ก่อนหน้านี้ Sony Music Entertainment, UMG Recordings และ Warner Bros. Records ได้รวมตัวฟ้องผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) รายใหญ่ในรัฐเท็กซัสอย่าง Grande Communications Networks ฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยทางอ้อม หลังจากพบว่า Grande ไม่ยอมยกเลิกให้บริการลูกค้าที่มีพฤติกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จะได้รับหลักฐานชัดเจนหลายครั้ง
คดีนี้เริ่มจากในปี 2010 เมื่อ Grande เคยประกาศว่าจะร่วมมือกับการจัดการปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ต่อมากลับเปลี่ยนแนวทางว่าจะไม่ตัดอินเทอร์เน็ตของผู้ใช้งานอีก ไม่ว่าจะได้รับแจ้งเรื่องละเมิดมากี่ครั้งก็ตาม จุดยืนดังกล่าวจึงถูกนำมาใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีเมิ่อปี 2023 โดยคณะลูกขุนตัดสินว่า Grande มีหลักฐานชัดว่าลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตละเมิดลิขสิทธิ์ และ “เจตนาไม่ดำเนินการขั้นพื้นฐานใด ๆ เพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม” เช่น การตัดเน็ตผู้กระทำผิด
โดยทางบริษัทเพลงได้ว่าจ้าง Rightscorp เพื่อติดตามผู้ใช้ BitTorrent ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และส่งข้อมูล IP ของผู้กระทำผิดให้กับ Grande โดยมีข้อเรียกร้องว่า ถ้า ISP ได้รับการแจ้งเตือนสองครั้งแล้วยังไม่ดำเนินการใด ๆ จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอ้อมทันที
ทาง Grande จึงโต้ว่า การตัดการเชื่อมต่อเพียงเพราะ “ข้อกล่าวหาที่ไม่มีการพิสูจน์” แค่สองครั้ง เป็น “โทษที่หนักเกินไปสำหรับความเสียหายเพียงไม่กี่เหรียญฯ” พร้อมยกตัวอย่างกรณีผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การตัดเน็ตอาจกระทบการเรียนของเด็ก ๆ หรือทำให้อุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ศาลได้ตัดสินให้ Grande ต้องจ่ายค่าเสียหายทางกฎหมายกว่า 46 ล้านเหรียญฯ แม้ว่าจะมีการสั่งให้คำนวณค่าเสียหายใหม่ในการอุทธรณ์ แต่คดีนี้ก็สร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าศาลสามารถตัดสินให้ ISP มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ทางอ้อมได้ หากไม่ดำเนินการใด ๆ ถ้าลูกค้ากระทำความผิด
ทั้งนี้ Grande เตือนว่าหาก ISP ต้องรับผิดชอบเช่นนี้โดยไม่มีแนวทางที่กำหนดอย่างละเอียดจากรัฐสภา อาจนำไปสู่ความวุ่นวาย ทั้งยังตั้งคำถามหลายข้อ เช่น:
- ต้องแจ้งเตือนกี่ครั้งถึงจะต้องตัดเน็ต?
- ถ้ามีเหตุผลอธิบายได้ จะนับเป็นการละเมิดไหม?
- ถ้าเวลาห่างกันหลายเดือนถึงปี จะต้องดำเนินการอย่างไร?
- หากเกิดการละเมิดสองครั้ง แต่เป็นคนละคนในบ้านเดียวกัน จะตัดเน็ตหรือไม่?
- ผู้ให้บริการฯ ต้องแจ้งบริษัทคู่แข่งเพื่อที่จะไม่ให้บริการลูกค้าที่ถูกตัดเน็ตด้วยหรือไม่?
- หากตัดแล้ว ลูกค้าจะขอกลับมาใช้ได้เมื่อใด?
คดีนี้ยังมีการอ้างถึงคำพิพากษาในคดีดัง MGM Studios v. Grokster เมื่อปี 2005 ด้วย ซึ่งต่างฝ่ายก็ตีความไปคนละทาง โดยศาลชั้นต้นมองว่า Grande “มีส่วนร่วมโดยตรง” ในการละเมิด ขณะที่ Grande อ้างว่า หากไม่มีเจตนาสนับสนุนละเมิดโดยตรง ก็ไม่ควรถูกตัดสินผิดเพียงเพราะไม่ดำเนินการยับยั้ง
ปัจจุบัน Grande กำลังยื่นคำร้องขอให้ศาลสูงสุดสหรัฐฯ รับพิจารณาคดีนี้ใหม่ โดยอ้างว่าการกดดัน ISP ให้ตัดเน็ตผู้ใช้ในเงื่อนไขไม่ชัดเจนเช่นนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ “ใช้งานจริงไม่ได้ และน่ากังวลอย่างมาก”
การแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องที่หลายบริษัทมองว่าต้องเร่งดำเนินการ แต่ก็ก่อให้เกิดคำถามตามมาไม่น้อย เพราะการตัดการให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นนอกจากจะไม่ใช่เรื่องที่ทำง่าย ๆ เหมือนเพียงแค่ปิดสวิตช์แล้วจบแล้ว เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมาได้หากทำอย่างประมาทเลินเล่อ ซึ่งทางเจ้าของลิขสิทธิ์นั้นอาจไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้และไม่สนใจ เพราะถือเป็นภาระของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไปแล้ว
งานนี้ก็คงต้องรอดูคำตัดสินของศาลฎีกา เพราะอาจกลายเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายอื่น ๆ ต้องปฏิบัติตามในอนาคตเมื่อถูกร้องเรียนให้จัดการกับลูกค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากเพลงแล้วอาจลามไปถึงสื่อรูปแบบอื่น ๆ จนนำไปสู่การตัดอินเทอร์เน็ตของผู้ที่ใช้งานได้ในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
แปลและเรียบเรียงจาก
Anime Corner
ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station