รีวิว Phoenix Wright: Ace Attorney Trilogy – เกมทนายไตรภาค อีกซีรีส์น้ำดีจาก Capcom

แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One, Switch, PC (ทีมงานทำการรีวิวจากเวอร์ชั่น PS4)
ผู้พัฒนา: Capcom

ย้อนไปสักประมาณปี 2012-2013 ณ เวลานั้นในประเทศญี่ปุ่นกำลังมีซีรีส์แนวทนายความที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง Legal High ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันในโลกโซเชียล ว่าด้วยความเข้มข้นของเนื้อหาที่ตัวละครชิงไหวชิงพริบกันในศาล แต่จริงๆ แล้วในวงการเกมก่อนหน้านั้นประมาณปี 2001 ก็เคยมีเกมแนวทนายความเกิดขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งมีชื่อว่า Phoenix Wright: Ace Attorney พัฒนาโดย Capcom ที่เป็นค่ายเจ้าพ่อเกมแนวแอ็กชั่นจากญี่ปุ่นนั่นเอง และล่าสุดเกมนี้ก็เพิ่งถูก Capcom นำ 3 ภาคแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดกลับมารีมาสเตอร์ขายแฟนๆ อีกครั้ง แต่การรีมาสเตอร์รอบนี้จะเวิร์คหรือไม่ ลองชมรีวิวประกอบการตัดสินใจได้ครับ


สำหรับคนที่ไม่เคยแตะซีรีส์นี้มาก่อน ก็ต้องอธิบายก่อนว่าเกมนี้เป็นแนว Visual Novel ที่ผู้เล่นจะได้รับบทเป็น ฟีนิกซ์ ไรท์ ทนายหนุ่มที่เพิ่งจะคว้าใบประกอบวิชาชีพมาหมาดๆ และก็ต้องออกว่าความแก้ต่างให้จำเลย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากคดีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน พร้อมทั้งหาทางพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของลูกความต่อศาลให้ได้ โดยเกมจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือตอนอยู่นอกศาล ที่ไรท์จะต้องไปหาหลักฐานวัตถุและพยานเพื่อใช้ประกอบคดี กับตอนอยู่ในศาลที่ผู้เล่นต้องใช้ไหวพริบในการงัดหลักฐานที่เราหามาได้เพื่อลบล้างข้อกล่าวหา พร้อมทั้งจับผิดความปกติที่แฝงอยู่ในคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม กระบวนการไต่สวนในชั้นศาล ก็ใช่ว่าเราจะงัดหลักฐานมาใช้ตอบโต้ฝ่ายโจทก์ได้ส่งเดชครับ เพราะหากเราใช้หลักฐานผิด หรือซักค้านพยานผิดจังหวะ หรือซักค้านพยานถี่เกินไป ก็จะถูกศาลคาดโทษด้วยการหักคะแนน แล้วถ้าคะแนนของเราลดลงจนหมด เกมก็จะโอเวอร์ด้วยการที่ลูกความของเราถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดโดยปริยาย

เกมนี้จะมีข้อดีอยู่อย่างนึง นั่นก็คือผู้เล่นสามารถเซฟได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าบทสนทนาของตัวละครจะค้างอยู่จุดไหนก็ตาม เราจะยังสามารถเข้าโหมดออปชั่นเพื่อเข้าไปเซฟได้เลย ทำให้สะดวกสบายเวลาเล่นค้างไว้แล้วออกไปทำธุระนานๆ เพราะย่อมต้องมีคนที่ไม่อยากเริ่มใหม่ไกลๆ หรือเริ่มตั้งแต่ต้นคดีนั่นเอง

สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของเกม Ace Attorney ที่มีอยู่ในเกมไตรภาคนี้ คงหนีไม่พ้นบทสนทนาที่แฝงมุกตลกเป็นระยะของตัวละครฝั่งตัวเอก รวมถึงการลำดับเรื่องราวในคดีความต่างๆ ทำให้เนื้อหาดูมีความน่าติดตาม และอยากเอาใจช่วยไรท์ในการแกะรอยและค้นหาความจริงของคดีไปพร้อมๆ กับเขา ซึ่งในกรณี 2 ภาคแรกนั้นจะดำเนินเรื่องแบบตรงไปตรงมา ในขณะที่ภาค 3 จะค่อนข้างอืดพอสมควร เนื่องด้วยการเล่าเรื่องที่มีการสลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ทำให้ชวนรู้สึกว่าเนื้อเรื่องไม่ค่อยไปไหนเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้นเกมเพลย์ที่เน้นการเข้าถึงง่ายและเป็นมิตรกับผู้เล่นก็ยังพอพยุงให้เราสนุกไปกับเกมได้อยู่

ส่วนด้านกราฟิกเองก็ได้มีการปรับปรุงจากเวอร์ชั่นที่เคยลง Nintendo 3DS ไปมาก เท็กซ์เจอร์บนตัวละครและฉากต่างๆ ถูกเกลี่ยให้ดูคมชัดตามการแสดงผลบนจอทีวีหรือมอนิเตอร์ยุคปัจจุบัน รวมถึงฟ้อนต์คำพูดและบทสนทนาก็ทำออกมาใหญ่ เห็นชัดแจ๋ว และเป็นมิตรกับผู้เล่นที่เป็น Non-gamer มากขึ้น ซึ่งเกมนี้มีองค์ประกอบที่ดึงผู้เล่นที่เป็นแคชชวลเกมเมอร์ได้ระดับนึงอยู่แล้ว พอปรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เลยทำให้ภาพรวมออกมาดูดีทีเดียว

จุดที่อยากติอย่างแรกของเกมนี้เป็นเรื่องของโทรฟี่ในเกมครับ ซึ่งแม้ว่าตัวเกมจะหยิบ 3 ภาคแรกมามัดรวมกัน แต่ทาง Capcom เลือกที่จะให้มีแพลตินัมโทรฟี่ให้เก็บเพียงชุดเดียว ต่างจากเกม Devil May Cry สามภาคแรกเวอร์ชั่นรีมาสเตอร์ที่แยกแพลตินัมโทรฟี่ให้เก็บกันภาคละชุดเลย ตรงนี้พอเข้าใจว่าเกมทนายเป็นซีรีส์ที่ฟอร์มเล็ก เล่นรอบเดียวก็สามารถจบแบบสมบูรณ์ได้แล้ว แต่มันคงดีกว่านี้มากถ้าเกมทนายทั้ง 3 ภาคจะมีแพลตินัมโทรฟี่แบบแยกกัน อย่างน้อยก็ช่วยให้แฟนๆ ของเกมนี้ที่เป็นสายล่าโทรฟี่รู้สึกได้ว่าซีรีส์นี้มีความน่าซื้อมาเล่นซ้ำมากขึ้นด้วย


จุดเด่น

– การมัดรวม 3 ภาคแล้วจำหน่าย ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้เล่นแบบเต็มๆ ครับ เหมือนได้เล่น 3 เกมแต่จ่ายเท่ากับราคาเพียงเกมเดียว
– การรีมาสเตอร์ทำออกมาดีมาก เท็กซ์เจอร์ต่างๆ คุณภาพของกราฟิกเกลี่ยมาได้เนียน รวมถึงฟ้อนต์ก็สวย ใหญ่โต ดูสะอาดตา พอขึ้นจอทีวีหรือมอนิเตอร์แล้วยิ่งดีงาม
– ตัวเกมโหลดเร็วกว่าสมัยลงเครื่องพกพามาก (ซึ่งก็ควรจะเร็วอยู่แล้ว เพราะรายละเอียดของเกมไม่ได้มีความซับซ้อนด้วย) จนรู้สึกเหมือนแทบไม่โหลดเลย

จุดด้อย

– สำหรับคนที่ไม่เคยแตะซีรีส์นี้มาก่อน เนื้อเรื่องของภาค 3 ที่ชื่อว่า Trials and Tribulations จะมาในแนวเล่าเรื่องย้อน (Flashback) ซะเยอะ ซึ่งอาจดูน่าเบื่อกว่าเมื่อนำไปเทียบกับ 2 ภาคแรก
– ด้วยความที่เป็นเกมรีมาสเตอร์ และมีการปรับปรุงแก้ไขแค่ด้านกราฟิกกับรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ แค่เล็กน้อย ถ้าเป็นแฟนๆ ที่เคยเล่นไตรภาคบนแพลตฟอร์มอื่นมาก่อนแล้วอาจจะรู้สึกเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น
– โทรฟี่ของเกมนี้ไม่ได้ทำแบบแยกภาคเหมือนเกม Devil May Cry 1-3 (รีมาสเตอร์) หากใครเป็นสายล่าถ้วยอาจจะมองว่าไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ เพราะต้องเล่นหมดทั้ง 3 ภาคในการเก็บแพลตินั่มเพียงถ้วยเดียว

สรุป

ถ้าเพื่อนๆ คนไหนไม่เคยเล่น หรือไม่เคยสัมผัสซีรีส์เกมทนายมาก่อน ลองหยิบมาเล่นเลยครับ แล้วอาจจะหลงเสน่ห์ของตัวละครและบทสนทนาในซีรีส์นี้แบบถอนตัวไม่ขึ้น แม้ว่ารายละเอียดหลายๆ อย่างของเกมจะไม่สมจริงกับกระบวนการยุติธรรมในโลกความเป็นจริงแบบเป๊ะๆ 100% นัก แต่ก็ทำให้เราพอเพลิดเพลินและได้สาระไปกับการจำลองการพิจารณาคดี การไต่สวน และลุ้นไปกับการซักค้านกันไปมาระหว่างตัวเอกและอัยการได้เรื่อยๆ ด้วย ส่วนใครที่เป็นแฟนซีรีส์นี้อยู่แล้ว และเคยเล่นไตรภาค 1-3 บนแพลตฟอร์มอื่นมาก่อน ก็อาจต้องพิจารณากันสักหน่อย เนื่องจากสิ่งที่เปลี่ยนไปมีแค่กราฟิกที่ดูคมขึ้นและมีโทรฟี่ให้เก็บนั่นเอง

คะแนน 7 / 10

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้