[color=blue]”ทศท”ออกโรงแจงพัลวัล เน็ตค่าเฟ่ยันบอรดแบนด์อืด [/color]ทศท แอ่นอกรับสภาพ หลายโครงการสนองนโยบาย”หมอเลี้ยบ”ไม่คืบ อย่างโครงการข้ามปี”เน็ตคาเฟ่-บรอดแบนด์” หรือแม้แต่การขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตสู่ร้านกู๊ดเน็ต “วิเชียร –ประกอบ”ยกแม่น้ำทั้งห้า ชี้ให้เห็นถึงความล่าช้า พร้อมย้ำชัดเร่งสะสางปัญหา เชื่อกันยายนนี้ทุกโครงการเห็นผลชัด สืบเนื่องจากที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้สั่งการให้บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน ) รับเป็นเจ้าภาพดำเนินนโยบายเชิงรุกหลายต่อหลายโครงการ จวบจนวันนี้ถึงวันนี้จากการตรวจสอบของ”ฐานเศรษฐกิจ”พบว่ายังไม่มีโครงการใดที่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น นโยบายขยายบรอดแบนด์ 1 ล้านพอร์ต , โครงการร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ , โครงการตลาดกลางอี – เล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e – Marketplace) หรือแม้แต่การติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับโครงการร้านกู๊ดเน็ต แม้ว่า น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะขีดเส้นตายให้แล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2547 แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าไร้ซึ่งความชัดเจน ดังนั้นเพื่อความกระจ่างของเรื่องนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สอบถามไปทางนายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทศท คอร์ป ได้การชี้แจ้งถึงความล่าช้าอย่างโครงการร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ (Internet Cafe) สาขาเพลินจิต ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดการณ์เดิมเดือนกันยายน 2546 ที่ผ่านมา เนื่องจากความล่าช้าในการขออนุมัติปรับปรุงอาคารสถานที่จากกรุงเทพมหานคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ราชการกำหนด จากปัญหาเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดความล่าช้า อีกทั้งบมจ. ทศท ได้มีการปรับแผนผังรูปแบบของการจัดวางภายในร้านให้สะดวกต่อการใช้งานอาทิเช่น มุมร้านกาแฟ , ร้านขายของที่ระลึก , ศูนย์บริการประชาชน , ห้องประชุมขนาด 20 – 30 ที่นั่ง และร้านอินเตอร์เน็ต ซึ่งในเบื้องต้นภายในร้านจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้คอยให้บริการจำนวน 60 เครื่อง อย่างไรสาขานี้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนกันยายน 2547 นี้อย่างแน่นอน สำหรับร้านทีเน็ตสาขาเดอะมอลล์ จังหวัดนครราชสีมาที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2546ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในแต่ละวันมีจำนวนลูกค้าทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นบมจ.ทศท จึงได้ทำการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอีกจำนวน 3 เครื่องจากเดิมที่มีอยู่จำนวน 17 เครื่อง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ขณะที่นายประกอบ ตันตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจสื่อสารข้อมูล บมจ. ทศท กล่าวเพิ่มเติมถึงความล่าช้าในการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) จำนวน 1 ล้านพอร์ต ว่า หลังจากที่บมจ. ทศท ได้มีการหารือกับบริษัทเอกชน 4 ราย เพื่อเข้ามาร่วมลงทุนและทำตลาด อันประกอบด้วยบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตี้ จำกัด (มหาชน) หรือยูคอม , บริษัท สามารถ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) , เอดีซี ดาต้าเน็ท และเลนโซ่ ดาต้าคอม โดยแนวทางการดำเนินการจะเป็นรูปแบบการจัดสรรโควต้าให้เอกชนรายละ 200,000 พอร์ต และบมจ.ทศท ดำเนินการติดตั้งจำนวน 200,000 พอร์ตนั้น การดำเนินการติดตั้งในช่วงที่ผ่านมายังติดขัดและล่าช้าอยู่นั้น เนื่องจากต้องทำการทดสอบระบบ อีกทั้งบมจ.ทศท เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ดังนั้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ต่างๆ ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถติดตั้งได้แล้วเสร็จจำนวน 200,000 พอร์ตทั่วประเทศภายในเดือนกันยายน 2547 นี้ นอกจากนี้การติดตั้งบรอดแบนด์ในแต่ละพื้นที่จะขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานจริงของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ บมจ.ทศท จะทำการศึกษาวิจัยความต้องการของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการติดตั้ง โดยในเบื้องต้นคาดว่าพื้นที่จังหวัดใหญ่เช่นกรุงเทพมหานคร , 3 จังหวัดไอซีที ซิตี้ ประกอบด้วย ภูเก็ต , เชียงใหม่ และขอนแก่น จะดำเนินการติดตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 พอร์ต นายประกอบกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่มีผู้ประกอบการร้านกู๊ดเน็ตท้วงติงถึงความล่าช้าในการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับโครงการว่า ร้านอินเตอร์เน็ตที่เข้าร่วมโครงการกู๊ดเน็ตตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงส่งผลให้การดำเนินการติดตั้งสายไฟเบอร์ออฟติคเป็นด้วยความลำบาก ดังนั้นคาดว่าหลังจากที่ดำเนินโครงการบรอดแบนด์จำนวน 200,000 พอร์ตแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ปัญหาเรื่องโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในโครงการกู๊ดเน็ตที่ยังไม่ครอบคลุมหมดไป เนื่องจากผู้ประกอบการร้านกู๊ดเน็ตสามารถใช้บริการบรอดแบนด์ได้ ข่าว: ฐานเศรษฐกิจ