หลังจากที่กระแสของ Kimetsu no Yaiba ได้ปัดเป่าความน่ากลัวของ COVID-19 จนทำให้ญี่ปุ่นเกิความคึกคัก ถึงแม้ว่าตัวประธานสตูดิโอ Ufotable จะเคยมีประเด็นหนีภาษีมูลค่ากว่า 140 ล้านเยนไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่าน จนในช่วงนั้นมีหลายคนกังวลว่า Kimetsu no Yaiba จะฉายไม่จบ
แต่เรื่องนั้นก็ผ่านมาได้ด้วยดี เพราะ ทีมงานไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันในเรื่องนี้ทำให้สามารถฉายอนิเมะต่อไปได้ตามกำหนด และ มันก็ดังเป็นพลุแตกในวลาต่อมา จนกระทั่งได้สร้าง ภาพยนตร์ Kimetsu no Yaiba Mugen Ressha-hen กวาดรายได้ไปกว่า 3 หมื่นล้านเยนก็ทำให้เงินภาษีจำนวนนี้ดูเล็กน้อยไปเลย
แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าฝ่ายผู้ที่ลงทุนจะได้กำไรมหาศาล เบื้องหลังของผู้ที่เสียหยาดเหงื่อและแรงกายเพื่อสร้างสรรค์ผลงานอนิเมะอย่าง “อนิเมเตอร์” แท้จริงแล้วพวกเขาจะมีรายได้เท่าไรกันนะ?
** เรื่องราวนี้เป็นการแปลมาจาก news.yahoo.co.jp
สำหรับผู้ที่จะมาให้ข้อมูลรายได้ของอนิเมเตอร์ในครั้งนี้คือคุณ Nakamura Daigo (นามสมมติ) อายุ 43 ปี อดีตอนิเมเตอร์ผู้วาดภาพเคลื่อนไหวแต่ออกจากการเป็นอนิเมเตอร์เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานบริษัททั่วไป และทำงานพิเศษวาดภาพต้นฉบับของอนิเมะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
“ในอุตสาหกรรมอนิเมะ ไม่ว่าผลงานจะประสบความสำเร็จแค่ไหน รายได้ของผลงานก็จะตกสู่ประธานของบริษัทและโปรดิวเซอร์ อนิเมเตอร์ จะถูกปฏิบัติในฐานะรูปแบบ การจ้างงานแต่ละจ็อบ ไม่ใช่พนักงานประจำ ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วจะไม่มีผลตอบแทนจากรายได้ของอนิเมะ
หากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะมีการกำหนดราคาต่อชิ้นงานปกติให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้ว่าจะเป็นอนิเมเตอร์ฝีมือดีที่วาดได้อย่างมีคุณภาพและอนิเมเตอร์ระดับซูเปอร์เอซที่มีความเร็วในการทำงานสูง หรือทำงานหลายร้อยชั่วโมงต่อเดือน แต่รายได้ต่อเดือนก็ตกแค่ประมาณ 1 ล้านเยน (ประมาณ 3 แสนบาท) เท่านั้น”
งานของอนิเมเตอร์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ “ผู้วาดภาพต้นฉบับ” และ “ผู้วาดภาพเคลื่อนไหว” ที่วาดเคลื่อนไหวตรงช่องว่างระหว่างภาพต้นฉบับแต่ละภาพ โดยผู้ที่มีประสบการณ์น้อยจะถูกมอบหมายให้เป็นผู้วาดภาพเคลื่อนไหวก่อน เมื่อทักษะเพิ่มมากขึ้นก็จะเลื่อนขั้นมาเป็นผู้วาดภาพต้นฉบับ
“ตอนที่ผมยังเป็นมือใหม่ มันเป็นเรื่องบ้าที่ผมต้องทำงานมากกว่า 400 ชั่วโมงต่อเดือน และเบิ้ล 2 เท่าถ้าทำงานใกล้เส้นตาย ราคาต่อ 1 ตอนคือประมาณ 170 เยน รายได้ต่อเดือนมากที่สุดคือ 1.7 แสนเยน (ประมาณ 5 หมื่นกว่าบาท) หลังจากผ่านไปหลาย 10 ปีก็มีการเพิ่มราคาเป็น 240 เยนต่อตอน และผมก็ทำงานหนักจนรถพยาบาลต้องมาแบกหามผมไป ในที่สุดผมเลิกทำงานอนิเมเตอร์เป็นงานหลัก”
ปัจจุบันคุณ Nakamura ได้ทำงานพิเศษเป็นผู้วาดภาพต้นฉบับ โดยจำนวนคัตต่อเดือนนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 17 คัต
” ในวันทำงานผมจะมีการวาดภาพต้นฉบับให้กับ TV อนิเมะอย่างเดียว โดยราคาต่อ 1 คัตก่อนจะเปลี่ยนมุมกล้องนั้นราคาจะอยู่ที่ 4000 เยน (ประมาณ 1,2XX บาท) หากเป็นคัตที่ไม่ค่อยมีการมีเคลื่อนไหว มีแค่ตัวละครพูดเฉย ๆ จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หากเป็นฉากซับซ้อนที่มีการวิ่งหรือต่อสู้จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน ถึงมันจะดูไม่ค่อยเข้าท่า แต่มันก็คุ้ม ผมเลยทำต่อไปเรื่อยๆ “
การทำงานในด้านนี้นั้น เบื้องหลังของมันยังมีผู้ที่ทำงานหนักแต่ก็ยังจนอยู่ เป็นความมืดมิดของอุตสาหกรรมที่ไม่เคยปรากฏออกมาเบื้องหน้าให้ใครได้เห็น ไม่รู้ว่าโครงสร้างการแสวงหาผลประโยชน์ที่ปกครองเหล่าผู้สร้างที่ไม่ได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับการทำงานหนักนี้ มันจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน?
จากการสำรวจรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของอนิเมเตอร์ทั่วไปจะอยู่ที่ 2 แสนเยน (ประมาณ 6X,XXX บาท) ซึ่งก็ถือว่ายังเป็นรายได้พื้นฐานของพนักงานเงินเดือนของประเทศญี่ปุ่นทั่วไป แต่หากเทียบชั่วโมงในการทำงานแล้ว อาชีพอนิเมเตอร์ยังถือว่าทำงานหนักกว่าอาชีพอื่น ๆ พอสมควร
ส่วนของคุณ Nakamura รายได้จากการงานเสริมของการเป็นอนิเมเตอร์จะอยู่ที่ 68,000 เยน (ประมาณ 1X,XXX บาท) โดยทำงาน 8 วันต่อเดือน เดือนละ 17 คัต คัตละ 4,000 เยน
จากข้อมูลดังกล่าว ปัจจุบัน วงการอนิเมเตอร์ของญี่ปุ่นก็ยังคงมีปัญหาเรื่องในลักษณะนี้ออกมาอยู่เรื่อยๆ บางที่ก็รายได้ดี บางทีก็น้อยจนน่าเศร้า
ที่มา: news.yahoo.co.jp
TrunksTH