Final Fantasy VI ครบรอบ 31 ปี สุดยอดเกม RPG แห่งยุคกราฟิก 16-Bit

FF6

วันที่ 2 เมษายน 1994 หรือวันนี้เมื่อ 31 ปีที่แล้วเป็นวันวางจำหน่ายเกม Final Fantasy VI หรือ FF6 ครั้งแรกบนแพลตฟอร์ม Super Famicom ที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นภาคหลักภาคสุดท้ายของซีรีส์ที่อยู่ในยุคกราฟิก 16-Bit ก่อนที่ภาค 7 จะก้าวไปสู่ยุคโมเดลตัวละครแบบโพลิกอน 3 มิติเต็มตัว นอกจากนั้นแล้ว FF6 ยังเป็นภาคแรกของซีรีส์ที่เปลี่ยนมือผู้กำกับจากคุณฮิโรโนบุ ซาคากุจิ (Hironobu Sakaguchi) ผู้ให้กำเนิดซีรีส์นี้มาเป็นคุณโยชิโนริ คิตาเสะ (Yoshinori Kitase) กับคุณฮิโรยูกิ อิโตะ (Hiroyuki Ito) รับหน้าที่ผู้กำกับร่วมกันครับ

ภาพจำของแฟน ๆ ซีรีส์ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่เคยได้สัมผัส FF6 มาแล้ว ส่วนใหญ่จะมองว่าภาคนี้เป็นหนึ่งในภาคที่คุณภาพอัดแน่นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะกราฟิก เนื้อเรื่อง เกมเพลย์ เซ็ตติ้งของเกม หรือแม้แต่เพลงประกอบ ทุกอย่างผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และช่วงที่เข้าสู่คริสต์ศักราช 2000 เกมนี้ยังถูกยกให้เป็นหนึ่งในวิดีโอเกมที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยถูกสร้างขึ้นมาในรอบทศวรรษ 1990-2000 อีกด้วย

(ล่าง) ปกและตลับเกม Final Fantasy VI เวอร์ชั่นญี่ปุ่นของ Super Famicom

FF6 มีการเซ็ตโลกของเกมเป็นธีมเทคโนโลยีที่มีความคล้ายคลึงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ของโลกความเป็นจริงที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1870-1914 โดยภาคนี้มีการขยายสเกลของจำนวนตัวละครที่นำเข้ามาอยู่ในปาร์ตี้ของเราได้แบบถาวรมากถึง 14 คน และสามารถนำมาใช้ในการต่อสู้ได้ทั้งหมด ขณะที่ธีมหลักจะเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มตัวเอกที่อยู่ฝ่ายกบฎที่ต่อต้านกองทัพเผด็จการ พ่วงด้วยพล็อตหักเหลี่ยมชิงอำนาจ โลกที่ถึงคราวล่มสลายและตกอยู่ภายใต้ความสิ้นหวังและหวาดกลัว ตลอดจนการรวบรวมพรรคพวกอีกครั้งเพื่อทวงสันติสุขของโลกกลับคืนมา ซึ่งเส้นเรื่องแทบทั้งเกมจะปนเปไปด้วยความระทึก หดหู่ มีความหวัง สวิงไปมาเหมือนรถไฟเหาะ เรียกว่ามีครบทุกอารมณ์ในเกมเดียวเลยก็ว่าได้

ด้วยความที่ตัวละครใน FF6 มีมากถึง 14 ตัว เกมเพลย์เลยออกแบบมาให้แต่ละตัวละครมีคำสั่งพิเศษที่ใช้ได้เฉพาะตัวละครนั้น ๆ อยู่ เช่น Locke จะมีคำสั่งขโมยไอเทมจากศัตรู / Edgar จะมีคำสั่งใช้อาวุธประเภทเครื่องจักรที่ตนเองประดิษฐ์ขึ้นมาได้ / Sabin จะมีคำสั่งใช้ท่าศิลปะป้องกันตัวของสายอาชีพ Monk / หรือ Shadow จะมีคำสั่งปาไอเทมใส่ศัตรูเหมือนอาชีพนินจาในภาคก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวละครทั้ง 14 จะแตกต่างกันในจุดนี้ แต่ข้อเสียก็คือ พอนำมาใช้สู้จริงจะพบว่าไม่ใช่ทุกตัวละครที่นำมาใช้แล้วจะเวิร์คหรือหากินได้ยาว ๆ เพราะบางตัวต้องอาศัยความอดทนและใช้เวลาเรียนรู้เมคานิคพอสมควร เช่น Gau ที่ต้องส่งเจ้าตัวไปศึกษาพฤติกรรมของมอนสเตอร์เพื่อเรียนรู้ท่าต่าง ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือ Umaro ที่มันจะออกแอ๊กชั่นเองแบบสุ่ม ไม่สามารถสั่งให้ทำอะไรได้เหมือนตัวอื่น เป็นต้น

เมื่อเล่นไปสักประมาณ 25-30% ของเกม เกมจะให้เราเรียนรู้ระบบศิลาอสูร (Magicite) ที่เมื่อสวมใส่แล้วตัวละครนั้นจะสามารถเรียนรู้เวทมนตร์ที่มีระบุอยู่ใน Magicite ดังกล่าวได้ โดยต้องกำจัดศัตรูในแต่ละการต่อสู้เพื่อสั่งสมค่าประสบการณ์การเรียนรู้เวทมนตร์เอา บางเวทจะเรียนได้เร็ว ถ้าเป็นเวทระดับสูงก็จะต้องใช้เวลาหน่อย แต่สุดท้ายแล้วหากผู้เล่นขยันฟาร์มมากพอ ทุกตัวละครก็จะเรียนรู้จำนวนเวทมนตร์ได้เท่ากันหมด จะไปต่างก็แค่คำสั่งพิเศษของแต่ละคนเท่านั้น

อนึ่ง FF6 เวอร์ชั่น Super Famicom นั้นได้รับความนิยมอย่างสูงจนมีการพอร์ตครั้งแรกลง PS1 ในปี 1999 ซึ่งเวอร์ชั่น PS1 มีการเพิ่มมูวี่คัตซีนสวย ๆ เข้ามาให้ชม ก่อนที่จะมีการพอร์ตอีกครั้งลง Game Boy Advance ในปี 2006 โดยรอบนี้มีการเพิ่มดันเจี้ยนใหม่ บอสใหม่ และศิลาอสูรใหม่ด้วย ส่วนยอดขายของเวอร์ชั่น Super Famicom กับ PS1 เคยทำไว้รวมกันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3.48 ล้านชุด (นับถึงปี 2003) และล่าสุดตัวเกมก็ถูกนำมารีมาสเตอร์ร่วมกับภาค 1-5 ภายใต้ชื่อ Final Fantasy Pixel Remaster ตั้งแต่ปี 2022 ครับ

เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับเกม

  • ช่วงแรกของโลกล่มสลาย (โลก 2) เราจะได้บังคับเป็นเซเลส (Celes) แล้วต้องออกไปจับปลาริมทะเลมาให้ซิด (Cid) ที่ล้มป่วยได้กิน เมื่อเราจะออกไปจับปลา เกมจะแอบนับเวลาโดยอัตโนมัติที่ 120 วินาทีโดยไม่ปรากฏบนจอให้เห็น และเวลาจะลดเรื่อย ๆ ตอนที่เราไม่ได้อยู่ในหน้าเมนูหรือในฉากต่อสู้ ทีนี้ปลาที่มีให้จับริมทะเลจะมีทั้งสิ้น 4 ชนิด จำแนกตามความเร็วที่มันว่าย ให้เราจับมาเฉพาะปลาที่ว่ายเร็วจี๋ กับว่ายเร็วพอประมาณเท่านั้น ส่วนปลาอีก 2 ชนิดที่เหลือที่ว่ายชิล ๆ และว่ายเฉื่อยไม่ต้องไปยุ่งกับมัน โดยปลาที่เร็วจี๋จะเพิ่มเวลาให้เราตัวละ 32 วินาที ส่วนปลาที่ว่ายเร็วปกติจะเพิ่มเวลาให้ 16 วินาที ขณะที่ปลาว่ายช้า 2 ชนิดจะลดเวลาของเราแทน ถ้าเราเผลอทำให้เวลาเหลือต่ำกว่า 30 วินาที ซิดจะตาย แต่ถ้าเราสามารถเพิ่มเวลาให้ได้มากกว่า 255 วินาที ซิดจะรอดชีวิตครับ
  • เวลาเราเล่นอยู่ในดันเจี้ยนไหนก็ตามที่บังคับให้เราต้องแบ่งออกเป็น 2 หรือ 3 ทีม หากมีทีมใดทีมหนึ่งได้ไปเหยียบจุดเซฟเข้า เวลาเราเปลี่ยนไปบังคับทีมอื่นที่ไม่ได้เหยียบจุดเซฟก็จะสามารถใช้คำสั่งเซฟเกมได้ด้วยเช่นกัน
  • ตัวเกมเวอร์ชั่น Super Famicom ทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษจะมีทริคปราบบอสส่วนใหญ่ในเกมแบบรวดเร็วอยู่ครับ นั่นก็คือใช้เวทมนตร์ Vanish (バニシュ) ใส่บอสให้มันอยู่ในสภาพล่องหนก่อน จากนั้นก็ใช้เวทมนตร์ Doom (デス) กับมันซ้ำ จะทำให้มันตายทันที ซึ่งต้องอธิบายตรงนี้ว่า เมคานิคของสภาพล่องหนนั้นจะทำให้ไม่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีด้วยอาวุธ แต่จะโดนเวทมนตร์โจมตีโดน 100% พร้อมกับเผยตัวออกมาทันทีนั่นเอง)

    ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

    คำที่เกี่ยวข้อง

    สมัครรับข่าว OS

    คุณอาจสนใจเรื่องนี้