รัฐสภาญี่ปุ่นถกประเด็น AI สร้างภาพล้อเลียน Ghibli เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

หลังจากที่มีกระแสการใช้ AI วาดภาพล้อเลียนหรือจำลองสไตล์ภาพจาก Studio Ghibli ด้วย ChatGPT ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ล่าสุดได้กลายเป็นประเด็นร้อน ถึงขั้นมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

คุณ Masato Imai สมาชิกพรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (Constitutional Democratic Party) ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ AI วาดภาพในสไตล์ Ghibli หรือที่เรียกกันว่า Ghibli-fication ว่าการกระทำนี้เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ และจากการตีความในปัจจุบัน มีเส้นแบ่งตรงไหนที่ชี้ว่าผิดหรือไม่ผิดกฏหมาย

ทาง Hirohiko Nakahara เจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการฯ (MEXT) จึงตอบว่า การที่ผลงานนั้นจะเข้าข่ายทำผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่หากยึดตามกฎหมายญี่ปุ่นในปัจจุบัน ยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะกฎหมายยังไม่ได้คุ้มครอง สไตล์การวาด (Style) หรือ แนวคิด (Idea) จนกว่าจะมีการสร้างผลงานที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดีคุณ Nakhara ก็เตือนว่าถ้าภาพที่วาดดูเหมือนจะลอกเลียนจากผลงานที่มีลิขสิทธิ์จนเห็นได้ชัด ก็อาจจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เช่นกัน สรุป ถ้า AI วาดภาพในสไตล์ Ghibli โดย “ไม่ได้มีลักษณะซ้ำซ้อนกับผลงานที่มีลิขสิทธิ์” ก็ยังไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าเหมือนและแอบอ้างจน “ทำให้ผู้ชมเข้าใจผิดว่าเป็นผลงานของ Studio Ghibli” ก็อาจเริ่มเป็นปัญหา

ประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจและมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดหลังจากที่ OpenAI เปิดตัวความสามารถสร้างภาพผ่าน ChatGPT เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้ใช้สามารถระบุให้ AI สร้างภาพในสไตล์เฉพาะต่าง ๆ เช่น สไตล์ของ Studio Ghibli ได้โดยตรง

แม้ทาง Studio Ghibli จะยังไม่ได้แถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในคลิปสัมภาษณ์เก่าของผู้กำกับ Hayao Miyazaki ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ เขาเคยวิจารณ์เกี่ยวกับอนิเมชั่นที่สร้างด้วย AI ว่าเป็น “การดูถูกชีวิตมนุษย์” ทำให้ประเด็นนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อเทคโนโลยีใหม่เริ่มท้าทายการตีความเรื่องลิขสิทธิ์และศิลปะแบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ

แปลและเรียบเรียงจาก
Anime Hunch


ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้