นับตั้งแต่ญี่ปุ่นปรับนโยบายหันมาเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างแดนมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แน่นอนว่าข้อดีหลัก ๆ คือการนำมาซึ่งรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทว่าหนึ่งในข้อเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ พอมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเยอะ จึงพบเห็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จากนักท่องเที่ยวเหล่านี้เยอะตามไปด้วย
ล่าสุดทางการรถไฟเอกชนของญี่ปุ่นก็ได้จัดทำแบบสอบถามออนไลน์กับประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,314 คน ถึงปัญหาที่ประสบพบเจอจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบนรถไฟ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 62.9% เคยได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่ไม่น่ารักจากนักท่องเที่ยวมาก่อน และด้านล่างนี้คือลิสต์ 10 อันดับพฤติกรรมที่สุดแสนไม่โอเค ซึ่งจัดอันดับโดยประชากรกลุ่มตัวอย่างครับ
อันดับ 10 – กินหรือดื่มบนขบวนรถไฟ (3.3%)
แม้ว่าตามสถานีรถไฟในญี่ปุ่นจะมีร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายข้าวกล่อง (เบนโตะ) ให้ผู้คนซื้อไปกินบนรถไฟได้ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่ารถไฟทุกประเภทจะสามารถขึ้นไปนั่งกินได้อย่างอิสระเสรีครับ คือถ้าหากเป็นรถไฟชินคันเซน รถด่วนพิเศษ (Limited Express) หรือขบวนตู้นอนก็คงไม่มีปัญหา แต่ในกรณีที่เป็นรถไฟใต้ดิน หรือรถไฟที่วิ่งระยะสั้นภายในเมือง ของที่เหมาะสมที่จะหยิบมากินจึงควรเป็นแค่ชิ้นพอดีคำ เช่น ลูกอมหรือขนมขบเคี้ยวกล่องเล็ก ๆ เท่านั้นพอ และที่สำคัญคือ อาหารที่นำมากินไม่ควรส่งกลิ่นแรงจนรบกวนผู้อื่นบนรถไฟด้วย
อันดับ 9 – นั่งบนพื้นรถไฟ (4.2%)
นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่อาจจะเดินทางไกลจนเมื่อยล้า แต่เมื่อขึ้นมาบนรถไฟกลับพบว่าไม่มีที่นั่งว่างเหลือเลย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเลือกทิ้งตัวลงไปนั่งกับพื้นแทน ซึ่งเป็นการเกะกะและรบกวนคนที่จะเดินหรือยืนบนรถไฟและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ ดังนั้นชาวต่างชาติ (ไม่เว้นกระทั่งคนไทย) ต้องพึงตระหนักว่าหากไม่มีที่นั่ง ก็ต้องทนยืนไปจนกว่าจะเจอที่นั่งว่าง หรือจนกว่าจะถึงที่หมายครับ
อันดับ 8 – ไม่ปฏิบัติตามป้ายแนะนำบนรถไฟ (4.4%)
บนรถไฟใต้ดินหรือรถไฟที่วิ่งระยะสั้นภายในเมืองมักจะมีติดป้ายที่ระบุว่า Priority Seat หมายถึงที่นั่งบริเวณจุดดังกล่าวควรสงวนไว้ให้สตรีมีครรภ์, คนสูงอายุ, ผู้พิการ หรือผู้ที่มีเด็กอ่อนมาด้วยได้นั่ง ซึ่งป้ายพวกนี้จะมีกำกับไว้อย่างน้อย 3-4 ภาษาให้นักท่องเที่ยงต่างชาติอ่านแล้วเข้าใจและปฏิบัติตาม แต่ก็จะมีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่โนสนโนแคร์ ฉันจะนั่งของฉันตรงนี้ ปล่อยให้คนญี่ปุ่นที่ผ่านมาเห็นเกิดความเอือมระอาเป็นประจำ ทางที่ดีควรทำตามป้ายที่เขาระบุไว้อย่างเคร่งครัดจะดีกว่าครับ เข้าทำนองเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามเนอะ
อันดับ 7 – ทิ้งขยะบนขบวนรถไฟ (5.9%)
ใครที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นมาบ้างคงพอทราบนะครับว่าถังขยะนั้นหายากมาก ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่นักท่องเที่ยวมักใช้และตัดสินใจทิ้งขยะบนขบวนรถไฟแทน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำจริง ๆ ก็คือ หากหาถังขยะไม่เจอก็ต้องเก็บขยะนั้นกลับไปทิ้งที่ห้องพักครับ การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำเลยสักนิด
อันดับ 6 – ท่านั่งรบกวนคนอื่น (9.6%)
นักท่องเที่ยวบางคนเวลาได้นั่งบนรถไฟมักไม่นั่งด้วยท่าที่เรียบร้อย บ้างก็จะนั่งแยกขา บ้างก็ยืดขาออกไปถึงทางเดิน เกะกะคนที่ยืนหรือจะเดินไปอีกจุดบนรถไฟ บ้างก็นั่งไขว่ห้างจนเท้าไปสะกิดคนที่นั่งข้าง ๆ เข้าใจว่าการนั่งท่าเรียบร้อยปกตินาน ๆ อาจจะเมื่อย แต่ขอให้ทนไปจนถึงที่หมายดีกว่าครับ นั่งแบบนั้นค่อยทำที่บ้านหรือห้องพักจะดีกว่า
อันดับ 5 – คุยโทรศัพท์ (10.3%)
ที่ญี่ปุ่นมักจะมีการเตือนด้วยป้ายหรือเจ้าหน้าที่รถไฟตลอดครับว่าให้ปรับโหมดมือถือของเราให้เป็นระบบสั่นทุกครั้ง เพื่อป้องกันเสียงโทรเข้าหรือเสียงข้อความเด้งเตือนไปรบกวนผู้อื่น รวมถึงไม่ควรพูดคุยโทรศัพท์ขณะอยู่บนรถไฟด้วย ต่อให้มีเหตุจำเป็นอย่างไร ก็รอถึงที่หมายแล้วค่อยโทรหากัน หรือใช้วิธีพิมพ์ข้อความส่งหากันแทนเอาครับ
อันดับ 4 – กีดขวางผู้คนที่กำลังขึ้น/ลงรถไฟ (16.5%)
ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน บริเวณชานชาลาของสถานีรถไฟในญี่ปุ่นจะคับคั่งไปด้วยผู้คน โดยบนชานชาลาจะมีการทำเครื่องหมายและป้ายกำกับไว้แล้วว่าต้องยืนรอตรงจุดไหน ดังนั้นจึงควรใส่ใจและปฏิบัติตาม ไม่ควรไปยืนขวางตรงกลางประตูรถขณะที่ผู้โดยสารกำลังเดินออกจากขบวน หรือถ้าเราอยู่ในรถไฟที่กำลังจอด แต่ถ้าเราไม่ได้ลงสถานีนั้นก็ไม่ควรไปยืนขวางคนที่เขากำลังจะออกด้วยครับ
อันดับ 3 – มารยาทไม่งามขณะเดินในสถานีรถไฟ (24.8%)
ปกติในสถานีรถไฟ ถ้าเป็นชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้คนมหาศาลเดินไปยังชานชาลาต่าง ๆ เป็นกลุ่มหรือแถวใหญ่ ๆ ซึ่งถ้ามีใครหยุดชะงักหรือเปลี่ยนเส้นทางฉับพลันก็จะพาลทำให้คนที่อยู่ด้านหลังเสียจังหวะหรือเสียกระบวนได้ โดยนักท่องเที่ยวหลายคนอาจจะไม่รู้วิถีปฏิบัติแบบคนญี่ปุ่น เลยอาจจะเผลอทำผิดพลาดกันบ้าง แต่หากรู้เรื่องนี้ไว้ก็จะดีที่สุด
อันดับ 2 – ถือหรือจัดวางกระเป๋าหรือสัมภาระของตัวเองไม่เหมาะสม (37.1%)
มารยาทที่ดีเวลาถือกระเป๋าหรือสัมภาระขณะขึ้นรถไฟที่ญี่ปุ่นคือ ถ้าเป็นเป้ประเภทสะพายหลัง ให้เปลี่ยนมาสะพายด้านหน้า หรือนำมาถือไว้กับมือแทน เพื่อไม่ให้เป้ไปรบกวนคนอื่นที่ยืนอยู่ด้านหลังและเราไม่สามารถมองเห็นนั่นเอง หรือถ้าเป็นพวกกระเป๋าเอกสาร กรณีที่เรานั่งอยู่ให้นำมาวางไว้บนตัก หรืออาจวางบนชั้นวางด้านบนแทน เป็นต้น
อันดับ 1 – พูดคุยเสียงดัง / ส่งเสียงภายในรถไฟ (51.8%)
พฤติกรรมที่ชาวญี่ปุ่นยี้ที่สุดเมื่อเห็นชาวต่างชาติกระทำบนรถไฟก็คือการพูดคุยเสียงดังนี่แหละครับ ต่อให้เราคุยด้วยภาษาที่เขาไม่เข้าใจก็ตาม อย่างน้อยควรรักษามารยาทด้วยการกระซิบคุยเบา ๆ เอา หรือพิมพ์หากันในระยะประชิดแทนก็ยังดี หากใครได้ไปเยือนญี่ปุ่นก็อย่าลืมปฏิบัติตามกันนะครับ
แปลและเรียบเรียงจาก
ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station