ครบรอบ 15 ปี PSP ในฐานะเครื่องเกมพกพารุ่นแรกของ PlayStation
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ทาง Sony เพิ่งจะได้ฉลองครบรอบ 25 ปีของแบรนด์ อีกทั้งยังเป็นวันครบรอบ 25 ปีของการวางจำหน่ายของเครื่อง PS1 ด้วย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่านับตั้งแต่ PS1 ออกสู่ตลาด แบรนด์ของ PlayStation ก็ได้จารึกอยู่ในวงการเกมคอนโซลมาตั้งแต่นั้น แต่ขณะเดียวกัน ตลอดช่วงเวลา 25 ปีมานี้ ทาง PlayStation ก็ไม่ได้สร้างแต่เครื่องเกมคอนโซลตามบ้านเพียงอย่างเดียว หากแต่พวกเขายังเคยทำเครื่องเกมพกพาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ออกมาถึง 2 เจเนอเรชั่นด้วยกัน โดยในบทความนี้เราจะมาพูดถึง PlayStation Portable หรือเรียกสั้น ๆ ว่า PSP ที่เป็นเครื่องเกมพกพาตัวแรกของ PlayStation นั่นเอง และในวาระที่วันที่ 12 ธันวาคมที่จะถึงนี้เป็นวันครบรอบ 15 ปีของการวางจำหน่าย PSP พอดี ทีมงาน Online Station ก็เลยขอพาเพื่อน ๆ ย้อนรำลึกถึงเจ้าเครื่องนี้กันสักหน่อยครับ
– Sony ได้เปิดตัวต่อสาธารณชนภายในงาน E3 2003 ว่าทางบริษัทกำลังพัฒนาเครื่องเกมพกพาอยู่ ก่อนที่จะมีการเผยโฉมตัวเครื่องอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 พฤษภาคม 2004 โดยช่วงดังกล่าว สเปคของเครื่อง PSP ถือว่าแรงและทรงพลังที่สุดท่ามกลางเครื่องเกมพกพาที่มีวางจำหน่าย ณ เวลานั้น เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักวิเคราะห์ตลาดหลายท่านเกิดความเชื่อมั่นว่า PSP น่าจะเป็นผู้ท้าชิงในตลาดเครื่องเกมพกพากับ Nintendo ได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง หลังจากที่ Neo Geo Pocket, Nokia N-Gage หรือแม้แต่ WonderSwan ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า
– คุณเคน คุตารากิ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Sony ในขณะนั้นได้โปรโมทเครื่อง PSP ด้วยคำนิยามที่ว่ามันคือ Walkman แห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมชูศักยภาพเครื่องด้วยฟังก์ชั่นด้านมัลติมีเดียที่ใกล้เคียงเครื่องคอนโซล (PS2 สามารถดูแผ่นภาพยนตร์ DVD ได้ รวมถึงมีโหมดฟังเพลงจากแผ่นซีดีที่ทำได้ตั้งแต่ยุค PS1 แล้ว)
– เครื่อง PSP มีการนำเทคโนโลยีการใช้สื่อชนิดใหม่เป็นตัวบันทึกข้อมูลเกมที่เรียกว่า แผ่น UMD (Universal Media Disc) รูปร่างคล้ายกับมินิซีดี แต่มีความจุสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 1.8 GB โดยหากเป็นแผ่น UMD ภาพยนตร์จะบันทึกความละเอียดสูงสุดได้ที่ 720p แต่ถ้านำไปเปิดดูบน PSP ความละเอียดจะถูกลดทอนลงมาระดับนึง (ถ้าอยากดูชัดแบบ 720p ต้องดูบนทีวีหรือมอนิเตอร์ที่รองรับภาพระดับ HD Ready ขึ้นไปเท่านั้น)
– แม้ว่า PSP จะยกเลิกสายการผลิตไปในปี 2014 แต่ตัวแผ่น UMD ยังมีการถูกนำมาใช้ในการบันทึกไฟล์ประเภทอื่น ๆ อยู่ประปราย ก่อนที่ Sony จะยุติสายการผลิตแผ่น UMD อย่างถาวรในวันที่ 11 กันยายน 2016 ครับ
– ตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปี เครื่อง PSP มีการวางจำหน่ายทั้งหมด 5 รุ่นด้วยกัน ดังนี้
1. PSP-1000
สเปค
– รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi
– รองรับ USB 2.0
– RAM 32 MB พร้อมความจุภายในเครื่อง 32 MB
– รองรับ Memory Stick Pro Duo
– จอขนาด 4.3 นิ้ว แสดงผลได้ 16.77 ล้านสี
– มีช่อง Serial Port
– เฟิร์มแวร์เริ่มต้นเวอร์ชั่น 1.00
– ความจุแบตเตอรี่ 1,800 mAh (สามารถถอดเปลี่ยนเป็นรุ่นความจุไม่เกิน 2,200 mAh ได้)
– วางจำหน่ายครั้งแรก 12 ธันวาคม 2004
2. PSP-2000
สเปค
– รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi
– รองรับ USB 2.0
– RAM 64 MB พร้อมความจุภายในเครื่อง 64 MB
– รองรับ Memory Stick Pro Duo
– จอขนาด 4.3 นิ้ว แสดงผลได้ 16.77 ล้านสี
– เปลี่ยนช่อง Serial Port เป็น Video Port
– เฟิร์มแวร์เริ่มต้นเวอร์ชั่น 3.60
– ความจุแบตเตอรี่ 1,200 mAh
– วางจำหน่ายครั้งแรก 30 สิงหาคม 2007
3. PSP-3000
สเปค
– รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi
– รองรับ USB 2.0
– RAM 64 MB พร้อมความจุภายในเครื่อง 64 MB
– รองรับ Memory Stick Pro Duo
– จอขนาด 4.3 นิ้ว แสดงผลได้ 16.77 ล้านสี
– เพิ่มช่องต่อกับไมโครโฟน
– เฟิร์มแวร์เริ่มต้นเวอร์ชั่น 4.20
– ความจุแบตเตอรี่ 1,200 mAh
– วางจำหน่ายครั้งแรก 14 ตุลาคม 2008
4. PSP Go
สเปค
– รองรับการเชื่อมต่อแบบ Wi-Fi และ Bluetooth 2.0
– ตัดช่องใส่แผ่น UMD ออกไป ทำให้ต้องเล่นเกมแบบดิจิตอลดาวน์โหลดเท่านั้น
– RAM 64 MB พร้อมความจุภายในเครื่อง 16 GB
– รองรับ Memory Stick Micro (M2) ในความจุสูงสุดที่ 32 GB
– จอขนาด 3.8 นิ้ว แสดงผลได้ 16.77 ล้านสี รูปทรงเป็นสไตล์ฝาเลื่อนหน้าจอ โดยมีปุ่มบังคับอยู่ด้านล่าง
– เป็น Port แบบ All in One
– เฟิร์มแวร์เริ่มต้นเวอร์ชั่น 5.70
– แบตเตอรี่เป็นแบบถอดเปลี่ยนไม่ได้
– วางจำหน่ายครั้งแรก 1 ตุลาคม 2009
5. PSP Street
สเปค
– ตัดระบบการเชื่อมต่อ Wi-Fi และ Bluetooth ออกไป
– รองรับ USB 2.0
– RAM 64 MB พร้อมความจุภายในเครื่อง 64 MB
– รองรับ Memory Stick Pro Duo
– จอขนาด 4.3 นิ้ว แสดงผลได้ 16.77 ล้านสี
– เฟิร์มแวร์เริ่มต้นเวอร์ชั่น 6.50
– แบตเตอรี่เป็นแบบถอดเปลี่ยนไม่ได้
– วางจำหน่ายครั้งแรก 26 ตุลาคม 2011
– ทาง Sony ตัดสินใจยุติสายการผลิตของ PSP ในช่วงรอบปี 2014 โดยเริ่มจากภูมิภาคทวีปอเมริกาเหนือก่อนในเดือนมกราคม ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ทวีปยุโรปในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน เท่ากับว่า PSP มีอายุตลอดช่วงวงจรชีวิตอยู่ที่ราว ๆ 10 ปีพอดี และสามารถทำยอดขายรวมทั่วโลกไปได้ที่ประมาณ 80 ล้านเครื่อง เป็นเครื่องเกมพกพาที่ทำยอดขายได้มากที่สุดของแบรนด์ PlayStation ซึ่งถ้านับเฉพาะยอดขายของหมวดเครื่องพกพา เจ้าเครื่อง PSP ถือว่ามียอดขายเป็นรองเพียงแค่ Nintendo DS (154.02 ล้านเครื่อง), Game Boy (118.69 ล้านเครื่อง) และ Game Boy Advance (81.51 ล้านเครื่อง) เท่านั้น
– เกม Grand Theft Auto: Liberty City Stories เป็นเกมจากค่าย 3rd Party ที่ทำยอดขายได้มากที่สุดบนแพลตฟอร์ม PSP โดยมีจำนวนอยู่ที่ 8 ล้านชุด ในขณะที่เกมในเครือของ Sony (1st Party) ที่ทำยอดขายได้มากที่สุดบน PSP คือเกม Gran Turismo โดยขายได้ทั้งสิ้น 4.06 ล้านชุด
เป็นไงกันบ้างครับกับข้อมูลคร่าว ๆ ของ PSP ในวาระฉลองวาระครบรอบ 15 ปีเจ้าเครื่องเกมพกพาเต็มรูปแบบจาก PlayStation แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวล่าสุดจากคุณจิม ไรอัน ที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Sony ว่าทาง PlayStation ไม่มีแผนเกี่ยวกับการสานต่อธุรกิจเครื่องเกมพกพาต่อจาก PS Vita แต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้น PSP ก็เคยได้เข้าไปอยู่ในความทรงจำครั้งหนึ่งของเหล่าเกมเมอร์ว่า Sony เคยมีเครื่องเกมพกพาที่แหวกกระแสผูกขาดจาก Nintendo ได้พอสมน้ำสมเนื้ออยู่ช่วงเวลาหนึ่งเลยล่ะ
ส่วนหนึ่งของบทความนี้มีการดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่จาก