Torishima Kazuhiko หนึ่งในบรรณาธิการของนิตยสาร Shonen Jump และ VJump ผู้เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมังงะมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Dragon Ball , One Piece, Naruto และมังงะอีกหลาย ๆ เรื่อง
ซึ่งเรื่องที่ชื่อคุณ Torishima ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น Dragon Ball ที่ทางตัวผู้เขียนอย่างอาจารย์ Toriyama สนิทและเคารพเป็นอย่างมาก (เป็นบุคคลต้นแบบของตัวละครด็อกเตอร์ Marishito ใน Dr.Slump และจอมมาร Piccolo ใน Dragon Ball)
บทความนี้จะพาทุกคนย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2019 คุณ Matsuyama Hiroshi ของ Cyberconnect ที่เคยทำงานเป็นผู้ดูแล Naruto ในนิตยสาร Shonen Jump ของสำนักพิมพ์ Shueisha ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ Torishima (ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สำนักพิมพ์ Hakusensha) เป็นการส่วนตัว
เกี่ยวกับมังงะยอดฮิตอย่าง Dragon Ball ที่คุณ Torishima เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ซึ่งก็น่าตกใจไม่น้อยเลยเมื่อคุณ Torishima มองว่า
Dragon Ball เป็นแค่ “การ์ตูนที่ไม่มีอะไรให้เรียนรู้แม้แต่อย่างเดียว มันเป็นแค่การ์ตูนที่สนุกเท่านั้น”
Torishima Kazuhiko
Matsuyama Hiroshi
บทสัมภาษณ์คุณ Torishima Kazuhiko ว่าด้วยเรื่องของ Dragon Ball ( T = Torishima, M = Matsuyama )
T: ตอนแรก มันไม่ได้ดังขนาดนั้นหรอกนะ Dragon Ball น่ะ
M: เอ๊ะ ไม่น่าจะใช่นี่ครับ ช่วงที่ผมเริ่มอ่าน Jump ตอนนั้น Dragon Ball ก็ดังมาตลอดแล้วนะครับ
T: ไม่ ไม่ใช่เลย ตอนตีพิมพ์ช่วงแรกน่ะดังก็จริง และความนิยมมันค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ มันแย่มากเลยนะ
M: มันเริ่มลดลงตอนไหนหรอครับ?
T: ช่วงจบการต่อสู้กับแก๊ง Pilaf ล่ะนะ
M: เอ๋? หลังจากตอนที่ “ขอกางเกงในผู้หญิงหน่อยท่านเทพมังกร!!” งั้นเหรอครับ?
T: ใช่ หลังจากเรียกเทพมังกรและพรสมปรารถนาครั้งหนึ่งแล้ว ตัวเนื้อเรื่องมันก็ถึงจุดตันทันที ตัวผู้อ่านเองก็น่าจะคิดว่า “อ่า แบบนี้มันก็วนกลับมาเป็นเหมือนเดิมสินะ”
M: แล้วมันทำแบบนั้นไม่ได้หรอครับ?
T: คุณทำให้มังงะเป็นระเบียบแบบแผนหรือทำให้มันไม่มีความน่าตื่นเต้นไม่ได้หรอก อีกอย่างตัวละครยังเพิ่มขึ้นเยอะอีกด้วย
M: อ่า ก็จริงนะครับ ตอนนั้นมีทั้ง Bulma, Yamcha, Puar, Oolong, Master Roshi, Chichi, Ox King แล้วก็ Pilaf Gang ตัวละครเพิ่มขึ้นจริง ๆ ด้วย
T: ใช่ เพราะฉะนั้น เราเลยทำให้เนื้อเรื่องกลับมาเรียบง่าย โดยการส่ง Goku ไปฝึกกับ Master Roshi (ผู้เฒ่าเต่า) กับ Krillin อีกครั้ง พอฝึกเสร็จเราก็มีเนื้อเรื่องรองรับไว้อย่างศึกชิงเจ้ายุทธภพ และหลังจากนั้นมันก็โด่งดังมาตลอด
M: ใช่เลย! เอ๊ะ แต่ว่าเกินคาดมากเลยนะครับเนี่ย ผมไม่คิดเลยว่า Dragon Ball จะมีการเขียนแบบ “การจัดระเบียบของเนื้อเรื่อง” ด้วย ผมได้เรียนรู้เลยนะเนี่ย
T: คุณไม่จำเป็นเรียนอะไรจากมันหรอก
M: พูดถึง “การจัดระเบียบของเนื้อเรื่อง” แล้ว คุณเริ่มได้ไอเดียมาตั้งแต่ตอนไหนเหรอครับ?
T: ผมได้จากการวิจัยการ์ตูนเรื่อง Hokuto no Ken (หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ) น่ะสิ
M: เอ๋!? Hokuto no Ken เหรอครับ? คาดไม่ถึงเลยนะครับเนี่ย
T: เนื่องจากความนิยมของ Dragon Ball มันตกลง ก็เลยต้องวิจัยอย่างเดียว และในตอนนั้นเรื่องที่ได้รับความนิยมถล่มทลายสุด ๆ ก็คือ Hokuto no Ken ล่ะนะ
M: นั่นสินะครับ
T: ก็เลยต้องอ่านเพื่อทำการวิจัย ผมอ่าน Hokuto no Ken ถึงเล่ม 3
M: หา? เล่ม 3!? เอ๊ะ แค่นั้นเองเหรอครับ?
T: อ่านแค่นั้นก็เข้าใจแล้ว อ๊ะ จะว่าไปผมเกลียดมันนะ Hokuto no Ken เนี่ย
M: เอ๊!? เดี๋ยวก่อนครับ พูดแบบนั้นมันจะดีเหรอครับ!?
T: ไม่หรอก มันเป็นความชอบส่วนบุคคล ก็ผมไม่ชอบไง? เนื่องจากตอนนั้น Hokuto no Ken มันดังมาก ผมก็เลยต้องตั้งใจอ่านเพื่อนำมันมาเป็นตัวกำหนดทิศทางให้กับเนื้อเรื่องของ Dragon Ball
M: นั่นก็คือ “การจัดระเบียบของเนื้อเรื่อง” สินะครับ?
T: ใช่แล้ว ทำการเล่าถึงตัวละครที่เคยออกมาอีกหนึ่งครั้งและทำให้เนื้อเรื่องมันง่ายขึ้น
M: งี้นี่เอง
T: สิ่งที่สัมผัสได้จากการอ่าน Hokuto no Ken คือการ “สั่งสอน” ซึ่งทุกสัปดาห์เรื่องนี้ “คำพูดยอดฮิต” จะออกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น “แกน่ะตายไปแล้ว” “วันนี้พวกแกไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่!!” “เพราะเป็นผู้ชายที่รักผู้หญิงคนเดียวกันยังไงล่ะ” “ตั้งแต่เกิดมาฉันไม่มีเรื่องเสียใจแม้แต่เรื่องเดียว” แน่นอนว่าคำพูดเหล่านี้มันทำให้เป็นการ์ตูนที่เท่ แม้แต่เด็ก ๆ ก็ยังชอบ มัน..สุดยอดมากนะ
M: ตั้งแต่การมีสั่งสอนที่ว่ามา… (เท่าที่ผมจำได้คือไอ้คำพูดที่ว่า ”ตั้งแต่ฉันเกิดมา…” มันออกมาหลังเล่ม 3 นะ แต่ช่างเถอะไม่พูดดีกว่า) ก็เลยนำมันมาวางแผนเพื่อเปลี่ยนทิศทางเนื้อเรื่องใช่ไหมครับ?
T: เพราะฉะนั้นผมก็เลยทำให้ Dragon Ball กลายเป็นผลงานที่ไม่ต้องมีสาระตลอดทั้งเรื่อง
M: ม…ไม่ต้องมีสาระเหรอครับ?
T: ใช่แล้ว Matsuyama-kun ตอนที่อ่าน Dragon Ball เนี่ย คุณได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้างล่ะ? ลองนึกดูสิ
M: เอ นั่นสินะครับ แน่นอนว่า เอ่อ…
T: ใช่แล้ว มันไม่มียังไงล่ะ สิ่งที่เรียนรู้ได้จากการอ่าน Dragon Ball มันไม่มีแม้แต่อย่างเดียว มันไม่มีบทเรียนชีวิตใช่ไหมล่ะ? ไม่มีประโยชน์กับชีวิตด้วย แค่สนุกอย่างเดียว การ์ตูนน่ะมีแค่นั้นก็พอแล้ว!
M: … (ก็อาจจะจริงอย่างที่พูดนะครับ)
T: นอกจากนี้ นั่นน่ะคือคำตอบที่ได้จากการวิจัยอ่าน Hokuto no Ken เนื่องจากพวกเด็ก ๆ กับผู้อ่านไม่ได้อ่านการ์ตูนเพื่อเรียนรู้อะไร แค่อ่านแล้วรู้สึกสนุกก็พอ ตอนนั้น Hokuto no Ken กำลังดังเราเลยตัดสินใจทำอีกอย่างกับ Dragon Ball ไหน ๆ มันก็ไม่มีประโยชน์กับชีวิตแล้ว แต่เราก็ทำให้มันสนุกได้ นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งที่ผมได้รู้จากการวิจัย Hokuto no Ken นันคือความลับในภาพวาด
M: ความลับในภาพวาด?
T: การ์ตูนในตอนนั้นมักจะมีการวาดฉากที่ตัวพระเอกโดนศัตรูล้อมซ้ายขวา มีศัตรูสองคนอยู่ในช่องเดียวกัน แล้วตัวเอกโจมตีพร้อมกันทั้งสองตัว ซึ่ง Motomiya Hiroshi (ผู้วาด Otoko Ippiki Gaki Daishou) และ Kurumada Masashi (ผู้วาด Saint Seiya) ต่างก็วาดแนวนั้นบ่อย
M: พูดแบบนั้นมันก็จริงนะครับ
T: แต่ว่าตอนที่อ่านซีนต่อยศัตรูใน Hokuto no Ken คำว่า “อะต๊าๆๆๆๆ” ก็ลอยออกมาที่ฝั่งผู้อ่านเลยใช่ไหมล่ะ นั่นน่ะคือนวัตกรรมเลย
M: !! (จริงด้วย!)
T: ก็เพราะว่า Hara Tetsuo เป็นนักเขียนที่วาดภาพนิ่งได้เท่และเทพมาก ๆ เลยน่ะสิ ทางคุณ Buronton ก็น่าจะรู้ดี ดังนั้นหมัดอุดรเทวะก็เลยมีการพิฆาตศัตรูในเวลาช่วงพริบตา ทุกอย่างในเรื่องมันเลยอยู่ที่ความเท่ของภาพนิ่ง เมื่อรู้แบบนั้นแล้วเราก็เลยเปลี่ยนทิศทางให้ Dragon Ball เป็นการ์ตูนแอคชั่น ผมก็เลยคิดว่า Toriyama Akira มีอะไรบ้างที่ Hara Tetsuo ไม่มี
M: มันคืออะไรเหรอครับ?
T: มันคือการขยับแบบสามมิติยังไงล่ะ Toriyama น่ะมีความสามารถในการเข้าใจมิติพื้นที่ที่น่าทึ่ง เพราะฉะนั้นผมก็เลยให้เขาวาดฉากแอคชั่นที่เป็นแนวสามมิติ นั่นคือความแตกต่างกับ Hokuto no Ken หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นเรื่องง่าย เราเลยวางแผนสร้างพื้นที่เปิดเรื่อง ที่ให้เหล่าตัวละครที่แข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกฝึนสามารถโชว์ความเท่ได้ในพื้นที่สามมิตินี้ เพื่อการนั้นเราก็เลยเริ่มทำ…
M: ศึกชิงเจ้ายุทธภพ!!
T: ใช่แล้ว เพราะฉะนั้นการประลองเลยมีกฎห้ามออกจากเวที ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวละครสามารถวิ่งไปได้ทั่วทิศทาง แต่ยังทำให้เกิดฉากแอคชั่นจากมุมสูงอีกด้วย ถ้าทำได้ Toriyama ก็จะเป็นนักวาดเพียงผู้เดียวทีผูกขาดฉากแอคชั่นแบบนี้
M: โห ยอมเลยครับ บอกตามตรงว่าตกใจมาก คิดวางแผนเรื่องได้ถึงขนาดนั้น ผมได้เรียนเรียนรู้มากขึ้นจริง ๆ ครับ!
T: บอกแล้วไงว่าไม่ต้องเรียนรู้จากมันก็ได้!
ต้องยอมรับเลยว่าคุณ Torishima มองขาดและทำให้ Dragon Ball ของอาจารย์ Toriyama Akira โด่งดังได้จริง ๆ !! แต่นี่ก็ถือว่าได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจาก Dragon Ball แล้วนะ คุณ Torishima
ที่มา: https://note.com/piroshi3
TrunksTH