รวม 6 เกมเครื่องบิน-ยานยิงยอดฮิตยุค 90 ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย

เกมยุค 90

ยุค 90 ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านและคาบเกี่ยวระหว่างเครื่องคอนโซล 2 เจน นั่นก็คือ Super Famicom ไปยัง PlayStation (PS1) ครับ ซึ่งมีเกมดี ๆ ออกมามากมายหลายแนว ส่วนหนึ่งก็เพราะทุนในการสร้างเกม ณ เวลานั้นยังไม่สูง และใช้เวลาในการพัฒนาไม่ค่อยนานด้วย เช่นเดียวกับเกมแนวยานยิงที่มีไตเติ้ลเจ๋ง ๆ ให้เล่นกันเพียบเลย

ทางด้านเกมแนวยานยิงจะค่อนข้างมีความเฉพาะตัวอยู่ครับ เบื้องต้นคือมันเป็นเกมที่แทบไม่มีเนื้อเรื่องให้เราได้โฟกัสกัน และเกมเพลย์ไม่ซับซ้อน ลุยตรง ๆ ไปเรื่อย ๆ ท้ายด่านก็ปราบบอส แต่เอกลักษณ์ที่ทุกคนเล่นเกมนี้ต่างรู้ซึ้งกันดีก็คือจำนวนกระสุนจากศัตรูที่เยอะและมีให้หลบกันจนตาลาย นั่นก็คือจุดวัดใจและกรองผู้เล่นเลยว่าคุณเหมาะกับเกมแนวนี้หรือไม่ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มารู้จักกับเกมยานยิงยุค 90 ที่เพื่อน ๆ น่าจะเคยผ่านมือหรือผ่านตากันมา โดยจะมีเกมอะไรบ้างนั้น มาชมกันโลด


Raiden

เกมยุค 90
ภาพจากปกเกม Raiden DX บน PS1

เกมยานสุดคลาสสิคที่วางจำหน่ายภาคแรกในปี 1990 พอดี โดยตลอดระยะเวลา 33 ปีของซีรีส์ Raiden มีทำภาคหลักออกมาทั้งสิ้น 6 ภาค และสปินออฟอีก 4 ภาค ช่วงแรกตัวเกมถูกพัฒนาโดยสตูดิโอ Seibu Kaihatsu เพื่อลงเกมตู้เป็นหลัก ก่อนจะมีการพอร์ตลงคอนโซลในภายหลัง กระทั่งปี 1998 ทาง Seibu ก็มีอันต้องปิดตัวลงด้วยปัญหาภาวะล้มละลาย จึงขายสิทธิ์ในตัวเกมนี้ให้กับบริษัท MOSS แต่กว่าจะมีเกมภาคต่อออกมาก็ปาเข้าไปถึงปี 2005 พร้อมทั้งหันมาโฟกัสกับการลงคอนโซลมากกว่าตู้อาเขต ซึ่ง Raiden V นับเป็นภาคแรกของซีรีส์ที่ไม่มีการลงให้กับเครื่องเกมตู้ และไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับซีรีส์นี้อีกเลยนับแต่นั้น

ภาคที่คนไทยน่าจะเคยได้เล่นกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Raiden II (เกมตู้) และ Raiden DX (PS1) ที่เกมเพลย์และเมคานิกต่าง ๆ ไม่ยุ่งยากและจุกจิกมากนัก ปืนหลักมีให้เลือกเปลี่ยน 3 แบบ ได้แก่ กระสุนธรรมดา (สีแดง) ที่เน้นการกระจาย ยิงได้ทั่วถึง ถัดมาคือเลเซอร์ (สีฟ้า) ที่พลังทำลายสูง แต่ยิงเป็นเส้นตรงข้างหน้าทางเดียว และสุดท้ายคือรังสีพลาสม่า (สีม่วง) ที่เป็นเลเซอร์แบบพิเศษ เมื่อรัวจนเป็นเส้นหนาแล้วจะล็อคเป้าศัตรูเป็นรังสีนำวิถีได้

ส่วนจรวดมิสไซล์ก็จะมีให้เลือก 2 แบบคือมิสไซล์ธรรมดาที่พลังโจมตีสูง กับมิสไซล์นำวิถีที่ติดตามศัตรูได้ แต่พลังโจมตีจะเบากว่า ขณะที่ระเบิดจะมีการแยกประเภทตามผู้เล่น โดย Player 1 จะมีติดตัวเป็นระเบิดแรงสูง และ Player 2 จะเป็นคลัสเตอร์บอมบ์ มีประโยชน์ในการใช้ทำลายกระสุนจากศัตรูที่มารอบด้านเมื่อเข้าตาจน แต่ผู้เล่นทั้งสองสามารถหาเก็บระเบิดแบบของอีกคนได้ ด้วยการดรอปจากศัตรูระหว่างเกมครับ

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ Raiden 2


Einhander

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อละครับว่า Squaresoft (หรือ Square Enix ในปัจจุบัน) จะเคยทำเกมแนวยานยิงกับเขาด้วย โดยเกมนั้นก็คือ Einhander ที่ลงเฉพาะเครื่อง PS1 เมื่อปี 1997 ใช้รูปแบบการเล่นแบบมุมมองด้านข้าง ซึ่งยานของเราจะมีรูปลักษณ์สะดุดตา ด้วยแขน 1 ข้างตรงส่วนท้องของยาน ทำหน้าที่คอยถือปืนเสริม (ที่มีพลังทำลายสูงกว่าปืนหลักที่ติดมากับยานเราแต่แรกด้วย) และสามารถสลับปืนเสริมใช้ตามสถานการณ์ได้อีกต่างหาก

ไอเดียระบบแขนเดียวของยาน ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเกม Einhander ที่เป็นภาษาเยอรมัน หมายถึงอาวุธมือเดียว แถมช่วงต้นของด่านแรกก็ยังมีฉากหลังให้เห็นป้ายไฟเป็นภาษาไทยคำว่า “ส่วนลด” และ “ลดราคา” ให้คนไทยได้ว้าวกันอยู่พักหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ยอดขายของเกมไม่ได้สวยหรูนัก โดยขายในญี่ปุ่นไปได้ประมาณ 1 แสนชุด และไม่มีการทำภาคต่อออกมานับแต่นั้น

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ Einhander


RayStorm

ภาพจากปกเกม RayStorm บน PS1 เวอร์ชั่นญี่ปุ่น

หากจะเรียกว่า RayStorm เป็นภาคยอดนิยมของซีรีส์ Ray ก็คงไม่ผิดนักครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะ RayForce ที่เป็นภาคแรกนั้นมีลงแค่เพียงตู้อาเขตอย่างเดียว ขณะที่ RayCrisis ซึ่งเป็นภาคล่าสุด (แต่ไทม์ไลน์เนื้อเรื่องเกิดก่อน RayForce) ก็มาในช่วงปลายเจน PS1 ไปแล้ว รวมถึงตัว RayStorm เองก็เป็นการปฏิวัติกราฟิกของซีรีส์ ด้วยการทำโมเดลของตัวยานและฉากหลังเป็นโพลิกอน 3D ทั้งหมด ทำให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจแก่เกมเมอร์ยุคนั้นเป็นอย่างมาก

ตัวเกมใช้รูปแบบการลุยแบบแนวดิ่ง อาวุธหลักของเกมนี้จะเป็นปืนเลเซอร์ที่ยิงรัวได้เหมือนปืนกล พร้อมด้วยระบบล็อคเป้าเพื่อยิงจรวดมิสไซล์ที่มีพลังโจมตีสูงมาก และยังสามารถเก็บสะสมเกจพลังเพื่อปล่อยไม้ตายที่มีรัศมีทำลายเป็นวงกว้าง มิหนำซ้ำยังทำให้ยานของเราเป็นอมตะชั่วครู่ได้อีกด้วย

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ RayStorm


Sonic Wings Special

ภาพจากปกเกม Sonic Wings Special บน PS1 เวอร์ชั่นญี่ปุ่น

ทางด้านเกมซีรีส์ Sonic Wings นี้มีอีกชื่อที่ใช้ในการโปรโมตและวางจำหน่ายฝั่งตะวันตกว่า Aero Fighters ครับ และภาคที่คนไทยได้เล่นกันแพร่หลายก็หนีไม่พ้นภาค Special ที่เป็นการนำภาค 1-3 มามัดรวมอยู่ในเกมเดียวนั่นเอง

จุดเด่นของเกมนี้ก็คือผู้เล่นสามารถเลือกทีม (ประเทศ) และนักบินได้ ซึ่งนักบินแต่ละคนจะขับยานที่รูปลักษณ์ต่างกัน รวมถึงอาวุธที่ใช้ก็จะไม่เหมือนกันด้วย ถือว่าเป็นซีรีส์ที่อาศัยความหลากหลายเป็นทางเลือกให้กับผู้เล่นไปเลย

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ Sonic Wings Special


Varth: Operation Thunderstorm

ภาพจากปกเกม Varth เวอร์ชั่นตู้เกมอาเขต

นอกจากเกม 1942 แล้ว ค่ายตัวพ่อเกมแนวแอ๊กชั่นอย่าง Capcom ก็เคยทำเกมแนวเครื่องบินรบซีรีส์อื่นด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ Varth: Operation Thunderbolt ครับ โดยช่วงยุค 90 นั้นคนไทยจะหาเล่นได้ตามตู้อาเขตหยอดเหรียญเท่านั้น

เอกลักษณ์ที่เกม Varth ทำออกมาแตกต่างจากเกมยานยิงของค่ายอื่น ๆ ก็คือเครื่องบินของเราสามารถเก็บสะสมเกจระเบิดได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรอศัตรูดรอประเบิดให้เก็บ ซึ่งก็มีผู้เล่นค้นพบทริคเร่งเกจให้เต็มไวขึ้นด้วยการควงสติ๊ก (คันบังคับ) วนเป็นวงกลมอย่างรวดเร็ว ก็จะใช้เวลาในการสะสมเกจน้อยลงเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว

ในส่วนของอาวุธหลักจะมีให้เลือกใช้ 3 แบบ และปืนแต่ละชนิดก็จะมีระเบิดให้ใช้เฉพาะของมันด้วย แต่รวม ๆ แล้วก็จะมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกันก็คือใช้ทำลายกระสุนของศัตรูทั้งฉากนั่นเอง ตัวเกมจัดว่ายาวมาก มีให้เล่นกันถึง 30 ด่าน สมัยนั้นใครเล่นจนจบได้โดยใช้เพียงเหรียญเดียวน่าจะต้องชาบูและยกให้เป็นปูชนียบุคคลของวงการเกมได้เลย

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ Varth: Operation Thunderstorm


Ace Combat

ภาพจากปกเกม Ace Combat บน PS1 เวอร์ชั่นญี่ปุ่น

เคสของ Ace Combat อาจจะแตกต่างจาก 5 เกมที่กล่าวไปในข้างต้นพอสมควรครับ เนื่องจากเป็นเกมแนว Combat Flight Simulation ที่จำลองการขับเครื่องบินรบเพื่อปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ก็จะหมุนเวียนกันระหว่างทำลายฝูงบินของข้าศึก หรือคอยคุ้มกันเครื่องบินเป้าหมาย และเมื่อผ่านแต่ละภารกิจก็จะมีเงินรางวัลสำหรับนำไปซื้อเครื่องบินรบรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะดีขึ้นได้

ภาคแรกของซีรีส์นี้ถือกำเนิดในปี 1995 บนเครื่อง PS1 และปัจจุบันมีภาคหลักและภาคสปินออฟออกมารวมกันทั้งสิ้น 18 ภาคเข้าไปแล้ว การันตีความนิยมของซีรีส์นี้เป็นอย่างดี

(ล่าง) คลิปตัวอย่างเกมเพลย์ของ Ace Combat


ติดตามข่าวเกมพีซี/คอนโซลอื่น ๆ ได้ที่ Online Station

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้