ไขประเด็นชื่อ โงกุน หรือ โกคู ทำไมพากย์ไทยยุคช่อง 9 ถึงเรียก ซุนโงกุน(Son Goku)

ถ้าหากพูดถึง Dragon Ball แล้ว ชื่อของตัวเอกที่คนไทยคุ้นชินที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น “ซุนโงกุน” ที่ขณะนั้นช่อง 9 อสมท. เป็นผู้นำอนิเมะเรื่อง Dragon Ball เข้ามาฉายในประเทศไทยครั้งแรกและผู้ให้เสียงพากย์ตัวละคร Son Goku นั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน “น้าต๋อย เซมเบ้” ผู้เป็นที่รักของเด็กไทยสายอนิเมะทุกคนในยุคนั้นนั่นเอง

และจากการเข้ามาของอินเตอร์เน็ตหรือสื่อต่างประเทศอื่น ๆ ทำให้หลายคนเริ่มรู้ว่าชื่อที่แท้จริงนั้นมันคือ Goku นั้นถ้าอ่านกันตามภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษจริง ๆ มันควรอ่านว่า “โกคู” แล้ว “โงกุน” มันมาได้อย่างไรกัน? ครั้งนี้เรามาลองไขปริศนาที่มาของชื่อ “ซุนโงกุน” กันดูดีกว่า

ไขประเด็นชื่อ Son Goku ซุนโงกุน

Son Goku หรือ ซงโกคู แต่เดิมเป็นชื่อที่เขียนเป็นภาษาจีนคือ 孫悟空 การอ่านแบบสำเนียงจีนฮกเกี้ยนที่คนไทยมีการแปลตอนนำไซอิ๋วเข้ามาในไทยครั้งแรกคือ “ซุนหงอคง” ดังนั้นชื่อของลิงตัวเอกในไซอิ๋วที่คนไทยคุ้นชินเป็นอันดับแรกก็คือการอ่านว่าซุนหงอคง ดังนั้นการ์ตูน Dragon Ball ที่มีการนำธีมไซอิ๋วมาเป็นต้นแบบนั้นชื่อ 孫悟空 หรือ ซงโกคู จึงไม่ใช่ “ชื่อภาษาญี่ปุ่น” แต่เป็นคำอ่านอักษรจีนในสำเนียงญี่ปุ่นเท่านั้น การที่เป็น ซงโกคู ได้นั้นเป็นเพราะภาษาญี่ปุ่นมีจำนวนเสียงค่อนข้างน้อย ไม่มีตัวสะกด ไม่มีระดับเสียง ทำให้สำเนียงเรียกชื่อนี้เป็นซงโกคูตามรากศัพท์ที่มาจากภาษาจีน

ถ้าถามทำไมถึงไม่แปลว่า “ซงโกคู” ตั้งแต่แรก? อันนี้ตอบได้ว่าจากธรรมเนียมการแปลชื่อตัวละครในวรรณกรรมหรือการ์ตูนที่มีการอ้างอิงมาจากภาษาจีน ไม่ว่าจะยุคไหน ภาษาไทยจะมีการแปลตามคำอ่านเป็นภาษาจีนด้วยกันทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น

  • 劉備 ญี่ปุ่นอ่านว่า “ริวบิ” เราแปลว่า “เล่าปี่” (จากสามก๊ก)
  • 嬴政 ญี่ปุ่นอ่านว่า “เอเซ” เราแปลว่า “อิ๋งเจิ้ง” (จากคิงด้อม)
  • 梅麗 ญี่ปุ่นอ่านว่า “เมรี” เราแปลว่า “เหมยลี่” (จากยอดกุ๊กแดนมังกร)

*ส่วนตัวละคร 四郎 ในยอดกุ๊กฯ ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “ชิโร่” แต่คนแปลก็ยังแปลเป็นชิโร่ ไม่ใช่ “ซื่อหลาง” เพราะตัวละครนี้เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น

ทำให้สำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนที่แปลดราก้อนบอลในยุคไม่มีลิขสิทธิ์แปลชื่อนี้เป็น ซุนหงอคง แบบคำอ่านภาษาจีนตามธรรมเนียมของหลักการแปลเพื่อการเข้าถึงอรรถรสและความตั้งใจเดิมของผู้เขียนแม้ว่านิยาย/วรรณกรรมนั้นผู้เขียนจะเป็นคนญี่ปุ่นก็ตาม (แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่การแปลชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นตามความรู้ของผู้แปลนั้น ๆ อยู่บ้าง)

ส่วนชื่อเรียก 孫悟空 ตามภาษาอื่น ๆ มีดังนี้

  • จีนกลางอ่านว่า ซุนวู่คง
  • อินโดอ่านว่า ซุนโกคง
  • เกาหลีอ่านว่า ซุนโอกง
  • เวียดนามอ่านว่า ตนโงะคง
  • มลายูอ่านว่า ซนโงะกง

และตามธรรมเนียมการแปลแต่ละภาษานั้น แม้ดราก้อนบอลจะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น แต่ชื่อของโกคูในแต่ละภาษาจะมีการใช้ชื่อตามคำอ่านจีนของตัวเองเกือบทั้งหมด มีแค่ประเทศไทย “ที่เดียว” ในแถบเอเชียที่ยังเข้าใจว่า “โกคู” คือชื่อที่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นคำอ่านชื่อภาษาจีน 孫悟空 ในสำเนียงญี่ปุ่นเท่านั้น ถ้าหากว่าพูดถึงธรรมเนียมการแปลชื่อนี้ที่ถูกต้องที่สุดเวลานี้ ยังไงก็ต้องเป็น “ซุนหงอคง” ตามคำอ่านแบบภาษาจีนฮกเกี้ยนที่มีการแปลครั้งแรกหรือ “ซุนอู้คง” ในภาษาจีนกลาง

ทำไมช่อง 9 ถึงเรียก ซุนโงกุน

“ซุนโงกุน” เป็นชื่อที่มีการเรียกครั้งแรกตอนช่อง 9 อสมท นำอนิเมะดราก้อนบอลเข้ามาฉายในประเทศไทย ถ้าว่ากันตามตรงยุคการแปลชื่อในตอนนั้นมีการอ้างอิงที่น้อยมาก ไม่สามารถค้นหาที่มาหรือคำอ่านจริง ๆ บนอินเตอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับทุกวันนี้

การที่มันออกมาเป็น “โงกุน” นั้น ตอนนั้นอนิเมะญี่ปุ่นเพิ่งทยอยกันเข้ามา การแปลชื่อหรือคำอ่านเป็นภาษาจีนนั้นจะทำให้เด็กพูดยากและตั้งคำถามว่าทำไมการ์ตูนญี่ปุ่นถึงมีชื่อเป็นภาษาจีน โงกุนมันเลยเป็นความก้ำกึ่งระหว่างคำอ่านภาษาจีนซุนหงอคงกับซงโกคูแบบภาษาญี่ปุ่น

หากคิดจากหลักการแปลคำอ่านญี่ปุ่น การกำหนดเสียงในหมวด か(Ka) กับ が(Ga) หากกำหนดเสียง G เป็น ง เสียง K จะเป็น ก หรือ ค ก็ได้ แน่นอนกลับกันหากกำหนดเสียง G เป็น ก แล้ว K จะต้องเป็น ค เท่านั้น 

  • Kakashi = คาคาชิ
  • Kagura = คางุระ
  • Karasu = การาสุ
  • Kagami = คากามิ
  • Gotoku = โกโตคุ

การแปลชื่อตอนแรกค่อนข้างมีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะเป็น “โงกู” หรือ “โงคู” เพราะใกล้เคียงกับคำว่า “หงอคง” และจากชื่อเต็มที่มีการแปลว่า “ซุน” แทน “ซง” โงกุนนั้นแสดงว่าผู้แปลอาจจะมีเจตนาผสมและประดิษฐ์คำใหม่จากการนำ ซุนหงอคง ผสมกับ ซงโกคู และอ้างอิงจากคำพูดน้าต๋อยที่มีคนจำได้ว่าเปลี่ยนเป็นโงกุนเพราะแต่เดิมมีคำหยาบนั้นก็ดูฟังขึ้นไม่น้อย อย่าทำเป็นเล่นไป คำว่า “กู” เนี่ยในหนังอันธพาลตอนนั้นยังไม่พูดกันเลยนะ (เรียกเรากับนายแทน) แสดงว่า กบว. ช่วงนั้นเข้มกันสุด ๆ

และที่กลายเป็นโงกุนนั้นยังมีชายนิรนามใจดีที่เคยทำงานห้องพากย์สมัยช่อง 9 อสมท บอกมาว่าหนังสือการ์ตูนดราก้อนบอลที่ใช้อ้างอิงคำแปลตอนนั้น ชื่อของโกคูภาษาอังกฤษมีการเขียนว่า “Son Gokul” การที่จะกลายเป็นโงกุนและน้าต๋อยยืนยันว่าชื่อ โงกุน ไม่ใช่ชื่อผิดจึงเป็น เรื่องจริง เนื่องจากน้าต๋อยเลือกพากย์เป็นโงกุนและดันมีหนังสือ Ref ในชื่อของ Son Gokul ตรงนี้ เหตุผลอีกอย่างคือผู้แปลสามารถแปลสคริปต์ภาษาญี่ปุ่นยาก ๆ ได้ทั้งเรื่องกับแค่เรื่องชื่อ ถ้าจะผิดนั้นก็ดูจะไม่ใช่นักแปลมืออาชีพที่ถูกคัดเลือกมาโดยช่อง 9 แน่นอน อีกทั้งยังมีนักพากย์ช่อง 9 บางท่านบอกอีกด้วยว่าการออกเสียงโงกุนตอนพากย์นั้นสบายกว่าออกเสียงว่าโกคูหรือโกคุนอีกต่างหาก

ถึงแม้ว่าจะดูเป็นการแถ แต่ถ้าว่ากันตามหลักภาษาศาสตร์แล้ว อย่าลืมว่า 孫悟空 ไม่มีการอ่านเป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง 100% การบัญญัติคำนี้ว่า “ซุนโงกุน” เพื่อเป็นชื่อเรียกในภาษาไทยตามหลักภาษาศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่ “ทำได้” ในการแปลบทพากย์ เพราะคำว่า “โงกุน” มีที่มาของการออกเสียงที่อ้างอิงได้เพราะเกิดจากการดัดแปลงเสียงจากสำเนียงในภาษาของประเทศแถบเอเชียตามที่กล่าวไว้ข้างต้น เหมือนกับประเทศ “ญี่ปุ่น” ที่คนไทยเราออกเสียงว่า “ญี่ปุ่น” ประเทศเดียว ไม่ได้เรียกว่าประเทศนิฮง นิฮอน หรือเจแปนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากคำว่าญี่ปุ่นเป็นการเพี้ยนเสียงมาจากคำอ่านว่า “ยิดปุ่น” ของสำเนียงจีนฮกเกี้ยนนั่นเอง

สำหรับภาษาอังกฤษหรือภาษาตะวันตกที่แปลเป็น Son Goku อันนี้เขาไม่ได้มีวัฒนธรรมหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับฝั่งเอเชียแบบเรา การแปลของเขาจึงขึ้นอยู่ดุลยพินิจคนแปลอีกเช่นกันว่าจะเลือกใช้คำแบบไหน แน่นอนว่ายังมีหลักการแปลให้พากย์/อ่านง่ายหรือเข้ากับวัฒนธรรมของเขาด้วย อย่างคุริริน ก็เปลี่ยนเป็น Krillin (ความง่ายของการออกเสียง) และ ซาตาน เปลี่ยนเป็น Hercule (ด้านศาสนาและความเชื่อ) การเลือก Goku ตอนนั้นก็คือชื่อที่ดีที่สุดแล้ว แต่รู้หมือไร่ว่าตัวเขียนของ Official จริง ๆ จากญี่ปุ่นตอนนั้นคือ “Gokuh” ก่อนจะยอมมาใช้ Goku เพราะเลยเถิดไปไกลแล้ว

ส่วนทำไมแปลโงกุนแต่โกฮังไม่เรียกโงฮัง อันนี้คิดได้คือตอนแปลตอนแรกโกฮังมันยังไม่ออกมา และตอนหลังอาจจะเปลี่ยนคนแปล และคนแปลคนใหม่เลือกแปลตามคำญี่ปุ่น แน่นอนว่าชื่อที่ติดหูคนอย่างโงกุนในตอนนั้น ถ้าเปลี่ยนจะรู้สึกแปลก ๆ แน่นอน รวมถึงนักพากย์ที่พากย์จนชินแล้วด้วย และฉบับมังงะลิขสิทธิ์ก็ดูเคารพความ mass ในชื่อเรียกของคนไทยด้วยจึงมีการแปลเป็น “ซุนโงคู” เพื่อให้เข้าถึงสำเนียงญี่ปุ่นและการผ่าน QC ของฝั่งนั้น

สรุป

สรุปคือ ซุนโงกุน เป็นชื่อ 孫悟空 (ซุนหงอคง/ซงโกคู) ถ้าว่ากันตามตรงก็เป็นคำอ่านภาษาไทยที่ไม่ผิดในหลักภาษาศาสตร์และมี่ความเป็นเอกลักษณ์ทางภาษากว่าการแปลคำอ่านตรงตัวว่า “ซงโกคู” ในเชิงอรรถรส ถึงปัจจุบันเราจะมีการรับอิทธิพลจากการรับสื่อต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูอนิเมะแบบซับหรือการเล่นเกม ทำให้คนรุ่นใหม่เลือกที่จะเรียก “โกคู” มากกว่า “โงกุน” เพราะมันได้ความออริจินอลของญี่ปุ่นมากที่สุด รวมถึงภาษาอังกฤษก็มีการใช้คำว่าโกคู แต่การที่เราจะเรียกชื่อ 孫悟空 เป็นแบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัดและความชื่นชอบของแต่ละคนไป ไม่มีผิด 100% ไม่มีถูก 100% อย่าไปจิกกัดคนที่ไม่เรียกไม่เหมือนตัวเองก็พอแล้ว เพราะยังไงเราก็รู้กันอยู่ดีว่าตัวละครที่พูดถึงนั้นเป็นตัวอะไร

ที่มา : https://web.facebook.com/dbthfan/
เรียบเรียงโดย: TrunksTH

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้