ หรือเราต้องหันมาช่วยกันตอบคำถามของเด็กทั้งสองคนที่ถามว่า “ทำไมเขาใช้โลกไม่เผื่อเราเลยวะ ใช้เหมือนว่าจะไม่มีคนมาใช้ต่อจากเขา” กันตั้งแต่วันนี้?
ร่วมตั้งประเด็น ต่อยอดความคิด จากซีรีส์ดราม่าล้ำยุค 4 เรื่อง 4 รส ที่ไม่เพียงแต่โดดเด่นด้วยโปรดักชั่นดีไซน์และ CG ล้ำสมัย แต่ยังชวนขบคิด ว่าหากถึงวันที่เทคฯ จะเข้ามา DISRUPT ไทย แล้วจริงๆ เราอยากให้อนาคตของประเทศไทยออกมาเป็นอย่างไร รับชมซีรีส์ อนาฅต ได้แล้ววันนี้ที่ Netflix เท่านั้น !
[ข่าวประชาสัมพันธ์]