เมื่อเร็ว ๆ นี้ George R.R. Martin ผู้เขียนนิยายชุด A Song of Ice and Fire ต้นฉบับของภาพยนตร์ซีรีส์ Game of Thrones ที่หลายคนอาจรู้จักกันเป็นอย่างดี ได้เขียนแสดงความคิดเห็นบนบล็อกส่วนตัว โดยวิพากย์วิจารณ์ถึงการทำงานของคนในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยเฉพาะนักเขียนบท (Screenwriter) ที่มักดัดแปลงนิยายหรือวรรณกรรมต่าง ๆ ให้กลายเป็นภาพยนตร์ แต่กลับไม่ให้ความเคารพต้นฉบับ และดัดแปลงสร้างเนื้อหาเองใหม่ตามใจชอบ
เดิมทีคุณ Martin เคยพูดถึงประเด็นดังกล่าวกับ Neil Gaiman ซึ่งเป็นเพื่อนนักเขียนอีกคนหนึ่ง (มีผลงานเช่นคอมมิค The Sandman) ว่านักเขียนบทส่วนใหญ่ในวงการฮอลลีวูดนั้นมักสำคัญตัวเองผิด คิดว่าไม่จำเป็นต้องให้ความเคารพต่องานเขียนต้นฉบับที่กำลังดัดแปลงทำเป็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ทีวีก็ได้
ทว่าปัญหาปัจจุบันนอกจากจะไม่ได้ดีขึ้นแล้วยังแย่ยิ่งกว่าเก่า เพราะทุก ๆ ที่มีแต่นักเขียนบทและโปรดิวเซอร์ที่กระหายจะหยิบเอาผลงานเรื่องเยี่ยมแล้ว “นำมาทำเป็นของตัวเอง” อย่างไม่ไว้หน้าผู้ประพันธ์ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแค่ไหนก็ตาม เช่น Stan Lee, Charles Dickens, Ian Fleming หรือ J.R.R. Tolkien เป็นต้น
ที่สำคัญคือไม่ว่าผู้เขียนหรือผลงานดั้งเดิมนั้นจะเป็นที่เคารพหรือชื่นชอบมากแค่ไหน ก็ยังมีคนที่คิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่าและคว้าเอางานเหล่านี้มา “ปรับปรุง” โดยอ้างว่า “หนังสือก็ส่วนหนังสือ หนังก็ส่วนหนัง” ราวกับว่าทำอะไรที่ลึกซึ้ง ก่อนจะดัดแปลงเป็นเรื่องราวในแบบของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักแย่กว่าเดิม พังพินาศไปซะ 999 ครั้งจาก 1000 ครั้ง
อย่างไรก็ดีคุณ Martin เห็นว่านาน ๆ ทีก็ยังมีบางเรื่องที่ดัดแปลงมาจากหนังสือได้เป็นอย่างดีและสมควรได้รับคำชื่นชม เช่น “Shogun” ผลงานวรรณกรรมของ James Clavell ที่ทาง FX นำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ ที่ตอนแรกเขาสงสัยว่าจะทำออกมาอีกทำไมในเมื่อก่อนหน้านี้ก็มีซีรีส์เวอร์ชันปี 1980 ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว
กระนั้นพอคุณ Martin ได้ชมก็รู้สึกประทับใจ มองว่าผู้เขียนบทนั้นให้เกียรติต้นฉบับ จนออกมาดี ไม่พยายาม พร้อมชื่นชมนักเขียนบททั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าของซีรีส์นี้ที่ “ไม่ดัดแปลงแก้ให้เป็นผลงานของตัวเอง”
แปลและเรียบเรียงจาก
Variety
ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station