ประวัติ Xbox จากแบรนด์คอนโซลสู่ระบบสมาชิกที่ทัชใจเกมเมอร์ | คอเกมติดเล่า EP.5

Xbox

วงการเกมคอนโซล ณ ปัจจุบันนั้นเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีแบรนด์และเครื่องคอนโซลเป็นของตัวเองทั้งสิ้น ได้แก่ Nintendo รุ่นพี่สัญชาติญี่ปุ่น ผู้มากประสบการณ์และคร่ำหวอดกับวงการนี้มานานที่สุด, Sony เจ้าของแบรนด์ PlayStation จากญี่ปุ่นเช่นกัน ที่ก้าวมาเป็นผู้ท้าชิงที่น่ากลัวตั้งแต่เจเนอเรชั่นที่ 5 เป็นต้นมา (ตอนนี้คอนโซลกำลังอยู่ในเจเนอเรชั่นที่ 9) และท้ายสุดคือ Microsoft เจ้าของแบรนด์ Xbox จากสหรัฐอเมริกาที่เรากำลังจะพูดถึงในบทความนี้ครับ

และเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึงจะเป็นวาระครบรอบ 22 ปีของแบรนด์ Xbox ด้วย ทางเราขอพาเพื่อน ๆ ย้อนประวัติศาสตร์ของแบรนด์นี้กันว่าพวกเขาล้มลุกคลุกคลานกันมาอย่างไร กว่าจะมาสู่ความเป็นหนึ่งในแบรนด์แถวหน้าของวงการนี้ได้อย่างองอาจ


จุดเริ่มต้น (1999)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1999 ทาง Sony ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการเดบิวต์เครื่อง PlayStation หรือ PS1 จนฮิตติดตลาด และโค่นบัลลังก์แชมป์ที่ Nintendo เคยครองตำแหน่งผู้นำตลาดคอนโซลมา 2 เจเนอเรชั่นติดต่อกันลงได้อย่างราบคาบ ได้ทำการเปิดตัวเครื่อง PlayStation 2 หรือ PS2 ต่อทันทีในปีนั้น พวกเขาได้วางบทบาทของว่าที่เครื่องคอนโซลรุ่นใหม่ว่านอกจากจะเป็นเครื่องเล่นเกมแล้ว มันจะต้องเล่นแผ่น CD เพลง รวมถึงแผ่นหนัง DVD ได้ด้วย

ฝั่ง Microsoft เองในฐานะที่พวกเขามีผลิตภัณฑ์เรือธงอย่าง Windows ที่สนับสนุนการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) อยู่ ซึ่งเป็นทั้งระบบปฏิบัติการ, ซอฟต์แวร์ทั่วไป, มัลติมีเดีย และเกมแบบครบวงจร มองว่าการมาของ PS2 จะส่งผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ PC อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางวิศวกร 4 คนของ Microsoft ประกอบไปด้วยคุณ Kevin Bachus, Seamus Blackley, Ted Hase และ Otto Berkes จึงเกิดปิ๊งไอเดียที่ว่าบริษัทควรจะสร้างเครื่องเกมคอนโซลที่คุณสมบัติคล้ายกับ PS2 มาแข่งกับ Sony บ้าง พร้อมตั้งใจออกแบบให้ตัวเครื่องสามารถรัน Windows และ DirectX ได้ ซึ่งจะง่ายและสะดวกกับทีมพัฒนาของ Microsoft เอง

ถัดมาเป็นประเด็นของการตั้งชื่อเจ้าเครื่องคอนโซลดังกล่าว ในตอนแรกพวกเขามีชื่อที่เป็นแคนดิเดตอยู่หลายชื่อด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Direct X Box และ Windows Entertainment Project แต่ฝ่ายการตลาดได้ลองทำการสำรวจความเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนตกผลึกได้ว่าชื่อ Xbox คือชื่อที่เหมาะสมทั้งในการแง่การโปรโมตและการจดจำจากผู้คนที่สุดแล้ว และมันก็ได้ถูกใช้เป็นชื่อแบรนด์ธุรกิจด้านเกมของ Microsoft มานับแต่นั้น


Xbox (2001)

ในที่สุดเครื่องเกมรุ่นบุกเบิกของแบรนด์ก็ถือกำเนิดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2001 โดยเริ่มจำหน่ายที่ทวีปอเมริกาเหนือก่อนเป็นแห่งแรก ซึ่งขณะนั้นวงการเกมคอนโซลกำลังอยู่ในเจเนอเรชั่นที่ 6 พอดี และ Xbox ก็หาญกล้าเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงกับ PS2 ของ Sony และ GameCube ของ Nintendo แบบเต็มตัว พร้อมกับชูประสิทธิภาพตัวเครื่องที่เหนือกว่า PS2 และ GameCube ด้วย

นอกเหนือไปจากสเปคที่แรงกว่าชาวบ้านแล้ว Microsoft ยังเปิดตัวระบบบริการของตัวเองที่มีชื่อว่า Xbox Live ตามมาในเดือนพฤศจิกายน 2002 ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเล่นเกมแบบออนไลน์กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งแม้ว่าระบบออนไลน์ของเครื่อง Dreamcast (จาก Sega) และ PS2 จะเล่นได้ฟรีก็ตาม แต่ฝั่งเซิร์ฟเวอร์ของ Xbox ที่จำเป็นต้องเสียเงินสมัครสมาชิกนั้นมีคุณภาพที่ดีกว่ามาก พ่วงด้วยระบบเฟรนด์ลิสต์ กล่องรับข้อความ แถมยังมีเกมเด็ดอย่าง Halo 2 ที่รองรับระบบออนไลน์แบบครบวงจร ดังนั้นคงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Xbox กินขาดในเรื่องการเล่นผ่านระบบออนไลน์ในคอนโซลเจเนอเรชั่นนี้ได้อย่างสบาย

อย่างไรก็ตาม สงครามคอนโซลในเจเนอเรชั่นที่ 6 ก็เป็นฝ่าย PS2 ที่ครองแชมป์ด้วยยอดขาย 155 ล้านเครื่อง แซงหน้าน้องใหม่อย่าง Xbox ที่ทำได้ 24 ล้านเครื่องไปแบบไม่เห็นฝุ่น ปัจจัยหลักเลยก็คือการไม่มีเกม 3rd Party ดัง ๆ ป้อนมาลงในจำนวนที่มากเพียงพอ แต่ Microsoft ก็คิดในแง่บวกว่ามันเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น และยังมีการบ้านอีกมากที่พวกเขาต้องไปทำเพิ่ม หากจะต่อกรกับ Sony ได้สูสีกว่านี้


Xbox 360 (2005)

เข้าสู่เจนถัดมา Microsoft ก็ออก Xbox 360 มาก่อนเพื่อนในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2005 ส่วนด้าน Sony กับ Nintendo ก็ออกเครื่อง PS3 และ Wii มาชิงชัยกันตามลำดับ โดยทาง PS3 นั้นพยายามดันเรื่องของไดรฟ์ Blu-ray ที่เป็นสื่อชนิดใหม่ที่จุข้อมูลเกมได้มากกว่า DVD ถึงหลายเท่ามาเป็นหนึ่งในฟีเจอร์หลัก ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเด่นของ PS3 ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมที่ออกมาในเจนนี้กินเนื้อที่ค่อนข้างมากอยู่ ยกตัวอย่างเช่น Wolfenstein: The New Order ที่ใช้ DVD จำนวน 4 แผ่น หรือ Rage ที่ใช้จำนวน 3 แผ่นเช่นกัน ขณะที่ PS3 จะสามารถจุเกมที่กล่าวมาอยู่ใน Blu-ray แค่แผ่นเดียวเท่านั้น

แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ PS3 เกิดชะงักในช่วงเปิดตัวก็คือราคาที่ Sony ตั้งไว้สูงลิ่ว ราวกับพกความมั่นใจในฐานผู้เล่นของตัวเองว่าพวกเขายินดียอมจ่ายหลังจากที่ PS2 เคยสร้างปรากฏการณ์ความยอดเยี่ยมเอาไว้ก่อนหน้า รวมถึงโครงสร้างภายใน Hardware ของ PS3 ที่ไม่ค่อยเอื้อให้ผู้พัฒนาเกมทำเกมมาลงได้ง่ายนัก ในทางกลับกัน ฟาก Xbox 360 มีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Xbox Live ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมแบ่งระดับสมาชิกเป็น 2 เทียร์ (Tier) ได้แก่ Silver และ Gold ซึ่งระดับ Gold ที่มีค่าสมาชิกแพงกว่าจะได้สิทธิพิเศษเหนือกว่า Silver อยู่พอสมควร เช่น ได้เล่นเดโมของหลาย ๆ เกมก่อนเพื่อน หรือได้ส่วนลดราคาเกมมากกว่าปกติ เป็นต้น

ทว่าในช่วงแรก ๆ ถึงกลางเจน ผู้เล่น Xbox 360 มักจะประสบกับปัญหาใหญ่ก็คืออาการไฟแดงหน้าตัวเครื่องสว่าง 3 ดวงที่มีชื่อเรียกว่า “Red Ring of Death” หรือ “ไฟแดงมรณะ” ครับ ซึ่งแม้ว่า Microsoft จะไม่เคยออกมาแถลงถึงสาเหตุของการเกิดไฟแดงมรณะอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีเกมเมอร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุน่าจะมาจากตัวชิปของการ์ดจอ และปัญหาการระบายความร้อนที่ไม่ดีของตัวเครื่อง โดยปัญหานี้เคยถึงจุดพีคสุดก็ตอนที่ร้าน Micromart ที่เป็นศูนย์รับซ่อม Xbox 360 ในสหราชอาณาจักร (UK) รายงานว่ามีผู้นำเครื่องเกมมาส่งเคลมเป็นจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของลูกค้าทั้งหมด หรือราว 2,500 เครื่องต่อวันจนถึงขั้นต้องปิดรับซ่อมกันเลยทีเดียว เนื่องจากปัญหาไฟแดงมรณะในขณะนั้นสามารถซ่อมให้หายได้เพียงแค่ชั่วคราวครับ พอเวลาผ่านไปอีกไม่กี่สัปดาห์ ปัญหาเดิมบนเครื่องเดิมก็จะกลับมาอีก

ถึงจะมีปัญหาตัวเครื่องรุมเร้าอยู่ตลอดเกือบทั้งเจน แต่สงครามคอนโซลเจนนี้ Xbox 360 ถือว่าทำได้ไม่เลว โดยทำยอดขายไปได้ถึง 84 ล้านเครื่อง และเป็นยอดสูงสุดเท่าที่ Microsoft เคยทำได้จนถึงปัจจุบันครับ

Kinect (2010)

ช่วงที่ Xbox 360 กำลังห้ำหั่นกับ PS3 อยู่อย่างดุเดือด ฝั่ง Nintendo ได้เบนเข็มตัวเองไปผลิต Wii เครื่องเกมคอนโซลที่มีลูกเล่นหลักคือการจับการเคลื่อนไหวของผู้เล่นขณะเล่นเกม และเป็นอะไรที่ตอบโจทย์กับคอนเซ็ปต์การเล่นในหมู่ครอบครัวอย่างมาก ทาง Microsoft เลยไปพัฒนาอุปกรณ์เสริมของตัวเองที่ชื่อว่า Kinect ขึ้นมา เช่นเดียวกับ Sony ที่ออกอุปกรณ์เสริมในชื่อ PlayStation Eye และ PlayStation Move ซึ่งมีแนวทางของการเล่นคล้ายคลึงกับ Wii

ด้วยเทคโนโลยีที่โดดเด่นในฐานะอุปกรณ์เสริม และมีความพร้อมมากกว่าฝั่ง PlayStation Eye และ PlayStation Move อย่างชัดเจน ตัวเครื่องสามารถสร้างสถิติเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำยอดขายได้เร็วที่สุดในโลก ที่จำนวน 8 ล้านเครื่องภายใน 60 วันแรกหลังวางจำหน่าย และทำยอดขายทะลุ 24 ล้านเครื่องภายใน 1 ปี 2 เดือนเท่านั้น


Xbox One (2013)

เจนที่แล้วทำท่าเหมือนจะดี แต่พอเข้าสู่เจเนอเรชั่นที่ 8 ปุ๊บ Microsoft ดันแพ้ภัยตัวเองตั้งแต่ยังไม่ทันจะวางขายเครื่องครับ เพราะพวกเขาดันไปประกาศในช่วงเปิดตัวเครื่องใหม่ที่มีชื่อว่า Xbox One ว่าผู้เล่นจำเป็นต้องต่อออนไลน์ตลอดเวลาระหว่างใช้งาน ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเล่นเกมใด ๆ ได้เลย รวมถึงไม่สามารถเล่นเกมที่เป็นแผ่นมือสองได้อีกด้วย การประกาศเช่นนี้ทำให้กระแสผู้คนเทไปทางลบกันทั่วโลก และถึงแม้ Microsoft จะมากลับลำ ยกเลิกฟีเจอร์ดังกล่าวไป แต่กระแสผู้คนส่วนมากก็สวิงกลับมายากแล้ว กลายเป็นว่าสงครามคอนโซลเจเนอเรชั่นที่ 8 ทาง PS4 ของ Sony คว้าชัยชนะเหนือ Microsoft ไปแบบหายห่วง ถ้าเรียกเป็นภาษามวยก็คือชนะน็อคตั้งแต่ยังไม่ทันขึ้นชกเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวกัน Kinect ในเจนของ Xbox One ก็มีการออกรุ่นอัปเกรดตามมาด้วย โดยรุ่นอัปเกรดนี้มีการปรับปรุงกล้องให้รับภาพการเคลื่อนไหวของผู้เล่นได้กว้างขึ้น ตอบสนองการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และใช้กล้องที่มีความคมชัดสูง ทว่ามีจุดด้อยในเรื่องการสั่งงานด้วยเสียงที่พบปัญหาไม่สามารถแยกแยะภาษาอังกฤษในหลายสำเนียงได้ แถมช่วงแรกที่วางจำหน่ายก็ยังมีข้อบังคับในเรื่องที่ต้องเชื่อมต่อกับ Xbox One ตลอดเวลา และ Microsoft ก็ต้องมาแก้ไขประเด็นนี้ในภายหลัง แต่นั่นก็แทบจะสายเกินไปกับการกระตุ้นยอดขายให้กลับมาปังได้เหมือนยุค Xbox 360 ครับ

เครื่องรุ่นอัปเกรด (2016)

ช่วงกลางเจน ทาง Microsoft ได้มีการเปิดตัว Xbox One S และ Xbox One X ขึ้นภายในงาน E3 2016 ซึ่ง Xbox One S เป็นรุ่นอัปเกรดที่รองรับการแสดงผลระดับ 4K รวมถึงเพิ่มไดรฟ์ UHD Blu-ray เข้าไปในเครื่องด้วย โดยในส่วนของ Xbox One S เองก็มีการเพิ่มรุ่น All-Digital เข้ามาทีหลัง ที่มีราคาถูกกว่า แต่เล่นเกมได้เฉพาะเวอร์ชั่นดิจิทัลดาวน์โหลดเพียงอย่างเดียว

(ล่าง) Xbox One S

ขณะที่ Xbox One X จะเป็นเครื่องรุ่นไฮเอนด์ที่เพิ่มสเปคของ CPU และการ์ดจอให้เหนือกว่า Xbox One S ไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกของวงการเกมคอนโซลที่ค่ายผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์เริ่มมีการออกเครื่องโมเดลรุ่นอัปเกรดที่อยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกัน อย่างฝั่ง Sony เองก็ยังมีออก PS4 Pro ที่เป็นรุ่นอัปเกรดมาด้วยในเวลาไล่เลี่ยกันกับ Xbox One S

(ล่าง) Xbox One X

สำหรับยอดขายของ Xbox One นั้นมีการเปิดเผยจาก Microsoft เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2023 ที่เพิ่งผ่านมาว่า ตัวเครื่องทุกโมเดลรวมกันสามารถทำยอดขายได้ที่ประมาณ 58 ล้านเครื่อง และความเพลี่ยงพล้ำของเจนนี้ได้ทำให้ Microsoft ไปปรับกลยุทธ์มาใหม่ และความเคลื่อนไหวครั้งถัดไปของพวกเขาได้สร้างแรงสั่นสะเทือนมหาศาลแก่วงการเกมเลยละครับ


Xbox Series X|S (2020)

ใครที่เป็นแฟนของฝั่ง Xbox เวลาได้ยินชื่อเครื่องแต่ละรุ่นที่ออกมาใหม่ เชื่อว่าต้องมีคนที่สับสนกับชื่อกันบ้างละครับ อย่างเจนก่อนหน้าที่มีทั้ง Xbox One, Xbox One S และ Xbox One X พอข้ามมาเจนปัจจุบัน เครื่องรุ่นใหม่ก็ดันใช้ชื่อว่า Xbox Series X และ Xbox Series S ซะอย่างนั้น ถึงขั้นที่มีบางคนเจอปัญหาซื้อเครื่องผิดรุ่นให้บุตรหลานที่บ้านด้วยซ้ำ

อนึ่ง ทาง Xbox Series X กับ Xbox Series S จะมีบทบาทของมันและกลุ่มเป้าหมายที่แยกจากกันชัดเจน โดย Series S จะเป็นรุ่นประหยัดที่มีราคาเข้าถึงได้ง่าย สเปคแค่เพียงพอในการรันเกมเจนปัจจุบัน และเล่นเกมได้เฉพาะดิจิทัลดาวน์โหลด ส่วน Series X จะเป็นรุ่นไฮเอนด์เหมือนกับที่ Xbox One X เคยเป็น

(ล่าง) Xbox Series X

(ล่าง) Xbox Series S

อย่างไรก็ดี ไม้เด็ดของ Microsoft ที่เตรียมมาสำหรับสู้ศึกคอนโซลเจเนอเรชั่นที่ 9 นั้นได้สร้างเซอร์ไพรส์แก่เกมเมอร์ทั่วโลกเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการอัปเกรดระบบสมาชิกที่มีชื่อว่า Xbox Game Pass และ PC Game Pass จากยุค Xbox One ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งระบบนี้เป็นคลังเกมจำนวนมหาศาลนับร้อยนับพันเกม ตั้งแต่ยุค Xbox รุ่นแรกจนถึงเจนปัจจุบัน ที่ผู้เล่นเพียงแค่สมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปีก็สามารถเข้าไปเล่นเกมเหล่านั้นได้ทันที แถมมีหลายเกมที่นำมาลงระบบนี้พร้อมวันวางจำหน่ายวันแรกเลย ซึ่งค่าบริการก็แสนถูก เรียกว่าเอาใจเกมเมอร์กันถ้วนหน้า สอดรับกับแนวทางใหม่ของ Microsoft ที่ไม่เน้นกับเรื่องยอดขายเครื่อง Xbox Series X|S อีกต่อไป แต่ไปโฟกัสที่ยอดจำนวนสมาชิกที่ใช้งาน Game Pass ทั้งสองแพลตฟอร์มแทน

การใช้กลยุทธ์ด้าน Game Pass นี้ ว่ากันตามตรงก็คือเป็นการเดิมพันด้วยกำลังเงินที่เป็นข้อได้เปรียบของ Microsoft ครับ เพราะการจะดึงเกมชั้นนำจากค่ายเกมดัง ๆ มาลง Game Pass แบบ Day1 หรือพร้อมวันวางจำหน่ายเกมได้นั้นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการดีลมา ซึ่งความคาดหวังเลยไปตกอยู่กับจำนวนยอดสมาชิกที่ทาง Microsoft ต้องยอมเจ็บตัวในช่วงแรกไปก่อน กระทั่งมียอดสมาชิกเป็นไปตามเป้า จึงจะเริ่มถึงจุดคุ้มทุน

สงครามคอนโซลระหว่าง Sony กับ Microsoft ยังมีแนวโน้มที่จะแข่งขันกันไปอีกหลายปี โดย ณ ตอนนี้แต่ละฝั่งก็พยายามใช้จุดเด่นของตัวเองในการผลักดันแนวทางของพวกเขาไปให้ถึงฝั่งฝัน ก็ต้องมาดูกันละว่าฝั่งไหนจะงัดแผนการตลาดมาโน้มน้าวเกมเมอร์ได้ดีกว่ากัน เวลาคือคำตอบของสมรภูมินี้ครับ

สำหรับใครที่ชอบคอนเท็นลักษณะนี้ สามารถติดตามได้ที่ สกู๊ปคอเกมติดเล่า


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้