DLC คืออะไร?: คำสามพยางค์ที่เกมเมอร์คุ้นเคย

คำว่า “DLC” คงจะเป็นหนึ่งในศัพท์ที่ชาวเกมเมอร์อย่างเราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี หันไปหาเกมไหนก็จะต้องเจอรายชื่อ DLC พ่วงมาด้วยจนชินตา ว่าแต่เจ้าสิ่งนี้คืออะไร? มีจุดเริ่มเริ่มต้นยังไง? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน

อะไรคือ DLC ?

“DLC” ย่อมาจากคำว่า Downloadable Content หรือแปลออกมาแบบเข้าใจง่ายก็คือ “เนื้อหาเสริมของเกม” นั่นเอง โดยเจ้าเนื้อหาเสริมที่ว่านี้ก็จะมีทั้งแบบฟรีกับแบบเสียตัง ซึ่งในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบอย่างหลังเสียมากกว่า ทำให้เกมเมอร์หลายคนค่อนข้างจะขยาดเจ้า DLC ประเภทนี้เสียเหลือเกินเพราะมองว่าตัวเองก็จ่ายตังซื้อเกมเต็มมาแล้ว ทำไมฉันต้องควักตังเพิ่มเพื่อเข้าถึงเนื้อหาเสริมของเกมเดิมอีก?

ยิ่งถ้าเนื้อหาเสริมนั้นไม่ได้มีอะไรพิเศษแต่กลับมีราคาปาไปเกินครึ่งของเกมเต็มแล้ว เกมเมอร์ก็ยิ่งกุมขมับกันเข้าไปใหญ่เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองถูกเอาเปรียบ แต่ก็นั่นแหละครับ ทางเลือกเป็นของเรา มีหลายเกมที่ทางผู้พัฒนาทะยอยปล่อยเนื้อหาเสริมมาให้เราได้เล่นแบบฟรีๆ และก็มีอีกหลายเกมเหมือนกันที่ถึงแม้จะต้องจ่ายตังซื้อเนื้อหาเสริม แต่ตัวเนื้อหาที่เพิ่มมาก็เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพจนทำให้เราควักตังจ่ายได้อย่างไม่เสียดายเงิน

DLC มีกี่ประเภท?

การจะแยกว่า DLC มีกี่ประเภทในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวมากเพราะผู้พัฒนาในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ก็สรรหาอะไรต่อมิอะไรมาใส่เป็นเนื้อหาเสริมของเกมเยอะแยะไปหมด แต่ถ้าจะให้คัดว่ามีกี่ประเภท ก็จะได้ออกมาคร่าวๆ ประมาณ 4 ประเภทดังนี้

  • Game Modes: เนื้อหาเสริมที่เพิ่มระบบเกมเพลย์ใหม่ให้กับผู้เล่น ยกตัวอย่างเช่นโหมดไพ่แบล็กแจ็กในเกม Resident Evil 7 หรือโหมดซอมบี้ในเกม Rainbow Six Siege
  • Story: เนื้อหาเสริมที่ขยายเรื่องราวของเกมหลัก นับเป็นเนื้อหาเสริมอีกประเภทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเกมเนื้อเรื่อง
  • Cosmetic Items: เนื้อหาเสริมที่ปลดล็อคเสื้อผ้าหน้าผมทั้งหลายแหล่ให้กับตัวละครของเรา เชื่อว่าเกมเมอร์ส่วนใหญ่คงจะเสียเงินให้กับเนื้อหาเสริมประเภทนี้ไม่ใช่น้อย (ทางผู้เขียนเองก็โดนไปหลายตังเหมือนกัน TT)
  • Bonus Contents: เนื้อหาเสริมที่ปลดล็อคโบนัสต่างๆ ของเกม เช่น ซาวด์แทร็ค หรือคอนเซ็ปต์อาร์ต เป็นต้น

ทำไมต้องมี DLC?

คำตอบก็คือ “เพราะผู้พัฒนาได้เงินโคตรเยอะ” ยังไงล่ะ (ขำแห้ง) การจะเอาเงินไปลงทุนกับการสร้างเกมใหม่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น แทนที่จะสร้างเกมใหม่ ผู้พัฒนาจึงเลือกที่จะผลิตเนื้อหาเสริมของเกมเดิมเพื่อสร้างรายได้แทนเพราะใช้งบน้อยกว่าการสร้างเกมใหม่ แถมยังสามารถช่วยดึงดูดให้ผู้เล่นยังคงเล่นเกมนั้นต่อไปยาวๆ อีกด้วย

บางเกมถึงแม้จะวางขายมาหลายปีแล้ว แต่ทางผู้พัฒนาก็ทะยอยปล่อย DLC มาให้ผู้เล่นซื้ออย่างไม่ขาดสายเพราะมีผู้เล่นพร้อมจ่ายตังอยู่ตลอด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดจะเป็นเกมไหนไม่ได้นอกจาก The Sims 4 ถึงแม้ตัวเกมจะวางขายตั้งแต่ปี 2014 แต่ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาได้มีการปล่อยเนื้อหาเสริมออกมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 66 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งเนื้อหาเสริมล่าสุดของ The Sims 4 ก็เพิ่งจะวางขายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง เรียกได้ว่าโกยตังจากผู้เล่นไปได้อีกนานจนเกมภาคใหม่ออกเลยทีเดียว

DLC มีประวัติความเป็นมาอย่างไร?

หนึ่งในเกมที่จุดกระแส DLC ขึ้นมาในช่วงแรกคือเกมวางแผนในปี 1997 ที่มีชื่อว่า Total Annihilation โดยในสมัยนั้น ทางผู้พัฒนาของเกมนี้มีความต้องการที่จะทำให้เกมของตนมี “ความสดใหม่” อยู่ตลอดเวลา ทางผู้พัฒนาจึงปล่อยเนื้อหาเสริมออกมาทุกเดือนให้เล่นแบบฟรีๆ ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามาในแต่ละเดือนก็จะเป็นพวกตัวละครใหม่ แผนที่ใหม่ และภารกิจใหม่ ด้วยเหตุนี้ตัวเกมจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้เล่นเก่ายังเล่นเกมต่อ ส่วนผู้เล่นใหม่ก็ทะยอยเพิ่มเข้ามา

การประสบความสำเร็จของการผลิตเนื้อหาเสริมในเกมนี้ ทำให้ค่ายเกมอื่นเริ่มหันมาทำตามบ้าง ท้ายที่สุด สิ่งที่เรียกว่า “DLC” ก็ได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ในวงการเกมเลยทีเดียว

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.hp.com/us-en/shop/tech-takes/what-is-dlc-in-gaming

https://www.makeuseof.com/tag/dlc-gaming/

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้