A MAN CALLED OTTO มนุษย์ลุง…ชื่ออ๊อตโต้ 16 มีนาคม ในโรงภาพยนตร์

A Man Called Otto

A MAN CALLED OTTO
มนุษย์ลุง…ชื่ออ๊อตโต้
16 มีนาคม ในโรงภาพยนตร์

A Man Called Otto มนุษย์ลุง…ชื่ออ๊อตโต้ สร้างขึ้นจากหนังสือเรื่อง A Man Called Ove ที่ติดอันดับหนึ่งของลิสต์นิวยอร์ก ไทม์ เบสต์เซลเลอร์ เล่าเรื่องราวของ อ๊อตโต้ แอนเดอร์สัน (ทอม แฮงค์ส) มนุษย์ลุงขี้หงุดหงิด ขาดเป้าหมายในชีวิตหลังจากสูญเสียภรรยาไป อ๊อตโต้พร้อมที่จะปิดฉากทุกอย่างในชีวิตลง แต่แผนการของเขาก็ถูกขัดขวางเมื่อมีครอบครัวเพื่อนบ้านย้ายมาใหม่ใกล้ๆ กับบ้านเขา อ๊อตโต้ได้พบคู่ปรับตัวฉกาจอย่าง มาริซอล หญิงสาวผู้ห้าวหาญ เธอท้าทายให้เขามองชีวิตต่างออกไป ซึ่งนำไปสู่มิตรภาพที่พลิกผันชีวิตของเขา เรื่องราวตลกระคนน้ำตา ความรักที่ทำให้อบอุ่นหัวใจ ชีวิตและความสูญเสีย แสดงให้เห็นว่า บางครั้งคำว่าครอบครัวอาจถูกพบได้ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

A Man Called Otto ที่สร้างขึ้นจากหนังสือที่ติดอันดับหนึ่งของลิสต์นิวยอร์ก ไทม์ เบสต์เซลเลอร์เรื่อง A Man Called Ove เล่าเรื่องราวของ อ๊อตโต้ แอนเดอร์สัน (ทอม แฮงค์) ชายหนุ่มขี้หงุดหงิด ผู้ขาดเป้าหมายในชีวิต หลังจากการสูญเสียภรรยาไป อ๊อตโต้พร้อมที่จะปิดฉากทุกอย่างในชีวิตลง แต่แผนการของของเขาก็ถูกขัดขวางเมื่อครอบครัวหนุ่มสาวที่แสนมีชีวิตชีวาย้ายเข้ามาอยู่บ้านหลังถัดไป และเขาก็ได้พบคู่ปรับตัวฉกาจอย่าง มาริโซล หญิงสาวผู้มีไหวพริบ เธอท้าทายให้เขามองชีวิตต่างออกไป และนำไปสู่มิตรภาพไม่คาดฝันที่พลิกผันชีวิตของเขา A Man Called Otto เรื่องราวที่ตลกและอบอุ่นหัวใจเกี่ยวกับความรัก ความสูญเสียและชีวิต แสดงให้เห็นว่า บางครั้ง ครอบครัวอาจถูกพบได้ในสถานที่ที่คาดไม่ถึงที่สุดก็เป็นได้

โคลัมเบีย พิคเจอร์ส ร่วมกับเอสเอฟ สตูดิโอส์ ภูมิใจเสนอ ผลงานสร้างโดยเอสเอฟ สตูดิโอส์ อาร์ทิสติก ฟิล์มส์ เพลย์โทน 2Dux2 ภาพยนตร์โดยมาร์ค ฟอร์สเตอร์ A Man Called Otto ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดยทอม แฮงค์, มาเรียนา เทรวีโน, ราเชล เคลเลอร์, มานูเอล การ์เซีย-รูลโฟ, ทรูแมน แฮงค์และไมค์ เบอร์บิเกลีย กำกับโดยมาร์ค ฟอร์สเตอร์ บทภาพยนตร์โดยเดวิด มากี้ เค้าโครงจากภาพยนตร์เรื่อง “En Man Som Heter Ove” โดยฮันเนส โฮล์ม อำนวยการสร้างโดยเฟรดดริค วิคสตรอม นิคาสโทร, พี.จี.เอ., ริต้า วิลสัน, พี.จี.เอ., ทอม แฮงค์ แฮงค์และแกรี โกทซ์แมน ผู้ควบคุมงานสร้างได้แก่มาร์ค ฟอร์สเตอร์, เรเน วูลฟ์, หลุยส์ รอสเนอร์, เดวิด มากี้, ไมเคิล พอร์เซริด, ทิม คิง, ซูดี้ สมิธ, สตีเวน ชาเรสเชียน, ซีเลีย คอสตาส, นีด้า แบ็คแมนและทอร์ โจนาสสัน ผู้ร่วมควบคุมงานสร้างคือจอห์น ฟรายด์เบิร์ก ผู้ร่วมอำนวยการสร้างคือเคท ไมเออร์ส ผู้กำกับภาพคือมาเธียส โคนิกสไวเซอร์ ผู้ออกแบบงานสร้างคือบาร์บารา หลิง มือลำดับภาพคือแมทท์ เชสเซ, เอซีอี ดนตรีโดยโธมัส นิวแมน ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายคือแฟรงค์ เฟลมมิง คัดเลือกนักแสดงโดยฟรานซีน ไมส์เลอร์, ซีเอสเอและมอลลี โรส, ซีเอสเอ

A Man Called Otto ได้รับเรท PG-13 สำหรับเนื้อหาทางธีมสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความพยายามอัตวินิบาตกรรมและภาษารุนแรง โดยสมาพันธ์ภาพยนตร์

เกี่ยวกับภาพยนตร์
สำหรับอ๊อตโต้ แอนเดอร์สัน มีวิธีเดียวเท่านั้นในการทำสิ่งต่างๆ นั่นคือวิธีที่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นการจอดรถข้างถนน (จอดเฉพาะที่ที่อนุญาตให้จอดได้) หรือการรีไซเคิล (กระป๋องต้องเข้าไปอยู่ในถังทิ้งกระป๋อง ขวดแก้วต้องเข้าไปอยู่ในถังทิ้งขวดแก้ว) การล็อคจักรยาน (บนแร็คจักรยาน เพราะนั่นก็คือหน้าที่ของมัน) การขับรถ (เกียร์กระปุก) หรืองานและกิจกรรมประจำวันอื่นๆ จะมีวิถีอ๊อตโต้…และทุกคนที่ทำวิธีที่ต่างออกไปก็คือคนโง่เขลา “เขายึดมั่นกับวิถีของตัวเองมาตั้งแต่เขาอายุสี่ชั่วโมงแล้วครับ” ทอม แฮงค์ ผู้เนรมิตชีวิตให้กับตัวละครตัวนี้ใน A Man Called Otto กล่าว “โลกของเขาเป็นโลกที่มีแค่ใช่หรือไม่ใช่ โลกดำเนินไปในวิถีทางเดียว และวิถีทางเดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นก็คือวิถีทางตามกฎ ใครๆ ก็สามารถอ่านกฎได้ และใครๆ ก็สามารถทำตามกฎได้ทั้งนั้นครับ”

ย่านที่พักอาศัยนั้นได้คงสถานภาพที่เป็นอยู่อย่างเปราะบาง อ๊อตโต้ยึดติดอยู่กับกฎระเบียบและเพื่อนบ้านของเขาก็ยอมรับว่า นั่นเป็นวิถีทางของอ๊อตโต้…จนกระทั่งครอบครัวใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ฝั่งตรงข้าม และเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งที่อ๊อตโต้คิดว่าเขารู้เกี่ยวกับวิถีทางของชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง

ตัวละครตัวนี้ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในหนังสือที่ขายดีระดับโลกเรื่อง A Man Called Ove โดยนักเขียนชาวสวีดิช เฟรดดริค แบ็คแมน หนังสือเล่มนี้ ที่มีผู้อ่านอย่างกว้างขวางทั่วโลก ติดอันดับลิสต์เบสต์ เซลเลอร์ของนิวยอร์ก ไทม์นาน 42 สัปดาห์ หลังจากนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในสวีเดน ที่ซึ่งมันกลายเป็นปรากฏการณ์ สถาบันภาพยนตร์สวีดิชยกย่องให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์สวีดิชที่มีผู้ชมสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสาม นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลออสการ์ ซึ่งรวมถึงสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
หลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์สวีดิชเรื่องนี้และนิยายเรื่องนี้ในอเมริกา ผู้อำนวยการสร้างเฟรดดริค วิคสตรอม นิคาสโทรก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาพยนตร์เรื่องนี้ในแบบอเมริกัน ในตอนที่ริต้า วิลสันและแฮงค์ได้ชมภาพยนตร์สวีดิชเรื่องนี้ พวกเขาก็ติดต่อไปที่นิคาสโทร และผู้อำนวยการสร้างกลุ่มนี้ก็ได้มาร่วมมือกัน โดยมีแฮงค์นำแสดงและเอสเอฟ สตูดิโอส์ (ผู้อำนวยการสร้างและให้เงินทุนสนับสนุนภาพยนตร์สวีดิชเรื่องนี้) เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มตัว

“มีอะไรมากมายในเรื่องราวนี้ที่ถูกใจฉันค่ะ” วิลสันกล่าว “ธีมของการค้นพบความหวัง การค้นพบความเป็นชุมชนเดียวกันจากกลุ่มคนที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สุดและการเรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่นๆ ที่อาจจะแตกต่างจากเรา กระทบใจฉันมากค่ะ บวกกับการที่มันมีธีมที่จริงจังอย่างเช่น ในชีวิต แม้แต่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด เราก็ยังคงหัวเราะได้ องค์ประกอบของแสงที่สาดส่องทะลุความมืดเข้ามาทำให้เรามีความหวัง และพวกเราทุกคนต่างก็ต้องการความหวังเล็กๆ นั้นค่ะ”

“ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง คุณมักมองหาบางสิ่งที่จะโดนใจคุณเสมอ ที่จะทำให้คุณคิดว่า ‘ฉันจะต้องสร้างหนังเรื่องนี้ให้ได้’ น่ะค่ะ” วิลสัน ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ร่วมกับแฮงค์และแกรี โกทซ์แมน หุ้นส่วนจากเพลย์โทนของเขา รวมถึงเฟรดดริค วิคสตรอม ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์สวีดิชด้วยเช่นกัน กล่าวต่อ “ก็เหมือนกับผู้อำนวยการสร้างทุกๆ คนที่มองหาบทเยี่ยมๆ สำหรับนักแสดง ใครจะไม่อยากได้ทอม แฮงค์มาเป็นนักแสดงนำของพวกเขาล่ะคะ ฉันรู้สึกว่าทอมเป็นคนที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับการแสดงบทตัวละครตัวนั้นค่ะ”

สำหรับวิลสัน ตัวละครตัวนี้ผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ของคอเมดีและดรามา ที่เธอต้องการจะเห็นเขานำมาสู่โรงภาพยนตร์ “ทอมเริ่มต้นด้วยผลงานคอเมดี และฉันก็ถามเขาว่า ทำไมเดี๋ยวนี้เขาถึงไม่ค่อยแสดงคอเมดีเลยล่ะ งานของเขาน่ะเหลือเชื่อเลย แต่มันมีแต่ดรามา แล้วเขาก็ตอบว่า ‘เป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะเจอโปรเจ็กต์ที่มีความคิดอ่านแบบคอเมดีที่ใช่’ แต่หนังเรื่องนี้ตรงกับตัวตนของเขาในฐานะนักแสดง และก็ยังตรงกับสิ่งที่เขาชื่นชอบจะนำเสนอ รวมถึงมุมมองคอเมดีที่ใช่ด้วยค่ะ”

“ทอม แฮงค์เป็นนักแสดงที่เก่งกาจ เขาเป็นไอคอนครับ” มาร์ค ฟอร์สเตอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าว “เขาเป็นคนพิเศษสุด ทุกบทที่เขาเล่น คุณจะเชื่อในตัวเขา เพราะเขามีหัวใจที่เหลือเชื่อ ที่ทำให้คุณเข้าถึงความรู้สึกของเขาได้ เขามาจากคอเมดีและเก่งในเรื่องการแสดงตลกเจ็บตัว ลักษณะการเคลื่อนไหวและจังหวะของเขายอดเยี่ยม แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็พิเศษสุดในฐานะนักแสดงดรามาด้วยเช่นกัน บทบาทของเขาทำให้เขาสามารถผสมผสานทักษะทั้งสองแบบนี้เข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้อ๊อตโต้เป็นบทบาทที่ไม่เหมือนใคร คุณจะเข้าใจเขา คุณจะหัวเราะเขา คุณจะหัวเราะไปกับเขา และคุณจะร้องไห้ให้กับสิ่งที่เขาเผชิญครับ”

ความคิดอ่านด้านคอเมดีนั้นได้ผสมผสานกับคำถามสำคัญบางประการในชีวิตที่จะนำอารมณ์ที่แท้จริงเข้ามา ตามที่วิลสันได้ชี้ให้เห็นว่า “เรื่องราวนี้มีความเป็นสากลเหลือเกิน มันเล่าถึงอะไรหลายๆ อย่างที่หลายๆ คนกำลังเผชิญ เป้าหมายของเราคืออะไร ทำไมเราถึงอยู่ตรงนี้ เราอยากจะได้อะไรจากชีวิตนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงมุมมองของเราเกี่ยวกับผู้คนรอบตัวเราอย่างไรน่ะค่ะ”

ผู้ควบคุมงานสร้าง เรเน วูลฟ์ หุ้นส่วนการอำนวยการสร้างของมาร์ค ฟอร์สเตอร์ กล่าวว่า การผสมผสานระหว่างคอเมดีและคำถามสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจผู้กำกับผู้นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยกำกับภาพยนตร์ที่หลากหลายมาแล้วตั้งแต่ Finding Neverland ไปจนถึงภาพยนตร์เจมส์ บอนด์เรื่อง Quantum of Solace “มาร์คเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกับนักแสดงเพื่อดึงเอาความจริงและความตรงไปตรงมาออกมาจากฉากหนึ่งๆ” ผู้ควบคุมงานสร้างเรเน วูลฟ์กล่าว “การได้เห็นเขาและทอมทำงานด้วยกันเพื่อพัฒนาตัวละครอ๊อตโต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของคอเมดีและดรามา เป็นความสุขอย่างแท้จริงค่ะ ทอมและมาร์คมีภาษาสร้างสรรค์ร่วมกันในกองถ่ายในแบบที่เป็นเรื่องงดงามจริงๆ ที่ได้เห็นค่ะ”

“ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะที่จะสร้างหนังที่มีทั้งความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สื่อสารกับผู้ชมที่เป็นสากลด้วย” วูลฟ์กล่าวต่อ “ในแง่หนึ่ง ตัวอ๊อตโต้ก็เป็นเหมือนพวกเราทุกคนนิดๆ อ๊อตโต้เหมือนกับแชปลินอยู่บ้างตรงที่เขาสะท้อนถึงสิ่งที่คนส่วนมากในโลกกำลังรู้สึกอยู่ในปัจจุบันนี้ ความรู้สึกของความต้องการที่จะเชื่อมโยงเข้าหากันและกันแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน นั่นเป็นพรสวรรค์พิเศษของมาร์ค เขามองเห็นทันทีว่าแม้ว่าหัวใจของ A Man Called Otto จะเป็นการศึกษาตัวละคร แต่มันก็ยังเป็นเรื่องราวที่จะสื่อสารกับผู้ชมทุกหนทุกแห่งด้วยค่ะ”

“องค์ประกอบตลกของเรื่องราวนี้กระทบใจพวกเราทุกคนเพราะพวกมันทั้งตลกและมีความเป็นมนุษย์มากเหลือเกินครับ” ฟอร์สเตอร์กล่าว “พวกเราต่างก็รู้สึกโกรธในบางครั้ง และเราก็มองเห็นเรื่องแบบนั้นในตัวอ๊อตโต้ มีคนมากมายแค่ไหนที่รู้สึกโกรธเวลาอยู่บนท้องถนน นั่นก็ไม่ได้ห่างไกลจากตัวอ๊อตโต้เลยครับ”

การแปลงเรื่องราวนี้สู่อเมริกาเป็นทั้งความท้าทายและพัฒนาการตามธรรมชาติ “เราอยากจะสร้างหนังเรื่องนี้ในเวอร์ชันที่เป็นอเมริกันมากๆ” นิคาสโทรกล่าวต่อ “มีธีมมากมายที่เรารู้สึกว่าเข้ากับยุคสมัยของเรา ทั้งความเชื่อมโยง ความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน การปล่อยวางจากอดีตและการโอบกอดชีวิตน่ะครับ”

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่สิ่งที่ทำให้อ๊อตโต้หงุดหงิด แต่มันเป็นการที่เขามองเห็นอย่างชัดเจนถึงวิถีทางที่โลกใบนี้สามารถเป็นได้ ในแบบที่จะดีกว่าสำหรับทุกคน และกลุ่มประชากรจำนวนมหาศาลที่ใช้ทางลัด ที่ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไป “เขาแตกต่างจากคนขี้หงุดหงิดหลายๆ คนตรงที่เขาไม่ได้พยายามจะปกป้องหรือรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ของตัวเอง” แฮงค์อธิบาย “อ๊อตโต้ต้องการสมดุลและความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนที่อยู่บนถนนสายเดียวกัน และวิธีที่ดีที่สุดในการแบ่งปันถนนสายนั้นร่วมกันคือการดูแลรักษามันเพื่อที่ทุกคนจะสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้น่ะครับ”

“ทุกครั้งที่มีคนอ่านบทหนังเรื่องนี้ หรือคุยกับผมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ พวกเขาจะบอกว่าพวกเขารู้จักคนอย่างอ๊อตโต้” เดวิด มากี้ ผู้กลับมาร่วมงานกับมาร์ค ฟอร์สเตอร์อีกครั้งหลังจากที่ทั้งคู่ได้ร่วมงานกันใน Finding Neverland ตั้งแต่ช่วงที่พวกเขาเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ กล่าว “พวกเขาต่างก็มีใครซักคนในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นลูกพี่ลูกน้อง หรือคุณปู่ คนที่อารมณ์ร้าย หัวดื้อ หรือหัวรั้น บางครั้ง ก็ในแบบที่น่าหงุดหงิด บางครั้ง ก็ในแบบที่ตลกขบขัน แต่ลึกลงไปแล้ว พวกเขาก็เข้าใจว่าคนที่พวกเขาห่วงใยใส่ใจจริงๆ นั้นคือคนที่มีหัวใจจริงๆ ในกรณีของผม แม้ว่าพ่อของผมจะเป็นคนที่แตกต่างออกไปมากๆ แต่ผมก็ตระหนักได้ถึงความอารมณ์ร้ายเย็นชาในตัวเขาตอนที่เกิดอะไรผิดพลาดขึ้นมาน่ะครับ”

และสิ่งต่างๆ ก็เกิดผิดพลาดขึ้นมาสำหรับอ๊อตโต้ “เขาใช้ชีวิตเหมือนว่ามันเป็นพิธีกรรม แล้วจู่ๆ ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปสำหรับเขา” แฮงค์กล่าว “ภรรยาของเขาจากไปแล้ว เขาถูกบีบให้ต้องเกษียณ มีเพื่อนบ้านใหม่ๆ ย้ายเข้ามา เขารู้สึกเหมือนว่าสิ่งเดียวที่เขาหลงเหลืออยู่คือกิจวัตรประจำวันของเขา และตอนนี้ เขาก็คิดว่าเขากำลังต่อสู้สงครามครั้งสุดท้ายของเขา เพื่อต่อต้านความไร้การประนีประนอมของโชคชะตาครับ”

“สิ่งที่อ๊อตโต้ต้องรับมือจริงๆ คือเวลา เวลาที่เคลื่อนผ่านอย่างไร้การประนีประนอมและเวลาก็กลายเป็นทั้งตัวร้ายและพระเอกของหนังเรื่องนี้ครับ” แฮงค์กล่าว “อ๊อตโต้เกลียดการเคลื่อนผ่านของช่วงเวลานั้น เขาต่อต้านความจริงที่ว่าถึงเวลาที่เขาจะต้องเกษียณแล้ว เขาไม่เห็นคุณค่าความจริงที่ว่า ภรรยาของเขาแก่ตัวลงและเธอก็เกิดป่วยเป็นโรคร้ายขึ้นมา ทำให้เวลาชีวิตของเธอหมดลงน่ะครับ”

“และตอนนี้ เขาก็พยายามเร่งเวลา เพื่อยุติทุกอย่างสำหรับตัวเอง ให้ได้ไปอยู่กับเธอ” ฟอร์สเตอร์กล่าว “แต่คุณทำแบบนั้นไม่ได้”

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาขี้หงุดหงิด แฮงค์กล่าว เมื่อซอนยา ภรรยาของเขาจากไป – มันเป็นการขอความรักที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนออย่างอบอุ่นในฉากแฟลชแบ็ค – อ๊อตโต้ได้สูญเสียความอ่อนหวานที่ทำให้ชีวิตคู่ควรกับการใช้ชีวิต “เขารู้ว่าตัวเขาแตกต่างได้เพราะซอนยา” แฮงค์กล่าว “เขารู้ว่าชีวิตของเขาสมบูรณ์มากขึ้น เขารู้ว่าเขาได้เข้าถึงวิธีการใหม่ๆ ในการคิด การพูดคุย การกิน ในแบบที่เขาไม่เคยคิดสงสัยที่จะทำมาก่อน หากเขาไม่ได้พบกับรักที่แสนพิเศษสุดนี้ในชีวิตของเขา เขาไม่ได้มีความเปิดกว้างจนกระทั่งเขาได้แต่งงานกับคนที่เปิดกว้าง เขาไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นจนกระทั่งเขาได้พบกับคนที่สอนเขาว่ามันเป็นเรื่องง่ายดายแค่ไหนที่จะเห็นอกเห็นใจใครซักคนและเมื่อเธอคนนั้นจากไป เขาก็คิดว่าเขาจะไม่มีวันได้สิ่งนั้นกลับคืนมาแล้ว และในช่วงเริ่มแรกของหนังเรื่องนี้ เขาก็พยายามจะเร่งเวลาตัวเอง แต่เวลาก็ดูแลตัวมันเอง คุณไม่สามารถสู้กับมันได้ เขาใช้ชีวิตไปอีกวันและจากวันที่เลวร้าย เขาก็ได้เจอกับวันที่ดีกว่าเดิมครับ”

เวลาได้ดูแลตัวมันเองด้วยการปรากฏตัวของเพื่อนบ้านใหม่ ผู้นำอ๊อตโต้ไปสู่วันที่ดีกว่าเดิมแม้เขาจะต่อต้านอย่างไรก็ตาม “มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่สำหรับเวลาส่วนที่เหลือในชีวิตของเขา” แฮงค์กล่าว ไอเดียในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนที่อยู่ใกล้คุณที่สุด อย่างเพื่อนบ้านของคุณ ดูเหมือนจะเป็นไอเดียที่แฮงค์เข้าใจดี เพราะครั้งสุดท้ายที่เขาถ่ายทำในพิตส์เบิร์ก ก็เพื่อเนรมิตชีวิตให้กับเฟร็ด โรเจอร์ส เพื่อนบ้านคนดีของชาวอเมริกัน ด้วยการแสดงของเขาใน A Beautiful Day in the Neighborhood

“สิ่งที่เติมเต็มช่องว่างในชีวิตของเราคือกันและกัน ตัวพวกเรา เพื่อนบ้านของเราครับ” แฮงค์กล่าว “แม้ว่าคุณจะไม่ชอบกันและกัน แม้ว่าคุณจะมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ศาสนา ประเพณีหรือการเมือง ไม่ช้าก็เร็ว พวกเขาก็จะต้องการความช่วยเหลือจากคุณและคุณก็จะต้องการความช่วยเหลือของพวกเขา ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะไล่อากาศออกจากหม้อน้ำของคุณยังไง แล้วคุณจะขอความช่วยเหลือจากใคร ในตอนที่เกิดพายุทอร์นาโดขึ้น อะไรคือสิ่งแรกที่เกิดขึ้น เพื่อนบ้านก็จะออกมาพร้อมกับเลื่อยไฟฟ้าและรถบรรทุกขนของครับ A Man Called Otto นำเสนอไอเดียนั้นออกมา มันเป็นหนังเกี่ยวกับชุมชนและเป็นหนังเกี่ยวกับครอบครัวครับ”

“ทั่วโลก ผู้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและมีความแบ่งแยกกันมากขึ้น เราไม่ได้ผูกพันกับเพื่อนบ้าน หรือชุมชนของเรา ผมก็เลยคิดว่าไม่มีเวลาไหนที่เหมาะกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความผูกพันกันของมนุษย์เรื่องนี้เท่านี้อีกแล้ว” นิคาสโทรกล่าว
ครอบครัวใหม่ที่ย้ายมาอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนคือมาริโซล (รับบทโดยมาเรียนา เทรวิโน นักแสดงชาวเม็กซิกัน), ทอมมี (มานูเอล การ์เซีย-รูลโฟ) สามีของเธอและลูกสองคนของพวกเขา แอ็บบี้และลูนา (และอีกคนกำลังจะเกิดมา) และไม่ว่าอ๊อตโต้จะแสดงท่าทีขี้หงุดหงิดแค่ไหน พวกเขาก็ยังคงกลับมาอยู่เรื่อย “พวกเขาไม่กลัวอ๊อตโต้ครับ” แฮงค์กล่าว “พวกเขาชื่นชมสิ่งที่เขานำมาสู่ย่านที่พักอาศัยนี้และเข้าใจว่าเนื้อแท้แล้วเขาเป็นคนยุติธรรม ผมคิดว่าอ๊อตโต้เหมือนถูกหวยเมื่อมาริโซลย้ายเข้ามาอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนของเขา เพราะมาริโซลเป็นคนช่างสงสัย เธอรักการเข้าสังคม เธอเปิดกว้าง และเธอก็แสดงความชื่นชอบของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่สำหรับคนอย่างอ๊อตโต้ครับ”

“ความสัมพันธ์ระหว่างอ๊อตโต้กับมาริโซลเป็นหัวใจของหนังเรื่องนี้ครับ” ฟอร์สเตอร์กล่าว “มาริโซลเป็นตัวละครที่น่ารักและวิเศษสุด มีความขัดแย้งที่แสนตลกเกิดขึ้นระหว่างพวกเขาทันที เพราะพวกเขาต่างก็เป็นตัวละครหัวรั้น ที่ไม่ยอมรับฟังคำปฏิเสธ เรียกได้ว่าพวกเขาเป็นกระจกสะท้อนกันและกันครับ และด้วยความที่พวกเขาเป็นกระจกที่สะท้อนกันและกันนั่นเองที่ทำให้พวกเขาทำให้อีกฝ่ายมีชีวิตชีวาขึ้นมา เธอเป็นกุญแจที่ไขหัวใจของเขาจริงๆ ครับ”

“ครอบครัวของเธอนำชีวิต ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก เสียงดัง ความสุข และกิจกรรมประจำวันในการมีชีวิตอยู่ บุกเข้าไปในชีวิตที่ปิดกั้นของอ๊อตโต้ค่ะ” เทรวิโนกล่าว “เธอดึงดันกับความพยายามที่จะสื่อสารกับเขา ไม่ใช่ในแบบรุกราน แต่เป็นในแบบที่ทำให้ตัวเธอเองอยู่ตรงนั้นเพื่อสร้างความผูกพันกับผู้คนน่ะค่ะ”

“มุมมองของอ๊อตโต้ได้เปลี่ยนแปลงไประหว่างเรื่อง” เทรวิโนกล่าวต่อ “ในตอนเริ่มแรก เขาไม่รู้ว่าจะรับมือกับเธอยังไง ความตรงไปตรงมาแบบขวานผ่าซากของเธอน่ะครับ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นความเปิดกว้างต่อสิ่งที่ชีวิตนำมา และเขาก็เริ่มยอมจำนนต่อพลังชีวิตนี้ครับ”

เทรวิโนรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ ไม่ใช่เพียงเพราะโอกาสในการได้แสดงประกบแฮงค์เท่านั้น แต่ยังเพราะส่วนผสมที่ไม่เหมือนใครระหว่างอารมณ์ขันและสถานการณ์ดรามาในเรื่องราวนี้ที่ให้ความรู้สึกราวกับว่าดึงเอามาจากชีวิตจริงด้วย “ฉันคิดว่าส่วนใหญ่แล้ว คอเมดีจะมาจากที่ที่จริงจังมากๆ หรือกระทั่งเจ็บปวดด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลส่วนตัวหรือทางสังคมน่ะค่ะ” เธอกล่าว “คอเมดีและดรามาในชีวิตมักจะปะปนกันเสมอ เพราะเรามักจะสลับกันเจอกับทั้งสองอย่างนั้นเสมอในการยอมรับและเยียวยาชีวิตน่ะค่ะ” เทรวิโนยังกล่าวเสริมด้วยว่า ตัวละครเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นในแบบที่ไม่ได้สะเทือนอารมณ์หรือหวานเอียนเกินไป “พวกเขาน่ารักอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวค่ะ” เธอกล่าว

“สำหรับผู้กำกับ คุณจะรู้สึกโชคดีมากๆ เมื่อคุณมีนักแสดงสองคนที่มีความเชื่อมโยงกันเชิงศิลป์ที่แท้จริงเหมือนอย่างทอมและมาเรียนา” ฟอร์สเตอร์กล่าวเสริม “พวกเขายกระดับสิ่งที่อยู่ในหน้ากระดาษและเนรมิตเวทมนตร์ออกมาบนหน้าจอ มันทำให้หัวใจคุณเปิดกว้าง และมันก็ทำให้คุณหัวเราะ ทำให้คุณร้องไห้ ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้วครับ”
สำหรับบททอมมี แฮงค์เสนอชื่อมานูเอล การ์เซีย-รูลโฟ ผู้ที่เขาเคยร่วมแสดงด้วยมาแล้วใน Greyhound ในฐานะนักแสดงสมทบ ผู้มักถูกเลือกไปรับบทหนุ่มกล้าม ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบในภาพยนตร์อย่าง The Magnificent Seven และ 6 Underground เขาก็ตอบรับโอกาสที่จะได้รับบทคุณพ่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ภายใต้หนวดเฟิ้มแบบเป็นมิตรและผมหยักศกนั้น

“ผมตกหลุมรักเขาเพราะเขาเป็นคนน่ารักเหลือเกินครับ” การ์เซีย-รูลโฟกล่าว “เขาเป็นคนใจกว้าง ทุ่มเทให้กับครอบครัวมากๆ เขาเป็นตัวละครที่คิดว่าเขาเจ๋งมากๆ และเป็นช่างฝีมือที่เก่งกาจ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เขาเป็นคนซุ่มซ่ามและไม่ค่อยจะทำตัวเป็นประโยชน์ซักเท่าไหร่ อ๊อตโต้คิดว่าเขาเป็นพวกไม่เต็มเต็ง ในขณะที่ทอมมีทึ่งกับอ๊อตโต้ เหมือนอย่างตอนที่ทอมมีไม่สามารถจอดรถเทรลเลอร์แบบขนานได้ แต่อ๊อตโต้ทำได้ในครั้งเดียว สำหรับเขา อ๊อตโต้เป็นทุกอย่างครับ”
เมื่อมาริโซลเข้ามาในชีวิตเขา อ๊อตโต้ก็เริ่มดึงดูดคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือของเขา ทั้งแมวจรที่แทบเอาชีวิตไม่รอดจากท้องถนนในฤดูหนาว และวัยรุ่น – อดีตนักเรียนคนหนึ่งของซอนยา – ผู้ถูกไล่ออกจากบ้านและไม่มีที่จะไป “นั่นเป็นวิธีที่เขาปล่อยวางครับ” แฮงค์กล่าว “มาริโซลเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ซอนยาเป็น เธอเอื้ออารีและดีต่ออ๊อตโต้แม้ว่าเขาจะดีดดิ้นกรีดร้องระหว่างนั้นแค่ไหนก็ตาม ในตอนที่เขาคิดว่าเขาจะไม่เจอกับเรื่องไร้สาระพรรค์นี้แล้ว แบบที่มีเรื่องซวยๆ เรื่องแล้วเรื่องเล่าเกิดขึ้นอย่างที่โลกใบนี้เป็นน่ะครับ คนพวกนี้ก็เข้ามาในชีวิตเขาและเขาก็ปล่อยวางกับมันครับ”

“เขาเริ่มต้นด้วยความรู้สึกขมขื่นมากๆ เขาคิดว่ามนุษย์เราช่างโง่เขลาและเขาก็สิ้นหวังกับชีวิต และระหว่างเรื่อง เขาก็เปลี่ยนแปลงไปจากความรู้สึกนั้นสู่การได้พบเพื่อนใหม่ๆ และได้สร้างสัมพันธ์กับผู้คนในละแวกที่พักอาศัยของเขา” นิคาสโทรกล่าว “เขามาสู่จุดที่เขาตระหนักได้ว่าเขาสามารถใช้พลังงานของเขาเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้”

“ตอนนี้เขามีแมวขี้เรื้อนที่นอนอยู่บนเตียงเขา แต่เขาก็มีใครซักคนที่เขาสามารถคุยด้วยได้ในตอนเช้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่รู้ตัวเลยว่าเขาคิดถึงมัน แม้ว่าใครซักคนที่ว่าจะเป็นแค่แมวก็ตาม” แฮงค์กล่าว “เขาตระหนักได้ถึงความดีงามของชีวิตที่เขาโชคดีพอที่ได้บังเอิญมาเจอกับมัน อย่างที่เขาเจอกับซอนยาน่ะครับ”

สำหรับทีมผู้สร้าง การจัดเฟรมของฉากแฟลชแบ็คและซีเควนซ์ปัจจุบันเป็นหนึ่งในความท้าทายเชิงสร้างสรรค์ที่สำคัญ “เราจะเล่นกับโลกทั้งสองใบนั้น แฟลชแบ็คอดีตของเขา ความทรงจำเกี่ยวกับความสุขในชีวิตของเขากับซอนยา ยังไงดีล่ะคะ” ผู้ออกแบบงานสร้าง บาร์บารา หลิง ผู้เพิ่งได้รับรางวัลออสการ์จากงานออกแบบของเธอใน Once Upon a Time… in Hollywood กล่าว

สำหรับ A Man Called Otto หลิงจะต้องออกแบบยุคสมัยสองยุค ทั้งลุคสีเขียวขุ่นและสีส้มสนิมแบบยุค 70s และ 80s ในฉากที่ย้อนอดีตไปสู่อ๊อตโต้วัยหนุ่ม ซึ่งจะค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นสีเหล่านั้นในแบบที่อ่อนกว่าและเป็นธรรมชาติมากกว่าในปัจจุบัน

ในการทำให้สีทั้งสองแบบนั้นอยู่ร่วมกันได้ ฟอร์สเตอร์ได้ร่วมงานกับหลิงและผู้กำกับภาพ มาเธียส โคนิกไวเซอร์ ในการทำให้ความทรงจำเหล่านั้นมีชีวิตขึ้นมาผ่านทางการสะท้อนเงาและการใช้แสง ไอเดียก็คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อันไหนก็ตามก็สามารถจุดประกายความทรงจำสำหรับอ๊อตโต้ได้ทั้งนั้น “มาเธียสทำงานกับไอเดียของเงาสะท้อนและการที่สิ่งต่างๆ สะท้อนกันและกันน่ะค่ะ” หลิงกล่าว “เพื่อที่ว่าคุณจะสามารถอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง และด้วยเงาสะท้อนจากกระจกหรือแก้ว คุณก็จะได้เห็นโทนของอีกยุคสมัยหนึ่ง มาเธียสมีไอเดียที่วิเศษสุดในการทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายนั้นขึ้นเรื่อยๆ และการที่เราสามารถเล่นกับโทนทั้งสองแบบนั้นได้พร้อมๆ กัน”

สำหรับภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการค้นพบการเป็นชุมชนเดียวกันกับเพื่อนบ้านของตัวเอง การเลือกสถานที่สำหรับบ้านของอ๊อตโต้ (และบ้านของมาริโซลและทอมมี ที่อยู่ถนนฝั่งตรงข้ามด้วย) เป็นกุญแจสำคัญ “เราพบเพชรเม็ดงามในพิตส์เบิร์กค่ะ” หลิงกล่าว “ย่านที่พักอาศัยนั้นถูกสร้างขึ้นอย่างงดงามในแบบที่พวกเขาเรียกว่า บ้านร่วม คือการที่บ้านหรืออพาร์ทเมนต์ทุกหลังเชื่อมติดกัน แต่ให้ความรู้สึกเหมือนแยกจากกันโดยสิ้นเชิง มันเป็นสภาพแวดล้อมในการพักอาศัยที่มีเอกลักษณ์มากๆ และให้ความรู้สึกของเมืองแห่งนี้อย่างมากด้วยค่ะ”

สำหรับอ๊อตโต้ มันเป็นอีกหนึ่งเครื่องย้ำเตือนที่ทำให้เขาเห็นว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปนอกเหนือจากการควบคุมของเขาอย่างไร ด้วยการที่มีทาวน์เฮาส์แถวใหม่ๆ ถูกสร้างขึ้นมา “มันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาโกรธ เขารู้สึกว่ามันกำลังสูญเสียจิตวิญญาณ ด้วยการรื้อถอนสิ่งดีๆ ออก แล้วแทนที่ด้วยสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างลวกๆ กว่า และไม่แยแสเรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นการสร้างบ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้น่ะค่ะ” หลิงตั้งข้อสังเกต

สำหรับฉากแฟลชแบ็คที่อ๊อตโต้ตกหลุมรักซอนยาเมื่อแรกเห็นในตอนที่เธอรีบเร่งไปขึ้นรถไฟ ทีมผู้สร้างได้ตระเวนหาสถานีรถไฟที่ยังคงมีเสน่ห์จากหลายทศวรรษที่ผ่านมาหลงเหลืออยู่ “สถานีรถไฟคือที่ที่พวกเขาได้พบกันเป็นครั้งแรก เป็นเรื่องสำคัญมากที่มันจะต้องมีกลิ่นไอความรักอยู่” หลิงกล่าว “แต่การหาสถานีรถไฟกลายเป็นเรื่องยาก เพราะสถานีรถไฟส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นอพาร์ทเมนต์หรือสถานที่จัดงานต่างๆ ไปแล้วค่ะ”

พวกเขาพบสถานีที่พวกเขาต้องการในเมืองโทเลโด้ รัฐโอไฮโอ ที่ห่างจากพิตส์เบิร์กไปหลายชั่วโมง “มันถูกสร้างขึ้นมาในปี 1950 ด้วยความหวังที่จะทำให้การค้ารุ่งเรืองในแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นในย่านนั้น มันดูเหมือนกับว่าไม่มีใครแตะต้องมันมาตั้งแต่ปี 1950 ความงามของมันจะทำให้คุณต้องลืมหายใจไปเลยค่ะ โชคดีที่เมืองโทเลโด้มีความเอื้อเฟื้อและยินดีมากๆ ที่ให้เราได้มาถ่ายทำที่นี่น่ะค่ะ”

สถานที่ถ่ายทำเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะการถ่ายทำตามยุคสมัยยังจะต้องอาศัยการตกแต่งฉากและเครื่องแต่งกายทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงรถด้วย สำหรับหลิง ไม่เพียงแต่รถจะต้องเป็นรถเชฟวีเท่านั้น (อย่างกับว่าอ๊อตโต้จะขับรถอย่างอื่นอย่างนั้นแหละ) แต่รถพวกนั้นยังจะต้องมีโทนสีสันที่เข้ากับส่วนที่เหลือของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

รถที่เป็นตัวเลือกที่จำกัดเหล่านั้นมักจะอยู่ในครอบครองของเจ้าของที่หวงแหนพวกมันมากๆ แต่กลายเป็นว่าถ้าคุณต้องการจะใช้รถคลาสสิก มีคำมหัศจรรย์สองคำที่ใช้การได้ราวกับเวทมนตร์ “เราจะถามว่า ‘เราจะเช่ารถคุณได้มั้ย’ แล้วพวกเขาก็จะฮึดฮัดบอกว่าพวกเขาเท่านั้นที่จะขับมันได้ ‘ไม่หรอก คุณขับมันไม่ได้หรอก แต่อย่าห่วงไปเลย ทอม แฮงค์จะเป็นคนขับมัน’ จะมีมนุษย์คนไหนที่ได้รับความไว้วางใจมากไปกว่านี้ในโลกอีกมั้ย ‘อ๋อ หรอ น่าสนใจดีนะ ก็ได้’ น่ะค่ะ”
ผู้ที่แต่งดนตรีประกอบเรื่องคือผู้ได้รับการเสนอชื่อชิง 15 รางวัลออสการ์ โธมัส นิวแมน องค์ประกอบสำคัญของดนตรีประกอบของนิวแมนคือเพลงออริจินอล “Til You’re Home” ซึ่งฟอร์สเตอร์ขอให้ผู้อำนวยการสร้างริต้า วิลสันเป็นผู้แต่งและร้อง และนิวแมนก็ได้สอดแทรกองค์ประกอบสำคัญของเมโลดี้เพลงนี้เข้าไปในดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
ในตอนแรก วิลสันรู้สึกหวั่นใจ เพราะในฐานะผู้อำนวยการสร้างของเรื่อง เธอลังเลที่จะทำให้ฟอร์สเตอร์มาอยู่ในตำแหน่งที่เขารู้สึกว่าเขาถูกบีบให้ต้องใช้เพลงของเจ้านาย “ฉันแต่งเพลงมาตลอดสิบปีที่ผ่านมาและเคยแต่งเพลงสำหรับหนังอินดีมาก่อน มาร์คเองคุ้นเคยดีกับอัลบัมของฉัน ฉันรู้สึกซาบซึ้งและปลาบปลื้มกับโอกาสนี้ แต่ฉันก็ให้เขาสัญญาว่าจะตรงไปตรงมากับฉันถ้าเขาไม่อยากจะใช้เพลงของฉันน่ะค่ะ” วิลสันกล่าว “ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ความภักดีแรกของฉันคือความภักดีต่อตัวหนังและวิสัยทัศน์ของผู้กำกับค่ะ”

วิลสันเล่าถึงวิธีการที่เธอถ่ายทอดธีมของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาในบทเพลงว่า เธอนึกถึงความเห็นที่ปลอบประโลมใจจากเพื่อนคนหนึ่ง “ตอนที่พ่อของฉันเสีย เพื่อนสนิทพูดกับฉันว่า ‘การพูดคุยยังคงดำเนินต่อไป’ และคำพูดนั้นก็ติดอยู่ในใจฉันมาตลอด ฉันอยากจะแต่งเพลงที่กระตุ้นความรู้สึกแบบนั้น เพลงที่อาจฟังดูเป็นการพูดคุยระหว่างคนสองคน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้อยู่ในห้องเดียวกันก็ตาม”

ในการแต่งเพลงนี้ วิลสันได้ร่วมมือกับเดวิด ฮอดเจส ผู้ร่วมแต่งเพลง “ฉันกับเดวิดมักมีความคิดอ่านคล้ายๆ กันในเรื่องของสิ่งที่เราต้องการจะบอกทางดนตรีและเนื้อเพลงค่ะ” วิลสันกล่าว “นี่เป็นหนังเกี่ยวกับความลึกซึ้งของความรักและการที่ความรักยังคงดำรงอยู่แม้แต่หลังจากที่คนๆ นั้นจากโลกใบนี้ไปแล้ว ไอเดียอย่างหนึ่งที่ผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยคือความต้องการที่จะบอกใครซักคนเกี่ยวกับวันของคุณระหว่างรอให้เขากลับมาบ้าน บ้านที่เป็นสถานที่ที่ให้ความสบายใจและความสงบสุขน่ะค่ะ”

วิลสันร้องเพลงนี้คู่กับเซบาสเตียน ยาร์ทา “ฉันเชื่อว่าอ๊อตโต้สามารถร้องเพลงนี้ให้ภรรยาของเขา และเธอก็สามารถร้องมันให้กับเขาได้ด้วย” วิลสันกล่าว “มันเป็นวิธีที่ทั้งคู่จะได้อยู่ด้วยกันผ่านทางบทเพลงค่ะ”

ด้วยความที่ตัวละครมาริโซลและทอมมี สามีของเธอ มีบทบาทสำคัญต่อพล็อตของภาพยนตร์เรื่องนี้และความเปลี่ยนแปลงสำหรับตัวละครของอ๊อตโต้เหลือเกิน วิลสันจึงมองเห็นโอกาสที่พิเศษสุดในการนำเสนอตัวละครทั้งสองในบทเพลง ด้วยการขอให้ยาร์ทา ผู้ซึ่งเพลง ‘Dos Oruguitas’ ในเรื่อง Encanto ทำให้เธอหลงใหลเหลือเกิน มาเป็นคนร้องเพลงคู่กับเธอ “เขาตอบตกลง แต่เขามีเวลาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้นในตารางเวลาของเขา โชคดีที่วันนั้นอยู่ในลอสแองเจลิส มันเหมือนโชคชะตาดลบันดาลเลยล่ะค่ะ”

ฮอดเจสได้ร้องเพลงผสมอะคูสติกที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ “เป็นเรื่องพิเศษสุดเสมอที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งเพลงสำหรับหนังเรื่องหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังที่งดงามอย่าง A Man Called Otto ครับ” ฮอดเจสกล่าว “ตอนที่ผมกับริต้าเริ่มร่วมมือกัน แต่ละคำและเมโลดี้ของ Til You’re Home ดูเหมือนจะรอเราอยู่ เหมือนขั้นบันไดเล็กๆ บนเส้นทางไปสู่สิ่งที่เรื่องราวต้องการ ผมตื่นเต้นมากๆ ที่ได้แบ่งปันหนึ่งในเพลงโปรดของผมที่ผมได้มีส่วนร่วมในการแต่งในที่สุดน่ะครับ”


[ข่าวประชาสัมพันธ์]

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้