***บทความมีการสปอยล์เนื้อหาซีรีส์ The Last of Us ซีซั่น 2 ตอน 2 และเกม The Last of Us Part 2***
.
.
.
.
.
.
.
.
.
และแล้ว ซีรีส์ The Last of Us ซีซั่น 2 ตอนที่ 2 ก็ฉายไปเรียบร้อยนะครับ โดยตอนนี้เรียกได้ว่ามีให้ดูกันครบทุกอารมณ์กันจริง ๆ อย่างไรก็ตาม กลวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันระหว่างเวอร์ชั่นเกมกับซีรีส์ เข้าใจได้ว่าทางทีมผู้พัฒนาเกมและผู้สร้างซีรีส์ล้วนมีเหตุผลที่ต้องเลือกดำเนินเรื่องในลักษณะที่เห็นกันไปทั้งสองเวอร์ชั่น แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันยังคงเป็นข้อความที่แฝงอยู่ภายในเนื้อเรื่อง ที่พยายามจะสื่อถึงคนรับสารอย่างเรา ๆ นั่นเอง ซึ่งผู้ชมและผู้เล่นจะเข้าใจในสารนั้นได้มากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนเช่นกัน
ในบทความนี้เราจะไม่มาถกเถียงกันซ้ำเดิมแบบที่เราเห็นกันเกลื่อนในโลกโซเชียลมีเดียว่าทำไมโจลถึงตัดสินใจแบบนั้น ทำไมเราต้องเล่นเป็นตัวละครนี้ ทำไมแคสต์นักแสดงมาแล้วเบ้าหน้าไม่ตรงปกกับเวอร์ชั่นเกม แต่จะมาชวนคุยกันเรื่องข้อความที่เราได้รับจากการเล่นเกม The Last of Us Part 2 จนจบ แล้วได้มาดูเวอร์ชั่นซีรีส์ถึงตอนล่าสุดกันครับ ซึ่งมันคงจะมีประโยชน์หากได้พูดถึงข้อคิดหรือสิ่งที่ผู้พัฒนาเกมและผู้สร้างซีรีส์พยายามสื่อถึงเราสักหน่อย
คุณนีล ดรัคแมนน์ (Neil Druckmann) ผู้กำกับเกม The Last of Us ทั้งสองภาค เคยพูดถึงคอนเซปต์ของเกมเอาไว้ว่าภาคแรกนั้นจะเป็นเรื่องของความรัก ตัวละครหลักอย่างโจลได้เลือกทำสิ่งต่าง ๆ โดยมีความรักเป็นแรงขับและใช้มันเป็นเหตุผลรองรับในการกระทำ ขณะที่ภาคสองจะเป็นเรื่องของความแค้นที่ทำหน้าที่เป็นแรงขับในการกระทำของเอลลี่และแอ็บบี้แทน
แต่ครั้นจะมองว่าพล็อตของเกมภาค 2 และซีรีส์ซีซั่น 2 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ในความคิดของผู้เขียนคือมองว่ามันเป็นเรื่องของ “วงจรการใช้ความรุนแรง” โดยมี “ความแค้น” เป็นแรงขับ ครับ
ในเกมเราจะเห็นว่าทั้งเอลลี่กับแอ็บบี้ต่างก็ต้องสูญเสียคนที่เป็นดั่ง Father Figure ของตัวเองไป ซึ่งเคสของแอ็บบี้คือพ่อแท้ ๆ แต่ของเอลลี่คือคนที่ตนเองมองเป็นเหมือนพ่อคนหนึ่ง
ตอนที่แอ็บบี้เดินทางมายังเมืองแจ็คสัน เธอมาด้วยเป้าหมายเดียวคือการล้างแค้น แต่พอภารกิจนั้นสำเร็จ และดำเนินเรื่องราวต่อไปผ่านมุมมองของแอ็บบี้ นางก็พบว่าการล้างแค้นนั้นไม่ได้เยียวยาสภาพจิตใจตัวเองให้ดีขึ้นเลย เธอยังคงรู้สึกว่างเปล่า อ้างว้าง และนอนฝันร้ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่ไม่ใช่ว่าการล้างแค้นมันเป็นเรื่องแย่ แต่เพราะการล้างแค้นมันไม่ได้ช่วยอะไรต่างหาก
กระทั่งต่อมาแอ็บบี้ได้พบกับยาร่าและเลฟ และเริ่มจะมีใจผูกพันกับพี่น้องคู่นี้ ความสัมพันธ์มันเติบโตจนแอ็บบี้มีใจเอนเอียง ถึงขั้นที่เลือกยอมหักกับกลุ่มของตัวเอง แต่ความสัมพันธ์แบบนั้นกลับทำให้สภาพจิตใจของแอ็บบี้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย จากที่เธอฝันเห็นพ่อถูกฆ่าตายทุกคืน ก็กลายมาเป็นความฝันที่เห็นพ่อยิ้มให้ ตรงนี้อาจจะตีความว่าพ่อแอ็บบี้ดีใจที่ลูกสาวปล่อยวางได้ หรืออาจจะดีใจที่เห็นลูกสาวมีความสุขกับเส้นทางที่เลือกทำเสียที ก็คงได้เหมือนกัน
ดังนั้นผู้เขียนจึงพอเริ่มเห็นภาพของคียเวิร์ดที่แฝงในเกมนี้แบบสั้น ๆ คือ “การแก้แค้นมันไม่ช่วยอะไร”
ต่อมา การเดินทางของเอลลี่ไปยังซีแอตเทิลก็เป็นภาพสะท้อนการเดินทางของแอ็บบี้ที่ไปยังแจ็คสัน ซึ่งเป้าหมายก็เหมือนกับแอ็บบี้เลยคือไปล้างแค้น แต่เกมเลือกที่จะให้เราไม่เห็นเรื่องราวของแอ็บบี้ก่อน เพื่อให้เราเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องฝั่งเอลลี่เต็ม ๆ อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 3 วันในซีแอตเทิล เราได้เห็นเอลลี่ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ แต่ละครั้ง กับการไล่สังหารพรรคพวกของแอ็บบี้ทีละคน และทุกครั้งที่ทำลงไปมันก็ค่อย ๆ กัดกินจิตใจเอลลี่ทีละน้อย จนนางตั้งคำถามในใจตัวเองอยู่ซ้ำ ๆ ว่าสิ่งที่ทำลงไปมัน “ใช่” จริงเหรอ
เมื่อถึงตอนท้าย ข้อความที่แฝงในเกมก็แสดงออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าวงจรการใช้ความรุนแรงมันเป็นเรื่องกงเกวียนกำเกวียน โจลไปทำพ่อแอ็บบี้ตาย แอ็บบี้แค้นก็มาทำโจลตาย เอลลี่แค้นก็มาเล่นงานเพื่อน ๆ แอ็บบี้จนตายหมด ต่อเนื่องเป็นทอด ๆ แต่ทุกคนที่แก้แค้นสำเร็จดันไม่มีใครรู้สึกดีขึ้นเลย ด้วยเหตุนี้คีย์เวิร์ดเดิมจึงถูกขยายเป็น “ไม่ใช่ว่าการแก้แค้นมันแย่ แต่การแก้แค้นมันไม่ได้ช่วยเยียวยา การแก้แค้นมันรังแต่จะยืดวงจรการใช้ความรุนแรงต่อไปเท่านั้น”
โมเมนต์ที่เอลลี่คุยกับโจลในคืนวันก่อนที่โจลจะเสียชีวิตมันทำให้นางฉุกคิดได้ว่านี่ไม่น่าจะใช่สิ่งที่โจลต้องการ จึงเลือกที่จะยุติวงจรนี้ลงด้วยการไว้ชีวิตแอ็บบี้ คนที่เธอแค้นมาตั้งแต่ต้นเกม ว่ากันตามตรง ในความรู้สึกของผู้เขียนเลยมองว่าบอสใหญ่ที่แท้จริงของเกมหาใช่แอ็บบี้ แต่เป็นวงจรการใช้ความรุนแรงที่กัดกินตัวละครหลักทั้ง 2 คน (เอลลี่กับแอ็บบี้) มากกว่า
ดังนั้นจังหวะที่โจลยิ้มให้เอลลี่ตอนคุยกันในคืนสุดท้าย ก็คืออีกเวอร์ชั่นของแอ็บบี้ที่เห็นพ่อเธอยิ้มให้ในฝันนั่นเอง
ที่เกมพยายามบอกเราทั้งหมดก็คือเรื่องของวงจรการใช้ความรุนแรง และผลกระทบที่เกิดขึ้นหากเราปล่อยมันทิ้งไว้แล้วไม่รีบแก้ปัญหา ก็จะนำไปสู่ความรุนแรงที่อาจจะทวีคูณขึ้น หรือส่งต่อไปทอด ๆ ไม่รู้จบ
หากจะบอกว่า “การแก้แค้นมันเป็นสิ่งที่แย่นะ” มันคงอธิบายข้อความที่เกมจะสื่อได้ไม่ครบ
ถ้าจะให้ถูก คงต้องบอกว่า “การแก้แค้นไม่ได้ช่วยอะไรให้กับคนที่แสวงหาการแก้แค้นเลย มันมีแต่จะทำให้อะไร ๆ มันแย่ลงไปอีก”
ระหว่างเล่น เกมเลือกใช้กลวิธีแอบถามเราเป็นนัย ๆ ว่า คุณสามารถละทิ้งอคติและมองเหตุการณ์จากมุมมองคนอื่นได้หรือเปล่า คุณสามารถเรียนรู้ที่จะเข้าใจศัตรูของคุณได้หรือไม่ คุณจะเอนเอียงไปเริ่มชอบศัตรู (แอ็บบี้) ได้มั้ย เมื่อเรื่องราวจากมุมมองของพวกเขาถูกเล่าออกมา
The acts of love (saving someone) are equally contagious as acts of evil (revenge) in most cases.
เพื่อน ๆ คนไหนที่เล่นเกม The Last of Us Part 2 แล้วชอบเนื้อเรื่อง ลองมาแลกเปลี่ยนมุมมองความชอบของตัวเองที่มีต่อเกมนี้กันได้นะครับ ไว้เรามาลุ้นไปกับเวอร์ชั่นซีรีส์กันต่อเนอะ
ติดตามข่าวหนังอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่ Online Station