จากอดีตสู่ปัจจุบัน! ชวนย้อนรอยดู Dororo อนิเมะสุดโด่งดังเดิมทีเป็นยังไง!?

Dororo หนึ่งในผลงานสุดโด่งดังของ Osamu Tezuka เจ้าของผลงานในตำนานมากมาย ที่ตอนนี้ก็กลายเป็นอนิเมะนามกระฉ่อนที่ใครหลายๆ คนก็ชื่นชอบ! เรามาดูกันดีกว่าว่าก่อนที่จะมาเป็น Dororo ที่เรารู้จักกันนั้นเป็นยังไงกันบ้าง!
ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักนั้น Dororo เป็นผลงานการ์ตูนฝีมือ Osamu Tezuka 

โดยสำหรับเรื่องราว Dororo นั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นยุคเซ็นโกคุหรือในยุคสงครามระหว่างแคว้นปีศาจผู้ยิ่งใหญ่ 48 ตนซึ่งสัมผัสได้ว่าเวลาแห่งการกำเนิดของมนุษย์ผู้ทรงด้วยฤทธานุภาพซึ่งเมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะกลายเป็นผู้กุมชัยชนะเหนือเผ่าพันธุ์ปีศาจทั้งปวงได้เคลื่อนคล้อยใกล้เข้ามาทุกขณะ
คาเงะมิตสึ ไดโกะ ซามูไรผู้เป็นบิดาของมนุษย์ผู้นั้นซึ่งยังมิได้ถือกำเนิดขึ้นมา คาเงะมิตสึได้ทำข้อตกลงกับเหล่ามาจินส์ทั้ง 48 ตน โดยมีเงื่อนไขให้ตนชนะสงครามและเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และไม่พ่ายแพ้แก่ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นการรบที่ไหนก็ตาม คาเงะมิตสึได้ใช้ 48 อวัยวะสำคัญของร่างกายของลูกชายที่ยังมิได้ถือกำเนิดของเขาคนนี้ไว้เป็นสิ่งค้ำประกันกับพวกปีศาจ

ต่อมาลูกของคาเงะมิตสึได้ถือกำเนิดขึ้น โดยไร้อวัยวะสำคัญของร่างกายทั้ง 48 จนดูเหมือนตัวหนอน แต่สามารถร้องได้ คาเงะมิตสึจึงนำเด็กน้อยใส่ตะกร้าแล้วปล่อยลอยไปตามน้ำ เป็นโชคดีของเด็กน้อยที่ได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ผู้มีนามว่า จูไค เด็กน้อยที่ถูกเก็บมาได้รับการขนานนามจากจูไคว่า เฮียกกุมารุ จูไคได้ทำการคิดค้นเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะเทียมได้อย่างยอดเยี่ยมเอาไว้มากมายในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาทำให้เด็กน้อย เฮียกกุมารุ ดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป และเฮียกกุมารุยังมีพลังเหนือธรรมชาติหลายประการทำให้เขาสามารถมองเห็น พูดคุยได้ยินทั้งที่ไม่มีตา ปาก หรือ หู 
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เฮียกกุมารุ ได้ออกเดินทางเพื่อกำจัด มาจินส์ทั้ง 48 เพื่อนำเอาร่างกายของเขากลับคืนมา หลังจากเดินทางได้ไม่นานเขาก็ได้เพื่อนร่วมทางเป็นเด็กน้อยผู้มีความสามารถเกินวัย เป็นหัวขโมยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นนั่นคือ โดโรโระ ทั้งเฮียกกุมารุและโดโรโระเดินทางไปทั่วอาณาจักรญี่ปุ่น ช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกกดขี่และต่อสู้กับเหล่าปีศาจ โดยมีความหวังว่าวันหนึ่งเฮียกกุมารุจะได้ร่างกายทั้งหมดคืนกลับมาจากมาจินส์ทั้ง 48 ตน เมื่อเฮียกกุมารุฆ่าปีศาจไป 1 ตน ก็จะได้อวัยวะคืนมา 1 ชิ้น นั่นเอง

สำหรับ Dororo นั้นได้เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในวันที่ 27 สิงหาคม 1967 ในนิตยสารรายสัปดาห์อย่าง Weekly Shōnen Sunday ทว่าผลงาน Dororo นั้นกลับต้องยุติการตีพิมพ์  ซึ่งทางอาจารย์ Tezuka ผู้วาดก็ได้กล่าวไว้ว่าเขานั้นได้รับผลกระทบจากความกดดันทางสงครามทำให้ผลงานของเขามีเนื้อหารุนแรงมากเกินกว่าจะเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก และท้ายที่สุดอาจารย์ Tezuka ก็ได้เริ่มวาดการ์ตูนเรื่องใหม่อย่าง Norman และยอมเลิกวาด Dororo ตามคำแนะนำของบรรณาธิการ นั่นทำให้ Dororo ในตอนนั้นกลายเป็นการ์ตูนที่ไม่มีจุดจบ

ทว่าในเวลาต่อมาได้มีการนำ Dororo ไปทำเป็นอนิเมะ(ขาวดำ) ทำให้อาจารย์ Tezuka ได้มีโอกาสกลับไปเขียน Dororo ต่อซึ่งในครั้งนี้เขาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนฉากจบใหม่นั่นก็คือ เฮียกกุมารุผู้สูญเสียอวัยวะทั้ง 48 ส่วนไป ซึ่งอวัยวะเหล่านั้นถูกใช้ในการสร้างมนุษย์ ซึ่งมนุษย์คนนั้นก็คือ โดโรโระ นั่นทำให้เฮียกกุมารุจะต้องฆ่าโดโรโระเพื่อนำอวัยวะกลับคืนมา ทว่าฉากจบนี้กลับถูกตัดออกไป เนื่องจาก Dororo ในตอนนั้นไม่เป็นที่นิยมทั้งตัวอนิเมะและตัวมังงะ ทำให้ Dororo ต้องยุติการเขียนลงอีกครั้ง 

ฉากจบดังกล่าวที่ถูกตัดออก(ล่าง)

ทว่าในปี 2008 Vertical Inc. ก็ได้หยิบตัวมังงะมาทำการแปลและตีพิมพ์ใหม่ และในที่สุดในปี 2009 Dororo ก็ชนะรางวัล Eisner Award สาขา Best U.S. Edition of International Material—Japan และในปี 2012 ก็ได้มีการเปิดตัวมังงะ Spin Off ชื่อ Dororo and Dororon Enma-kun ก่อนที่ Spin Off ดังกล่าวจะถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ยาว

และนอกจากนั้น Dororo เองก็ยังถูกนำไปทำเป็นเกมอีกด้วย โดยเป็นเกมที่พัฒนาลงเครื่อง PS2 ในปี 2004 ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินชื่อนี้กันนักเพราะตัวเกมถูกเปลี่ยนชื่อในฉบับภาษาอังกฤษเป็น Blood Will Tell แทน โดยตัวเกมนั้นพัฒนาและจัดจำหน่ายโดย Sega

ยังไม่พอ Dororo ก็ยังถูกนำไปสร้างเป็นสื่ออื่นๆ อีกซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหนังที่มีชื่อว่า Dororo ในปี 2007 ซึ่งกำกับการแสดงโดย Akihiko Shiota

และท้ายที่สุด Dororo ก็เดินทางมายังอนิเมะฉบับปัจจุบัน (2019) ที่ได้รับการสร้างโดย MAPPA และ Tezuka Productions และเริ่มฉายครั้งแรกในวันที่ 7 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา

เรียกได้ว่าเป็นการเดินทางที่มาไกลกันสุดๆ เลยทีเดียวสำหรับ Dororo ใครเคยได้เสพย์ผลงานดังกล่าวที่ผ่านมาก่อนหน้านี้แล้วบ้างเนี่ย และใครชอบ Dororo ฉบับไหนมากที่สุดกันบ้าง? คอมเมนต์กันเข้ามาได้เลย!

ที่มาข้อมูล : http://tezukainenglish.com/wp/?page_id=619
 

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้