คอเกมติดเล่า EP.3 จะพาทุกท่านไปเปิดตำนานหรือย้อนประวัติศาสตร์ของเครื่องเล่นเกมคอนโซลที่เอ่ยชื่ออกมาแล้วต้องรู้จักกันแน่นอน นั้นคือ PlayStation ว่ากว่าที่ จะประสบความสำเร็จและยืนระยะมาได้นานเกือบ 3 ทศวรรษ ผู้ให้กำเนิดแบรนด์อย่าง Sony ต้องเคยฟันฝ่าอุปสรรคอะไรมาบ้าง และต้องล้มลุกคลุกคลานขนาดไหนจึงจะมาถึงจุดนี้ได้ เรามาเปิดตำนานหรือย้อนอดีตของเครื่องคอนโซลที่เอาไว้เล่นเกมแบรนด์นี้กัน
เปิดตำนาน PlayStation (ตอนแรก)
หากพูดถึง ประวัติ PlayStation คงต้องย้อนเวลากลับไปวันที่ 3 ธันวาคม 1994 ถือเป็นวันที่วงการเกมคอนโซลเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ Sony หนึ่งในแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเครื่องเกมคอนโซลอย่างเต็มตัว โดยเริ่มตลาดที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก ซึ่ง ณ เวลานั้นสมรภูมิรบของวงการเกมคอนโซลยังเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง Nintendo และ Sega (อ่านต่อเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ได้ที่ เปิดประวัติวิดีโอเกม คอเกมติดเล่า EP.1) เพียงแค่ 2 เจ้าหลัก ๆ แต่ใครจะไปนึกว่าแบรนด์เครื่องเกมคอนโซลหน้าใหม่จาก Sony จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงอันดับ 1 ของวงการคอนโซลภายในระยะเวลาไม่ถึงปี และโค่นสถิติต่าง ๆ ที่คอนโซลเครื่องอื่นที่เกิดขึ้นมาก่อนเคยทำเอาไว้ลงได้อย่างราบคาบ จนเครื่องคอนโซลหน้าใหม่ที่ว่านี้ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้นำของวงการเกมคอนโซลตั้งแต่นั้นมา แถมยังสร้างความเคลื่อนไหวเด่น ๆ บนโลกแห่งเกมคอนโซลมาแล้วมากมาย และแบรนด์นั้นก็มีชื่อว่า PlayStation นั่นเอง
ก้าวแรกสู่สมรภูมิ (1987)
ถ้าพูดถึงตำนานหรือประวัติศาสตร์ของ PlayStation คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1987 โลกของวงการเกมคอนโซลยังมี Nintendo เป็นผู้นำตลาดแบบค่อนข้างหายห่วง ด้วยความนิยมของเครื่องเกม 8-Bit นามว่า Famicom หรือ NES ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดโค่นลงได้ แม้แต่ Sega เองก็ยังต้องถอยไปหลบอยู่หลักฉาก ทว่าไม่นานนัก ก้าวแรกสู่วงการเกมคอนโซลของ Sony ก็เริ่มมาจากการตกปากรับคำกับ Nintendo ว่าจะช่วยพัฒนาไดรฟ์สำหรับเล่นแผ่น CD สำหรับเครื่อง Super Famicom ให้ นับเป็นครั้งแรกที่ Sony ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเกมอย่างจริงจัง และถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ Sony จะได้มองหาหนทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต แม้มันจะยังเป็นเพียงแค่การติดตามและศึกษายักษ์ใหญ่อย่าง Nintendo ไปก่อนก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้แต่ Sony หรือ Nintendo เองก็ไม่มีใครได้คาดคิดเลยว่า เจ้าเทคโนโลยี Super Disc นี้เองที่จะช่วยให้ Sony นำไปต่อยอดจนสามารถพัฒนาออกมาเป็นเครื่อง PlayStation ได้สำเร็จ
อกหัก
หลังจากซุ่มพัฒนากันอยู่พักหนึ่ง ไม่กี่ปีถัดมา ภายในงาน Consumer Electronics Show ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองชิคาโก้ ทาง Sony และ Nintendo ก็ได้ประกาศเปิดตัวเครื่อง “Play Station” (มีการเว้นวรรคระหว่างคำว่า Play และ Station) ที่สามารถเล่นได้ทั้งแผ่น CD Super Disc ของ Sony และตลับเกมของ Nintendo แถมที่สำคัญ มันยังสามารถใช้ทั้งเล่นวิดีโอเกมและเล่นสื่อบันเทิงอื่น ๆ เช่นภาพยนตร์หรือเพลงได้อีกด้วย ซึ่งสำหรับ Sony แล้ว แม้จะเพิ่งดูใหม่กับแวดวงอุตสาหกรรมวิดีโอเกมก็จริง แต่ถ้าเป็นด้านสื่อบันเทิงอื่น ๆ ล่ะก็ เขาไม่ได้น้อยหน้าใครแน่นอน
จากนั้นฝั่ง Sony ก็มีการวางแผนระดับบิ๊กโปรเจกต์เลยว่าจะดึงบริษัทพันธมิตรอื่น ๆ มาร่วมช่วยพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วย ตั้งแต่บรรดาบริษัทในสังกัดอย่าง Sony Music ไปจนถึงค่ายหนัง Columbia Pictures แถมยังรวมไปถึงการทาบทามผู้กำกับชื่อดังอย่าง สตีเว่น สปีลเบิร์ก เรียกได้ว่าพอจับกระแสได้ปุ๊บ Sony ก็เตรียมจะทะยานแบบก้าวกระโดดทันที
ทว่าแค่หนึ่งวันให้หลัง ทาง Nintendo ก็หักอก Sony ด้วยการหนีไปซบ Philips คู่แข่งหมายเลขหนึ่งของ Sony แทนซะอย่างนั้น สร้างความขุ่นเคืองให้กับ Sony สุด ๆ ที่จู่ ๆ ก็ถูกตลบหลังกลางอากาศเช่นนี้
เมื่อไม่มี Nintendo แล้ว หนทางในการก้าวเข้าสู่ตลาดเกมของ Sony ก็ดูเหมือนจะริบหรี่ลงทุกขณะ เพราะนอกจากตัวเองจะไม่มีแผนกสำหรับพัฒนาเกมโดยเฉพาะแล้ว ประสบการณ์ในวงการอุตสาหกรรมอันโหดร้ายนี้ก็นับว่าน้อยนิดเสียเหลือเกิน สิ่งที่ Sony พอจะเหลืออยู่ก็มีแค่เจ้าเครื่อง Play Station (ที่พ่วงเทคโนโลยี Super Disc ติดมาด้วย) และทุนหนุนหลังจากบริษัทแม่เท่านั้น แต่แม้จะเจอเหตุการณ์มาหนักหนาขนาดนั้น Sony ก็ยังไม่เลิกล้มความคิดที่จะขอสู้ต่ออีกสักตั้ง
รวมพลังสู้อีกเฮือก
เข้าสู่เดือนถัดมา คุณโนริโอะ โอกะ (Norio Ohga) ประธานบริษัท Sony ณ เวลานั้นก็ได้เรียกประชุมใหญ่เพื่อถกกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทันที พร้อมประกาศต่อหน้าเหล่าพนักงานด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ทางบริษัทจะไม่หันหลังให้กับวงการเกมเด็ดขาด โดยที่หนึ่งในพนักงานกลุ่มนั้นก็คือคุณเคน คุตารากิ (Ken Kutaragi) ชายผู้ที่อีกไม่นานนับจากนั้น วงการเกมทั้งโลกจะได้รู้จักเขาในนามของบิดาแห่ง PlayStation ด้วย
(ล่าง) โฉมหน้าคุณเคน คุตารากิ บิดาของ PlayStation ที่ยุคนั้นเกมเมอร์ไทยแซวกันว่าใบหน้าแกเหมือนหม่ำ จ๊กมก นักแสดงตลกชื่อดังของไทยนั่นเอง
เมื่อได้ยินหัวเรือใหญ่ประกาศลั่นให้เดินหน้าต่อ คุณเคน คุตารากิ ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ในทีมวิจัย ก็ได้จัดการรวบรวมทีม ทั้งนักออกแบบพร้อมด้วยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีกราฟิก 3D และเคยฝากผลงานเอาไว้กับเอนจิ้น 3D ขั้นเทพนามว่า System-G มาแล้ว พวกเขาตัดสินใจร่วมมือกันริเริ่มโครงการเทคโนโลยีสำหรับเครื่องเกมคอนโซลตัวใหม่ที่จะกลายมาเป็นผู้ท้าชิงเพื่อต่อกรกับ Nintendo พร้อมกับตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “Codename PSX”
แต่ใช่ว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ผ่านฉลุยหรือได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามครับ ในทางกลับกัน นี่เป็นครั้งแรกที่คุณคุตารากิเสนอโครงการนี้กับบอสใหญ่แห่ง Sony และคณะกรรมการบริหาร เพียงแค่นำเสนอว่ามันคือ “เครื่องเล่นแผ่น CD ที่สามารถเล่นเกมด้วยเทคโนโลยีกราฟิกแบบ 3D ได้” เท่านั้น คณะกรรมการทั้งบอร์ดต่างพากันส่ายหน้าทันที บ้างก็หาว่าคุณคุตารากินั้นบ้าไปแล้ว บ้างก็มองว่ามันเป็นเป้าหมายที่ไกลเกินเอื้อม คุณคุตารากิเห็นดังนั้นจึงตอกกลับไปด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า “แล้วพวกคุณจะทำยังไง นั่งอยู่เฉยๆ แล้วปล่อยให้ Nintendo หัวเราะเยาะแบบนี้หรือไง?”
แม้จะเจ็บใจ แต่ Sony ในตอนนั้นยังอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมจะแบกรับความเสี่ยงนัก และแผนการที่คุณคุตารากิได้เสนอออกไปก็ยังไม่มีอะไรมารับรองว่าจะประสบความสำเร็จด้วย ความลังเลในตอนนี้เองที่เกือบจะทำให้ PlayStation ถือกำเนิดออกมาพร้อมเทคโนโลยี 2D อยู่แล้ว ทว่า Sony ก็ต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องข้อเสนอของคุณคุตารากิอีกรอบ และเมื่อได้เห็นความสำเร็จของเกมอาร์เคดแนวไฟท์ติ้งอย่าง “Virtua Fighter” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี 3D ของ Sega ประกอบกับคำรับรองจากหน่วยงาน Sony Music ที่ยืนยันว่าแผ่น CD นั้นสามารถผลิตได้ง่ายและราคาถูกกว่าตลับเกมเยอะ ทำให้ในที่สุดแผนการของคุณคุตารากิและทีมงานก็ได้ฤกษ์เดินหน้ากับเขาบ้างสักที
(ล่าง) Virtua Fighter เกมต่อสู้ยอดฮิตที่พัฒนาโดย Sega
แต่ลำพังเพียงแค่มีเครื่องคอนโซลอย่างเดียวก็ไม่อาจทำให้ Sony บรรลุเป้าหมายได้ พวกเขายังต้องตามหากลุ่มพันธมิตรที่ยินดีผลิตเกมลงให้กับเครื่องคอนโซลที่กำลังจะลืมตาดูโลกด้วย และด้วยชื่อเสียงเรียงนามของ Sony ในด้านการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลือลั่นมาอย่างยาวนาน เพียงแค่ประกาศออกไปเท่านั้นก็มีค่ายเกมมากหน้าหลายตายินดีร่วมมือ รวมไปถึง Namco กับ Konami ด้วย
นอกจากค่ายเกมมากกว่า 250 แห่งที่ยินยอมตกลงปลงใจกับ Sony แล้ว ทาง Sony ยังได้จัดการซื้อบริษัท Psygnosis บริษัทสัญชาติยุโรปมาไว้ในครอบครองอีกราย ซึ่งในภายหลัง บริษัท Psygnosis นี้ก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ตามคำสั่งของบริษัทแม่ กลายมาเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมที่เรารู้จักกันดีในนามของ Sony Interactive Entertainment นั่นเอง
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาที่ Sony จะเริ่มเดินทัพลุยตลาดกับเขาเสียที…
PS1: บุกตลาด (1994)
วันที่ 3 ธันวาคม 1994 หรือเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เครื่อง Sega Saturn ของ Sega เพิ่งวางจำหน่ายไปหมาดๆ ในที่สุดเครื่อง PlayStation (PS1) ของ Sony ก็ได้ฤกษ์วางตลาดญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกกับเขาเสียที ราคาของเครื่องรุ่นบุกเบิกในตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 37,000 เยน หรือประมาณกว่า 10,000 บาทไทย แถมยังเปิดตัวพร้อมกับเกมบิ๊กเนมที่เป็นเกมแข่งรถในตำนานอย่าง Ridge Racer จาก Namco ด้วย
(ล่าง) PS1 เครื่องเกมรุ่นบุกเบิกของ Sony
เพียงแค่เปิดตัวมาวันแรกเท่านั้น ชาวญี่ปุ่นก็ต้องตกตะลึงเมื่อได้เห็นเหล่าเกมเมอร์มากมายพากันมาต่อแถวรอเป็นเจ้าของเครื่อง PS1 จนยาวเหยียด และใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนหลังวางจำหน่ายก็สามารถทำยอดขายในญี่ปุ่นทะลุ 1 ล้านเครื่อง เอาชนะคู่แข่งอย่าง Sega Saturn ไปได้อย่างสบาย
ความโด่งดังของ PS1 ไม่ได้จบอยู่แค่ในช่วง 1 ปีแรกเท่านั้น โดย Sony เดินหน้านำ PS1 ไปบุกตลาดแผ่นดินอเมริกาในปี 1995 พร้อมโชว์ตัว PS1 ครั้งแรกสู่สายตาชาวตะวันตกในงาน E3 ปีเดียวกันที่ถูกจัดขึ้นในกรุงลอสแองเจลิสด้วย เสียงปรบมือในตอนที่ PS1 ถูกเปิดตัวบนเวทีระดับโลกนั้นแทบจะเรียกได้ว่าดังที่สุดในงานเลยทีเดียว และไม่นานนักหลังจากที่ Sony เปิดโอกาสให้ชาวเกมเมอร์ทั่วโลกได้สัมผัสกับลูกรักคนใหม่ ยอดขายของ PS1 ก็พุ่งสูงถึง 7 ล้านเครื่องเข้าไปแล้ว
กระทั่งในปี 1996 เครื่อง PS1 ก็มีจำนวนเกมในมือมากถึง 200 กว่าเกมด้วยกัน และมียอดขายที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มแตะหลัก 20 ล้านเครื่องแล้ว ประกอบกับเหล่าผู้เล่นที่กระจายตัวกันอยู่ทั่วทุกมุมโลก คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธแน่นอนว่า PS1 คือเครื่องเกมที่นำพาตลาดเกมคอนโซลไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง
(ล่าง) นักเล่นเกมรุ่นเก๋าคงยังจำกันได้ แต่สำหรับเกมเมอร์ในสมัยนี้ คงมีส่วนน้อยที่จะเคยรู้จักกับเครื่อง PocketStation เจ้าเครื่องเล่นขนาดจิ๋วรูปทรงคล้ายทามาก็อตจินี้ นอกจากจะสามารถดึงข้อมูลในเกม PS1 มาเล่นได้แล้ว มันยังทำหน้าที่แทน Memory Card เพื่อช่วยเก็บข้อมูลได้ด้วย ถึงแม้จะสามารถเล่นได้แค่มินิเกมเล็กๆ น้อยๆ แถมเล่นได้แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม แต่ก็เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับคอ PS1 ที่ได้รับความนิยมระดับนึงเลยทีเดียว
PS2: สู่ยุคใหม่ (1999)
ด้วยความที่เครื่อง PS1 ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายของ Sony ไปอย่างไม่น่าเชื่อ เรียกได้ว่าเกินกว่าที่ทีมบริหารของ Sony คาดหวังเอาไว้เสียอีก ถึงขั้นที่ว่าแผนกที่จัดจำหน่าย PlayStation กลายเป็นแผนกที่ทำรายได้สูงสุดให้กับบริษัท Sony ไปเลย (นำหน้าเครื่อง Walkman ณ เวลานั้นด้วย) ด้วยเหตุนี้ ทีมงานของคุณคุตารากิเจ้าเก่าเลยได้รับไฟเขียวจากเบื้องบนให้ลงมือพัฒนาเครื่อง PlayStation รุ่นใหม่ทันทีในปี 1999
อนึ่ง การพัฒนาในครั้งนี้แทบจะเรียกได้ว่าราบรื่นไร้อุปสรรค เนื่องจากผลงานอันงดงามที่ PS1 ได้สร้างเอาไว้ ประกอบกับเสียงเชียร์จากแฟน ๆ อีกมากมายทั่วโลก อีกทั้งทีมของคุณคุตารากิก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้เพียงปีเดียวเท่านั้น เครื่อง PlayStation 2 หรือ PS2 ก็ได้วางจำหน่ายเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 4 มีนาคม 2000 และในสหรัฐอเมริกาวันที่ 26 ตุลาคมปีเดียวกันด้วย
(ล่าง) เครื่อง PS2 ที่สานต่อความสำเร็จจาก PS1
PS2 กำเนิดขึ้นพร้อมกับความคาดหวังจากฐานแฟน ๆ ที่สั่งสมมาตั้งแต่ PS1 จนเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นเกมเมอร์รุ่นเก่าและเกมเมอร์หน้าใหม่ ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ Sony อยู่เหนือกว่า Nintendo, Sega หรือแม้กระทั่ง Microsoft แต่ฝั่งประเทศไทยจะมีอยู่ปัญหาหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ PS1 ลากยาวถึง PS2 ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากปัญหา “เกมเถื่อน” นั่นจึงทำให้ทาง Sony ต้องถอนสมอจากตลาดเกมในไทยไปช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
หาก PS1 เคยได้ชื่อว่าเป็นเครื่องคอนโซลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมาแล้ว เครื่อง PS2 ก็ถือได้ว่าทำได้ยอดเยี่ยมกว่านั้นไปไกลครับ เพราะเพียงแค่วันแรกที่วางจำหน่ายวันแรกที่ญี่ปุ่น เครื่อง PS2 ล็อตแรกทั้งหมดจำนวนกว่า 6 แสนเครื่องก็ถูกซื้อไปจนเรียบ สร้างความตกตะลึงให้กับทั้งผู้ผลิตและเหล่าเกมเมอร์ทั้งมวล และทำให้ Sony ประสบกับปัญหา “ผลิตไม่ทัน” ไปพักหนึ่งทันที
ยอดขาย PS2 ในฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปเองก็ทำผลงานได้ไม่น้อยหน้า ด้วยจำนวนที่พุ่งสูงถึง 5 แสนเครื่องในวันแรกที่วางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา และกว่า 8 หมื่นเครื่องในอังกฤษ ทำให้ PS2 ขึ้นแท่นเครื่องคอนโซลที่ได้รับความนิยมได้ไม่ยาก จนกระทั่งใน ปี 2010 เครื่อง PS2 ก็ได้รับตำแหน่งเครื่องคอนโซลที่มียอดจัดจำหน่ายมากที่สุดในประวัติการณ์ ด้วยยอดขายมากกว่า 155 ล้านเครื่องทั่วโลก และยังไม่มีผู้ใดสามารถล้มแชมป์ได้จนถึงปัจจุบันนี้
ยังไม่จบนะ กับการเปิดตำนานหรือย้อนประวัติศาสตร์ของเครื่องเล่นเกมคอนโซลแบรนด์ดังอย่าง PlayStation เพราะต่อจากนี้ Sony จะเจอกับอุปสรรคการผลิตและทางฝั่ง Microsoft ก็ได้เข้ามาเล่นธุรกิจเครื่องเล่นเกมคอนโซลเพื่อช่วงชิงตลาดเกม ไม่ให้ทาง Sony หรือแบรนด์อื่น ๆ ได้ลอยหน้าลอยตาอย่างสบาย ๆ แน่นอน
เตรียมพบกับ เปิดตำนาน PlayStation เส้นทางธุรกิจเครื่องเกมคอนโซล (ตอนจบ) ในสัปดาห์หน้าได้ที่นี่ Online Station กับคอเกมติดเล่า และสำหรับใครที่ชอบคอนเท็นลักษณะนี้ สามารถติดตามได้ที่ สกู๊ปคอเกมติดเล่า
- คอเกมติดเล่า EP.1 เปิดประวัติวิดีโอเกม มหากาพย์การเดินทางของเครื่องคอนโซล
- คอเกมติดเล่า EP.2 เปิดประวัติ Nintendo จากบริษัทผลิตไพ่ สู่เจ้าแห่งวงการเกม
ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station