รายงาน UN ชี้ อุตสาหกรรมอนิเมะญี่ปุ่นต้องปฏิรูปด่วน! ก่อนจะถึงขั้นล่มสลาย

มีรายงานของคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ระบุถึงปัญหาน่าหนักใจในประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจอนิเมชั่น ทำให้เกิดความกังวลว่าปัญหาที่หยั่งรากลึกในอุตสาหกรรมอนิเมชั่นนั้น นอกจากจะทำให้ญี่ปุ่นทำตามเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตอนิเมชั่นไม่สำเร็จแล้ว ยังอาจถึงขั้นทำให้อุตสาหกรรมล่มสลายได้ด้วย

อนิเมะ

โดยอนิเมะนั้นถือเป็นอุตหสากรรม Soft Power ที่สำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น ซึ่งกำไรร้อยละ 20 มาจากนอกประเทศ ทำให้มีแผนขยายตลาดในต่างประเทศควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมเกม แต่ก็มีอุปสรรคคอขวดหลายอย่างที่อาจทำให้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งในด้านสภาพการทำงานและค่าจ้าง เป็นต้น

โดยในรายงานของ UN ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 พบว่าปัญหาในอุตสาหกรรมอนิเมชั่นญี่ปุ่นนั้นกำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเอารัดเอาเปรียบแสวงหาประโยชน์ ซึ่งประเด็นปัญหาก็มีหลายอย่าง เช่นความเหลื่อมล้ำระหว่างกำไรที่อุตสาหกรรมนี้ทำได้เป็นกอบเป็นกำ ผิดกับค่าจ้างของอนิเมเตอร์ที่ได้น้อยมาก และยังมีปัญหาเรื่องสัญญากับกฏหมายแรงงานด้วย

รายงานพบว่าอนิเมเตอร์กว่าร้อยละ 30 นั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์หรือพนักงานสัญญาจ้างอิสระ ซึ่งกฏหมายแรงงานในปัจจุบันไม่คุ้มครอง ทำให้มีการทำงานยาวนานเกินความพอดีหลายชั่วโมง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและผู้รับจ้างในแบบที่ไม่เป็นธรรมอยู่เรื่อย ๆ

อนิเมะ

ขณะเดียวกันรายงานยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสัญญาจ้างอนิเมเตอร์ที่มักจะไม่สามารถปกป้องสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของอนิเมเตอร์ (และกระทบนักเขียนมังงะด้วย) หนำซ้ำบริษัทผลิตอนิเมะต่าง ๆ ยังสามารถทำเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เหล่านี้โดยไม่ต้องเจอกับผลพวงต่าง ๆ จึงเกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่อนิเมเตอร์โดนเอารัดเอาเปรียบได้อย่างง่ายดาย

จากข้อมูลของ Nikkei Business ระบุว่าค่าแรงสำหรับอนิเมเตอร์ โดยเฉพาะอนิเมเตอร์หน้าใหม่นั้นต่ำมากถึง 250 เยน (55 บาท) ต่อหน่วย และไม่เปลี่ยนแปลงมากว่า 10 ปีแล้ว ต่อให้อนิเมเตอร์ทำงานได้ 300 หน่วยต่อเดือนก็จะได้ค่าตอบแทนแค่ 75,000 เยน (16,668 บาท) เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถประทังชีพได้ด้วยงานอนิเมชั่นอย่างเดียว ขณะที่รายงานของ UN ก็พบว่าเงินเดือนโดยเฉลี่ยต่อปีของอนิเมเตอร์นั้นอยู่ที่ 1.5 ล้านเยน (333,330 บาท)

นอกจากค่าตอบแทนจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ปัญหาโดนใช้งานหนักเกินความพอดียังทำให้อนิเมเตอร์ที่มีประสบการณ์เลิกทำงานนี้อีกด้วย ทำให้ขาดผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค ทำให้บริษัทผลิตอนิเมะไม่สามารถเพิ่มปริมาณหรือปรับปรุงคุณภาพอนิเมชั่นได้ จนต้องเอาท์ซอร์สงานไปต่างประเทศ (ซึ่งบางทีก็มีหลุดไปประเทศที่ถูกคว่ำบาตรอย่างเกาหลีเหนือด้วย)

รายงานของ UN จึงชี้ว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมอนิเมชั่น รวมถึงคณะกรรมการผลิตอนิเมชั่นต่าง ๆ จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อให้สภาพการทำงานของอนิเมเตอร์นั้นดีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมถึงคราวล่มสลาย

อนิเมะ

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ เช่นคุณ Yosuke Yasui แห่งสถาบัน Japan Research Institute ที่ได้ศึกษาวิจัยปัญหานี้ให้ความเห็นว่าปัญหาเหล่านี้อาจจะหยั่งรากลึกเกินกว่าทีบริษัทและสตูดิโอต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมนี้จะแก้ไขกันเองได้ อาจจะถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง ขณะที่ Nikkei Business ก็แสดงความกังวลว่าปัญหาเอารัดเอาเปรียบแรงงานอาจจะเป็นเหตุ ทำให้ผู้จัดจำหน่ายอนิเมะต่างในประเทศอย่าง Netflix และ Amazon บอยคอตได้อีกด้วย

หากอุตสาหกรรมอนิเมะต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ตรงตามเป้าหมายได้จริง ๆ ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูป กันอย่างจริงจังหรือหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะกลายเป็นปัญหาหมักหมมที่รอวันระเบิดในภายภาคหน้าก็เป็นได้

แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media


ติดตามดูอนิเมะถูกลิขสิทธิ์ ได้ที่นี่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้