คอเกมติดเล่า EP.4 ยังอยู่กับ ตำนาน PlayStation แบรนด์เครื่องเกมคอนโซลที่ประสบความสำเร็จและยืนระยะมาได้นานเกือบ 3 ทศวรรษ โดยในตอนนี้จะเป็นตอนจบซึ่งก็จะกล่าวต่อจาก EP.3 จนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งถ้าใครยังไม่ได้อ่านในส่วนของตอนแรก สามารถอ่านความเดิมจากตอนที่แล้ว ได้ที่ลิงค์ เปิดตำนาน PlayStation (ตอนแรก) หรือ คอเกมติดเล่า EP.3
เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เรามาต่อกันเลยกับตำนาน PlayStation (ตอนจบ)
เปิดตำนาน PlayStation (ตอนจบ)
PSP: แฮนด์เฮลด์ตัวแรก (2005)
เมื่อหนทางของ Sony ดูเหมือนจะรุ่งโรจน์จนหยุดไม่อยู่ พวกเขาก็ไม่รอช้า รีบออกเดินทางสานฝันพัฒนาเครื่องเกมต่อไปแทบจะในทันที และเนื่องจากที่เครื่อง Game Boy Advance จาก Nintendo กำลังบุกตีตลาดเกมเมอร์ในตอนนั้น ทำให้ Sony เริ่มหันมาให้ความสนใจกับเครื่องเล่นเกมรูปแบบ “พกพา” ด้วยอีกราย จนกระทั่งได้ให้กำเนิดเจ้า PlayStation Portable หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า PSP ในที่สุด
(ล่าง) เครื่อง PSP ที่ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ก็ไม่อาจเอาชนะ Nintendo DS ของปู่นินที่ครองตลาดเครื่องแฮนด์เฮลด์มานานไปได้
PSP ทำให้เกมเมอร์และสาวก Sony ทั่วโลกต้องตื่นเต้นกันอีกครั้ง ด้วยขนาดเครื่องที่ทั้งเบา เล็ก และสามารถพกพาไปเล่นด้วยที่ไหนก็ได้ พ่วงระบบออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต Wi-Fi ที่ทำให้ผู้เล่นทั้งหลายสามารถร่วมเล่นเกมกันได้อย่างสะดวกสบาย รวมถึงรอบรับมัลติมีเดียอีกมากมาย และแน่นอน PSP ได้กลายเป็นเครื่องเล่นเกมอีกเครื่องภายใต้ชื่อยี่ห้อ Sony ที่ขายหมดอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ครั้งแรกที่วางจำหน่าย ซึ่งก็คือวันที่ 12 ธันวาคม 2004 นั่นเอง
PS3: สู่ยุค High Definition (2006)
พ้นยุคของ PS2 มาปุ๊บ Sony ก็ต้องพบเจอกับขวากหนามหน้าใหม่ นั่นก็คือเครื่อง Xbox 360 จาก Microsoft ที่ทำการบ้านมาดีกับระบบเครือข่าย Xbox Live Network ที่สามารถให้ผู้เล่นคอนโซลสามารถออนไลน์เล่นเกมด้วยกันได้
ทว่า Sony ที่ ณ เวลานั้นได้ชื่อว่าครองแชมป์ตลาดเกมคอนโซลมา 2 เจเนอเรชั่นติดต่อกันจนรู้สึกหวั่นเกรง พวกเขารีบหาทางปล่อยเครื่องคอนโซลตัวใหม่อีกครั้ง และคราวนี้ PlayStation 3 หรือ PS3 ก็ได้กำเนิดขึ้นมาด้วยคุณสมบัติที่เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่ยังคงรูปแบบความบันเทิงเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ Sony เพิ่มเข้าไป ซึ่งก็คือการเล่นเกมผ่านแผ่น “Blu-ray Disc” (บลูเรย์ดิสก์) นั่นเอง
(ล่าง) เครื่อง PS3 ที่ทาง Sony มั่นใจเกินไปหน่อย จนเพลี่ยงพล้ำเสียแชมป์ให้กับ Xbox 360 และ Wii ไปโดยปริยาย
ด้วยเทคโนโลยีการอ่านแผ่นบลูเรย์นี้ ทำให้ประสิทธิภาพของเครื่อง PS3 เหนือขึ้นไปอีกขั้นก็จริง แต่ใช่ว่า PS3 จะไม่พบกับปัญหาอุปสรรคอะไรเลย โดยภายหลังจากการประกาศเปิดตัวเครื่องเมื่อปี 2005 ยังไม่ทันที่ PS3 เครื่องแรกจะได้ปรากฏโฉมบนร้านค้า Sony ก็ต้องประสบกับปัญหาด้านการผลิตอย่างรุนแรง ทำให้กว่าเครื่อง PS3 จะได้วางขายจริง ๆ ก็ปาเข้าไปปี 2006 แล้ว แถมราคาเปิดตัวก็จัดว่าโหดสุด ๆ เริ่มต้นที่ 499.99 เหรียญสหรัฐฯ ณ เวลานั้นคือประมาณ 16,000 กว่าบาทไทย มันเลยเป็นข้อเปรียบเทียบกับราคาของเครื่องคู่แข่งอย่าง Xbox 360 ของ Microsoft และเครื่อง Wii ของ Nintendo ที่ถูกกว่าเกือบครึ่งหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ ในสมัยของ PS3 ยังเป็นยุคที่ Sony ให้กำเนิดระบบ PlayStation Network (PSN) หรือระบบเครือข่ายออนไลน์เป็นครั้งแรกด้วย แถมยังมีพ่วงมากับระบบให้บริการสมาชิกที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีอย่าง PlayStation Plus (PS Plus) ให้ชาว PlayStation ทุกคนได้พบกับโปรโมชั่นพิเศษใน PlayStation Store ด้วย
แม้ว่าเครื่อง PS3 จะปิดยอดขายไปได้ที่ประมาณ 87.4 ล้านเครื่องก็ตาม แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายก็ต้องมาพ่ายแพ้เรื่องยอดขายให้กับ Wii ไปในที่สุด แถมไม่ได้ชนะ Xbox 360 แบบทิ้งห่างอะไรด้วย (Xbox 360 ทำยอดขายไปได้ 84 ล้านเครื่อง)
(ล่าง) คุณคาซึโอะ ฮิราอิ (Kazuo Hirai) ผู้สืบทอดตำแหน่งจากคุณเคน คุตารากิ และเขาผู้นี้ก็ต้องแบกรับภาระในการดัน PlayStation ให้อยู่รอดในตลาดเกมที่มีคู่แข่งทั้งเครื่องคอนโซลและ PC ไปพร้อม ๆ กัน
PS4: กลับมาสู้กันต่อ (2011)
ต่อจากยุคสมัยของ PS3 ทาง Sony ก็ยังคงมุ่งพัฒนาเครื่องคอนโซลต่อไป และได้ให้กำเนิดเครื่อง PlayStation Vita หรือ PS Vita ออกมาในปี 2012 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่อง PlayStation แบบพกพารุ่นที่สองต่อจาก PSP ซึ่ง PS Vita นี่เองที่เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยี Touchpad หรือแผ่นสัมผัส ที่เราได้ลองไถเล่นอย่างสนุกสนานบนจอย PS4 อยู่ทุกวันนี้
ทว่าเจ้าเครื่อง PS Vita กลับไม่สามารถสร้างความนิยมได้เหมือนที่ PSP เคยเบิกทางเอาไว้ โดยปัญหาหลักนั้นคาดว่าเป็นเพราะจำนวนเกมที่ลงให้กับเครื่อง PS Vita มีน้อยเกินไป และไม่ได้รับการสนับสนุนจาก Sony อย่างเต็มที่ด้วยนับตั้งแต่วางจำหน่ายเครื่องช่วงแรกแล้วดันไม่ปังเท่าที่ควร
(ล่าง) PS Vita เครื่องแฮนด์เฮลด์ที่ทาง Sony ถอดใจตั้งแต่ไก่โห่ ปล่อยให้ Nintendo 3DS กินรวบในเจนนี้ไปแบบไม่ต้องเหนื่อย
พอไม่ประสบความสำเร็จกับ PS Vita ทาง Sony เลยไปโฟกัสกับคอนโซลเครื่องใหญ่อย่างเต็มตัว จนออกมาเป็น PlayStation 4 หรือ PS4 (ในปี 2013) พร้อมด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และฟีเจอร์เด็ด ๆ มากมาย ซึ่งเจเนอเรชั่นนี้ PS4 สามารถกลับมาเอาชนะคู่แข่งอย่าง Xbox One ได้อย่างถล่มทลาย โดยนอกจากทาง PS4 จะกินเรียบทั้งคุณภาพของเกม Exclusive ในมือแล้ว ฝั่ง Microsoft เองก็ดันเหยียบเท้าตัวเอง พลาดท่าในขั้นตอนการประชาสัมพันธ์เปิดตัวเครื่อง Xbox One ด้วย เพราะหนึ่งในผู้บริหารของ Xbox ในเวลานั้นไปกล่าวออกสื่อว่าตัวเครื่องต้องต่อออนไลน์ตลอดเวลาในการเล่น และไม่สามารถใช้แผ่นมือสองได้ กลายเป็นว่ากระแสเกมเมอร์เลยเทไปฝั่ง PS4 กันแบบมืดฟ้ามัวดิน ชนิดที่ว่าแม้ Microsoft จะกลับลำ แก้ข่าวในตอนหลังก็ไม่สามารถดึงกระแสให้สวิงกลับมาหาตัวเองได้อีกเลยจนจบเจน
สุดท้ายแล้ว PS4 ก็ทำยอดขายจนถึงปัจจุบันไปได้ที่ 117.2 ล้านเครื่อง และยังคงมีวางจำหน่ายในบางประเทศอยู่
(ล่าง) เครื่อง PS4 ที่ทาง Sony กลับมาครองแชมป์เครื่องคอนโซลในเจเนอเรชั่นที่ 8 ได้สำเร็จ
PS VR: เทคโนโลยีโลกเสมือน (2014)
ช่วงเดือนมีนาคม 2014 ทาง Sony ได้สร้างความเคลื่อนไหวกับวงการเกมคอนโซลอีกครั้ง เมื่อประกาศว่าตนเองกำลังพัฒนาอุปกรณ์ VR Headset ภายใต้ชื่อโค้ดเนมชั่วคราวว่า Project Morpheus โดยเป็นอุปกรณ์เสริมที่จะมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่แก่ผู้เล่นให้ได้สัมผัสเกมในโลกเสมือนที่ปรากฏบนจอภาพภายในแว่น ซึ่งชูด้วยคอนเซ็ปต์สำคัญคือเป็น VR ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาย่อมเยา
ในที่สุดเจ้าอุปกรณ์เสริมนี้ก็วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 ตุลาคม 2016 ด้วยชื่ออย่างเป็นทางการว่า PlayStation VR หรือ PS VR พร้อมราคาเปิดตัวในไทยที่ 18,990 บาท (รุ่นขายพ่วง PlayStation Camera) และราคา 17,490 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อเฉพาะตัว Headset อย่างเดียว ทั้งนี้ ตัวอุปกรณ์ยังรองรับการควบคุมด้วย PlayStation Move ด้วยเช่นกัน ทำให้มีการเพิ่มการวางจำหน่ายในลักษณะชุดบันเดิ้ลที่พ่วง PS Move ตามมาในภายหลัง
ยอดขายของ PS VR เจนแรกถือว่าทำได้ไม่เลว โดยนับยอดขายจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2019 ปรากฏว่าทำไปได้ถึง 5 ล้านเครื่องเลยทีเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่าแม้ราคาของ PS VR รุ่นแรกจะจับต้องได้ง่ายกว่ายี่ห้ออื่นที่ออกมาในเจนเดียวกันก็จริง แต่ตัวเทคโนโลยี VR เองในมุมมองของผู้เล่นทั่วไปยังรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่ “ต้องมีในครอบครอง” มากนัก ทว่าก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ Sony ไปทำการบ้านมาเพิ่มหากจะมีการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ต่อไป
PS4 Pro: คอนโซลรุ่นอัปเกรด(2016)
ปกติแล้วในรอบวงจรชีวิตของเครื่อง PS1 จนถึง PS3 ที่ผ่านมา ทาง Sony จะมีการวางจำหน่ายเครื่องรุ่น Slim ที่มีดีไซน์บางกว่า เล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า และกินไฟน้อยกว่า ออกตามมาหลังจากที่เครื่องโมเดลแรกวางขายมาได้ประมาณ 3-4 ปีครับ ซึ่งยุคของ PS4 เองก็มีการประกาศเครื่องรุ่นที่ว่านี้เหมือนกัน แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือพวกเขามีการประกาศเครื่องรุ่นอัปเกรดที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า PlayStation 4 Pro หรือ PS4 Pro ที่มีสเปคแรงกว่า PS4 โมเดลแรกกับ PS4 Slim ทุกประการ
โดย PS4 Pro ที่ว่านี้นอกจากจะมีสมรรถนะดีขึ้น แรงขึ้น โหลดเกมได้ไวขึ้นระดับหนึ่ง ก็ยังรองรับสเกลภาพระดับ 4K HDR เป็นครั้งแรก พร้อมด้วย Boost Mode และ Supersampling Mode ที่ผู้เล่นสามารถเข้าไปปรับเพื่อเร่งการแสดงผลของเกมให้ดีขึ้นได้
PS5: เครื่องเจนปัจจุบันกับวิบากกรรมรีเซล (2020)
เข้าสู่ปี 2020 หรือประมาณ 7 ปีหลัง PS4 วางขาย ถือเป็นเวลาอันเหมาะสมที่เครื่องเกมคอนโซลของ Sony จะทำการผลัดใบเสียที และ PlayStation 5 หรือ PS5 ก็ได้ฤกษ์วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2020 โดยมีวางจำหน่ายแยกกัน 2 รุ่นคือรุ่นปกติที่มีช่องใส่แผ่น และรุ่น Digital Edition ที่ตัดเอาช่องใส่แผ่นออกไป (เล่นได้เฉพาะดิจิทัลดาวน์โหลด) ซึ่งราคาเปิดตัวในไทยช่วงนั้นคือ 16,990 บาทสำหรับเครื่องรุ่นปกติ และ 13,990 บาทสำหรับเครื่องรุ่น Digital Edition
ทางด้านฟีเจอร์ภายในเครื่อง PS5 นั้น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนจาก HDD มาใช้ SSD ที่ช่วยให้การโหลดเกมไวแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ รวมถึงจอย DualSense ที่เพิ่มความสมจริงของการเล่นด้วยระบบสั่นแบบใหม่ที่เรียกว่า Haptic Feedback และ Adaptive Trigger และไดรฟ์ที่เปลี่ยนใหม่ สามารถอ่านแผ่น UHD Blu-ray ได้ (เฉพาะเครื่องรุ่นปกติ)
PS5 ในช่วงที่วางจำหน่ายแรก ๆ นั้นประสบกับปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 2 อย่างที่เป็นลักษณะลูกโซ่ครับ
- อย่างแรกเลยคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทำให้กระบวนการผลิตเครื่องล่าช้า ไม่เพียงพอต่อจำนวนความต้องการของผู้บริโภค อย่างในเมืองไทยก็ต้องเปิดพรีออเดอร์ให้ผู้คนลงทะเบียนจองกันเดือนละรอบ
- และอีกปัญหาคือการนำเครื่อง PS5 มาประกาศขายแบบรีเซลโดยคนบางกลุ่ม ที่ปั่นราคาขายจนสูงกว่าราคาปกติถึง 2-3 เท่า
กว่าสถานการณ์การผลิตจะกลับมาเป็นปกติ จนสามารถวางขายหน้าร้านให้ผู้คน Walk-in เข้ามาซื้อได้อย่างเร็วที่สุดก็ช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมานี้เอง กินเวลาถึง 2 ปีเศษเลยทีเดียว
ปัจจุบัน PS5 ทำยอดขายล่าสุดอยู่ที่ 38.4 ล้านเครื่อง ซึ่งยังเหลือเส้นทางและเวลาอีกหลายปีให้ลุ้นครับว่าเครื่องเจนนี้จะทำยอดขายทะลุ 100 ล้านเครื่องได้เหมือนที่ PS1, PS2 และ PS4 เคยทำได้มาก่อนหรือไม่
คล้อยหลังจากที่ Microsoft เปิดตัวเครื่อง Xbox Series X|S ไปไม่นาน พวกเขาก็เปิดตัวระบบสมาชิกรูปแบบใหม่ถึง 2 ตัวด้วยกัน ได้แก่ Xbox Game Pass และ PC Game Pass โดยเป็นบริการที่ผู้เล่นสามารถเข้าเล่นเกมที่มีอยู่ในคลังนับหลายร้อยเกมได้ในราคาค่าสมาชิกที่แสนถูก และมีการนำบางเกมที่ออกใหม่มาลงในบริการทั้ง 2 ตัวนี้ตั้งแต่วันแรกที่วางจำหน่ายด้วย ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าฝั่ง Microsoft จะโฟกัสไปที่การดึงลูกค้าจากระบบสมัครสมาชิกเป็นหลัก รวมถึงลดการให้ความสำคัญกับยอดขายเครื่อง เรียกว่าเป็นการปรับกลยุทธ์ที่เข้ากับสถานการณ์และจุดเด่นของตัวเองก็ว่าได้
แน่นอนครับว่าฝั่ง Sony ก็ต้องมีการปรับตัวบ้างเพื่อรับมือกับหมากของฟาก Microsoft พวกเขาจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการ PS Plus ของตัวเอง โดยมีการแบ่งระดับสมาชิกออกเป็น 3 ขั้น
- Essential ที่ยังคงเหมือนสมาชิก PS Plus ของเดิม
- Extra จะเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมคือสามารถเล่นเกมจากค่ายต่าง ๆ ในคลังที่มีอยู่หลายร้อยเกมได้
- Deluxe ที่เป็นสมาชิกขั้นสูงสุด ซึ่งพ่วงเกมคลาสสิค PS1 และ PS2 เข้ามาเพิ่ม และได้สิทธิ์เล่นเกมใหม่ ๆ ที่เป็นเวอร์ชั่นตัวเต็มในระยะเวลาจำกัด (ตั้งแต่ 2-5 ชั่วโมง) เพื่อตัดสินใจก่อนได้ว่าจะซื้อเกมนั้นดีหรือไม่
PS VR2: อุปกรณ์เสริมที่ราคาแพงกว่าเครื่องเกม (2023)
หลังปล่อยเว้นว่างมานานถึง 7 ปี PlayStation VR2 หรือ PS VR2 อุปกรณ์เสริมประเภท VR Headset ก็ออกมาสานต่อเทคโนโลยี VR อีกครั้งในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2023 ด้วยจอแสดงผลแบบ OLED ระดับ 4K และที่เด็ดกว่านั้นคือลดปริมาณการใช้สายเชื่อมต่อให้เหลือเพียงเส้นเดียว ซึ่งสะดวกสบายในการเล่นหรือขนย้ายกว่าเดิมมาก
เสียงตอบรับในแง่บวกของสื่อมวลชนและผู้เล่นที่มีต่อ PS VR2 จะพุ่งเป้าไปที่การแสดงผลและประสบการณ์ VR ที่อัปเกรดขึ้น แต่ยังมีเสียงติงเรื่องของราคาที่ไม่ควรแพงเกินกว่าตัวเครื่อง PS5 และนั่นทำให้เกมเมอร์จำนวนไม่น้อยมองว่าราคาอุปกรณ์เสริมชิ้นนี้ยังเป็นอะไรที่เกินเอื้อมไปหน่อย
และนี่ก็เป็นเส้นทางของ PlayStation ตลอดระยะเวลา 5 เจเนอเรชั่น ซึ่งเจเนอเรชั่นล่าสุดเพิ่งจะดำเนินมาไม่ถึง 3 ปีเต็มด้วยซ้ำ (นับถึงวันที่ลงบทความนี้) เรายังคงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าแบรนด์นี้จะมีอะไรเด็ด ๆ มาป้อนเข้าสู่วงการเกมคอนโซลอีกในอนาคต ว่าแต่เพื่อน ๆ เกิดทันเครื่อง PlayStation รุ่นไหนกันบ้างครับ?
และสำหรับใครที่ชอบคอนเท็นลักษณะนี้ สามารถติดตามได้ที่ สกู๊ปคอเกมติดเล่า
- คอเกมติดเล่า EP.1 เปิดประวัติวิดีโอเกม มหากาพย์การเดินทางของเครื่องคอนโซล
- คอเกมติดเล่า EP.2 เปิดประวัติ Nintendo จากบริษัทผลิตไพ่ สู่เจ้าแห่งวงการเกม
- เปิดประวัติ PlayStation เส้นทางธุรกิจเครื่องเกมคอนโซล 1/2
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station